เผยแพร่ |
---|
เมื่อพูดถึงอาชีพในสังคมมนุษย์ เคยมีคำกล่าวที่บ่งชี้ว่า “อาชีพเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์” คือการขายบริการ(ทางเพศ) วัฒนธรรมทางเพศเป็นเรื่องที่ปรากฏขึ้นแทบทุกสังคมทั่วโลก ในไทยเองก็มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงร่องรอยของกิจกรรมเหล่านี้ดังเช่นคำศัพท์ “หญิงนครโสเภณี” หรือหญิงงามเมือง ไปจนถึงหลักฐานทางการซึ่งปรากฏในกฎหมายบ้านเมืองอย่างพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451) ในสมัยรัชกาลที่ 5
เมื่อลองสืบค้นเกี่ยวกับการขายบริการทางเพศในสังคมไทยแบบคร่าวๆ พบหลักฐานที่บ่งชี้ร่องรอยได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในกฎหมายอย่างเป็นทางการ อาทิ การขึ้นทะเบียนโสเภณีตามกฎหมาย ไปจนถึงบันทึกจดหมายต่างๆ
หากเอ่ยถึงหลักฐานในทางกฎหมายว่าด้วย “การขึ้นทะเบียน” โสเภณีครั้งแรกของไทย วิทยานิพนธ์เรื่อง “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503” ระดับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ เนื้อหาในงานศึกษาทางวิชาการชิ้นนี้อธิบายว่า ปรากฏในรูปของระบบเจ้าภาษีนายอากรที่ให้มีการผูกขาด “ภาษีบำรุงถนน” อันเป็นภาษีโสเภณีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ในเบื้องต้น ดารารัตน์ สันนิษฐานว่ารูปแบบดังกล่าวปรากฏขึ้นในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลักฐานที่ยกมาประกอบข้อสันนิษฐานคือ การบอกเล่าของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ที่ระบุว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีได้ 5,000 บาทแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ภายหลังจึงปรากฏเป็นพ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451) อันมีเนื้อหาอนุญาตให้ค้าประเวณีได้แต่สำนักโสเภณีและโสเภณีต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย
“ภาษีบำรุงถนน”
สำหรับระบบเจ้าภาษีนายอากรนั้น หมายถึง รัฐบาลยินยอมให้เอกชนประมูลภาษีแข่งกัน ผู้ชนะประมูลต้องส่งเงินให้รัฐบาลในจำนวนและในกรอบเวลาที่ตกลงไว้ ผู้ประมูลได้จะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาษีนายอากรเรียกเก็บภาษีกับราษฎร นั่นย่อมหมายความว่า ผู้ชนะประมูลเปรียบได้กับตัวแทนของรัฐบาลในการเก็บภาษี ระบบที่ว่านี้ปรากฏขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และเด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ 3 จากที่พระคลังมีความสำคัญลดลงและเลิกผูกขาดโดยรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2398 แต่รัฐบาลเพิ่มภาษีอีก 38 ชนิด
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาษีที่นำไปสู่การสนับสนุนอบายมุขถูกยกเลิกไป อาทิ ภาษีฝิ่น อากรค่าน้ำ อากรรักษาเกาะ ขณะที่อากรที่ห้ามประมูลคืออากรพนันวัว ตีไก่ และกัดปลา ส่วนใหญ่แล้วเหตุผลของการห้ามประมูลนั้นมาจากเรื่องทางศาสนา
กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 รัฐบาลยุคนี้พยายามเร่งเพิ่มรายได้จึงปรากฏการเพิ่มภาษีและปรับปรุงอัตราภาษีต่างๆ ภาษีอากรที่ปรับปรุงและตั้งเพิ่มมีทั้ง ภาษีฝิ่น ภาษีสุกร ภาษีปลากัด ภาษีปลาทู ภาษีผ้าไหม ภาษีผัก ภาษีถัง อากรการพนัน อากรมหรสพ อากรค่าน้ำ และอากรรักษาเกาะ นั่นย่อมบ่งชี้ว่า มีภาษีเกี่ยวกับอบายมุขด้วย ดารารัตน์ มองว่า มีน้ำหนักต่อข้อสันนิษฐานว่า ภาษีบำรุงถนนเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีเจ้าภาษีนายอากรรับสนองนโยบาย กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาษีบำรุงถนนจึงถูกทำให้เป็นระบบมากขึ้น
การศึกษาหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่า จัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นเงิน 50,000 บาท มากกว่าภาษีอีกหลายชนิด ซึ่งภาษีนี้ย่อมทำเงินให้รัฐบาลได้มากทีเดียว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นภาษีที่เรียกกว่า “ภาษีบำรุงถนน”
เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาษีบำรุงถนน” นั้น มาจากกรณีหญิงโสเภณีที่เป็นทาสมักกล่าวโทษนายเงินที่ไถ่เอาหญิงมาเป็นทาสว่าฉ้อฉลเงิน และนายเงินบางรายก็โกงเงินภาษีของรัฐ ดังนั้น ภาษีบำรุงถนนจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีรายละเอียดสำคัญ ว่า (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2527)
- ห้ามไม่ให้นายเงินบังเงินสิบลดหนึ่งของหลวงและสิบลดสามของทาส ถ้าเป็นความจริงตามที่หญิงทาสฟ้องร้อง ต้องลดค่าตัวทาสครึ่งหนึ่งและซื้อทรายถมถนน 50 เกวียน และห้ามบังคับทาสให้เป็นหญิงโสเภณีโดยที่หญิงนั้นไม่สมัครใจ (ตัวเลขผลประโยชน์ในกิจการทำให้ทราบว่า หญิงทาสได้รับประโยชน์จากการค้าประเวณีน้อย รัฐบาลได้รับส่วนแบ่ง 1 ใน 10) ข้อกฎหมายยังทำให้เห็นว่า ไม่มีระบุโทษนายเงินที่บังคับหญิงทาสให้เป็นโสเภณี)ห้ามนายเงินคิดค่าห้อง ค่าอาหารที่นอนจากหญิงทาส ให้คิดได้เฉพาะค่าน้ำมัน และค่าน้ำ อัตราเดือนละ 1 หรือ 2 บาท โดยให้เหตุผลว่า น้ำช่วยให้หญิงสวยงาม น้ำมันช่วยให้ห้องสว่างเป็นที่ต้องใจบุรุษ ถือเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ห้ามนายเงินซื้อของถูก แล้วขายให้หญิงทาสราคาแพง
- ถ้าสงสัยว่าหญิงทาสและนายเงินปิดบังเงินหลวงสิบลดหนึ่ง ให้ปรับเจ้าภาษี 1 ชั่ง และให้นายเงินใช้เงินทุนสินบนที่รัฐประกาศให้เป็นรางวัลแก่ผู้แจ้งข่าว 10 ตำลึง นายเงินซื้อทรายถมถนน 50 เกวียนนายเงินบังคับหญิงทาสให้เป็นโสเภณีโดยนายเงินต้องการหลีกเลี่ยง “ภาษีบำรุงถนน” ถ้าจับได้ นายเงินถูกปรับ 5 ชั่ง เงินให้หลวงและลดค่าตัวทาสครึ่งหนึ่ง (ถ้าทาสมาฟ้องเอง หญิงทาสนั้นเป็นไท) นายเงินนำทรายมาถมถนน 50 เกวียน
- โรงโสเภณีเถื่อนหรือหญิงโสเภณีจรที่ไม่เสียภาษีบำรุงถนนให้รัฐ ผู้ฝ่าฝืนตั้งโรงเลี้ยงโสเภณีในกำแพงพระนคร จับได้มีโทษและปรับเงินเข้าหลวง
รายละเอียดของข้อกฎหมายเหล่านี้ย่อมทำให้เห็นว่าประกาศท้องตรา “ภาษีบำรุงถนน” ในระยะแรก บ่งชี้ถึงการปรากฏของหญิงโสเภณีในสังคมไทย และจะเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายเมื่อเสียภาษีให้เจ้าภาษีบำรุงถนน ลักษณะของกฎหมายพอจะมองได้ว่าเป็นการสานประโยชน์ระหว่างรัฐ เจ้าภาษี นายเงิน ทาสที่สมัครใจเป็นหญิงโสเภณี
สำหรับการตั้ง “ภาษีบำรุงถนน” นี้ ดารารัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปเพื่อนำเงินที่เก็บได้มาซ่อมแซมบำรุงถนน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มขยายตัวจากการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ จำเป็นต้องขยายเมืองให้กว้างขวาง แน่นอนว่าเรื่องขุดคลองสร้างถนนเหล่านี้ใช้เงินทุน ขณะเดียวกันยังปรากฏหลักฐานส่วนหนึ่งว่า พวกกงสุลเข้าชื่อกันถวายหนังสือว่า ชาวยุโรปที่ขี่รถม้าเที่ยวตากอากาศมีสุขภาพแข็งแรง แต่พอมาในกรุงเทพฯ ไม่มีถนนหนทางให้ขี่รถเที่ยวจึงป่วยไข้อยู่เป็นประจำ ดังนั้นถึงได้ปรากฏถนนอย่างเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร ให้ชาวต่างชาติขี่รถม้าเที่ยวกัน
เมื่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินนโยบายเช่นเดียวกัน ขณะที่รัชสมัยของพระองค์ประสบปัญหาการคลัง นโยบายไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในสมัยนั้น จึงต้องปรับปรุงระบบภาษีอากร ดังนั้นจึงปรากฏหอรัษฎากรพิพัฒน์ในพ.ศ. 2417 ต่อมาในพ.ศ. 2433 บทบาทของกรมพระคลังมหาสมบัติ ถูกยกเพิ่มขึ้นจากเดิม ที่สำคัญคือการทำงบประมาณรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน อีกทั้งยังทรงปรับปรุงการเก็บภาษีอากร ซึ่งในการคลังนี้ก็มีการปรับปรุงภาษีบำรุงถนน
ดารารัตน์ อธิบายว่า “ภาษีบำรุงถนน” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เพียงเน้น “บำรุงถนน” เท่านั้น จากที่เห็นได้เมื่อการปรับเป็นทรายหรือเงิน เปลี่ยนมาเป็นปรับเงินและไม่เจาะจงว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายด้านใด
ระบบผูกขาด สู่พ.ร.บ. : รัฐบาลควบคุมโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ระบบผูกขาดภาษีบำรุงถนนกับเจ้าภาษีรายเดียว (แม้ประมูลเจ้าภาษีจะมีทุกปี) มักไปตกกับนายทุนที่เงินมาก (ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย) เจ้าภาษีนายอากรแบบผูกขาดเปิดช่องว่างให้เจ้าภาษี และบุคคลต่างๆ อันอยู่ในขอบเขตงานของรัฐบาลไม่ซื่อสัตย์และเปิดช่องว่างให้อำนาจเจ้าภาษีมีสิทธิพิเศษ อีกทั้งยังมักรวมหันกันกดราคาประมูล มีเล่ห์เหลี่ยมในการส่งภาษีและเอาเปรียบหญิงโสเภณีเอง เงินในการประมูลก็ไม่แน่นอน อาทิ ร.ศ. 116 ได้ 280 ชั่ง ร.ศ. 117 ได้เพียง 140 ชั่ง (ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, 2527)
ผู้ศึกษาวิจัยเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้น่าจะมีส่วนทำให้เลิกผูกขาดผ่านเจ้าภาษี ใช้เป็นรัฐบาลควบคุมเก็บภาษีโดยตรง ในร.ศ. 127 เป็นต้นมา โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ. 127 ซึ่งเดิมทีแล้ว ในขั้นตอนการร่างเคยใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติคณิกาภิบาล” โดยกรมสุขาภิบาล แต่กรมหลวงเทววงษ์ฯ ทรงเห็นว่า “พระราชบัญญัติคณิกาภิบาลนั้น ไม่เหมาะสมจึงเสนอให้ใช้ชื่อว่า พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค” (หจช. ร.5 น.5.7/3 พระราชบัญญัติคณิกาภิบาล) นับตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นชื่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค
ภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ร.ศ. 126 รัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตให้ประกาศใช้เริ่มวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 127 ใช้เฉพาะในกรุงเทพฯ เนื้อหาส่วนหนึ่งในพระราชบัญญัติดังกล่าวมีใจความว่า (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกต่อการอ่านในระบบออนไลน์)
“พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค
รัตนโกสินทรศก 127
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกัน ด้วยทรงพระราชดำริห์ว่า ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตน อย่างที่เรียกว่า หญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกัน ตั้งเงินโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมาการตั้งโรงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเปนทาษ รับตั๋วจากเจ้าภาษี แล้วตั้งเปนโรงขึ้น
ครั้นต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาษเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัคเข้าเปนหญิงนครโสเภณี ก็รับตั๋วจากเจ้าภาษี แล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงขึ้นในท้องที่โรงอันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนืองๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเปนโรค ซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษา โรคร้ายนั้นอาจจะติดเนื่องกันไป จนถึงเปนอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เปนอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายบังคับอย่างใด สำหรับจะป้องกันทุกข์โทษไภยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้สืบไป…”
ใจความสำคัญของพ.ร.บ.นี้ คือบังคับให้หญิงโสเภณีทุกคนจดทะเบียนจากเจ้าพนักงานและตรวจร่างกายเพื่อป้องกันโรค เสียค่าจดทะเบียนฉบับละ 12 บาท ทำ 3 เดือนครั้ง ส่วนสำนักโสเภณีก็ต้องจดทะเบียนด้วย และเตรียมบัญชีรายชื่อหญิงในสำนักให้พร้อมสำหรับตรวจตราได้เสมอ หากเปลี่ยนแปลงประการใดต้องแจ้งให้ทราบภายใน 24 ชั่วโมง
แต่ภายหลังออกพ.ร.บ. เพียง 15 วัน มีรายงานหญิงโสเภณีไม่ยอมให้ตรวจโรค หลบหนีออกจากโรงหญิงโสเภณี โรงหญิงกวางตุ้ง 2 โรงปิดกิจการแค่ 2 วัน ในวันที่ 5-6 เมษายน ร.ศ. 117 ส่งผลให้รายได้ฝิ่นในโรงหญิงโสเภณีตกไปวันละ 100 ตำลึงเศษ รัฐบาลคำนึงเรื่องรายได้ทั้งจากการขายฝิ่นและค่าจดทะเบียนหญิง จึงไม่ค่อยเข้มงวดในการตรวจตราเพื่อ “ป้องกันสัญจรโรค”
สภาพโรงหญิงโสเภณี
สำหรับผู้สนใจ(ปัญหา)เกี่ยวกับสภาพของโรงหญิงโสเภณี และสภาพการหาหญิงดังที่เอ่ยข้างต้น บทความเรื่อง “นครโสเภณีหรือเมืองมหาวิทยาลัย” โดย บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2559 หยิบยกประกาศในหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อ พ.ศ. 2462 ซึ่งเขียนถึง “หญิงนครโสเภณี” ใจความตอนหนึ่งว่า
“…พวกหญิงที่หาเงินในการร่วมประเวณีกับชาย หรือที่เรียกว่า หญิงนครโสเภณี (หญิงงามเมือง) เมื่อจะเกิดมีเปนหมู่คณะขึ้นในกรุงสยามนั้น ได้ทราบจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่สืบต่อมาว่า เดิมมีหญิงสองคน เรียกชื่อว่า ยายแฟง และยายแตง เปนผู้คิดตั้งโรงหญิงนครโสเภณีขึ้นก่อน คือยายแฟงได้ตั้งขึ้นที่ตรอกเต๊าแห่งหนึ่ง และยายแตงได้ตั้งขึ้นที่ตรอกแตง (สำเพ็ง) แห่งหนึ่ง
วิธีที่จะหาหญิงเข้าอยู่ในคณะนี้ ยายต้องลงทุนทรัพย์มากมาย คือรับซื้อหญิงเสเพลมาไว้เปนทาสอย่างหนึ่ง หรือหญิงที่ติดตามชายไปโดยทางชู้สาว และชายพาไปขายไว้เปนทาสอย่างหนึ่ง บางทีผู้ที่ประพฤติตนเปนหญิงแพสยาได้สมัคเข้าหาเงินเองบ้าง จนมีคำเล่าลือว่าพวกนายโรงหญิงนครโสเภณีได้พากันร่ำรวยด้วยการหาเงินในทางนี้มากมาย ถึงกับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งอยู่ที่น่าบ้านพระอนุวัตน์ราชนิยม ให้ชื่อว่า วัดคณิกาผล (ผลที่สร้างขึ้นด้วยทรัพย์ของหญิงนครโสเภณี) ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แต่ชาวบ้านมักเรียกชื่อโดยตรงว่า วัดใหม่ยายแฟง”
ส่วนผู้ที่จะเป็นนายโรงหญิงนครโสเภณีต้องเป็นผู้หญิง และต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ห้ามนายโรงรับเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีมาไว้บริการ
การควบคุมดูแลกิจการอย่างเข้มงวดทำให้รัฐมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและเก็บเงินรายได้จากหญิงโสเภณี โดยเป็นนายโรง เสียค่าธรรมเนียมขอรับใบอนุญาต ฉบับละ 30 บาท สำหรับใบอนุญาตที่มีอายุความ 3 เดือน ส่วนหญิงโสเภณี เสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 12 บาท มีอายุความ 3 เดือนหากตั้งโรงหญิงนครโสเภณีโดยไม่มีใบอนุญาต หรือใช้ใบอนุญาตของผู้อื่น จะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ พื้นที่เขตพระนครอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่กระทรวงนครบาล ส่วนพื้นที่เขตนอกพระนครเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยดูแล
เมื่อผ่านยุค “ยายแฟง” และยายแตงไปแล้ว บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช เล่าว่า ปรากฏหลักฐานผู้ขอตั้งโรงหญิงโสเภณีขึ้นอีกหลายแห่งในพระนคร ผู้ประสงค์ตั้งสถานบริการหญิงนครโสเภณีสามารถขออนุญาตจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามความในพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า เป็นอีกข้อบ่งชี้ว่าอาชีพการให้บริการของโสเภณีปรากฏขึ้นในไทยมานานแล้ว ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการมีหลากหลายเชื้อชาติ เมื่อนั้นจึงต้องควบคุมโรค ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ขายบริการต้องจดทะเบียน มีเอกสารประจำตัว
ยุคกฎหมาย “ปรามการค้าประเวณี”
พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 (พ.ศ. 2451) ใช้สืบเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พ.ร.บ. นี้ประกาศใช้หัวเมืองทุกมณฑลทั่วราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2456 กระทั่งถึงยุครัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งออกพ.ร.บ. ปรามการค้าประเวณีมาใช้แทน ใน พ.ศ. 2503 จึงได้ยกเลิกไป และปรากฏพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 สืบเนื่องต่อมา
กฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นหลักฐานที่บ่งชี้เรื่องที่ทางของผู้ขายบริการทางเพศในสังคมไทยย้อนไปได้ราว 200 ปี ภายหลังการยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 117 สถานการณ์กิจการค้าประเวณีเป็นอย่างไรกันบ้าง คงเป็นที่ทราบกันดีทั้งจากรายงานข่าว หรือประสบการณ์ตรงตามแต่ประชาชนในแต่ละท้องที่สัมผัสกันมา
อ้างอิง :
ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “กฎหมายโสเภณี ‘ตีทะเบียน’ ครั้งแรกในไทย”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2527.
บัณฑิต จุลาสัย และ รัชดา โชติพานิช. “นครโสเภณีหรือเมืองมหาวิทยาลัย”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2563