ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ |
เผยแพร่ |
คดี “นางเย้าคอกสี” หญิงจีน ถูกหลอกขายตัวในสยาม เผยอำนาจมืดบนเส้นทาง “ค้าประเวณี”
เรื่องของ นางเย้าคอกสี มีอยู่ว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 มีหญิงกวางตุ้งคนหนึ่งเรียกกันว่านางเย้าคอกสี ออกจากนครกวางตุ้งเพื่อจะไปหา “นายเย้าปัดหลิน” ผู้เป็นสามี ที่เมืองไซ่ง่อน แต่ถูกหลอกให้มาลงเรือผิดเข้ามาในประเทศสยาม และถูกนำตัวมาไว้ที่โรงแรมโต้ซังจั่นถึงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 นางก็ถึงแก่กรรมที่นั่น มรณกรรมของนางนี้โจษกันว่าถูกฆ่าตายบ้าง ผูกคอตายบ้าง เพราะนางถูกกดขี่ให้เป็นหญิงหยำฉ่า (หญิงโสเภณี)
พวกกวางตุ้งใฝ่ใจในเรื่องนี้ เชื่อว่านางตายไม่บริสุทธิ์ (เดลิเมล์, 5/10/ 2471) หนังสือพิมพ์จีนชื่อลิมเคียวป่อ ได้ลงข่าวทำนองหาว่าโรงแรมโต้ซังจั่นเป็นผู้ทำให้มรณกรรมนี้เกิดขึ้น ทำให้ “นายเจ้าโต้ซัง” เจ้าของโรงแรมเสียชื่อ นายเจ้าโต้ซังจึงฟ้องนายโกเทียวเหยียน บรรณาธิการ หาว่าหมิ่นประมาท คดีไปถึงศาลพระราชอาชญา นายโกเทียวเหยียนจำนนด้วยหาพยานพิสูจน์ไม่ได้ ยอมประกาศขมาโทษ คดีเลิกกันไป
ต่อจากนั้นหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ได้ลงเรื่องนางเย้าคอกสี หญิงจีน และเรื่องที่เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจกองพิเศษไม่ปราบปรามการหากินด้วยเรื่องหญิงหยำฉ่าให้เบาบางตามความประสงค์ในพระราชบัญญัติ มีผลให้บรรณาธิการคนก่อนของหนังสือพิมพ์นี้ถูกพระยาอธิกรณ์ประกาศฟ้องฐานหมิ่นประมาท คดีถึงศาลพระราชอาชญา ศาลพระราชอาชญาส่งคดีให้กรมอัยการ กรมอัยการไม่ฟ้อง ในที่สุดศาลไม่รับฟ้องของพระยาอธิกรณ์ประกาศ พิจารณาคดีไปถึงศาลฎีกา คงพิพากษายืนตามความเห็นพระราชอาชญา
ส่วนคดีนางเย้าคอกสีถึงมรณกรรม สโมสรกวางตุ้งบอกไปยังสโมสรกวางตุ้งที่ไซ่ง่อน ให้นายเย้าปัดหลินสามีนางเย้าคอกสีเข้ามาไทย นายเย้าปัดหลินเข้ามาเมืองไทยเมื่อราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2469 สโมสรกวางตุ้งได้มอบธุระให้ “นายตั้งหว่า” เป็นธุระช่วยเหลือนายเย้าปัดหลิน นายตั้งหว่าได้แนะนำให้นายเย้าปัดหลินทำเรื่องราวถวายเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงสั่งให้ไต่สวน
ทางไต่สวนได้ความว่า นางเย้าคอกสี ถูกล่อลวงมาเมืองไทย และถูกกดขี่จะให้เป็นหญิงหยำฉ่า ค้าประเวณี และได้ความอื่น ๆ อีกหลายประการ แต่เรื่องหาว่ามีผู้ฆ่าตายไม่ได้หลักฐานพอ แต่ยังไม่ทันสั่งให้ฟ้องผู้ทุจริต นายเย้าปัดหลินไม่สามารถทนรอได้ จึงยื่นฟ้องผู้มีชื่อ 6 คนต่อศาลโบริสภาคือ นายเจ้าโต้ซัง นายหว่องกิต ตำรวจกองพิเศษ นายเจียะขื่น ตำรวจกองพิเศษ นายหลีเก๊า นายเสง ผู้จัดการโรงแรมโต้ซังจั่น นางไต้ยี่ม้า แต่นางไต้ยี่ม้าไม่ได้ตัวมาไต่สวน
ในการฟ้องข้อหาว่าจำเลยเหล่านี้สมคบกันล่อลวงนางเย้าคอกสีมาเมืองไทยจะให้เป็นหญิงหยำฉ่า ทำร้ายร่างกาย กักขังทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพ และฆ่านางเย้าคอกสี ศาลโบริสภาไต่สวนแล้วอนุญาตให้นายเย้าปัดหลินโจทก์ฟ้องได้ แต่จำเลย 3 คนคือ นายเจ้าโต้ซัง นายหว่องกิต นายเจียะขื่น ฐานทำให้นางเย้าคอกสีเสื่อมเสียอิสรภาพที่เอาไปกักขังไว้
นายเย้าปัดหลินอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่อนุญาตให้ฟ้องนางไต้ยี่ม้าด้วย บัดนี้นายเย้าปัดหลินโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้ง 4 ต่อศาลพระราชอาชญา แต่ไม่ได้ตัวนางไต้ยี่ม้ามาพิจารณา คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาที่ศาลพระราชอาชญา รวมคดีเรื่องนี้เกิดขึ้นแต่ปี พ.ศ. 2468 จน พ.ศ. 2471 เกือบ 3 ปีแล้วยังไม่สิ้นสุด ปรากฏว่าระหว่างไต่สวนคดีนายเย้าปัดหลินโจทก์นั้น นายตั้งหว่าผู้วิ่งเต้นช่วยเหลือนายเย้าปัดหลินถูกผู้ร้ายฆ่าตายที่ถนนอุณากรรณในเวลากลางวัน กำลังนอนหลับอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบ
จับคนร้ายได้ 1 คนคือ นายเล้า ตำรวจนครบาลส่งตัวนายเล้าไปฟ้องแต่ผู้เดียว แต่ฝ่ายนางทองดีภรรยานายตั้งหว่าได้เป็นโจทก์ฟ้องนายหว่องกิตเป็นจำเลยด้วยอีกคนหนึ่ง ในข้อหาสมคบกับนายเล้าฆ่านายตั้งหว่า คดีถึงศาลพระราชอาชญา ศาลพระราชอาชญาพิพากษาประหารชีวิตนายเล้า ปล่อยนายหว่องกิต นางทองดีอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิตนายเล้า นายหว่องกิต นายหว่องกิตทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา
คดียังค้างอยู่ระหว่างทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้น นางไต้ยี่ม้าเป็นเอเย่นต์สำหรับตั้งร้านขายน้ำชา ซึ่งมีหญิงนครโสเภณีเป็นคนขาย และนางได้ออกไปยังนครกวางตุ้งล่อลวงนางเย้าคอกสีเข้ามาไทย ครั้นเกิดเรื่องขึ้น นางไต้ยี่ม้าก็หลบหลีกเอาตัวรอด แต่พวกของนางที่มาด้วยกันชื่อ นางกั๋นเข่ง ถูกเจ้าพนักงานกวางตุ้งจับเอาตัวกักขังไว้ที่นครกวางตุ้ง เพื่อรอฟังคดีเมืองไทยเรื่องนางเย้าคอกสี
ครั้นมาถึงในระหว่างการพิจารณาคดีระหว่างนายเย้าปัดหลินโจทก์ นายเจ้าโต้ซัง นายหว่องกิต นายเจียะขื่น จำเลย เรื่องนางเย้าคอกสี คือวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2471 นายเย้าปัดหลินถูกตำรวจจับเพื่อเนรเทศโดยรัฐบาลอินโดจีน บอกเข้ามาว่าเป็นคนไม่พึงปรารถนา คือเป็นคณะคอมมิวนิสต์ และในวันเดียวกันนี้เมื่อจับนายเย้าปัดหลินแล้ว ก็ไปจับนายชันหอยคือ เถ้าแก่หอช่างไม้ที่อยู่หลังกระทรวงมหาดไทย และเป็นพวกที่ช่วยเหลือคดีนางทองดีและนายเย้าปัดหลิน ได้หลักฐานคือ บิลต่าง ๆ เก็บค่ากับข้าวและคนมาเอาเงินไปใช้ กับบัญชีรายชื่อผู้ออกเงินค่าอาหารกินกันที่ก่ำจั่นเหลา ครั้นตอนบ่ายก็ปล่อยนายชันหอยไปโดยไม่มีประกัน (ซึ่งในเรื่องนี้เดลิเมล์ได้ลงอย่างละเอียด ดูได้ในฉบับ 5/10/2471)
สำหรับนายเย้าปัดหลินสามีนางเย้าคอกสีนั้น (หนังสือพิมพ์ศรีกรุง 5/10/2471) ได้ให้รายละเอียดว่า นายเย้าปัดหลิน แซ่เย้า ชาติกวางตุ้ง อายุ 44 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองตงซินสี แขวงเมืองไซ่ง่อน แห่งอินโดจีน เดิมอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง แต่ได้ย้ายมาอยู่ไซ่ง่อนหลาย 10 ปี และรับราชการในรัฐบาลฝรั่งเศส และได้ตั้งร้านค้าขายมีทุนหลายหมื่นเหรียญ เมื่อภรรยาเดิมถึงแก่กรรมจึงได้แต่งงานกับนางเย้าคอกสี ที่มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2468 หลังจากนั้นก็ได้ให้นางเย้าคอกสีภรรยาอยู่กับมารดาที่มณฑลกวางตุ้ง ส่วนนายเย้าปัดหลินได้กลับไปทำการค้าที่เมืองไซ่ง่อน
ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2468 นางเย้าคอกสีได้มาหาสามี แต่ลงเรือผิดเข้ามาในไทยที่โต้ซังจั่น ซึ่งในการไต่สวนคดีที่มีความผิดชัดเจนคือ นางไต้ยี่ม้านายหน้าหญิงหาเงินเป็นผู้หลอกลวงให้นางเย้าคอกสีลงเรือผิดเข้ามาที่กรุงเทพฯ (เดลิเมล์ 14/4/2472) และถูกบังคับให้เป็นหญิงโสเภณี แต่นางไม่ยอม วันที่ 24 มีนาคม ในปีเดียวกัน นางเย้าคอกสีก็ได้ถึงแก่กรรม และเมื่อนายเย้าปัดหลินเข้ามาเพื่อดำเนินคดีให้กับภรรยา ระหว่างคดีดำเนินอยู่นั้น นายเย้าปัดหลินถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์
สำหรับเรื่องราวความเป็นไปว่านายเย้าปัดหลินจะถูกเนรเทศอย่างไรหรือไม่นั้น และศาลจะตัดสินเอาผิดกับเจ้าของโรงแรมคือ นายเจ้าโต้ซัง และนายเจียะขื่น (ตำรวจกองพิเศษ) ได้หรือไม่นั้น ผู้เขียนไม่สามารถสืบหาหลักฐานได้
แต่จากการนำเสนอกรณีนางเย้าคอกสีทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นถึงขบวนการค้าหญิงจีนข้ามชาติเข้ามาในไทยได้เป็นอย่างดีว่า มีนายหน้าไปล่อลวงหญิงจีนที่ประเทศจีน มีสถานที่ ค้าประเวณี ที่มีอิทธิพลในเมืองไทย และที่สำคัญมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าหญิงอีกด้วย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคดีของนางเย้าคอกสี เป็นคดีมีความซับซ้อน ยาวนาน และโด่งดังมาก ในช่วงเวลานั้นและเป็นเหตุให้หนังสือพิมพ์ได้เรียกร้องให้รัฐกวดขันในเรื่องนี้ ดังเช่น พิมพ์ไทย (13/2/2472) ตีพิมพ์บทความเรื่องการค้าหญิงสาว
“…ความเจริญแห่งสินค้าประเภทนี้ ก็ยังคงเป็นไปอย่างกว้างขวางเช่นนี้ก็เพราะการสอดส่องนั้นเป็นแต่เพียงดูความสมัครหรือไม่ สมัครของผู้ถูกค้าเป็นข้อใหญ่ หาได้กวดขันถึงกับปิดประตู คือห้ามเสียทีเดียวไม่ เพราะฉะนั้นเหตุร้ายแรงเรื่องนางเย้าคอกสี จึงได้เกิดขึ้นถึงกับเป็นคดีโด่งดัง ๆ ทราบกันดีแล้ว…”
อ่านเพิ่มเติม :
- “ตำนานดอกคำใต้” การค้าประเวณีที่ก่อค่านิยมเป็น “โสเภณี” เพื่อยกฐานะครอบครัว
- จุดเริ่มขายบริการทางเพศ “ถูกกฎหมาย” ครั้งแรกในไทย ก่อนเข้ายุค “ปรามค้าประเวณี”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “ค้าหญิงจีนข้ามชาติ ในประวัติศาสตร์สังคมไทย” เขียนโดย ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2543
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2564