จุดกำเนิดพ่อค้าชาว “จีน” กับธุรกิจ “โรงสีข้าว” ยุคแรกในสยาม จากความมั่งคั่งสู่การล้มละลาย

โรงสีข้าว
โรงสีข้าวในอดีต

ชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งลงทุนทางอุตสาหกรรมการค้าข้าว และ โรงสีข้าว คือพวกพ่อค้าตามเมืองท่า

พวกนี้ผิดกับพวกนายอากร เพราะไม่ได้รับการอุปถัมภ์ทางการเมืองหรือได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลในเมืองไทย พวกนี้ขยายธุรกิจด้วยการตั้งระบบตลาดให้โยงกัน และมีระบบการเงินที่สื่อถึงกันโดยการค้าทางทวีปเอเชีย ส่วนใหญ่อาศัยเมืองท่าที่สําคัญ 3 เมือง คือ ซัวเถา ฮ่องกง และสิงคโปร์ พวกนี้มีสาขาหรือสํานักงานใหญ่นอกกรุงเทพฯ และส่งสินค้าต่าง ๆ เข้ามา พร้อมทั้งส่งข้าวและสินค้าพื้นเมืองออกไปขายต่างประเทศ จนถึงยุโรปและเมืองจีน โดยผ่านเมืองท่าทั้งสามนั้น

กอม้าหัว และบริษัท หรือที่เรียกตามภาษาจีนว่า ห้างง่วนฮวดเส็ง เป็นแบบอย่างที่ดี บริษัทนี้ตั้งขึ้นโดยนายกอม้าหัว ซึ่งเป็นชาวแต้จิ๋ว เกิดที่อําเภอเท่งไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง เขาเข้ามากรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ 4 และทํางานการค้ากับพวกพิศาลบุตร ในต้น ค.ศ. 1870 เขาเข้าหุ้นกับพวกพิศาลบุตรด้วยการตั้ง โรงสีข้าว ที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำเป็นแห่งแรกของคนจีน

นายกอม้าหัวเริ่ม โรงสีข้าว ด้วยอัตรากําลังเพียง 10 เกวียน หรือ 10 ตันต่อวัน ต่อมาขยายเป็นสีได้ 100 ตันต่อวัน ใช้ยี่ห้อว่า ง่วนฮวดเส็ง ลูก ๆ ของเขาสืบมรดกธุรกิจด้านโรงสีข้าวและขยายออกไปด้วยการสั่งสินค้าฝรั่งเข้ามาขายจากสิงคโปร์

จากการสํารวจบรรดาโรงสีข้าวต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1898 นั้น กอม้าหัวและบริษัทมีโรงสีอย่างน้อย 3 โรง ในบรรดาทั้งหมด 42 โรงในกรุงเทพฯ ถือได้ว่าใหญ่เป็นที่สองของบรรดาโรงสีชั้นนําที่อาจผลิตข้าวได้เป็นอย่างมาก รองลงมาแต่ของสกุลพิศาลบุตรเท่านั้น (ก๊กนี้ใช้ยี่ห้อว่า กอฮ่องหลี) ครั้นถึง ค.ศ. 1908 นั้น กอม้าหัวและบริษัทมีโรงสีข้าวอย่างใหญ่ถึง 4 โรงในกรุงเทพฯ คือ ง่วนฮวดเส็ง ง่วนฮงเส็ง ง่วนเชียงเส็ง และง่วนฮั่วเส็ง มีลูกจ้างรวมทั้งสิ้นพันคน

มาถึงตอนนี้กอม้าหัวและบริษัทผลิตข้าวทุกระดับตั้งแต่เกรด 1 ที่ขายส่งออกไปยุโรป จนถึงข้าวชนิด (คาโก) ที่ขายลงเรือไปยังตลาดต่าง ๆ ในเอเชีย การขยายธุรกิจของบริษัทขึ้นอยู่กับพาณิชยการและระบบการสื่อสารของเขา ซึ่งมีทั่วทั้งเอเชีย ดังมีรายงานของฝรั่งเมื่อ ค.ศ. 1908 ว่า

นายกอม้าหัวเป็นชาวซัวเถาจากเมืองจีน บัดนี้นายกอกีสูน บุตรชาย สืบทอดตําแหน่งต่อ ถือกันว่าบุคคลผู้นี้เป็นผู้รู้คนสําคัญ ส่วนใหญ่เขาจะอยู่ที่ฮ่องกง แต่มักไปเยือนเมืองท่าต่าง ๆ เท่าที่ธุรกิจการค้าต้องการเขา..ศูนย์บัญชาการของบริษัทที่ฮ่องกงนั้นเป็นอาคารแบบจีนที่มีชื่อเสียงมาก เรียกกันว่ายวนฟัตหอง สาขาที่สิงคโปร์ใช้ยี่ห้อว่า ชอบง่วนฮวดจั่น สํานักงานต่าง ๆ ทางกรุงเทพฯ นั้นอยู่ตรงริมแม่น้ำ (ฝั่งธนบุรี) ตรงข้ามกับฟากที่มีธุรกิจ (ฝั่ง กรุงเทพฯ) (Arnold Wright & Oliver T. Breaks pear : Twentieth Century Impression of Siam. Its History, People, Commerce, Industries and Resources, London, Lloyd’s, 1908.)

ในช่วงสี่ทศวรรษจาก ค.ศ. 1890 ถึง 1930 ถือได้ว่ากอม้าหัวและบริษัทเป็นหนึ่งในสามของโรงสีข้าวที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

จากการสํารวจของบริษัทการค้าญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1920 ว่าด้วยโรงสีข้าวในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ปรากฏว่ากอม้าหัวและบริษัทมีโรงสีอย่างใหญ่ห้าโรง รวมกันแล้วผลิตข้าวสารได้วันละ 990 เมตริกตัน หรือ 13% ของข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้จากทุกโรงสีที่สํารวจได้ในเวลานั้น

ตัวเลขดังกล่าวแสดงว่ากอม้าหัวและบริษัทใหญ่เป็นที่สอง รองลงไปจากกลุ่มหลีเต็กโอเท่านั้น ในปีเดียวกันนี้ (ตุลาคม 1920) กอม้าหัวและบริษัทตกลงซื้อโรงสีข้าวที่เก่าแก่สุดอีกหลายโรง คือโรงสีติ๊ดหลี จากกิม พิศาลบุตร เชื้อสายของพ่อจินสือ

เพราะความสําเร็จทางด้านอุตสาหกรรมการค้าข้าวนี้เองที่บุตรนายกอม้าหัวที่ชื่อ กอฮุยเจี๊ยะ (หลวงประดิษฐ์ภัทรากร) ได้กลายเป็นผู้นําชุมชนจีนที่เด่นเป็นพิเศษ เมื่อตั้งหอการค้าจีนขึ้นในกรุงสยาม ใน ค.ศ. 1910 นั้น หลวงประดิษฐ์ภัทรากรเป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานหอการค้าจีนอยู่ถึงสี่ปี และเขาได้เป็นบุคคลสําคัญในการก่อตั้งสมาคมโรงสีข้าวไทยใน ค.ศ. 1911 ทั้งยังได้ตั้งโรงพยาบาลเทียนฮั้ว (อันเป็นโรงพยาบาลจีนที่เก่าแก่สุด) และโรงเรียนเผยอิง (อันเป็นโรงเรียนแต้จิ๋วที่เก่าแก่สุดในเมืองไทย) อีกด้วย

ข้อเท็จจริงดังกล่าวส่อว่าเริ่มแต่ ค.ศ. 1910 กลุ่มพ่อค้าพวกนี้ได้เจริญงอกงามขึ้นจนถึงระดับที่อาจผันความเป็นผู้นําของตนให้ปรากฏในชุมชนธุรกิจของชาวจีน

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ หลีเต็กโอ (หรือนายถมยา) แห่งกลุ่มลี่คุณเส็ง บุคคลผู้นี้ก็มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงจิตรจํานงวาณิช ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยเป็นนายอากรมาก่อน และไม่รู้กําพืดเดิมของเขา แม้จนการเริ่มกิจการของเขาว่าเป็นอย่างไร ก็ไม่ทราบกัน หากมีชื่อเขาปรากฏในเอกสารหลายฉบับหลัง ค.ศ. 1907/8

จากเอกสารเหล่านี้ แสดงว่าในปี 1908 หลีเต็กโอกลายมาเป็นหุ้นส่วนคนสําคัญและเป็นผู้จัดการใหญ่ของโรงสีขนาดใหญ่ถึงสองแห่งในกรุงเทพฯ คือโรงสีหลีเช็งจั่นและโรงสีนายถมยา สองโรงนี้สีข้าวทุกชนิดได้วันละ 500 ตัน สําหรับลงเรือไปขายยังฮ่องกง สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และเมืองท่าอื่น ๆ ในยุโรป นอกจากเป็นเจ้าของโรงสีดังกล่าวแล้ว นายถมยายังเป็นเจ้าของโรงผลิตอิฐและเป็นเจ้าของที่ดินคนสําคัญของกรุงเทพฯ อีกด้วย

ใน ค.ศ. 1908 หลีเต็กโอตั้ง ธนาคารจีโนสยาม ขึ้น ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท ร่วมกับนายเซียวยู่เส็ง (ซึ่งได้บรรดาศักดิ์เป็นนายฉลอง นัยนาถ) ซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารยู่เซ่งเฮงมาก่อน ผู้ร่วมหุ้นนอกจากนี้ก็หลวงโสภณเพชรรัตน์ แห่งบริษัทกิมเซ่งหลีและนายตันเซี่ยงกี่จั่น ซึ่งเป็นเจ้าของโรงสีข้าวหลายโรงและเป็นนายอากรด้วย ธนาคารพาณิชย์จีนที่ว่านี้ตั้งขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายใหญ่ที่จะช่วยพวกโรงสีข้าวของนายหลีเต็กโอเป็นพิเศษ

สามปีต่อมา (มีนาคม 1911) นายหลีเต็กโอกับคณะบุคคลในธนาคารจีโนสยาม ได้เริ่มธุรกิจใหม่เพื่อขยายโรงสีข้าวและการขายข้าวสารส่งออกให้ยิ่งขึ้น ชื่อ บริษัทโรงสีข้าวสยาม ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท หากครึ่งหนึ่งยืมมาจากพระคลังข้างที่ อีกครึ่งหนึ่งได้มาจากนายเซียวยู่เส็ง บริษัทกิมเซ่งหลีและตันเซี่ยงกี่จั่น

นายหลีเต็กโอรับผิดชอบโดยตรงกับการบริหารงานของบริษัทโรงสีข้าวสยามนี้ในฐานผู้จัดการใหญ่ ในขณะที่นายเซียวยู่เส็งรับผิดชอบเฉพาะด้านการเงิน ข้าวที่สีได้ขายส่งออกไปยังบริษัทดีแอนด์ฮอห์น ซึ่งเป็นตัวแทนจําหน่ายแต่ผู้เดียวในยุโรปของบริษัทโรงสีข้าวสยาม

ภาพประกอบเนื้อหา 1 พ่อค้าข้าวชาวจีน, 2 ย่านการค้าบริเวณถนนเจริญกรุง และเวิ้งนาครเขษม ในสมัยรัชกาลที่ 5, 3 โรงสีข้าวส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน คอยรับซื้อข้าวที่ล่องมาทางเรือ, 4 ร้านค้าชาวจีนในย่านสำเพ็ง

เมื่อเริ่มกิจการใน 33 เดือนแรก บริษัทโรงสีข้าวสยามได้กําไรถึง 1,120,000 บาท และกล่าวกันว่า นายหลีเต็กโอคุมการค้าข้าวในเมืองไทยไว้ถึง 40% ในระหว่าง ค.ศ.1910-1911 แต่เกิดวิกฤตการณ์ด้านข้าวขึ้นในช่วง ค.ศ. 1919–1920 เป็นเหตุให้กระทบถึงธุรกิจโรงสีข้าวในกรุงเทพฯ อย่างแรง โรงสีข้าวของฝรั่งและของพวกนายอากรจีนหลายโรงต้องเลิกกิจการ บริษัทโรงสีข้าวสยามเองก็เผชิญกับปัญหาทางการเงินจนต้องเลิกกิจการ

ผิดกับกรณีของบริษัทกิมเซ่งหลี (ซึ่งล้มละลาย) แม้นายหลีเต็กโอจะเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างแรงแต่ก็ดำรงสถานะทางเศรษฐกิจไว้ได้ เขาและกิจการค้าส่งออกของเขาทางห้างหลีคุณเส็งนั้นกลับฟื้นคืนธุรกิจขึ้นได้ด้วยการรับซื้อบริษัทอื่นและนำออกให้เช่าช่วง จนเขาได้กลายเป็นเจ้าของ โรงสีข้าวและบริษัทส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ในปี ค.ศ. 1920

กล่าวคือ นายหลีเต็กโอหรือกลุ่มห้างหลีคุณเส็งของเขาเป็นเจ้าของหรือเช่าช่วงโรงสีใหญ่มาดําเนินกิจการถึง 10 โรง รวมทั้งกวางเฮงเส็ง กวางง่วนหลี และกวางเต็กเล็ง ทั้งหมดนี้อาจสีข้าวได้วันละ 1,360 เมตริกตัน หรือ 18% ของบรรดาอํานาจการผลิตข้าวสารของทั้ง 72 โรงสี ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

นอกจากอุตสาหกรรมโรงสีข้าวแล้ว นายหลีเต็กโอยังค้าข้าวสารส่งออกอย่างแข็งแรง เขามีสาขาที่สำคัญนอกประเทศ 2 แห่ง คือกวางง่วนเส็งที่ฮ่องกง และเม่งซุ่นเส็งที่สิงคโปร์ เขาส่งข้าวสารออกจากเมืองไทยให้โรงสีข้าวอื่น ๆ ที่ไม่มีสาขาในต่างประเทศด้วย

นายหลีเต็กโอคงคุมตลาดการค้าด้านโรงสีข้าวและการส่งออกอยู่อย่างใหญ่ยิ่งที่สุด จน ค.ศ. 1929 ซึ่งกล่าวกันว่าเขาคุมการส่งข้าวสารออกจากเมืองไทยถึง 60% แต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มแต่ ค.ศ. 1929 ที่เกิดจากการเงินในสหรัฐฟุบแฟบลง ทำให้เขาต้องให้เช่าโรงสีข้าวไปเสีย 2 โรง และต้องเลิกกิจการด้านโรงสีข้าวอีก 2 โรงด้วย ครั้นถึง ค.ศ. 1930 เขาก็ล้มละลาย เป็นหนี้อยู่ถึง 444,651 บาท (ตัวเลขจริงนั้น 2 ล้านบาท) ศาลประกาศให้เขาเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1931

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกขยายตัว จาก ค.ศ. 1930 ถึง 1932 มีผลมาถึงไม่แต่กับกลุ่มห้างหลีคุณเส็ง หากรวมถึงโรงสีข้าวอื่น ๆ ด้วย เช่น กิมเซ่งหลี โล่เม่งเส็ง และตันเซี่ยงกี่จั่น และในขบวนการดังกล่าว พวกนายอากรเก่า ๆ ก็ได้ปลาสนาการไปสิ้นจากธุรกิจการค้าข้าว พร้อมกันนั้นกอม้าหัวและบริษัทก็ล้มละลายลง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1931 ด้วย ดังโรงสีข้าวใหญ่อีกแห่งคือ กวางฮับเส็ง ก็ปิดกิจการลง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1931 เกิดพวกโรงสีข้าวอย่างใหม่ขึ้นมาแทนที่

พวกนี้สร้างกิจการขนาดยักษ์และจักรวรรดิทางธุรกิจโดยอาศัยอุตสาหกรรมการค้าข้าวที่เริ่มศักราชใหม่ จาก ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

แปลจาก Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 by Suehiro Akira, The Centre for East Asian Cultural Studies,Tokyo 1989. หน้า 83-87


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2563