“ค้ามนุษย์” ขบวนการค้าหญิงจีนข้ามชาติในสยาม ใช้ดินแดนไทยเป็นทางผ่าน

ภาพประกอบเนื้อหา - สำเพ็ง เมื่อพ.ศ. 2452 เป็นย่านการค้า และแหล่งเที่ยวกลางคืน มีแหล่งรื่นรมณ์เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งโรงโสเภณี โรงบ่อน และโรงสูบฝิ่น

ชาวจีนอพยพเข้าสู่สยามมาตลอดหลายยุคหลายสมัย ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานชาย ที่เป็นหญิงจะมีน้อยมาก นั่นทำให้สังคมชาวจีนในสยามขาดแคลนหญิงชาวจีน จึงนำมาสู่การค้ามนุษย์ นำหญิงชาวจีนเข้าสู่สยาม 

ก่อน พ.ศ. 2436 หญิงจีนแทบจะไม่ได้อพยพออกจากจีนแผ่นดินใหญ่เลย การอพยพเข้ามาระหว่าง พ.ศ. 2425-2435 มีหญิงจีนมีไม่เกินร้อยละ 2-3 ของผู้อพยพชาวจีนทั้งหมด ในสมัยนั้นผู้ใหญ่ของตระกูลในเขตอพยพของจีนตอนใต้ไม่ยอมอนุญาตให้ภรรยาติดตามสามีไปต่างดินแดนด้วย เกรงว่าจะสูญเสียสมาชิกของครอบครัวไปทั้งหมด สำหรับหญิงโสดด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอพยพออกจากแผ่นดินเกิด เว้นแต่หญิงจากครอบครัวที่ยากจนมาก ๆ ซึ่งถูกขายไปเป็นโสเภณี

ในช่วงระยะต่อมาได้มีการเก็บรวบรวมสถิติ พบว่าระหว่าง พ.ศ. 2443-2449 มีหญิงจีนอพยพเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น แต่อัตราการอพยพก็ไม่เกินร้อยละ 5 และในช่วง พ.ศ. 2449-2460 การอพยพของหญิงจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในบางครั้งถึงร้อยละ 10 ของผู้อพยพชาวจีนทั้งหมด 

หญิงจีนเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน?

การค้าหญิงจีนในสยามนั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการนำแรงงานจีนเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา หญิงจีนกลุ่มแรก ๆ ถูกนำตัวมาจากเมืองชายฝั่งทะเลของจีน ที่การซื้อขายหญิงและเด็กทำกันอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งเหมือนซื้อขายข้าวของธรรมดา พวกนายหน้าเป็นผู้ดำเนินธุรกิจดังกล่าวซึ่งมีทั้งการล่อลวงและลักพาตัว ความต้องการหญิงจีนมีมากจนทำให้การค้าหญิงและเด็กกลายเป็นธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากทีเดียว ขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้มักใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง ซึ่งพบว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว และหญิงจีนที่ถูกนำเข้ามาในช่วงนี้พบว่าร้อยละ 90 จะถูกหลอกเข้ามาค้าประเวณี

จำนวนหญิงจีนที่มาขอจดทะเบียนเป็นโสเภณีใน พ.ศ. 2452 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลสยามอนุญาตให้จดทะเบียนโสเภณีนั้น มีหญิงจีนกว่า 1,441 คน ขณะที่หญิงไทยมาขอจดทะเบียนเพียง 950 คน หญิงญวน 58 คน และหญิงลาว 50 คนเท่านั้น นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2468 มีหญิงจีนที่จดทะเบียนเป็นโสเภณีเพิ่มขึ้นเป็น 2,766 คน แม้ว่าหลัง พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา จะพบว่าจำนวนหญิงโสเภณีจีนลดลง แต่มิได้หมายความว่าจำนวนหญิงจีนที่เข้ามาในสยามจะลดลงด้วย โดยใน พ.ศ. 2472 พบตัวเลขหญิงจีนเข้าสู่สยามมากถึง 131,510 คน ในจำนวนนี้อาจมีหญิงจีนที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณีอยู่จำนวนมาก และไม่ได้จดทะเบียนเป็นโสเภณีอย่างถูกต้องตามกฎหมายของสยาม

ต่อมา รัฐบาลสยามออกพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2470 ซึ่งได้เข้มงวดในการตรวจคนเข้าเมืองมากขึ้น ประกอบกับการที่ไทยได้ให้สัตยาบันสัญญาว่าด้วยห้าม “การค้าหญิงและเด็ก ค.ศ. 1910” เมื่อ พ.ศ. 2465 และนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติการค้าหญิงและเด็กใน พ.ศ. 2471 แต่ขบวนการค้าหญิงจีนข้ามชาติยังคงมีอยู่

ค้ามนุษย์ ไทยเป็นเส้นทางผ่านสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากที่ขบวนการค้ามนุษย์จะนำหญิงจีนเข้ามาขายในสยามโดยตรงแล้ว ขบวนการนี้ยังดำเนินการใช้ดินแดนไทยเป็นเส้นทางผ่านหรือเป็นจุดพักชั่วคราว เพื่อนำหญิงจีนไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์และมลายู โดยจากรายงานของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่าการค้าหญิงจีนนั้นจะมีการทำงานเป็นขบวนการ ดังเห็นได้จากกรณีหนึ่ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2467 หญิงจีนคนหนึ่งถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ที่อลอร์ สตาร์ ในดินแดนมลายู ฐานนำเด็กหญิง 2 คนเข้ามายังสิงคโปร์เพื่อให้เป็นโสเภณี โดยส่งจากจีนเข้าสู่กรุงเทพฯ แล้วส่งต่อไปยังสิงคโปร์

เด็กหญิงที่ถูกล่อลวงมานั้น คนหนึ่งถูกล่อลวงจากบ้านและถูกนำมาขายที่ฮ่องกง อีกคนถูกพวกโจรลักพาเอามาขาย และก่อนที่ทางสิงคโปร์จะดำเนินคดีนี้ได้นั้น ในเดือนกรกฎาคมก็จับหญิง 2 คนได้ในฐานที่นำเด็กเข้ามาในประเทศ 5 คน โดยนำเข้ามาผ่านทางกรุงเทพฯ อีกเช่นเดียวกัน จากทั้งสองคดีนี้ทำให้หนังสือพิมพ์สะเตร์ทเอโก (หนังสือพิมพ์บางกอกไตล์, 7 มกราคม 2467) ได้ร้องขอให้รัฐบาลสยามช่วยจัดการแก้ไขในเรื่องการนำหญิงจีนเข้ามายังสิงคโปร์และปีนัง โดยหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวแถลงไว้ว่า

“มีแต่การสหกรณ์ระหว่างประเทศเท่านั้นที่จะจัดการระงับการค้าประเภทนี้ได้ แต่เมื่อประเทศสยามก็ได้เริ่มเป็นประเทศอันเชิดหน้าในหมู่มหาประเทศที่เจริญก้าวหน้าทั้งหลายในบูรพทิศแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่ควรเป็นของยากที่จะจัดการเสียแต่บัดนี้ เมื่อช่องโหว่ที่พวกหญิงดำเนินการได้เป็นที่ปรากฏขึ้นแล้ว”

นอกจากนี้ จากรายงานเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถึงเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เรื่องขอส่งสถิติของหญิงที่ถูกหลอกลวงเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นบัญชีของตำรวจนครบาล ใน พ.ศ. 2469 ได้กล่าวถึงการค้าหญิงจีนข้ามชาติผ่านสยามไปยังประเทศเพื่อนบ้านว่า

“การไต่สวนของเจ้าพนักงาน คงได้ความถึงวิธีการค้าหญิงในเมืองจีน ซึ่งได้เป็นอยู่ในเวลานี้ แลได้มาเปลี่ยนการเดินทางลงเรือที่ฮ่องกง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพวกที่ได้ทำการค้าหญิงนั้น คงจะเป็นพวกเดียวกัน ส่วนการค้าหญิงเช่นนี้ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องสามัญ เจ้าพนักงานอังกฤษทางสะเตรตเซ็ตเติลเมนต์ [อาณานิคมช่องแคบของอังกฤษ-กองบก.ออนไลน์] เคยกล่าวหาว่า หญิงจีนที่ได้เข้าไปทางดินแดนมลายูนั้น ได้ไปจากประเทศสยาม เพราะเหตุทางฝ่ายอังกฤษเขาปิดท่าเรือยังสามารถจะเป็นจริงได้ แต่ถ้าเจ้าพนักงานอังกฤษทางสะเตรตเซ็ตเติลเมนต์จะได้ช่วยเหลือบอกเรื่องเหล่านี้ไปให้เจ้าพนักงานอังกฤษที่เมืองฮ่องกงทราบ เพื่อจะได้พยายามทำลายซ่องเหล่านั้นเสียให้หมดสิ้นไป”

จะเห็นได้ว่าขบวนการค้ามนุษย์มีการใช้ดินแดนไทยเป็นทางผ่าน ส่งหญิงจีนเหล่านี้ต่อไปยังสิงคโปร์และมลายู จนทำให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงของสยามในฐานะที่เป็นตัวกลางสำหรับจัดส่งหญิงจีนข้ามชาติ ดังเห็นได้จากหนังสือพิมพ์หลักไทย (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2471) ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ว่า

“เราเองยังถูกเพื่อนบ้านที่ใกล้ครหาว่าบ้านของเราเป็นประดุจที่พักที่ชั่วคราวของสินค้าประเภทนี้ ก่อนที่จะตกไปถึงบ้านเขาอีกสถานหนึ่ง อันเป็นเรื่องไม่งามที่จะฟังเลย”

ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม (16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471) ก็ได้ฉายให้เห็นภาพขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ไว้ว่า “บรรดาหนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้พากันระงมร่ำร้องเรื่อยมา เมื่อคณะไทยหนุ่มยังเป็นบางกอกการเมืองอยู่ ก็เคยได้รำพรรณโทษไว้ภายใต้หัวเรื่องว่า ‘การค้าหญิง’ นอกจากนี้ทางรัฐบาลสิงคโปร์ยังได้ร้องแรกแหกกระเฌอเข้ามายังรัฐบาลสยามอีก เพราะทางสิงคโปร์ของเขาได้ห้ามอย่างเด็ดขาดแล้ว แต่พ่อค้าจำพวกนี้ได้ส่งหญิงและเด็กหญิงเข้ามาพักในสยามแล้วจึงส่งไปยังสิงคโปร์อีกต่อหนึ่ง…”

โดยสรุป การค้าหญิงจีนข้ามชาตินอกจากนำเข้าสู่สยามโดยตรงแล้ว ขบวนการค้ามนุษย์ยังใช้สยามเป็นเส้นทางผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะสิงคโปร์และมลายู ส่วนการค้าหญิงจีนในสยามนั้น เพื่อให้เป็นโสเภณีเสียส่วนใหญ่ ซึ่งมีทั้งที่สมัครใจและไม่สมัครใจ และดูเหมือนว่าส่วนใหญ่จะถูกหลอกลวงและบังคับค้าประเวณี

กรณีหญิงที่ถูกหลอกมาขายเพื่อค้าประเวณีสยามนั้นก็มีจำนวนมาก เนื่องจากมีคำร้องทุกข์ คดีความ เอกสารราชการ และหนังสือพิมพ์ เป็นหลักฐานชัดเจน หญิงจีนที่ถูกหลอกมาค้าประเวณีมีทั้งกรณีอำแเดงชุกฉ่อย อำแดงหง่อ อำแดงเซาหวั่น นางเค้ายอกสี ฯลฯ ซึ่งแต่ละกรณีก็เป็นเรื่องราวน่าหดหู่ หญิงจีนบางคนถูกกดขี่ ทุบตี กักขัง ใช้ชีวิตในสภาพความเป็นอยู่เยี่ยงทาส และบางคนต้องถึงกับจบชีวิตลง เพราะขบวนการค้ามนุษย์ ที่มอง “มนุษย์” เป็นเพียง “สินค้า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. (กุมภาพันธ์, 2543). “ค้าหญิงจีนข้ามชาติ ในประวัติศาสตร์สังคมไทย”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 21 : ฉบับที่ 4.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2565