ไทยยกเลิก “จิ้มก้อง” กับจีน สมัยไหน?

กองเรือ เรือสำเภา จีน
กองเรือสำเภาจีน ภาพจาก สารานุกรมพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

จิ้มก้อง เป็น “ระบบบรรณาการ” ระหว่างไทยกับจีน ถือเป็นเครื่องมือทางการทูตอย่างหนึ่ง ระบบบรรณาการนี้มีมานานหลายร้อยปีนับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบทอดยาวมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้ยกเลิกการ “จิ้มก้อง” กับจีน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความรุ่งโรจน์และอวสานของระบบบรรณาการจิ้มก้อง ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ปี 2544 ไว้ตอนหนึ่งว่า

Advertisement

ในช่วงรัชกาลที่ 1-4 คือระหว่าง พ.ศ. 2325-2396 (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19) ก่อนที่ไทยจะทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษในปี 2398 ไทยส่งทูตบรรณาการไปจิ้มก้องเมืองจีนถึง 35 ครั้ง เฉลี่ยเกือบทุก 2 ปีต่อ 1 ครั้ง

การส่งไปด้วยความถี่ขนาดนี้นับว่ามาก เพราะจีนกำหนดไว้ในสมัยนั้นว่า ทูตบรรณาการจากต่างแดนจะไปเมืองจีนได้ 3 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่ละครั้งนำเรือมาได้ 3 ลำ มีคนในเรือแต่ละลำประมาณ 100 คน และจะเข้าเมืองจีนได้ก็ที่ท่าเรือเมืองกวางตุ้งเท่านั้น

จีนไม่ได้จำกัดจำนวนบรรณาการและสินค้าที่อีกฝ่ายนำลงเรือมา ทั้งยังไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า และเมื่อเดินทางกลับประเทศก็สามารถซื้อสินค้าอะไรจากจีนก็ได้ ยกเว้นสินค้าบางรายการที่จีนถือว่าจำเป็นต่อการป้องกันประเทศของตน เช่น อาวุธ ทองแดง ดินประสิว เอกสารทางประวัติศาสตร์ (หรือพงศาวดาร)

อาจารย์ชาญวิทย์ ระบุว่า สมัยรัชกาลที่ 1 มีสำเภาหลวงติดต่อค้าขายกับจีนเพียง 2 ลำ คือ เรือหูสูง และ เรือทรงพระราชสาส์น ส่วนสมัยรัชกาลที่ 2 มีเรือสำเภาหลวง 2 ลำ เช่นกัน คือ เรือมาลาพระนคร และ เรือเหราข้ามสมุทร

ชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทยช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เช่น จอห์น ครอว์ฟอร์ด ทูตการค้าของรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย ซึ่งเข้ามาใน พ.ศ. 2365 พร้อมด้วยผู้ติดตามชื่อ จอร์จ ฟินเลย์สัน ต่างบันทึกรายการเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของไทยเอาไว้ สะท้อนบรรยากาศการค้าขายในยุคนั้นได้ค่อนข้างชัดเจน

“ชาวต่างประเทศเหล่านี้เชื่อว่า มีเรือจากไทยไปค้าขายที่เมืองจีน ปีละ 80 ลำ ไปอินโดนีเซีย (ปัตตาเวีย) 3 ลำ ไปมลายู 5 ลำ ไปสิงคโปร์ 27 ลำ ไปเวียดนาม (ไซ่ง่อน) 18 ลำ ฯลฯ

“ในบรรดาเรือค้าขายเหล่านี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินไทยเสีย 2 ลำ และเป็นเรือของขุนนาง 20 ลำ ดังนั้นส่วนที่เหลือเราอาจจะตั้งสมมุติฐานว่าคงจะเป็นเรือของเอกชนจีนในไทย ที่ได้สิทธิทางการค้าจากพระเจ้าแผ่นดินหรือขุนนาง หรือไม่ก็ทำการค้าร่วมทุนกับพระเจ้าแผ่นดินและขุนนาง แบ่งปันผลกำไรกัน” อาจารย์ชาญวิทย์ กล่าวไว้ในบทความ และบอกต่อว่า

อย่างไรก็ตาม จำนวนเรือดังกล่าวก็ยังไม่แน่ชัดว่า จะสามารถนับว่าเป็นเรือของไทย หรือของคนที่พำนักในเมืองไทยกันแน่ เพราะดูจะมีความไม่แน่นอนเรื่องสัญชาติของเรือ (ในความหมายของโลกสมัยใหม่) แต่ก็อาจสรุปอย่างกว้างๆ ได้ว่า ในการค้าที่ไทยมีกับจีนเป็นหลัก น่าจะมีเรือไปมาระหว่างกันราว 150-200 ลำ ในช่วงรัชกาลที่ 2-4 สะท้อนให้เห็นในวรรณกรรมของสุนทรภู่ ที่ให้ภาพความคึกคักของการค้ายุคต้นรัตนโกสินทร์ไว้

มาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ในช่วงท้ายรัชกาล พระองค์ทรงมีประกาศเรื่องราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี ทรงกล่าวถึงการ “จิ้มก้อง” กับจีน ใจความว่า

ที่ผ่านมา ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางไทยถูก “อุบาย” ให้มีพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการ ให้ทูตไทยออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินจีน ยอมให้ฝ่ายจีนแต่งพระราชสาส์นเป็นหนังสือจีน ตามฉบับสำเนาความในพระราชสาส์นซึ่งเป็นอักษรไทยและใจความไทย

แต่ฝ่ายจีนกลับแต่งยักย้ายเสียใหม่ตามชอบใจของตัว ไม่ให้ไทยทราบด้วย ครั้งแต่งเป็นหนังสือจีนแล้วก็กลับความเป็นอย่างอื่น เขียนว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยลุกขึ้นยืนกุ๋ย (ทรงชี้แจงว่า “กุ๋ย” แปลว่า คำนับหรือถวายคำนับ) ไปถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงปักกิ่ง ขออ่อนน้อมยอมตัว ถวายเป็นข้าขอบขันธเสมาอาณาจักรของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง

ทั้งการเดินทางไปจีน ยังมีพิธีกรรมที่มากขั้นตอน ทั้งยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลาหลายเดือน เมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินจีนแล้ว “พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็เสด็จออกรับพระราชสาส์นแลทูตไทย รับเมืองไทยเป็นเมืองก้อง คือรับอย่างหัวเมืองขึ้น” สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่ที่ทำให้ไทยต้องไปจิ้มก้องกับจีนหลายร้อยปี ก็เพราะเหตุผลหลักคือ “กำไร”

เมื่อไทยเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ รัชกาลที่ 4 จึงทรงยกเลิก “จิ้มก้อง” ยุติ ระบบบรรณาการ (อันไม่เท่าเทียม) ที่สืบเนื่องมานานหลายร้อยปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “ประวัติการค้า-พาณิชย์ ภาครัฐของไทยสมัยโบราณ (จบ)”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม. เอกสาร “โลกของพระเจ้ากรุงสยามกับวิเทโศบาย”. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567