รัชกาลที่ 4 รับสั่ง “จิ้มก้อง” ที่ยืนยาวมาได้เพราะมีพวกเห็นแก่ “กําไร”

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

สมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2347-2411) พระองค์รับสั่งให้ “ยกเลิกส่งเครื่องบรรณาการจิ้มก้องกับจีน” ซึ่งดำเนินมาหลายร้อยปี ทั้งทรงมีราชวินิจฉัยว่า เหตุใดการ จิ้มก้อง กับจีน จึงยืนยาวมานานนับร้อยๆ ปี 

ประเด็นดังกล่าวคือหัวข้อหนึ่งในงานวิชาการเฉลิมฉลองสัมมนาเรื่อง 200 ปีพระเจ้ากรุงสยาม” เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่เป็นวาระครบรอบ 200 ปี ประสูติกาลของรัชกาลที่ 4 ที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ จัดขึ้น

ภายหลังมูลนิธิโครงการตำราฯ จัดทำเป็นเอกสารชื่อ “โลกของพระเจ้ากรุงสยามกับวิเทโศบาย” โดยอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ อาจารย์กัณฐิกา ศรีอุดม จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

ประกาศหมายเลข 309 “เรื่องราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรี” ขนาดยาวเป็นพิเศษออกมาในปี 2411/1868 ปีเดียวกับที่เสด็จสวรรคตนั้น ความตอนหนึ่งว่า “การรับและการส่งพระราชสาส์นไปเมืองจีน เป็นต้นเหตุเดิม มาหลายร้อยปีแล้ว

ประกาศนี้คงจะร่างขึ้นโดยพระจอมเกล้าฯ เอง ดังนั้นถ้อยคำและสำนวนจึง “แข็งแรง” ถึงขนาดกล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน “หลายร้อยปี” ในระบบ “จิ้มก้อง” และบรรณาการนั้นมีมาได้ก็เพราะ “พระเจ้าแผ่นดินโง่ เสนาบดีเซอะ ราษฎรโซ” นั่นเอง ทั้งยังทรงพรรณนาอย่างละเอียดลออว่า

ความสัมพันธ์เช่นว่านี้ถูกพ่อค้าสำเภาจีน “หลอก” เพื่อ “จะเก็บสินค้า ของป่าต่างๆ ส่งไปขายในประเทศจีน… พวกจีนทั้งหลาย… ทำมาหากิน จนมั่งมีเงินทอง… จึงลงทุนต่อสำเภาบรรทุกสินค้าต่างๆ ในเมืองไทยไปขายเมืองจีนได้กำไร… (แล้ว) จึงเลือกซื้อสิ่งของที่ประหลาดๆ ต่างๆ ในเมืองกวางตุ้ง เลือกเอาแต่ที่ดีๆ เข้ามาเป็นของถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม… พระเจ้าแผ่นดินไทยได้รับของถวาย แลเสนาบดีไทยได้รับกำนัลของพวกจีนนั้นๆ ก็มีความยินดีโสมนัสมากเพราะหลงโลภ”

พระจอมเกล้าฯ ทรงบรรยายต่อไปอย่างชัดเจนว่า ทั้งพระเจ้าแผ่นดิน และขุนนางไทยถูก “อุบาย” ให้ “มีพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการ… ให้ทูตไทยออกไปเจริญทางพระราชไมตรี… กับพระเจ้าแผ่นดินจีน… โปรดให้… แต่งพระราชสาส์นฉบับหนึ่งเป็นอักษรไทย มีความว่าขอเป็นทางพระราชไมตรีต่อกรุงปักกิ่งเพื่อประโยชน์จะไปมาค้าขาย พระราชสาส์นนั้นให้จานลงในแผ่นทองคำ แล้วม้วนไว้ในกล่องทองคำประดับพลอยต่างๆ สี…

พระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลานั้นหลงใหล เชื่อคำพวกจีนเหล่านั้นกราบทูลหลอกลวงต่างๆ ช่างโง่เง่าทั้งพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดี จึงยอมให้จีนพวกนั้นแต่งพระราชสาส์นเป็นหนังสือจีน แต่ว่ารับสั่งว่าให้ล่ามจีนพวกนั้นแต่งตามฉบับสำเนาความในพระราชสาส์นซึ่งเป็นอักษรไทย แลความไทย”

ถึงตรงนี้ ทรงบรรยายต่ออีกว่าไทยถูกจีน “หลอก” อย่างไร กล่าวคือ

“ฝ่ายพวกจีนทั้งนั้นก็แต่งยักย้ายเสียใหม่ตามชอบใจของตัว ไม่ให้ไทยทราบด้วย ครั้นแต่งเป็นหนังสือจีน ก็กลับความเสียอย่างอื่น เขียนใจความว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยลุกขึ้นยืนกุ๋ย (ทรงชี้แจงว่า “กุ๋ย” แปลว่า “คำนับ” หรือ “ถวายคำนับ”) ไปถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงปักกิ่ง ขออ่อนน้อมยอมตัว ถวายเป็นข้าขอบขันธเสมาอาณาจักรของพระเจ้ากรุงปักกิ่ง แลขอถวายเมืองเป็นเมืองก้อง 3 ปีครั้งหนึ่ง (ทรงชี้แจงไว้ด้วยว่า “ก้อง” แปลว่า “ขึ้นเป็นเมืองขึ้น” หรือ “อ่อนน้อม”) พอพึ่งพระบารมีพระเจ้ากรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเอกอุดมยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวงทั่วโลก จะขอให้พระเจ้ากรุงปักกิ่งทรงพระมหากรุณาอนุญาตให้สำเภาของพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ไปมาค้าขายที่เมืองจีนเหมือนได้โปรดให้ซื้อสิ่งของบนสวรรค์มาใช้ในเมืองไทย ไกลทะเลกันดารนั้นเถิด”

จากนั้นก็ทรงอรรถาธิบายต่ออย่างละเอียดว่า กระบวนการ “จิ้มก้อง” นั้น ทำอย่างไร ฝ่ายไทยต้องเดินทางโดยทะเลไปยังเมืองกวางตุ้ง ซึ่ง “พระเจ้ากรุงปักกิ่งโปรดพระราชทานที่แผ่นดินแห่งหนึ่ง ที่เมืองกวางตุ้งนั้น เรียกว่า กงกวนเป็นที่ของไทย สำหรับทูตไทยไปจะได้พักอาศัย จัดซื้อของต่างๆ ตามประสงค์ แล้วได้ตึกใหญ่ 4 หลังเป็นที่พัก”

ก่อนที่จะเดินทางทะเลไปกวางตุ้งนั้น พระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงบรรยายรายละเอียดของพิธีกรรมที่เกินเลยไว้ว่า ต้องแห่แหนพระราชสาส์นเป็นการเอิกเกริก กล่าวคือเมื่อออกจากสยามก็ ตั้งบนพานทองคำ 2 ชั้น คือพานแว่นฟ้า แล้วก็เชิญพานพระราชสาส์นตั้งบนบุษบกปิดทองมีคานหาม แต่พวกทูตานุทูตไทยที่จะไปนั้นก็แต่งตัวจนเกินงามในเวลานี้ แต่ในเวลาก่อนนั้นเขาจะเข้าใจว่าเป็นการดีแท้ แต่งตัวสรวมชะฎาทองคำ ชนิดชะภาอินทร์พรหม มีท้ายเชิด แล้วประดับสายสร้อยมะยมทองคำพัวพันคอรุงรัง เขาคิดเพลิดเพลินไปแต่ฝ่ายสำแดงยศอวดเจ๊ก

แลพระราชสาส์นเมื่อจะออกจากพระราชวังกรุงเก่านั้นก็มีแห่แหนอื้ออึง พานพระราชสาส์นนั้นเชิญขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ แลมีเครื่องสูงเทวะดาแห่หน้า หลังมี แตรสังข์ กลองชนะ พิณพาทย์ พลถือธงต่างๆ บางสิ่งแห่หน้าหลัง โห่ร้อง อื้ออึงมาลงเรือเอกไชย เรือรูปสัตว์ต่างๆ ยังมีเรือแห่เป็นขบวนแห่หน้าหลัง คั่งคับตามลงมาส่งจนถึงเมืองสมุทรปราการ แล้วส่งขึ้นเรือใบน้อยๆ เป็นเรือลำเลียง

แต่ลงไปในเรือแล้วยังมิหนำซ้ำให้มีกลองชนะ แตรสังข์ตามไป ประโคมเพื่อจะให้เป็นการสำหรับยศพระราชสาส์น ประโคม 3 เวลาเช้า ค่ำแลกลางวันเสมอไป เวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยแลเสนาบดีก็มีแต่การขวนขวายแต่จะแสดงยศจะอวดอำนาจเจ๊ก ไม่คิดถึงอายอดสูแก่ประเทศอื่นเลย”

จากกวางตุ้งก็ต้องเดินทางต่อโดยทางบกที่ใช้เวลากว่า 3 เดือน ทั้งนี้ทั้งเป็นไปเพื่อเกียรติยศของพระเจ้ากรุงปักกิ่งแต่ฝ่ายเดียว ที่นั่น “พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็เสด็จออกรับพระราชสาส์นแลทูตไทย รับเมืองไทยเป็นเมืองก้อง คือรับอย่างหัวเมืองขึ้น พระเจ้ากรุงปักกิ่งพระราชทานหองตั้งพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นเมืองก้องจีนมา คือตั้งเมืองไทยเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงปักกิ่ง คำว่าหองนั้นเปรียบเหมือนว่าสัญญาบัตรตั้งหัวเมืองทั้งหลาย”

น่าสนใจที่ในความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียมกันหรือ “เสียมาแต่เดิม” นี้ รัชกาลที่ 4 ก็ทรงให้อรรถาธิบายว่าได้ดำเนิน “ล่วงแล้วกว่า 500 ปีเศษ” (ถ้าคำนวณจากปีที่ทรงเขียนประกาศนี้ คือ 2411/1868 ย้อนกลับไป 500 ปี ก็คือ พ.ศ. 1911 หรือ ค.ศ. 1368 ซึ่งตกในปลายรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาพอดี แสดงว่าทรงมีพระมติว่าระบบ “จิ้มก้อง” ระหว่างไทย-จีนนี้ มีมาแต่สมัยอยุธยา)

และเหตุที่ดำเนินมานานแสนนาน แม้จะ “เสีย” และ “อายขายหน้า” ก็เพราะด้านหนึ่ง “ต้นเหตุใหญ่ เพราะว่าหนังสือจีนรู้โดยยากที่สุด ไม่เหมือนหนังสือไทยแลหนังสือต่างประเทศทั้งหลายพอจะรู้ได้บ้าง ก็ไทยแท้มิใช่บุตรจีนรู้หนังสือจีนก็ไม่มี”

แต่อีกด้านหนึ่งที่สำคัญกว่า และทรงยอมรับก็คือ “กำไร” ดังพระอรรถาธิบายที่ว่า “ส่งเครื่องบรรณาการไปครั้งหนึ่งครั้งใดก็มีกำไรมากกว่าบรรณาการของที่ส่งไป แล้วพวกทูตานุทูตไทยที่ออกไปเมืองจีนก็ได้เบี้ยเลี้ยง แต่หัวเมืองจีนต่างๆ นั้นๆ ก็จัดซื้อของที่ดีๆ ประหลาดๆ เอามาเป็นของถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย แล้วกำนัลเสนาบดีไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้นไม่มีความกระดากกระเดื่องว่าพวกจีนล่อลวงให้เสียยศ จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น”

ถึงตรงนี้ยังทรงคำนวณให้เห็น “กำไร” เป็นตัวเลขอย่างชัดเจนว่า “เครื่องมงคลราชบรรณาการของไทยไปถวายพระเจ้ากรุงปักกิ่งนั้นรวมหมดเป็นราคาเพียงสัก 50 ชั่ง … (แต่) พระเจ้ากรุงปักกิ่งก็ทรงตอบแทนเครื่องบรรณาการมาให้แก่กรุงไทยนั้น สิ่งของตอบแทนแต่ล้วนเป็นของมีราคาทั้งนั้น คือแพรอย่างดีสีต่างๆ ราคาก็มากกว่าเครื่องบรรณาการของไทยที่ไปนั้นหลายเท่า คิดราคาของตอบแทนกรุงปักกิ่ง 2 ส่วนข้างหน้า ข้างในประมาณ 60 ชั่งเศษใกล้ 70 ชั่ง ทั้งนี้พระเจ้ากรุงปักกิ่งขาดทุนเปล่า ไม่มีกำไร แต่ว่าต้องจำเป็นจำทำเพราะว่าจะแสดงยศอย่างนั้นอย่างนี้ด้วย”

กล่าวโดยย่อ จิ้มก้อง” ยืนยาวมาได้หลายร้อยปีก็เพราะ “กำไร” นั่นเอง

แต่เมื่อถึงรัชสมัยของพระองค์ท่าน ในระบบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ “การรับแลส่งพระราชสาส์นกับเมืองไกลห่างอย่างว่ามานี้นั้น ได้จารึกอักษรลงในแผ่นพระสุพรรณบัตรเป็นพระราชสาส์นแผ่นทองคำทั้งสิ้น

เมื่อได้รับพระราชสาส์นตอบของพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศทั้งหลายนั้น ก็ยังคงเป็นพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดิน 2 ฝ่าย แลมีแห่แหนส่งรับทั้ง 2 ฝ่ายเสมอกัน แล้วบางครั้งบางคราวก็มีทูตไปมาส่งพระราชสาส์นตอบกันตามเวลาควรนั้นบ้าง ไม่เหมือนจีนอย่างกรุงปักกิ่งดูหมิ่นไทย ไม่รับไทยไว้เป็นไมตรี การทั้งนี้ต้นเหตุใหญ่เพราะไทยถูกหลอกลวงจึงเสียพระเกียรติยศ

พระเจ้าแผ่นดินไทยตลอดลงมาถึงกรุงเทพมหานครนี้ ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบการนี้แล้ว ก็กลับพระทัย หาได้ไปส่งบรรณาการแก่กรุงปักกิ่งอีกไม่

จากประกาศฉบับที่ 309 นี้ พอจะสรุปได้ว่าความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ หรือ “จิ้มก้อง” นี้ยืนยาวอยู่มาได้ก็เพราะ “กำไร” แม้ว่า ไทยจะถูก “หลอก” และ “เสียพระเกียรติยศ” ก็ตาม กำไรที่ว่านี้มาจากการแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าของป่าพื้นเมืองของไทย กับสินค้าฟุ่มเฟือยจากจีน ที่เป็นผ้าแพรไหมและเครื่องถ้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มิถุนายน 2564