จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ส่ง “วัวกระทิง” เป็นบรรณาการจากฝรั่งเศส ถึงรัชกาลที่ 4

ภาพวาด วัวกระทิง ของพระราชทาน แด่ พระเจ้ากรุงสยาม
"วัวกระทิงหนุ่มพ่อพันธุ์” (ชนิดไม่มีเขา) ของพระราชทานแด่พระเจ้ากรุงสยาม

ตามร่องรอยข้อมูลจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ส่ง “วัวกระทิง” เป็นบรรณาการจากฝรั่งเศส ถึง รัชกาลที่ 4 

ในปี .. 1861 (.. 2404) สยามส่งพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาคในฐานะราชทูตนำคณะเดินทางไปเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ถึงกรุงปารีส เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงถวาย “ของขวัญ” พิเศษจำนวนมหาศาล เป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการส่งลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังยุโรป ดังที่มีบันทึกว่า

“…27 มิถุนายน ค.ศ. 1861 ราชทูตพิเศษจากคิงมงกุฎได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ฟองเตนโบล บรรณาการจากสยามประกอบด้วยพระบรมรูปของคิงมงกุฎ และเครื่องราชูปโภคหลายสิบชิ้นที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์จริงๆ ฯลฯ…”

เครื่องมงคลราชบรรณาการ ที่นำไปถวายจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ. 1861

ครั้นภารกิจของคณะราชทูตสยามเสร็จสิ้น จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ก็ได้ถวายราชบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงสยามเช่นกัน โดย “ของขวัญ” ชิ้นหนึ่งของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งพระราชทานมายังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปี ค.ศ. 1861 นั้น คือ “วัวกระทิง”

เรื่องของขวัญพิเศษชิ้นนี้ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในหนังสือพิมพ์กรุงปารีสอีกฉบับหนึ่ง ก่อนการอำลาจากประเทศฝรั่งเศสของคณะทูต มีใจความโดยสรุปคือ…

“วัวกระทิงหนุ่มพ่อพันธุ์” (ชนิดไม่มีเขา) ของพระราชทานแด่พระเจ้ากรุงสยาม

เป็นวัวกระทิงพ่อพันธุ์ชั้นยอดของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในงานเกษตรและปศุสัตว์แห่งชาติในปีนี้ (ค.ศ. 1861) เวลานี้คณะชาวสยามตั้งชื่อให้มันใหม่เสียเพราะพริ้งว่า ‘ศาลาไทย’ เราภาวนาว่ามันจะเดินทางด้วยความปลอดภัยและไม่เหน็ดเหนื่อยมากนัก และจะได้รับการแพร่พันธุ์ออกไปอีกมาก ๆ ในสยามประเทศ”

การบรรณาการด้วยสิงสาราสัตว์มิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ทรงเคยมีพระราชดำริพระราชทาน “ช้าง” ให้แก่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกามาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบแน่ชัดว่าวัวกระทิงตัวนี้จะมีชีวิตรอดข้ามซีกโลกมาถึงกรุงสยามหรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะรอดชีวิตมาได้ เพราะหากย้อนไป 400 กว่าปีก่อนหน้านี้ ราชทูตจีนในกองเรือเจิ้งเหอ ก็สามารถนำ “ยีราฟ” จากเมืองฮอร์มุซซึ่งเป็นเมืองท่าการค้าของเปอร์เซีย นำไปถวายเป็นบรรณาการแก่จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงได้

แต่หากรอดชีวิตบนเรือมาได้ ก็อาจต้องเสี่ยงตายกับสภาพอากาศและโรคสัตว์ในผืนแผ่นดินใหม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2565