จาก “สงคราม” สู่ “การค้า” ความมั่งคั่งร่ำรวยของอยุธยา อีกต้นเหตุการเสียกรุง!?

ทำไมความมั่งคั่งร่ำรวยของ “กรุงศรีอยุธยา” ถึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยการเสียกรุงครั้งที่ 2

ในงาน “Matichon Book Talk : เปิดประวัติศาสตร์อยุธยา 5 ศตวรรษสู่โลกใหม่” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 คริส เบเคอร์ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” ได้อธิบายประวัติศาสตร์อยุธยาผ่านมุมมองด้านเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งน่าสนใจไม่แพ้มุมมองด้านการเมืองและการสงคราม

Advertisement

คริส เบเคอร์ อธิบายว่า ในช่วงระยะเวลาราว 150 ปีแรกของอยุธยา ที่เรียกสมัยนั้นว่า “ยุคสงคราม” เมืองหรืออาณาจักรต่าง ๆ นำช้างเข้ามาใช้ในการสงคราม หากไม่มีช้างก็ไม่สามารถทำสงครามกับอาณาจักรที่อยู่ห่างไกลออกไปได้ อยุธยาเองก็ส่งกองทัพไปโจมตีเมืองหรืออาณาจักรต่าง ๆ ทั้ง เขมร เชียงใหม่ ทวาย พิษณุโลก กำแพงเพชร แม้จะไม่ได้รบชนะทุกครั้ง แต่ก็ทำให้อยุธยาได้ทรัพยากรนำมาสร้างเมืองให้ขยายใหญ่ขึ้น

หลังจากเวียดนามและพม่าได้แข่งขันกับอยุธยา เพื่อทำกำไรจากการค้ากับจีน นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างอยุธยากับพม่า ตามที่คริส เบเคอร์ บอกว่า “เบื้องหลังการสงครามระหว่างไทยกับพม่าในสมัยนี้ มีเรื่อง (การค้ากับจีน) นี้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของกษัตริย์ใครใหญ่กว่าใคร” 

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ในยุคสงครามนี้ ผู้คนบางส่วนยอมไปเป็นทหาร เพราะการสงครามในอดีตจะมีการปล้นสะดม จึงสามารถแสวงหาทรัพย์สินมาเป็นของตนได้ สงครามจึงเป็นเศรษฐกิจประเภทหนึ่งซึ่งทำให้ผู้คนร่ำรวย แต่ต่อมา คู่สงครามของอยุธยามีการป้องกันตัวเองดีขึ้น เช่น สร้างกำแพงเมืองสูงใหญ่ อยุธยาจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการสงคราม

นั่นทำให้ผู้คนที่ถูกเกณฑ์มาไม่ได้ทรัพย์สินที่จะหาได้จากการปล้นสะดม แถมยังเสี่ยงตายในสงคราม ต่อมาผู้คนจึงหนีเข้าป่า บวชพระ หรือแม้แต่การจ่ายเงินติดสินบนแทนการถูกเกณฑ์ไปสงคราม จนเมื่อถึงปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวร การเกณฑ์ทหารไปรบก็น้อยลงมาก และสังคมเริ่มเบื่อหน่ายสงคราม

จากนั้น อยุธยาก็ห่างหายจากการทำสงครามไปยาวนานนับร้อยปี จะมีทำสงครามบ้างประปราย แต่ไม่บ่อยเท่ายุคสงครามดังกล่าวข้างต้น คริส เบเคอร์ กล่าวว่า “นี่ทำให้ประวัติศาสตร์พลิกผัน เพราะว่าก่อนหน้านั้น ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ และความสามารถของคน ถูกนำไปใช้ในการสงคราม แต่หลังจากนั้น ทรัพยากรเหล่านี้ถูกนำไปใช้ทำการค้า ทำให้ชีวิตของคนดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจถูกกระตุ้น”

อยุธยาจึงเปลี่ยนผ่านจาก “ยุคสงคราม” เข้าสู่ “ยุคการค้า”

คริส เบเคอร์ อธิบายว่า พวกพ่อค้าเอเชียไม่ค่อยชื่นชอบพวกพ่อค้าตะวันตกมากนัก พวกเขาไม่อยากผ่านช่องแคบมะละกา เพราะมีพวกดัตช์และโจรสลัดอยู่

ฉะนั้น พวกเขาจึงเลือกค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้าที่อยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ในจุดที่อำนวยความสะดวกได้หลายประการ แม้จะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มิได้เป็นเมืองท่าชายฝั่งริมทะเล ต้องล่องเรือเข้ามา แต่นี่เป็นจุดเด่นที่ทำให้อยุธยารอดพ้นจากภัยคุกคาม โดยเฉพาะพวกโจรสลัดที่มักปล้นสะดมของมีค่าจากเรือสินค้าของพ่อค้า

เมื่ออยุธยาผันตัวมาเป็น “พ่อค้า” อย่างเต็มตัว ประกอบกับการสงครามสู้รบกับอาณาจักรภายนอกลดลงกว่ายุคก่อนหน้าลงไปมาก จึงก่อให้เกิดความมั่งคั่งขึ้น

แล้วความมั่งคั่งของอยุธยา ส่งผลต่อสังคมอยุธยาอย่างไร?

คริส เบเคอร์ อธิบายว่า ความมั่งคั่งทำให้สังคมอยุธยาเปลี่ยนแปลงมาก การค้าที่สร้างกำไรมหาศาล ส่วนมากจะไปอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ซึ่งได้นำเงินส่วนนี้ไปก่อสร้าง และบูรณะวัดวัง ทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองที่สวยงาม เป็นเมืองที่น่าอยู่ ขณะเดียวกัน ความมั่งคั่งนี้ก็ทำให้ขุนนางร่ำรวยขึ้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับขุนนาง

พระมหากษัตริย์มองว่า ตระกูลขุนนางที่มั่งคั่งได้ใช้เงินในการสร้างฐานอำนาจให้เพิ่มพูนมากขึ้น พระมหากษัตริย์จึงพยายามใช้หลายวิธีให้ขุนนางมีคู่แข่ง เพื่อกระชับอำนาจ เช่น การเก็บภาษีมรดก หากขุนนางชั้นผู้ใหญ่ตาย จะริบทรัพย์สินเป็นของหลวง นั่นทำให้ตระกูลขุนนางไม่มีการสะสมทุนและอำนาจ

นอกจากนั้น อีกวิธีหนึ่งที่ใช้กระชับอำนาจขุนนางคือ ข้อหาคอร์รัปชัน หรือข้อหาร่ำรวยผิดปกติ เช่นกรณีโกษาปาน

คริส เบเคอร์ อธิบายว่า ความมั่งคั่งในอยุธยาทำให้คนธรรมดาทั่วไปมีฐานะการเงินดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น และมีอำนาจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากความพยายามออกกฎหมาย เพื่อควบคุมการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีเหตุมาจากการซื้อขายตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มใหม่เริ่มมีเงิน อยากเปลี่ยนสถานะขยับให้สูงขึ้น จึงใช้เงินเป็นเครื่องมือ

คริส เบเคอร์ ชี้ให้เห็นว่า จากการที่อยุธยามั่งคั่งขึ้น ความมั่งคั่งนั่นส่วนมากไปอยู่ที่พระมหากษัตริย์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนมุ่งหวังแย่งชิงบัลลังก์ ซึ่งเกิดความขัดแย้ง การสู้รบ ไปจนถึงสงครามกลางเมือง แทบจะทุกสมัยของอยุธยาตอนปลาย นับแต่สมัยราชวงศ์ปราสาททองเรื่อยมา

คำอธิบายที่ว่า ความเสื่อมของอยุธยาเกิดขึ้นหลังจากการสิ้นสุดรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และค่อย ๆ เสื่อมลงจนถึงเสียกรุงนั้น คริส เบเคอร์ กล่าวว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดแบบเก่า และอธิบายว่า หลังจากวิกฤตปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ชาวต่างชาติที่ถูกขับออกไปไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีบทบาทในด้านการค้าสำคัญเท่ากับพวกเปอร์เซีย ญี่ปุ่น และดัตช์ การค้าในอยุธยาจึงยังมีอยู่ นอกจากนั้น ความสัมพันธ์กับจีนก็ดีขึ้น การค้าเพิ่มขึ้น คนธรรมดาร่ำรวยขึ้น

“ถ้าดูจากหลักฐานคิดว่า สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นสมัยที่อยุธยาร่ำรวยที่สุด เจริญที่สุด” คริส เบเคอร์ กล่าว

ทว่าความมั่งคั่งเหล่านี้เอง ที่กัดกินอยุธยาอย่างช้า ๆ จนนำมาสู่การเสียกรุง

คริส เบเคอร์ ยกเหตุผลการเสียกรุงประการหนึ่งมาจากระบบทหาร โดยคนที่ร่ำรวยขึ้นไม่มีใครอยากเป็นทหาร ซึ่งระบบเกณฑ์ทหารยังเป็นแบบเดิม ถ้าไปเป็นทหารก็ไม่มีโอกาสไปค้าขาย เสียโอกาสที่จะร่ำรวย จึงมีการหนีทหารหรือใช้เงินจ่ายแทนการถูกเกณฑ์ ฉะนั้น ทหารตอนนั้นจึงอ่อนแอมาก

แล้วอธิบายว่า หากไปพิจารณาสังคมอื่นที่เจอสถานการณ์เช่นเดียวกับอยุธยาตอนนี้ เขาจะปรับปรุงให้มีระบบทหารใหม่ ตั้งระบบทหารอาชีพขึ้นอย่างญี่ปุ่น แต่อยุธยาไม่ได้ทำอะไรเช่นนั้น เพราะพระมหากษัตริย์หวาดกลัว กลัวทหารจะมาแย่งชิงอำนาจ 

“คนในพม่าเข้าใจเรื่องนี้ ที่เขาเห็นว่า ระบบในอยุธยาไม่ทำงานแล้ว กับตอนที่เขาเห็นด้วยว่า อยุธยาร่ำรวยมาก มันหมายความว่า ถ้ายกทัพไปอยุธยา ปล้นสะดมอยุธยา คุ้มมาก เพราะฉะนั้น คิดว่าเรื่องเสียกรุงเป็นเรื่องเศรษฐกิจด้วย”


ชมเสวนาย้อนหลังได้ที่ : www.facebook.com/watch/live/?v=2465663250393873