ฉากแรกสัมพันธ์ อยุธยา-โปรตุเกส การรับราชทูตตะวันตกครั้งแรกในอยุธยา

แผนที่ อยุธยา สยาม ค.ศ. 1764
แผนที่สยาม ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1764 (Author: Bellin, Jacques Nicolas, 1703-1772)

โปรตุเกส เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับ อยุธยา เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่โปรตุเกสเข้ายึดมะละกา เมื่อ พ.ศ. 2053 (ค.ศ. 1510) โดยหวังเป็นพันธมิตรกับอยุธยาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและการค้าในอนาคต

อัลฟงโซ ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Albuquerque) อุปราชโปรตุเกสคนที่ 2 ประจำเมืองกัว (Goa) ที่อินเดีย ยึดมะละกาใน พ.ศ. 2053 (ค.ศ. 1510) ได้ส่งทูตไปยังอยุธยาทันที หมายจะให้เป็นพันธมิตรร่วมรบ และสนับสนุนเสบียงอาหาร ซึ่งทูตโปรตุเกสเดินทางไปอยุธยาก่อนที่การยึดมะละกาจะเรียบร้อยเสร็จสิ้นเสียอีก กว่าทูตจะถึงอยุธยา โปรตุเกส ก็ยึดมะละกาได้พอดี

ราชทูตผู้นั้นคือ ดูอาร์เต้ เฟอนันดีช (Duarte Fernandes)

โดยเรื่องราวของ ดูอาร์เต้ เฟอนันดีช ถูกบันทึกไว้โดย อันโตนิโย มิรันดา ดือ อาเซเวดู (António Miranda de Azevedo) ราชทูตโปรตุเกสคนที่ 2 ที่เดินทางไปอยุธยาต่อจาก ดูอาร์เต้ เฟอนันดีช ซึ่งเขาบันทึกไว้ว่า

“เมื่อดูอาร์เต้ เฟอนันดิชออกเดินทางจากมะละกาพร้อมด้วยต้นหนชาวจีน 2 นาย พร้อมทั้งสาส์นของ อัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ สําหรับถวายแด่พระเจ้ากรุงสยามนั้น หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เดินทางข้ามชายฝั่งและเดินทางถึงปากแม่น้ำใหญ่ที่จะนำไปสู่เมืองหลวงคืออยุธยา ซึ่งพระเจ้ากรุงสยามประทับอยู่ และเมื่อทรงทราบว่ามีชาวต่างชาติเดินทางมาถึง จึงทรงสั่งให้ขุนนางพร้อมทั้งเรืออีก 200 ลำไปรับ

อัลฟงโซ ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Albuquerque)

เมื่อขุนนางเดินทางไปถึงสถานที่ที่ชาวจีนตั้งมั่นอยู่ ก็ไต่ถามดูอาร์เด้ เฟอนันดีชว่ามาจากที่ใด และผู้ใดส่งมา เขาได้ตอบขุนนางไปว่าเป็นผู้นำพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่มะละกาพร้อมกับกองทัพใหญ่ และมีรับสั่งให้มาเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามพร้อมทั้งถวายพระราชสาส์น เมื่อทราบความดังนี้ จึงได้บอกแก่ขุนนางให้ไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินถึงกลุ่มคนที่เดินทางมาและเหตุผลที่มา

พระเจ้าแผ่นดินเมื่อทรงทราบการเดินทางมาถึงของอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอที่มะละกา ก็ทรงปรารถนาที่จะทราบเป็นอย่างมากว่าขุนนางที่ทรงส่งไปต้อนรับนั้นไปปฏิบัติงานอย่างไร เมื่อพระราชสาส์นมาถึง ขุนนางสยามได้ลงเรือพร้อมกับดูอาร์เต้ เฟอนันดีช ส่วนชาวจีนก็ลงเรือตามมาจนถึงอยุธยา เมื่อถึงแล้วก็นำคณะทั้งหมดเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงรอรับอยู่ที่ท้องพระโรง

เหล่าทหารต่างแต่งกายเต็มยศ พระเจ้าแผ่นดินประทับอยู่บนเก้าอี้ทรงสูง ทรงแต่งกายฉลองพระองค์แบบจีน ส่วนในห้องอีกซีกหนึ่งของท้องพระโรงที่ติดกันนั้น พระมเหสีและพระราชธิดาทั้งปวงก็ประทับนั่งตามลำดับ ทุกองค์แต่งกายด้วยผ้าไหมงดงาม ประดับเครื่องเพชรพลอย ทองคำ ที่ด้านล่างก็เป็นที่นั่งของเหล่าหญิงผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งแต่งกายเช่นเดียวกัน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่น่าชมเป็นอย่างมาก บรรดาสตรีในเมืองนี้มิค่อยต้องตาเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามก็งดงามอยู่บ้าง ทั้งบรรดาขุนนางชั้นสูงก็แต่งกายเด็มยศด้วย

เมื่อดูอาร์เต้ เฟอนันดีชเดินผ่านเข้าไปในท้องพระโรง ก็ถวายความเคารพพระเจ้าแผ่นดิน และเข้าไปใกล้พระองค์ แล้วจึงถวายสาส์นของอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอและถวายกระบี่ด้ามหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชปฏิสันถารขอบใจหลายคำ ทรงได้ถามเรื่องเมืองมะละกาและเรื่องพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสว่าทรงพระสำราญอย่างไร ดูอาร์เด้ เฟอนันดีช ซึ่งเป็นบุคคลเฉลียวฉลาดได้ตอบคำถามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงถาม

หลังจากเสร็จการถวายพระราชสาส์นแล้ว พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ข้าราชบริพารพาดูอาร์เต้ ไปยังที่พัก ส่วนพวกชาวจีนนั้นก็ได้รับของกำนัลหลายสิ่ง ในอีกวันหนึ่งทรงโปรดให้พาไปชมเมืองเพื่อเป็นเกียรติยศและดูช้างเผือก… หลังจากนั้นสองสามวัน พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงส่งดูอาร์เต้ เฟอนันดีชให้เดินทางกลับ และทรงแต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นถึงพระเจ้าดงมานูแอล มีแหวนประดับทับทิม มงกุฎ และพระแสงดาบทองคำด้ามหนึ่ง

ทั้งหมดออกเดินทางจากอยุธยา และหลังจากนั้น 7 วันก็เดินทางข้ามทะเลมายังฝั่งสุมาตราและเดินทางถึงเมืองดรัง (Taranque) ซึ่งเป็นเมืองของพระเจ้ากรุงสยามและได้เดินทางต่อไปเรื่อยจนที่สุดจึงเดินทางถึงมะละกา…”

แผนที่สยาม ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1764 (Author: Bellin, Jacques Nicolas, 1703-1772)

ปรีดี พิศภูมิวิถี วิเคราะห์ไว้ว่า ธรรมเนียมการรับราชทูตนี้ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานว่า มีธรรมเนียมมาอย่างไรก่อนที่โปรตุเกสจะเข้ามา แต่น่าสังเกตว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 อาจจะทรงทราบข่าวเรื่องโปรตุเกสเข้ายึดเมืองมะละกาจากพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในอยุธยาบ้างแล้วก็เป็นได้ ในเอกสารของอันโตนิโยจึงอธิบายอย่างรวบรัดว่า เมื่อคณะราชทูตเดินทางมาถึงแล้ว กษัตริย์อยุธยาซึ่งทรงทราบว่ามีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในพระราชอาณาจักรก็ทรงจัดเรือให้ไปรับ และได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นทันที

เอกสารของอันโตนิโยระบุขั้นตอนการรับแขกเมืองว่า กษัตริย์ทรงฉลองพระองค์แบบจีน และประทับบนพระแท่นสูง แวดล้อมด้วยเหล่าขุนนาง และมีฝ่ายในเสด็จออกรับราชทูตด้วย ทำให้น่าสังเกตว่า ในสมัยอยุธยาตอนต้นยังคงให้ฝ่ายในเสด็จออกรับแขกเมืองด้วย ซึ่งในระยะต่อมากลับไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายฝ่ายในออกรับราชทูตด้วย

ปรีดี พิศภูมิวิถี อธิบายว่า จากเอกสารโปรตุเกสนี้ สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ประเพณีการรับราชทูตของ อยุธยา อาจยังไม่มีระเบียบแบบแผนที่แน่ชัด และจะเห็นได้ว่า คณะราชทูตเดินทางโดยตรงเข้าสู่อยุธยา มีความเป็นไปได้ว่า กลุ่มบุคคลที่โปรตุเกสใช้เป็นผู้นำ คือกลุ่มคนจีนนั้น มีความสนิทกับราชสำนักอยุธยาระดับหนึ่ง จึงสามารถรวบรัดระยะเวลาในการจัดการได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าคณะทูตคณะนี้มิได้เป็นคณะทูตโดยตรงของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส หากแต่เป็นเสมือนผู้แทนของอุปราชโปรตุเกสที่มะละกาส่งมา จึงมิได้รับแขกเมืองด้วยกระบวนเกียรติยศมากนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรีดี พิศภูมิวิถี. (2552). จดหมายรุย ดือ อาเราชู (Rui de Araújo) และบันทึกคำสั่งอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Albuquerque) ถึง อันโตนิโย มิรันดา ดือ อาเซเวดู (António Miranda de Azevedo) ในการเริ่มต้นความสัมพันธ์สยามกับโปรตุเกสในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16. ใน “100 เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 1”. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2563