ราชทูตอยุธยาผจญภัยในแอฟริกา อดอยากถึงขั้นกิน “รองเท้า”

แผนที่ ที่ตั้ง สถานีการค้าดัชต์ บริเวณ แหลมกู๊ดโฮป ที่ แอฟริกา
แผนที่โดยสังเขปที่ตั้งสถานีการค้าของพวกดัชต์ บริเวณแหลมกู๊ดโฮป (วาดโดย M.Voian the Kings Engineer)

“ราชทูตอยุธยา” มุ่งหน้าไปยุโรป เดินทางเกือบถึงแหลมกู๊ดโฮป แต่เคราะห์ร้าย “เรือแตก” เพราะเรือชนเข้ากับแนวหินโสโครกจนล่ม สู่จุดเริ่มต้นการผจญภัยในดินแดน แอฟริกา อดอยากถึงขั้นต้องกิน “รองเท้า”

A Siamese Embassy Lost in Africa 1686 : The Odessey of OK-khun Chamnan เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ได้บรรจุเรื่องราวเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักโปรตุเกส แม้ภารกิจครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเรือที่โดยสารไปนั้นเกิดอับปางลงนอกชายฝั่งทวีป แอฟริกา ทว่าคณะราชทูตที่ไปด้วยสามารถรอดชีวิตกลับมาได้ เราจึงได้รู้เรื่องราวที่ขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ที่มิได้มีการจดบันทึกเอาไว้

นับเป็นความโชคดีของเราที่ได้รับรู้ข้อมูลใหม่ ผู้เขียนบันทึกการเดินทางนี้คือ บาทหลวงตาชาร์ด ได้เรียบเรียงขึ้นมาจากคําบอกเล่าของผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ เรือแตก ในครั้งนั้น คือ ขุนชํานาญใจจง ซึ่งเป็นหนึ่งในราชทูตสยามที่รอดตายกลับมาสู่สยามอย่างปลอดภัย และท่านขุนนางผู้นี้ได้ติดตามบาทหลวงตาชาร์ดกลับไปยุโรปอีกครั้งใน ค.ศ. 1688

ออกขุนชํานาญใจจง ขุนนาง สยาม ราชทูตอยุธยา
ออกขุนชํานาญใจจง, ขุนนางสยาม ที่ได้ไปเข้าเฝ้าสันตะปาปาอินโนเซนท์ที่ 11 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1688 ภาพนี้วาดโดยจิตรกร ซึ่งมีชื่อเสียงสมัยนั้น คือ คาร์โล มาเรตตา (Carlo Maratta)

ด้วยต้นฉบับเดิมที่เป็นภาษาฝรั่งเศส บันทึกที่ถูกลืมเลือนไปแล้วฉบับนี้จึงไม่เคยมีใครได้อ่านมากว่า 300 ปี ถ้าไม่มีใครไปพบเข้าพวกเราคงจะไม่รู้ว่ามีบันทึกนี้อยู่ในโลก ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ได้จัดพิมพ์ ออกเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ (แปลโดย Michael Smithies, Silkworm Books, 1999) โดยตัวเนื้อหาแล้วมีความน่าสนใจและน่าติดตามอ่านเป็นอย่างยิ่ง

จุดเริ่มต้นการผจญภัยของขุนชํานาญฯ เกิดขึ้นจากนโยบายการผูกสัมพันธ์กับต่างชาติในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้ส่งคณะทูตชุดแรกที่นําโดย “โกษาปาน” ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ภารกิจครั้งนั้นประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี คณะทูตชุดที่ 2 จึงถูกส่งตามไปอีก แต่คราวนี้มุ่งไปสู่ราชสํานักโปรตุเกส ซึ่งก็น่าจะประสบความสําเร็จเหมือนกับในครั้งก่อน

ทว่าเรือที่นําคณะทูตซึ่งถือพระราชสาส์นไปตอบแทนกษัตริย์โปรตุเกส ต้องมาอับปางลงเสียก่อน

หนึ่งในราชทูตสยามที่รอดตายจากเรือแตกคราวนั้นคือ ขุนชํานาญใจจง ได้เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดที่ต้องเผชิญหลังจากวันเรือแตก ตลอด 1 เดือนที่ต้องอดอยากและระหกระเหินเดินทางไปในป่าทวีปแอฟริกา เพื่อจะไปให้ถึงสถานีการค้าของพวกฮอลันดาที่แหลมกู๊ดโฮป นับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ชีวิตที่ตกอยู่ในระหว่างความเป็นและความตาย อาศัยเพียงความอดทนอย่างใหญ่หลวง ความกล้าหาญ และกําลังใจที่เข้มแข็งเท่านั้นที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดํารงอยู่ นับเป็นเรื่องยากที่จะมีใครสักคนสามารถทําได้

ต่อนี้ไปคือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในบันทึก การเดินทางของขุนนางสยามที่ผจญภัยอยู่ใน แอฟริกา

ปฐมบทแห่งการเดินทางเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1686 คณะราชทูตสยามได้โดยสารเรือออกจากเกาะกัว หลังจากที่ต้องรอเรือไปยุโรปอยู่เกือบ 1 ปี ล่วงเข้าปลายเดือนเมษายน เรือได้แล่นมาจนถึงทวีปแอฟริกา บริเวณแหลม Agulhas อีกไม่ไกลนักก็จะไปถึงแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งที่นั่นเป็นที่ตั้งสถานีการค้าของพวกฮอลันดา นับเป็นคราวเคราะห์ร้ายที่เรือได้ไปชนเข้ากับแนวหินโสโครก

เนื่องจากต้นหนเรือดูทิศทางผิดพลาด สั่งการเพราะความประมาทเลินเล่อ สายเกินกว่าที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน ความโกลาหลวุ่นวายจึงเกิดขึ้นบนเรือ ทุกคนตื่นตระหนก ทําอะไรกันไม่ถูก เสียงตะโกน เสียงร้องไห้มีอยู่ไม่ขาดระยะ บ้างได้ทรุดนั่งสวดมนต์อ้อนวอนขอให้พระเจ้าช่วยเหลือ ที่มีสติหน่อยก็กระโดดลงจากเรือ ว่ายน้ำไปเกาะหาหลักยึดที่ลอยอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ ตู้ ที่ทิ้งลงน้ำมาก่อนหน้านั้นเพื่อพยุงตัวไว้ ต่างก็ตะเกียกตะกายหาทางเอาตัวรอด ไม่มีใครสนใจใคร ไม่นานนักเรือก็แตก มีเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว

คนที่หนีรอดต่างพยายามว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง ขุนชํานาญฯ เป็นหนึ่งในจํานวนนั้น แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่เขาได้ว่ายน้ำกลับไปที่เรืออีกครั้งเพื่อค้นหาว่ามีสิ่งใดที่พอจะติดตัวมาได้บ้าง ที่ได้ติดมือกลับมาเป็นพวกเครื่องประดับ ทอง ไวน์ และขนมปังกรอบเท่านั้น เขาไม่กล้าฝากไวน์ไว้กับชาวสยามด้วยกัน เพราะไม่ไว้ใจกลัวจะแย่งกินหมด แต่กลับไปฝากไว้กับคนโปรตุเกสซึ่งแสดงท่าทางเป็นมิตรได้ตกลงสัญญากันเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่จะไว้ใจอะไรได้ง่ายกับคนที่เพิ่งรู้จักกัน หมอนั่นยอมให้กินแค่ 2-3 วันแรกเท่านั้น พอไปทวงถามเข้าอีกวันหลังกลับไม่ยอมให้กินอีก และขู่ตะคอกบอกว่า “ถึงเป็นพ่อมาขอ ข้าก็ไม่ให้กิน”

ขนมปังที่เอามาจากเรือกินไม่ได้ ไวน์ก็กินไม่ได้ น้ำกินก็หาไม่ได้ เท่ากับว่าไม่มีอะไรที่จะกินได้เลย จึงต้องอดอยากกันมานับตั้งแต่นั้น

จากจุดที่ เรือแตก ถ้าไปถึงแหลมกู๊ดโฮปได้ ทุกคนก็จะรอดตายได้ทั้งหมด เมื่อตั้งหลักหาทิศทางที่จะไปได้ ก็เริ่มต้นเดินทางกันทันที แต่หนทางข้างหน้าจะลำบากอย่างไร และจะไปถึงกันเมื่อไหร่นั้น ไม่มีใครจะรู้ได้

พวกโปรตุเกสได้ออกเดินนําหน้าไปก่อน ที่เหลือก็ตามกันไป ต้องเดินผ่านเข้าไปในป่ารก ปีนป่ายขึ้นเขา หนทางก็แสนจะลําบาก ทั้งยังต้องระวังภัยรอบตัวอีก ไม่มีใครชํานาญพื้นที่และทิศทางที่จะไป เคยเดินขึ้นเขาแล้วต้องกลับลงมาใหม่เพราะไปต่อไม่ได้ก็เคยมี แต่ก็อุ่นใจว่าพวกโปรตุเกสมีอาวุธสามารถคุ้มกันภัยให้ได้ ใครที่ยังมีแรงเดินก็เดินกันต่อไปเรื่อย ๆ คนที่หมดแรงเดินต่อไปไม่ไหวก็ล้มลงข้างทาง นั่งรอความตายที่จะมาเยือนในไม่ช้า แต่ก็เตือนให้คนที่ยังมีกําลังอยู่ล่วงหน้าไปก่อน ถ้ารอดตายจะได้กลับช่วยผองเพื่อนที่อยู่ข้างหลัง

การที่ต้องเดินกันทั้งวัน อาหารและน้ำก็ไม่ได้กิน ทําให้เหนื่อยและโรยแรงลงอย่างมาก แม้จะได้นอนหลับแต่พอตื่นขึ้นมา ก็ต้องเป็นอยู่อย่างเดิมอีก หลายวันผ่านไปก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะไปถึง ซ้ำร้ายธรรมชาติก็ยังไม่ปรานีเกิดฝนตกหนัก ทําให้ต้องทนตากฝนอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน หลบไปหาที่กําบังได้ ก็ต้องยืนชิดเบียดกันเพื่อหาความอบอุ่น ช่วงเวลานั้นทุกคนทั้งเหนื่อย ทั้งหนาวเหน็บ มิหนําซ้ำท้องก็ยังร้องอุทธรณ์ว่าไม่ได้กินอะไรเลยนอกจากน้ำฝนที่ตกลงมาเพียงอย่างเดียว จะหมดแรงกันอยู่รอมร่อ ร่างกายก็รวดร้าวไปหมด จะข่มตาให้หลับลงยังทําไม่ได้

วันที่เจอกับพวกฮอตเตนตอต คือวันที่โชคดีได้กินอาหาร แม้จะไม่มากนักแต่ก็พอต่อชีวิตให้รอดอยู่ได้ พวกโปรตุเกสได้เจรจาแลกเปลี่ยนสิ่งของกับวัวที่พวกนั้นเลี้ยงไว้ เมื่อได้มาก็จัดการฆ่าแล้วแบ่งกันกินเฉพาะพวกตน พวกชาวสยามถูกห้ามไม่ให้กินด้วย และได้ขู่สําทับห้ามไม่ให้ไปขโมยสัตว์ที่พวกคนป่าเลี้ยงไว้มากินด้วย ถ้าไม่เชื่อกันก็จะปล่อยทิ้งไว้ที่นี่ให้คนป่าฆ่าเสียให้ตาย หลังจากที่ต้องอดอยากมานาน มีอาหารมาอยู่ตรงหน้าแท้ ๆ กลับกินไม่ได้ ทําได้แค่เพียงนั่งมองอยู่ห่าง ๆ เท่านั้น

ชนเผ่าฮอตเตนตอต

ที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า คนเราตายได้ทั้งที่อยู่กับความอุดมสมบูรณ์นั้นเป็นอย่างนี้นี่เอง ยังโชคดีอยู่บ้างที่พวกโปรตุเกสถลกหนังวัวทิ้ง จึงมีคนไปเก็บมาย่างไฟกินกัน จากนั้นก็แยกย้ายกันไปหาใบไม้ใบหญ้ากินแก้หิวไปพลาง ๆ คืนนั้นก็นอนหลับกันอยู่ตรงหน้ากระท่อมพวกชาวป่า พวกนี้ไม่ทําอะไรกันเลย นอกจากเต้นรําและตะโกนร้องไปรอบ ๆ อย่างนั้นทั้งคืน

ออกจากหมู่บ้านพวกคนป่ามาได้ เริ่มเปลี่ยนแผนการเดินทาง เลือกที่จะเดินเลียบขนานไปตามชายฝั่งแทน เพราะหาอาหารและน้ำกินได้สะดวกกว่าเดินทางในป่า

นับแต่ต้องมาตกยากอยู่กลางป่า ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะต้องรักษาชีวิตให้รอด อดทนต่อความหิวโหยที่ตามติดเป็นเงา วันไหนถ้าโชคดีได้กินอาหาร ไม่ว่าจะเป็น เนื้องู เนื้อกบ หรือแม้แต่แมลงที่อยู่ตามกองมูลสัตว์ หอยทะเลที่เก็บกินได้ ก็นํามาตากแห้งเป็นเสบียงตุนเก็บกินกันได้หลายวัน แต่โดยมากแล้วจะอดเสียมากกว่า ร่างกายก็ปวดเมื่อยไปหมด เจ็บปวดทรมานจนบอกไม่ถูก เท้าก็ระบมเนื่องจากต้องเดินกันมาตลอด มีความหวังอยู่อย่างเดียวที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้ดํารงอยู่ว่าจะต้องไปให้ถึงแหลมกู๊ดโฮป ฝืนทั้งกายและใจอย่างหนักไม่ให้ล้มพับลงไปก่อน

วันแล้ววันเล่าที่ล่วงผ่านไป ก็อาศัยกินใบไม้ ดอกไม้ แม้แต่หญ้าข้างทางหรือต้นไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ กินพอประทังความหิว รสชาติที่ขมฝืดคอ แต่เพื่อเพิ่มกําลังให้กับร่างกาย ก็กล้ำกลืนลงไปจนได้ อาศัยดูดน้ำจากรากไม้ พอให้แตะ ๆ ลิ้นแก้กระหาย เมื่อต้องอดอยากมาถึงป่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามก็กินได้หมด สภาพร่างกายกลับย่ำแย่ลงทุกวัน แรงก็ลดน้อยถอยลง ความทุกข์ทรมานที่ถ้าใครไม่ได้ประสบกับตัวเองแล้วไซร้ จะให้อธิบายอย่างไรก็คงจะไม่เข้าใจ

เมื่อหาอะไรกินไม่ได้ ทุกคนแทบจะตายกันอยู่แล้วเพราะความหิว มองไปมองมารอบตัวก็ไม่มีอะไรที่จะกินได้ อับจนหนทางกันจริง ๆ ก็กินรองเท้าที่ใส่กันนั้นเอง จัดการก่อกองไฟ ฉีกรองเท้าออกเป็นแผ่นแล้วโยนเข้ากองไฟ เวลาเคี้ยวรองเท้าแทบจะไม่รู้รสอะไร หมวกก็พบกับชะตากรรมเดียวกัน แต่พอโยนลงไปก็ไหม้ไฟเกือบหมด เหลือพอจะกินได้แค่นิดหน่อย รสชาติก็ไม่ต่างอะไรจากรองเท้า แต่ขมและน่าสะอิดสะเอียนมากกว่าแค่นั้นเอง

ความหวังหมดสิ้นแล้วทุกสิ่ง พวกที่รอดชีวิตอยู่จะขอกลับไปหาพวกคนป่าอีกครั้ง เพราะไม่อยากจะอดตาย จะยอมก้มตัวลงเป็นทาส ขอแค่เพียงมีอาหารให้กินเท่านั้นพอ

นับเป็นโชคดีของคณะเดินทางอีกหนที่ได้เจอกับพวกคนป่า แต่คราวนี้เป็นคนละพวกกัน ดูท่าททางเหมือนว่าพวกนี้เคยติดต่อกับชาวต่างประเทศ เพราะเมื่อเจอกันพวกมันตะโกนทั้งพร้อมชูนิ้ว 6 นิ้ว แล้วพูดว่า “ฮอลันดา ฮอลันดา” ตัดสินใจกันว่าจะตามพวกนั้นไป จะเป็นตายร้ายดียังไงต้องลองเสี่ยงดู ต่อจากนั้นต้องเดินทางอย่างระหกระเหินกันอีกครั้ง หนทางที่แสนจะลําบาก ต้องปีนป่ายเขา อันตรายกว่าที่เคยเจอมาเสียอีก เรี่ยวแรงกำลังที่เคยมีก็ลดน้อยลงจนแทบจะไม่เหลืออีกต่อไป เป็นเวลากว่า 31 วันแล้วที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้โดยที่ยังไม่ตายเสียก่อน

สถานีการค้า ของ ฮอลันดา ที่ แหลมกู๊ดโฮป แอฟริกา
ภาพสถานีการค้าของฮอลันดา ที่ตั้งอยู่ที่แหลมกู๊ดโฮป

ในที่สุดก็ได้เจอกับพวกฮอลันลา พวกเขาเป็นเหมือนกับผู้ให้ชีวิตใหม่แก่ทุกคน ทั้งหมดดีใจที่รอดตาย แต่ร่างกายก็สะบักสะบอมเต็มที่ เรียกว่าต้องแบกหามคนใส่เกวียนบรรทุกกันไปจนถึงสถานการค้าของพวกนั้นบนแหลมกู๊ดโฮปเลยทีเดียว พักฟื้นอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อหายดีแล้วจึงได้เดินทางกลับสู่สยามโดยปลอดภัย เรื่องราวของคณะทูตที่เรืออับปางอยู่ที่ทวีปแอฟริกาได้จบลงเพียงแค่นี้

ใน ค.ศ. 1687 ขุนชํานาญใจจงเดินทางกลับประเทศสยามโดยปลอดภัย

ในปีเดียวกันนั้นเองหลังจากกลับมาได้ไม่กี่เดือน ขุนชํานาญฯ ก็ได้ทําหน้าที่สําคัญอีกครั้งหนึ่ง เขาได้เป็นตัวแทนออกไปต้อนรับทูตจากฝรั่งเศส อันมีลาลูแบร์และเซอเบเรต์ที่เข้ามาสู่ประเทศสยาม และได้กลับไปที่ยุโรปอีกครั้งใน ค.ศ. 1688 คราวนี้ได้รับความสะดวกสบายผิดกันลิบลับกับการเดินทางในครั้งแรก

ในครั้งนี้ ราชทูตอยุธยา ได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาที่กรุงโรม พระองค์ได้ให้จิตรกรที่มีชื่อเสียงขณะนั้นวาดภาพของขุนนางสยามที่ได้มาเข้าเฝ้าพระองค์ไว้ด้วย ดังรูปที่เห็นอยู่นี้คือผลงานภาพวาดที่ได้ลงชื่อของขุนนางนั้นเป็นอักษรไทยไว้ได้ภาพล้วย (ภาพเขียนนี้จัดเก็บอยู่ในห้องสมุดของสํานักวาติกัน)

หลังจากนั้นได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ฝรั่งเศส และเดินทางกลับสู่ประเทศสยามในปี ค.ศ. 1690

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ราชทูตสยามผจญภัยในแอฟริกา” เขียนโดย ขวัญฤทัย ชิ้นมาลัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤษภาคม 2562