เจาะค้าประเวณีไทยในอดีต ดูกลดัดหลังนายหน้าด้วยการ “โดดร่ม” และนัยของคำ “ตกเขียว”

สำเพ็งสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายแล้ว ยังมีโสเภณีเหลื่อนกลาดด้วย (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม ๒๕๕๖)

การค้าประเวณีเรียกได้ว่าเป็นกิจการที่เก่าแก่ที่สุดอีกชนิดหนึ่งของมนุษยชาติ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบของกิจการเหล่านี้ก็ปรับตัวไปตามสภาพสังคมด้วย สำหรับสังคมไทยการค้าประเวณีก็มีมาแต่โบราณเรื่อยมาจนถึงช่วงการเก็บภาษีในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

เรื่องราวของการค้าประเวณีในไทยมีหลักฐานจากสมัยอยุธยาบ่งชี้เรื่องโสเภณีกันแล้ว (คลิกอ่านเพิ่มเติม : ซ่องโสเภณี สมัยกรุงศรีอยุธยา มีแต่ลูกสาวขุนนาง!?)

เมื่อมาถึงยุครัตนโกสินทร์ที่รัฐพยายามเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงส่วนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง ด้วยสภาพภาคเกษตรกรรมตกต่ำ แรงงานเคลื่อนย้ายตัวเข้าสู่เมือง เกิดการกระจุกตัวของสังคมแรงงานภายในพื้นที่ในเมือง หน่วยย่อยนี้เองมีปรากฏการณ์การค้าประเวณีสำหรับแรงงานเกิดขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงบ่อยคือ “ดอกคำใต้” อำเภอหนึ่งในจังหวัดพะเยา อันเป็นตำนานประวัติศาสตร์ของการค้าประเวณีมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้ภาพของสาวเหนือที่ถูกหลอกมาขายบริการ

เรื่องราวของหญิงสาวอำเภอดอกคำใต้ในการอธิบายโดยพนิดา สงวนเสรีวานิช บรรยายในบทความ “ตำนานดอกคำใต้ ยุทธการสยบการค้าประเวณี ฤาเป็นแค่…ยุทธการขยับเหงือก?” ว่าเริ่มเกิดขึ้นเมื่อประมาณเกือบ 55 ปีมาแล้ว โดยคนในหมู่บ้านเป็นผู้เจรจากับพ่อแม่ของหญิงสาว พร้อมกับเสนอสิ่งของล่อใจต่างๆ อาทิ เงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น อีกทั้งทำสัญญาผูกมัดเพื่อป้องกันการฟ้องร้องในภายหลัง

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ เอเย่นต์จะพาหญิงสาวที่ไปขายบริการกลับมาเยี่ยมบ้าน พร้อมทั้งให้แต่งตัวดูดีขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เอเย่นต์บางรายถึงขั้นเสนอบ้านหลังใหม่ให้กับพ่อแม่ของหญิงสาว เพื่อเป็นการล่อตาล่อใจหญิงสาวคนอื่นๆในหมู่บ้าน นี่เองที่นำไปสู่ค่านิยมแบบใหม่ที่เห็นว่าการขายลูกสาวไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร แต่กลับเป็นการช่วยเหลือครอบครัวให้มีฐานะดีขึ้น

ค่านิยมดังกล่าว ส่งผลให้วิถีความคิดของคนในหมู่บ้านเปลี่ยนไป โดยเห็นว่าการขายลูกสาวให้ไปขายบริการนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องขายให้ได้เงินคุ้มกับการเลี้ยงดูมา 10 กว่าปี

นอกจากเรื่องของดอกคำใต้แล้ว ยังมีเรื่องของการ “ตกเขียว” รูปแบบการค้าประเวณีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการซื้อเด็กสาวเพื่อนำไปประกอบอาชีพโสเภณี กระทำโดยการจองตัวเด็กสาวในช่วงหน้าแล้งก่อนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมีวิธีการคือติดต่อกับกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเพื่อจ่ายเงินมัดจำล่วงหน้า รอให้เด็กเรียนจบชั้นประถมหกเสียก่อน หลังจากนั้นก็จะมารับตัวไปเป็นโสเภณี

สาเหตุที่ต้องให้เด็กเรียนจบชั้นประถมหกก่อนนั้น เพราะว่าการศึกษาภาคบังคับบังคับให้เด็กต้องเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 6 และถือว่าเป็นวัยที่เด็กแตกเนื้อสาวใช้การได้พอดี ถ้าเอาตัวไปก่อนหน้านั้นก็ดูจะเร็วเกินไป

“ตกเขียว” คำนี้นอกจากจะหมายถึงการซื้อตัวเด็กสาวแล้ว ยังมีความหมายอื่นแฝงอยู่ด้วย ซึ่งวาณิช จรุงกิจอนันต์ สันนิษฐานว่า “ตกเขียว” อาจจะมาจากคำว่า “ตกข้าว” หมายถึงให้เงินไปก่อนแล้วชำระคืนด้วยข้าว โดยที่ชาวนากู้ยืมเงินมาเท่าไหร่ก็จะคิดตามราคาข้าวในขณะนั้น เช่น ยืมเงินมา 1,000 บาท ถ้าข้าวขณะนั้นถังละ 100 บาท ก็จะต้องใช้คืนด้วยข้าว 10 ถัง ชาวนาจะเหลือข้าวไว้เป็นของตัวเองก็ได้

ในกรณีของการตกข้าว ชาวนาอาจจะเหลือข้าวไว้เป็นของตัวเองได้ แต่กับการตกเขียวนั้นชาวนาจะต้องยกข้าวที่ได้ทั้งหมดให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งหมายความว่าชาวนาจะไม่เหลือข้าวของตนเลย จะได้ข้าวมากน้อยเท่าไรก็จะตกเป็นของเจ้าหนี้ทั้งหมด

แม้ว่าการค้าประเวณีจะเป็นเรื่องธรรมดาในสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงตัวลูกสาวเอง แต่ถึงกระนั้นในวงการค้าประเวณียังมีการหลอกตลบหลังเอเย่นต์ด้วย ซึ่งเรียกกันว่า “โดดร่ม”

พนิดา สงวนเสรีวานิช อธิบาย “การโดดร่ม” ว่าเป็นขบวนการที่ทำเป็นคณะ ประกอบไปด้วย เด็กสาว พ่อแม่กำมะลอของเด็กสาว และเจ้าของบ้านที่ใช้เป็นสถานที่ส่งมอบ โดยพ่อแม่จะเจรจาเวลาส่งมอบและราคากับเอเย่นต์ก่อน แล้วกลับมานัดแนะกับเจ้าของบ้านให้ไปข้างนอกสักพักพร้อมทิ้งกุญแจบ้านไว้ และให้กลับมาอีกครั้งในช่วงเย็น

พอถึงเวลาที่เด็กเจอกับเอเย่นต์ พ่อแม่ก็จะใช้ให้เด็กไปซื้อกับข้าวมาเลี้ยง ซึ่งช่วงนี้เองเด็กก็จะหาทางหลบหนีไป ทิ้งช่วงเวลาไปสักพักพ่อแม่ก็จะแสดงท่าทีเดือดเนื้อร้อนใจ จึงอาสาออกไปตามหาเด็ก และถือโอกาสหลบหนีไปด้วยหลังจากที่ได้เงินมัดจำไว้แล้ว กระทั่งเจ้าของบ้านกลับมาพบเอเย่นต์ พร้อมกับแสดงท่าทีเป็นไม่รู้เห็นใดๆ แล้วไล่เอเย่นต์ออกจากบ้านไป

เวลาต่อมาเมื่อรถเอเย่นต์วิ่งเข้ามาในหมู่บ้าน ขบวนการ“โดดร่ม” จึงจำเป็นต้องยกเลิกไป เนื่องจากกลัวการตามฆ่าล้างแค้น

รัฐบาลไทยพยายามกวาดล้างกระบวนการค้าประเวณีมาโดยตลอด แต่จนถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการของกิจการค้าประเวณีก็เปลี่ยนแปลงไปอีกทั้งในประเทศ ไปจนถึงค้าประเวณีข้ามชาติที่กลายเป็นปัญหาเชิงภาพลักษณ์ฝังลึกไปแล้ว


อ้างอิง:

พนิดา สงวนเสรีวานิช. “ตำนานดอกคำใต้ ยุทธการสยบการค้าประเวณี ฤาเป็นแค่…ยุทธการขยับเหงือก?, ใน” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2537)

วาณิช จรุงกิจอนันต์. “ตกเขียว, ใน” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2537)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2562