อ่าน “อยุธยา” จากเอกสารริวกิว-ญี่ปุ่น ความรุ่งเรือง “รัฐเมืองท่า” แห่งอุษาคเนย์

ลายเส้น เรือสำเภาสยาม อยุธยา เอกสารบันทึกจดหมายเหตุการค้า ของ ญี่ปุ่น
ลายเส้นเรือสำเภาสยาม ปรากฏในเอกสารบันทึกจดหมายเหตุการค้าของญี่ปุ่น โดยระบุว่าเรือแบบนี้เดินทางไปถึงเมืองนางาซากิกลางพุทธศตวรรษที่ 22

“อยุธยา” จาก เอกสารต่างชาติ ของ ริวกิว และ ญี่ปุ่น เผยความรุ่งเรือง “รัฐเมืองท่า” แห่งอุษาคเนย์

ประวัติศาสตร์ของราชอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ. 1893-2310, ค.ศ.1350 / 1351-1767) ถูกมองว่าเป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่านชั่วคราวจากอาณาจักรสุโขทัย (ประมาณ พ.ศ. 1783-1981, ค.ศ. 1240-1438) มาสู่สมัยรัตนโกสินทร์ที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และมีความแตกต่างจากระบบปิตุลาธิปไตยที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคําแหง ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็น “พ่อหลวงที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้า”

ในขณะที่ระบบของอยุธยามักจะถูกบรรยายว่าเป็นทรราชสมบูรณาญาสิทธิ์ กดขี่ขูดรีดแรงงานเกณฑ์และทาส ซึ่ง “เมืองไทย” ได้รับอิทธิพลมาจากจักรวรรดิพระนครหลวงของกัมพูชา ทัศนะแบบจารีตนี้ได้รับการตีตราประทับและตอกย้ำโดยวิวาทะมาร์กซิสต์เมื่อไม่นานปีนี้เช่นกัน

ในงานชิ้นนี้ ข้าพเจ้าประสงค์ที่จะเสนอภาพที่แตกต่างออกไปของรัฐอยุธยา โดยพิจารณาจากตัวอย่างของความสําเร็จและการพัฒนาอย่างสูงในฐานะ “รัฐเมืองท่า” ในอุษาคเนย์ “ก่อนสมัยใหม่” ตลอดระยะเวลา 4-5 ศตวรรษนั้น อยุธยาเจริญรุ่งเรืองด้วยการนําของกษัตริย์ที่มีทัศนวิสัยกว้างไกล ที่มีนโยบายที่จะสร้างอำนาจด้วยการสนับสนุนการค้าทางทะเลใน “สมัยของพาณิชยนิยม”

ภาพเช่นนี้อาจจะขัดแย้งกับทัศนะที่ยอมรับกันมานานหนักหนาว่าอยุธยามีเพียงฐานการเกษตร มีสถาบันกษัตริย์แบบทรราช ที่มองกลับคับแคบเข้ามาแต่เพียงภายใน ทัศนะลัทธิแก้ของข้าพเจ้านี้ได้มาจากการอ่านเอกสาร ริวกิว และ ญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมนักประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องของไทยไม่ได้ใช้กัน

เอกสารประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าอยากเสนอต่อท่านคือ (หนึ่ง) เอกสารริวกิว และ (สอง) เอกสารญี่ปุ่น

เอกสารแรกนั้นเป็นหนังสือทางการทูตและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรริวกิวแห่งชูซาน ซึ่งรวมตัวมีเอกภาพในสองทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 15 เอกสารทางการทูตเหล่านี้มีไปถึงบรรดาเจ้าท่าทั้งหลายในเอเชีย รวมทั้งอยุธยาด้วย

เอกสารทั้งหมดเขียนเป็นตัวอักษรจีนโบราณ ปัจจุบันนี้เอกสารเหล่านี้ถูกรวบรวมไว้ภายใต้ชื่อเรื่อง “ริกิไดโฮอัน” ในส่วนที่เกี่ยวกับอยุธยา เอกสารเก่าสุดมีเมื่อ พ.ศ. 1968 (ค.ศ. 1425) ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ. 1962 (ค.ศ. 1419) ในสมัยของพระอินทราชา (พ.ศ. 1952-1967, ค.ศ. 1409-1424)

ส่วนเอกสารกลุ่มที่สองที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นนั้นก็เก็บรวบรวมไว้ในชื่อเรื่อง “โทเซ็น ฟูเซ็ทสุ-กากิ” ซึ่ง แปลความว่า “รายงานลูกเรือสําเภาจีน” เอกสารยุคนี้เป็นรายงานคําให้การของลูกเรือสําเภาจีนที่ให้ไว้กับล่ามที่เมืองท่านางาซากิ ซึ่งเป็นเมืองท่าเดียวที่เรือของบริษัทวีโอซี (ฮอลันดา) กับเรือจีนจะเข้ามาได้ ทั้งนี้เนื่องด้วยนโยบายโดดเดี่ยวของระบบโชกุน โตกุกาวะ รายงานเก่าสุดของสําเภาจากอยุธยามีใน พ.ศ. 2222 (ค.ศ. 1679) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระนารายณ์

ข้าพเจ้าขอเริ่มด้วยเอกสาร “ริกิไดโฮอัน” ซึ่งมีความสําคัญในการปฏิบัติการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่เมืองท่าอยุธยา ยกตัวอย่างจากพระราชสาสน์ของกษัตริย์ซูซานแห่งริวกิว ที่มีมาถึงสยามประเทศในปีแรกของรัชสมัยฮุงสี หรือ (พ.ศ. 1968 ค.ศ. 1425) ว่า

“ในปีที่ 17 แห่งรัชสมัยยุงโหล (พ.ศ. 1962 / ค.ศ. 1419) ทูตคากิฮานะ และผู้ติดตามได้ลงเรือเดินสมุทร 3 ลํามุ่งมาสู่สยาม นําบรรณาการมาด้วย เมื่อถวายบรรณาการแล้วก็กลับมายังประเทศของเรา และได้กราบถวายรายงานว่า ได้ยินจากขุนนางสยามว่าบรรณาการนั้นน้อยไป และเครื่องถ้วยที่นําไปก็ขายได้ภายใต้ข้อกําหนดของทางการ และการซื้อขายโดยเอกชน เช่น ไม้ฝาง ก็หาได้รับอนุญาตไม่”

อาณาจักรริวกิวนั้นอาศัยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ดําเนินการค้าสามเส้าในภาคตะวันออกกับทะเลจีนใต้ เชื่อมการค้าของตลาดในเอเชียตะวันออกกับอุษาคเนย์ ยกตัวอย่างเช่น นําเครื่องถ้วยจีนกับผ้าแพรพรรณชั้นดี หรือไม่ก็พัดญี่ปุ่น หรือกํามะถัน เข้ามาส่งให้อุษาคเนย์ โดยแลกเปลี่ยนกับผลิตผลเขตร้อน เช่น พริกไทย และไม้ฝาง ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมหาศาลในจีน

จากเอกสารเหล่านี้จะเห็นว่าอาณาจักรริวกิวต้องการขายเครื่องถ้วยจีนให้กับพ่อค้าในอยุธยา แต่เมื่อมาถึงก็ถูกขัดขวางจากเจ้าท่าอยุธยา ไม่ให้ขนถ่ายสินค้าโดยเสรี ซึ่งต้องการให้ทําผ่านเจ้าท่าของไทย และราคาสินค้าเข้าเหล่านั้นก็ต้องถูกกำหนดโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ของไทย ดังจะเห็นได้ในเอกสารที่ใช้คําว่า “กวนไหม้” ซึ่งแปลว่า “การขายโดยทางการ”

นอกจากนี้เมื่อริวกิวต้องการไม้ฝางจากพ่อค้าท้องถิ่น ก็ถูกห้ามโดยเจ้าหน้าที่ไทย และต้องยอมที่จะไปซื้อจากเจ้าท่าที่ราคาก็กำหนดโดยทางการเช่นกัน วิธีการนี้เอกสารเรียกว่า “กวนไม้” หรือ “การซื้อกับทางการ” น่าสังเกตว่ามีการประท้วงต่อการควบคุมการค้าขายเช่นนี้ และพ่อค้าริวกิวก็เลยงดไปอยุธยาเสีย 2 ปี แต่ก็เดินทางกลับเข้ามาอีกใน พ.ศ. 1964 / ค.ศ. 1421

เอกสารริกไดโฮอันมีนัยยะว่า การควบคุมการค้าขายที่เมืองท่าอยุธยานั้นมีเป็นระยะ ๆ ทําให้พ่อค้าริวกิวต้องร้องเรียน เอกสารบางฉบับจาก พ.ศ. 1974 (ค.ศ. 1431) กล่าวถึงกรณีที่ขุนนางระดับนำของสยามอ้างว่าตนได้รับอำนาจจากพระมหากษัตริย์ ให้ยึดสินค้าของพ่อค้าริวกิวทั้งหมด โดยให้ค่าชดเชยเพียงเล็กน้อย

กรณีเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า บางครั้งบางคราวจะเกิดปัญหานอกลู่นอกรอยในระบบการค้าของอยุธยา แต่แม้จะมีปัญหาเช่นนี้ เอกสารเหล่านี้ก็ชี้ชัดว่าการค้าของริวกิวกับอยุธยานั้นดำเนินไปอย่างรุ่งเรืองถึง 145 ปี จาก พ.ศ. 1968 (ค.ศ. 1425) ถึง พ.ศ. 2113 (ค.ศ. 1570) ในแต่ละปีมีเรือสําเภาหนึ่งถึงสองลํามาแวะเมืองท่าของสยาม ในทางกลับกันก็มีเรืออยุธยาไปถึงริวกิวด้วย มีบันทึกถึงเรื่องที่เรือสยาม 3 ลําไปริวกิวใน พ.ศ. 2022 (ค.ศ. 1479), พ.ศ. 2023 (ค.ศ. 1480) และ พ.ศ. 2024 (ค.ศ. 1481) ซึ่งตรงกับสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ

สําหรับพ่อค้าญี่ปุ่นก็เริ่มค้ากับอยุธยาในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2133 (ค.ศ. 1590) เชื่อกันว่าการค้าโดยเรือ “ตราแดง” ซึ่งเริ่มต้นในสมัยของโตโยโตมิ ฮิเดโยชิ และก็พัฒนาเป็นหลักเป็นฐานในสมัยที่โตกุกาวะ อิเอยาชุตั้งระบบโชกุนขึ้นใน พ.ศ. 2146 (ค.ศ. 1603) ในปีถัดมาใบอนุญาตการค้า 4 ใบก็ออกให้กับเรือญี่ปุ่นที่จะมาอยุธยา ใน 31 ปีต่อมาจนถึง พ.ศ. 2178 (ค.ศ. 1635)

เมื่อระบบโชกุนเปลี่ยนนโยบายที่เคยสนับสนุนเรือสินค้าญี่ปุ่นให้ออกไปค้าขายต่างประเทศถูกห้ามอย่างกะทันหัน ก็มีเรือเพียง 55 ลําถูกส่งมาค้าขายที่เมืองท่าอยุธยา เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 1.8 ลําต่อปี เรือแต่ละบรรทุกสินค้ามา 200-300 ตัน สินค้าสําคัญส่วนใหญ่ที่พ่อค้าญี่ปุ่นซื้อจากอยุธยาคือ หนังกวางและไม้ฝาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่นมาตลอดเวลา

เมื่อญี่ปุ่นยกเลิกการออกใบอนุญาต “ตราแดง” ก็เกิดช่องว่างทางการค้าขึ้น ซึ่งเรือบริษัทวีโอซีของฮอลันดาที่มีฐานปฏิบัติการในอยุธยา ตลอดจนเรือสําเภาจีนต่าง ๆ ก็เข้ามาแทนที่อุดช่องว่าง ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอเอกสารชุดที่สองคือ “โทเซ็น ฟูเซ็ทสุ-กากิ” เพื่อจะแสดงให้เห็นกิจการของเรือสําเภาจีนที่อยุธยาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18

เอกสารชุดนี้รายงานโดยลูกเรือสําเภาจีนที่ไปถึงเมืองท่านางาซากิ เราพบรายงาน 66 ฉบับที่มาจากอยุธยาช่วง 49 ปีระหว่าง พ.ศ. 2222 (ค.ศ. 1679) ถึง พ.ศ. 2271 (ค.ศ. 1728) ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง รวมทั้งจากสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงรัชสมัยพระเพทราชา พระเจ้าเสือ และพระ เจ้าท้ายสระ รายงานแต่ละฉบับหมายถึงสําเภาแต่ละลําที่เข้ามา ดังนั้น จํานวนรายงานนี้ก็หมายความว่ามีเรือ 66 ลําเข้ามายังนางาซากิในสมัยดังกล่าว เท่ากับว่าเฉลี่ย 1.4 ลําต่อปี

ขอประเด็นสําคัญว่า ในจํานวนเรือ 66 ลํานั้น 25 ลําหรือ 36% เป็นเรือหลวงจากราชสํานักอยุธยา และนี่คือหลักฐานสําคัญที่แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์อยุธยาสนพระทัยในการค้ากับต่างประเทศอย่างยิ่ง

สิ่งที่ข้าพเจ้าได้บรรยายมาชี้ให้เห็นว่าสถานะทางการเงินและการคลังของอาณาจักรอยุธยา มาจากการส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ซึ่งทําให้ท้องพระคลังมั่งคั่ง เคยกล่าวกันหนักหนาว่า กษัตริย์อยุธยาพะวงอยู่กับการควบคุมกําลังไพร่พลและการเกณฑ์แรงงาน ข้อถกเถียงดังกล่าวทําให้เราเชื่อในลักษณะทรราชของรัฐ อยุธยา ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธวิวาทะเช่นนี้ ซึ่งก็สะท้อนส่วนที่เป็นจริงอยู่ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทัศนะนั้นไม่ควรบดบังความสําคัญของบทบาทการค้าต่างประเทศ และทัศนะเดิมควรได้รับการพิจารณาแก้ไขใหม่ อยุธยานั้นเป็นอาณาจักรที่ทรงพลังอํานาจสูงสุดอาณาจักรหนึ่ง และพลังอํานาจนี้ก็มีอยู่ได้ด้วยนโยบายที่มีทัศนวิสัยกว้างไกลมองออกไปภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการค้าทางทะเล

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ข้าพเจ้าขอย้ำถึงความสำคัญของทัศนภาพของราชอาณาจักรว่า เป็นหนึ่งในตัวอย่างของรัฐเมืองท่าที่โด่งดังในยุค “ก่อนสมัยใหม่” ของเอเชีย

ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกระตุ้นให้นักศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาเรียนรู้ ค้นคว้าเกี่ยวกับการค้าต่างประเทศ ที่ชนรุ่นอยุธยาได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์มาอย่างแข็งขันในอดีตอันยาวไกล

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลจากปาฐกถาเรื่อง Ayutthaya Port Polity : Seen From East Asian Sources โดย Professor Yoneo Ishii จาก Kanda University of International Studies 23 พฤศจิกายน 2542

บทความในนิตยสารชื่อ อยุธยารัฐเมืองท่า ทัศนะจากเอกสารเอเชียตะวันออก เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2563