พบหลักฐานในปารีส จดหมายคิงมงกุฎถึงนโปเลียน “น่าสงสัย”

(ขวา) ภาพขยาย “จดหมายรัชกาลที่ ๔” ที่ลงในหนังสือพิมพกรุงปารีส

27 มิถุนายน ค.ศ. 1861พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ราชทูตไทย ถวาย “จดหมายส่วนพระองค์” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แด่นโปเลียนที่ 3 ท่ามกลางการเผยแพร่ข่าวสารอย่างอึกทึกครึกโครมกว่าการมาถึงของชนชาติใดในขณะนั้น ทว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช้าไป 5 ปีจากโครงการเก่าที่รัชกาลที่ 4 ตั้งพระทัยไว้

ห้าปีที่ผ่านมานานพอที่จะทำให้อะไรๆ เปลี่ยนแปลงไปจากความรู้สึกนึกคิดของบุคคล 2 คนที่เคยมีต่อกัน สถานการณ์ในพื้นที่ก็แปรปรวนไปอย่างรวดเร็ว จนเป้าหมายของการมาภายหลังนี้เข้าข่ายน่าสงสัยและไม่น่าไว้วางใจ สิ่งเหล่านี้ปกปิดไว้ไม่อยู่ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตถึงวัตถุประสงค์ของจดหมายจาก “เดอะ คิง” ที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้เกียรติส่งเรือไปรับถึงกรุงเทพฯ

หลังจากที่ “จดหมาย” ถึงพระหัตถ์สมเด็จพระจักรพรรดิได้ไม่กี่วัน ข้อความบางตอนในพระราชหัตถเลขาเล็ดลอดออกไป “ขึ้นหน้าหนึ่ง” อยู่ในหนังสือพิมพ์ฝ่ายรัฐบาล โดยที่ไม่มีใครรู้ที่มา พร้อมกับข่าวซุบซิบถึงสาเหตุการมาเยือนของทูตไทย ซึ่งไม่ปกติธรรมดา รวมทั้งปริศนาเบื้องหลังของขวัญอันมีค่ามหาศาลเกินความจำเป็น ที่ “เดอะ คิง” พระราชทานมาด้วยอย่างไม่มีเหตุผล ภาพโดยรวมจึงเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันในสภากาแฟ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องพวกฝ่ายค้านที่ตั้งแง่จะโจมตีรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา [3]

จดหมายคิงมงกุฎทรงมีถึงสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ถูก “คัดลอก” ออกมาตีพิมพ์ให้คนได้เห็น พร้อมกับภาพวาดลายเส้นคณะราชทูตชุดใหญ่หมอบคลานอยู่ในท้องพระโรง และพระบรมสาทิสลักษณ์ วาดเลียนแบบภาพถ่ายแบบอัลบูมินระบายสีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ที่ทรงส่งไปถวายนโปเลียนที่ 3 ในคราวเดียวกัน แต่ถูกจัดวางตำแหน่งเสียใหม่ให้ประทับคู่กัน ดูแปลกสะดุดตา

นอกจากนั้นยังมีภาพวาดของบรรณาการสารพัดชิ้นอย่างละเอียดลออ เปิดโปงข้อมูลที่ทางการพยายามปกปิดไว้แต่ไม่สำเร็จ และดูเหมือนจะทำได้ดีกว่าแถลงการณ์ของโฆษกรัฐบาลเสียอีก

ทั้งหมดล้วนเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุดใหม่ที่สุดที่ค้นพบในกรุงปารีส อายุไม่ต่ำกว่า 143 ปี ซึ่งอาจจะมีผลลบล้างความเข้าใจดั้งเดิมของความสำเร็จ “ที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย” ก็เป็นได้

ความสังหรณ์ใจของชาวฝรั่งเศสนั้นมีมูล เพราะเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้นตั้งแต่สัมพันธภาพครั้งใหม่เปิดฉากขึ้น มงติญี ราชทูตฝรั่งเศส ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงวิ่งเต้นให้มีการรับคณะทูตมาปารีส ต้องหยุดยั้งแผนการลงอย่างกะทันหัน เพราะความเฉยเมยและไม่ใส่ใจของรัฐบาลฝรั่งเศสเอง เขาทำนายว่ามันจะเป็นผลอันร้ายแรงทางด้านจิตใจ จึงรายงานเข้ามายังกระทรวงต่างประเทศว่า….

“ผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในไทย ซึ่งมั่นคงดีแล้วมายามนี้เกือบจะวอดวายสิ้น พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองของไทย และบรรดาเสนาบดีทุกคน ก็พากันหาญกล่าวขณะนี้ว่าเราดูหมิ่นเขา ชาติฝรั่งเศสมิได้ใหญ่โตอะไร และเราหลอกลวงเขา ตอนนี้คนชาติของเราก็รู้สึกแล้วถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ในความนึกคิดของพระเจ้าแผ่นดินไทยทั้งสองพระองค์ และเหล่าเสนาบดี เนื่องจากความรู้สึกที่ไม่ดีนั้น ความประสงค์ร้ายต่อคนชาติเราจึงปรากฏอยู่ทั่วทุกแห่งหน” [1]

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรู้สึกว้าวุ่นในขั้นแรก และได้มอบเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือ ซึ่งก็มิได้ดำเนินการต่ออย่างใด

ในระหว่างปี ค.ศ. 1857-1861 ที่ฝ่ายไทยรอคอยการตอบรับจากทางปารีสเรื่องส่งเรือมารับ แนวรบด้านตะวันออกทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่ากลัว มีข่าวว่าฝรั่งเศสบุกเวียดนามระลอกใหญ่ ซึ่งจะมีผลกระทบเสถียรภาพของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สาเหตุเกิดจากพระเจ้ามินห์มางในเวียดนามตั้งตัวเป็นศัตรูต่อคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก พระเจ้าตือดึกในรัชกาลต่อมาประกาศกร้าวต่อต้านชาวคริสต์ และขัดขวางความปรารถนาของฝรั่งเศสที่จะตั้งฐานทัพเรือขึ้นบนชายฝั่งทะเลของญวน ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีข้ออ้างที่จะเข้าแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธ เมืองไซ่ง่อนจึงถูกยึดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1859

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินเขมรซึ่งวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ต่อการกระทำอันร้ายกาจต่างๆ ของญวน ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองไทยซึ่งยินดีที่จะไม่ต้องระวังการคุกคามจากศัตรูเก่าแก่คือ “ญวน” อีกต่อไปแล้ว จึงได้แสดงความหวังกับรัฐบาลของนโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ. 1860 ที่จะได้เห็นฝรั่งเศสกระชับสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลไทย เมื่อฝรั่งเศสสามารถเข้ามาตั้งมั่นอยู่ในโคชินไชน่า (ไซ่ง่อน) ได้สำเร็จ

แต่สัมพันธภาพดังกล่าวก็ต้องประสบความผันผวนหลายประการ การที่กองทหารฝรั่งเศสทำลายป้อมปราการต่างๆ ของไซ่ง่อน ทำให้ชาวโคชินไชน่าถือโอกาสลุกฮือขึ้นต่อต้านฝรั่งเศส ญวนจึงส่งคณะทูตมายังกรุงเทพฯ ทันที เพื่อ “เสนอยก” ส่วนใหญ่ของนครไซ่ง่อนให้ไทย หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอนุญาตให้กองทัพญวนเดินทัพผ่านเขมร เพื่อให้ทัพญวนมีโอกาสโอบตีด้านหลังของทัพฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อน นอกจากนั้นญวนยังสัญญาว่าจะไม่รุกรานและทำลายประเทศราชทั้งหลาย (ลาวและเขมร) ของพระองค์อีกด้วย

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่ง “โปรดฝรั่งเศส” จะทรงคัดค้านเจ้าพระยากลาโหม เจ้าพระยาพระคลัง และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมิให้เข้ากับญวน แต่กลุ่มหลังผู้ไม่ฝักใฝ่ฝรั่งเศสก็พากันใช้อิทธิพลอย่างเต็มที่ที่จะสนับสนุนคำทาบทามของญวนครั้งนี้

ดังนั้นกองทัพไทยจึงเข้ายึดครองทุกๆ จุดทางใต้ของเขมร คำขาดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงยื่นต่อราชสำนักเว้ ก็คือ หากญวนกระทำการใดๆ ก็ตามที่เป็นการรุกรานดินแดนเขมรแล้วไทยจะบุกโคชินไชน่าทันที ฝ่ายญวนก็พร้อมที่จะยอมยกทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เหลือวิสัยให้แก่ไทย เพื่อให้ไทยอย่างน้อยวางตัวเป็นกลางในการต่อสู้ระหว่างญวนกับฝรั่งเศส

รัฐบาลกรุงปารีสต้องคอยระแวดระวังใช้ไหวพริบอยู่ตลอดเวลาเพื่อ “ซ้อนกล” ญวน และ “แก้ลำ” ทีท่าอันกำกวมและการดำเนิน “นโยบายเหยียบเรือสองแคม” ของรัฐบาลไทย [1]

ท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับญวนและโคชินไชน่า สัมพันธภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจึงยังอยู่ในสภาวะสับสน ราชสำนักไทยมิได้เข้ากับ “ฝ่ายญวน” หรือ “ฝ่ายฝรั่งเศส” อย่างชัดเจน แต่อันที่จริงแล้วไทยต้องการขัดขวางทุกวิถีทางมิให้ญวนบุกเขมร

“รัชกาลที่ ๔ และพระบรมราชินี” วาดจากพระบรมฉายาลักษณ์ ส่งไปถวายนโปเลียนที่ ๓

หากแม้นญวนจะกำลังหาลู่ทางที่ไห้ได้โคชินไชน่ากลับคืนมา ไทยก็จับตาดูฝรั่งเศสซึ่งพุ่งเป้าหมายไปยังเขมรด้วยความไม่ไว้วางใจ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 กงสุลฝรั่งเศสยืนกรานอีกครั้งหนึ่งถึงความจำเป็นที่จะต้องทำสนธิสัญญากับเขมรอีก เนื่องจากเขมรได้กลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญ เพราะเป็นพรมแดนทางเหนือของไซ่ง่อน ซึ่งฝรั่งเศสได้ไว้ในครอบครองเป็นอาณานิคมแล้ว [1]

ในช่วงเวลานั้นคณะทูตไทยใกล้จะเดินทางถึงกรุงปารีสพอดี หนังสือพิมพ์พากันประโคมข่าวเรื่องอินโดจีนไม่เว้นแต่ละวัน การมาของทูตไทยจึงเป็นความคืบหน้าใหม่ๆ ที่ชาวฝรั่งเศสรอคอยด้วยความอยากรู้อยากเห็น เพราะถ้าคณะทูตไม่ได้มาในฐานะพันธมิตรที่น่ายินดีแล้ว ก็คงเป็นการมาเพื่อประกาศสงครามกับฝรั่งเศสสถานเดียว

ข่าวลือเรื่อง “ความลับลมคมใน” ในจดหมายจากคิงมงกุฎ จึงไม่ใช่เรื่องที่ฝรั่งเศสกุขึ้นมาเล่นๆ บางทีอาจจะมี “ความจริง” ปะปนอยู่บ้าง

สถานการณ์ในเขมรดูไม่สู้เอื้ออำนวยต่อนโยบายขยายอาณานิคมของฝรั่งเศสนัก เพราะเขมรเป็นประเทศราชที่ไทยหวงแหนมาก นักองค์ด้วง กษัตริย์เขมรผู้ฝักใฝ่อยู่กับไทย มีพระราชประสงค์ที่จะติดต่อกับพวกฝรั่งเศสผ่านทางกรุงเทพฯ และจะอนุญาตให้ทูตฝรั่งเศสมาเยี่ยมเมืองหลวงของเขมรก็ต่อเมื่อลงนามในสนธิสัญญากับไทยแล้ว แต่นักองค์ด้วงก็สิ้นพระชนม์เสียก่อนใน ค.ศ. 1860

ผู้ที่สืบราชสมบัติต่อมาคือองค์พระนโรดม ก็แสดงอาการสงวนท่าที ทำเป็นไม่สนใจชาวยุโรป ส่วนที่ราชสำนักไทย พรรคชาตินิยมก็คัดค้านแผนการทำสนธิสัญญาระหว่างเขมรกับฝรั่งเศสอย่างรุนแรง นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ใช้อิทธิพลต่างๆ เพื่อหาทางที่จะกระพือความรู้สึกของไทยไม่ให้ไว้วางใจการที่ฝรั่งเศสจะเข้ามามีที่มั่นอยู่ในโคชินไชน่า

เมื่อเป็นดังนี้พระเจ้าแผ่นดินไทยจึงทรงแสดงท่าทีคลุมเครือยิ่งขึ้นต่อฝรั่งเศส โดยร้องขอให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซง เพื่อเรียกร้องเมืองต่างๆ ในโคชินไชน่าซึ่งเคยเป็นประเทศราชเก่าแก่ของเขมรคืนให้แก่ไทย [1]

ตั้งแต่นั้นมาเขมรได้กลายเป็นสาเหตุแห่งความไม่ลงรอยกัน ระหว่างฝรั่งเศสกับไทยอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุที่ประเทศนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ของคู่กรณี ทั้งด้านดินแดนและการเมือง

ในระหว่างที่การเจรจาระหว่างปารีสกับทางกรุงเทพฯ ดำเนินอยู่อย่างเผ็ดร้อน ราชทูตไทยถูกมองว่าเป็นผู้นำข้อความสำคัญจากคิงมงกุฎมาในจดหมายถึงนโปเลียนที่ 3 โดยตรง รายละเอียดในจดหมายนี้ถูกเปิดเผยออกมาจนหมดเปลือก ยิ่งพิจารณาดูก็ยิ่งเห็นชั้นเชิงของไทยชัดเจนยิ่งขึ้น พระราชสาส์นความยาว 3 หน้ากระดาษถูกนำออกอ่านเป็นภาษาไทยก่อน โดยพระยาศรีพิพัฒน์ ราชทูต และได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในทันที โดยบาทหลวงโลนาร์ดี ต่อหน้าพระพักตร์นโปเลียนที่ 3 และเหล่าเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่หลายสิบคนในที่ชุมนุมนั้น [3]

นโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส (ภาพจากไปรษณียบัตรเก่า พบในปารีส)

ข้อความโดยมากในจดหมายนั้นกล่าวสรรเสริญนโปเลียนในชั้นแรก แต่ลงท้ายด้วยสำนวนที่ยากต่อการเข้าใจสำหรับชาวฝรั่งเศส พระพจนารถที่เป็นคำถามซื่อๆ แทรกอุบายเพื่อให้ฝรั่งเศสเปิดเผยตัวเองออกมา :

“ขอพระเมตตากรุณาของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้โปรดแก่ทูตานุทูตพวกนี้ ให้ได้เฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการของกรุงสยาม และฟังรับสั่งของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส” มีพระราชดำรัสต่อไปว่า “จึงขอหารือไปตามแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะโปรด” ราชสาส์นลงท้ายด้วย “และขอให้ได้รับอนุเคราะห์และสั่งสอนโดยสมควร เพื่อจะได้ประพฤติให้ถูกต้อง” [5]

หนังสือพิมพ์ลิลลุสตราซิองของฝรั่งเศส “ตีความ” ว่าเป็นกุศโลบายอันไม่ชอบมาพากลของกษัตริย์นักการทูตผู้เชี่ยวชาญ แต่รัฐบาลฝรั่งเศสเชื่อว่ามีเล่ห์เหลี่ยมของนโยบายการเมืองเรื่องญวนและเขมรแอบแฝงอยู่ กล่าวคือ ในขณะที่สยามปกป้องตนเองอย่างระมัดระวังตัวแล้ว ยังพยายามทำให้ได้มาซึ่งน้ำใจไมตรีจากนโปเลียนที่ 3 เพื่อจะเป็นเกราะคุ้มกันภัย ทั้งจากฝรั่งเศสและอังกฤษ ภายหลังวิกฤตการณ์ต่างๆ สิ้นสุดลง รัฐบาลในสมเด็จพระจักรพรรดิจึงมีมติเป็นการลับว่า หลังจากท่าทีของสยามส่อไปในทิศทางที่ไม่แน่นอนต่อสถานะของฝรั่งเศสในโคชินไชน่า ฝรั่งเศสก็ควรจะแสดงบทบาทเป็นผู้คุ้มครองอินโดจีนเสียเลย และควรจะทำให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด

ตลอดเวลาที่คณะราชทูตไทยพำนักอยู่ในฝรั่งเศส มงตีญีได้รับมอบหมายให้สอดส่องดูความเคลื่อนไหวของทุกคนอย่างไม่คลาดสายตา เพื่อสังเกตพฤติกรรมต่างๆ และยังกริ่งเกรงไปว่าราชทูตจะแอบรายงานผลการเจรจาให้ตัวแทนของฝ่ายอังกฤษในกรุงปารีสรับรู้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นการตีตนไปก่อนไข้โดยใช่เหตุ

เครื่องมงคลราชบรรณาการมากมายจนน่าประหลาดใจ

ความพยายามเพื่อรื้อฟื้นความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส “มิได้ก้าวหน้า” ไปแต่อย่างใด การส่งเครื่องมงคลราชบรรณาการ ซึ่งเป็นเครื่องประดับเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ชั้นสูงไปถวาย และจดหมายที่มีใจความไม่กระจ่างชัดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ “ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยัน” ความร่วมมือหรือสนับสนุนปฏิบัติการของฝรั่งเศสแม้แต่น้อย ซ้ำยังก่อให้เกิดข้อข้องใจกับฝ่ายฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอีก จดหมายจากคิงมงกุฎทิ้งความน่าสงสัยไว้ต่อไปในปารีส เพราะไม่สามารถทำให้เชื่อได้สนิทใจ

8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1861 ขณะที่คณะทูตไทยอยู่บนเรือรบฝรั่งเศสระหว่างเดินทางกลับสยาม ก็มีข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ตามออกมาว่า รัฐบาลของนโปเลียนที่ 3 มีโทรเลข 2 ฉบับถึงราชสำนักไทย “เรียกร้องสิทธิของฝรั่งเศส” เหนือเขมร โดยอ้างชัยชนะของตนเหนือโคชินไชน่า และเรียกร้องขอทำสนธิสัญญาโดยตรงกับเขมร ฝ่ายไทย “ปฏิเสธ” ในทันที และเสนอให้มีการเจรจากันใหม่ในกรุงเทพฯ [1]

หลังจากที่คณะทูตไทยเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว ฝรั่งเศสได้ปรับแผนใหม่กับสยามอีก โดยเริ่มส่งกงสุลฝรั่งเศสเข้ามาเป็นตัวแทน เพื่อเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทย และรักษาผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในกรุงสยาม แต่กงสุลโดยมากกลับใช้อำนาจหน้าที่จนเกินเหตุ สร้างความกินแหนงแคลงใจกับเหล่าเสนาบดีของไทยไม่รู้จบรู้สิ้น โดยเฉพาะทูตที่ชื่อโอบาเรต์ ได้ก่อเรื่องขึ้นจนลุกลามใหญ่โต เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตัดสินพระทัยส่งราชทูตพิเศษอีกชุดหนึ่งไปถวายฎีการ้องเรียนต่อนโปเลียนที่ 3 ถึงกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1867

โดยปกติแล้วคณะรัฐบาลฝรั่งเศสจะเป็นตัวกำหนดนโยบายต่างๆ ของประเทศ เช่น การขยายอาณานิคม และการต่างประเทศ แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำวินิจฉัยในนโยบายทั้งปวงแต่เพียงผู้เดียว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหาทั้งหมด ในบางครั้งถึงกับทรงบริภาษประมุขของฝรั่งเศสอย่างรุนแรงต่อเสนาบดีของพระองค์ สะท้อนให้เห็นความตื้นลึกหนาบางของพันธกรณีต่างๆ ที่สร้างความปวดร้าวพระราชหฤทัยอย่างแสนสาหัส…

“อย่างไรก็ดีอังกฤษและฝรั่งเศสก็มิได้ทำสิ่งใดให้กระทบกระเทือนต่อกัน และได้ปฏิบัติตัวกันอย่างฉันท์มิตรและเพื่อนมนุษย์ ไม่เหมือนกับที่พวกเขาได้ทำพวกเราเหมือนคนป่าคนเถื่อน คงมิใช่เป็นมนุษย์เหมือนพวกมันนั้นแล ทั้งยังคงคิดแต่ว่าเป็นสัตว์สำหรับพวกมันจะแทะแล่เถือ ทั้งหลอกใช้แรงดังโคกระบือ ทั้งเรายังไม่รู้ว่าพวกมันจะมีเล่ห์กระเท่ห์เพทุบายที่จะแบ่งแยกพระราชอาณาเขตสยามของเรากันอย่างไร” [6]

ทรงมีพระราชดำรัสต่อไปอีกว่า….

“ถ้าจะว่ากันไปแล้ว พวกฝรั่งเศสช่างเห่อเหิมลำพองในชาติของตนเสียจริง เพราะเขาคิดว่าเอมเปอเรอร์ (นโปเลียนที่ ๓) ของเขานี้ คงจะสืบเชื้อสายมาจากพวกเสือหรืองูเห่าที่เต็มไปด้วยอสรพิษร้ายก็มิรู้ ดูช่างตระกรุมตะกรามแผ่อำนาจในโอหังของตน” [6]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่าฝรั่งเศส “ไม่เข้าใจ” มิตรภาพอย่างจริงใจของไทย และไม่เข้าใจถึงความตั้งใจของไทย ที่จะเคารพและปฏิบัติตามสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. 1856 ซึ่งราชทูตมงติญีชาวฝรั่งเศสทำสำเร็จเป็นครั้งแรกสมัยรัตนโกสินทร์ ครั้งหนึ่งทรงตั้งพระทัยว่าจะทรงสถาปนาให้ฝรั่งเศสและอังกฤษอยู่ใน “ฐานะเดียวกัน” ในทุกๆ เรื่อง ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่แล้วฝรั่งเศสกลับพะว้าพะวังอยู่แต่เรื่องเขมร ไม่รู้จักฉวยโอกาสจากสถานะอันพรักพร้อมที่มีอยู่ หันไปสนองผลประโยชน์ตนทางด้านดินแดนถ่ายเดียว ปล่อยให้เกิดความร้าวฉานขึ้นทางไมตรีกับไทยโดยมองข้ามความเป็นเจ้าอธิราชเหนือเขมรของไทย เพราะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตในทรรศนะฝรั่ง

เมื่อไทยถูกบีบคั้นหนักเข้าจึงจำเป็นต้องใช้วิธีโอนอ่อนผ่อนตามเพื่อความอยู่รอด ดังพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๔ ถึงพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ผู้ซึ่งกำลังจะเดินทางไปเข้าเฝ้านโปเลียนที่ 3 (ค.ศ. 1867) ความว่า….

“ในเมื่อสยามถูกรังควานโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่ง โดยอาณานิคมอังกฤษอีกด้านหนึ่ง เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อทำตัวเป็นมิตรกับจระเข้ หรือจะว่ายออกทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้ ถ้าหากเราพบบ่อทองในประเทศเรา พอที่จะใช้ซื้อเรือรบจำนวนร้อยๆ ลำก็ตาม เราก็คงไม่สามารถจะสู้กับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธจากประเทศเหล่านี้ (อังกฤษและฝรั่งเศส) พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไรก็ได้ อาวุธชนิดเดียวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือวาจาและหัวใจของเราอันกอปรด้วยสติและปัญญา” [2]

ก่อนจะจบเรื่องนี้ขอเล่าถึงของขวัญประหลาดชิ้นหนึ่งของนโปเลียนที่ 3 พระราชทานมายังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ส่งมาพร้อมกับคณะราชทูตไทยในปี ค.ศ. 1861 ด้วย ซึ่งเชื่อว่าคนในสมัยเราไม่เคยล่วงรู้มาก่อน นับเป็นหลักฐานใหม่ที่พบในคราวนี้เช่นกัน เรื่องของขวัญพิเศษชิ้นนี้ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในหนังสือพิมพ์กรุงปารีสอีกฉบับหนึ่ง ก่อนการอำลาจากประเทศฝรั่งเศสของคณะทูต มีใจความโดยสรุปคือ….

“วัวกระทิงหนุ่มพ่อพันธุ์” (ชนิดไม่มีเขา) ของพระราชทานแด่พระเจ้ากรุงสยาม

เป็นวัวกระทิงพ่อพันธุ์ชั้นยอดของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในงานเกษตรและปศุสัตว์แห่งชาติในปีนี้ (ค.ศ. 1861) เวลานี้คณะชาวสยามตั้งชื่อให้มันใหม่เสียเพราะพริ้งว่า “ศาลาไทย” เราภาวนาว่ามันจะเดินทางด้วยความปลอดภัยและไม่เหน็ดเหนื่อยมากนัก และจะได้รับการแพร่พันธุ์ออกไปอีกมากๆ ในสยามประเทศ [4]

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

[1] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย (สยาม) กับฝรั่งเศส. ราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ, 2539

[2] __________. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. ราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ, 2542

[3] หนังสือพิมพ์ L”Illustration. ฉบับวันที่ 6, 13 และ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1861, ปารีส

[4] หนังสือพิมพ์ L”Illustration. ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1861, ปารีส

[5] พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. มหามกุฏราชวิทยาลัย, กรุงเทพฯ, 2421

[6] พระราชหัตถเลขาพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีไปถึงราชทูต ณ กรุงปารีส, 4 มีนาคม พ.ศ. 2410. พิมพ์ในงานอนุสรณ์หม่อมสาย ศรีธวัช ณ อยุธยา, พระนคร, 2512


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 2 เมษายน 2560