เผยแพร่ |
---|
พระราชสาส์นของรัชกาลที่ 4 ในปี ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404) แสดงพระราชประสงค์ที่จะพระราชทาน “ช้าง” แก่สหรัฐอเมริกา หากประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ตอบปฏิเสธโดยละม่อมว่า ภูมิอากาศของประเทศไม่เหมาะสำหรับช้าง บรรณาการมีชีวิตดังกล่าวจึงมิได้ส่งออกไป
แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของสัตว์บรรณาการ
ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงถึงบรรณาการมีชีวิตเหล่านี้ ไว้ใน “พระจอมเกล้ารู้เท่าทันตะวันตก ‘มิตรภาพอาบยาพิษ’” (สนพ.มติชน, กันยายน 2547) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)
…ในปี ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2399) รัชกาลที่ 4 ทรงเสนอที่จะส่งช้างและสัตว์ป่า ที่มีค่าสูงหลายสิบตัว ไปถวายแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส [1]
แต่แล้วเรื่องทั้งหมดก็ขาดตอนลงอย่างไร้ร่องรอย เป็นเวลานานหลายปีที่ผู้เขียนหยุดการค้นคว้าโดยสิ้นเชิง เมื่ออ่านพบคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า โครงการดังกล่าวอาจจะมิได้เกิดขึ้นเลยก็เป็นได้ เพราะหลังจากข้อเสนอนั้นแล้วก็ไม่มีคำตอบกลับมาจากทางราชสำนักฝรั่งเศส เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองในยุโรป ระหว่างเกิดสงครามไครเมียที่ฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงไม่ได้มีการจัดส่งสัตว์ใดๆ ไปตามที่แจ้งไว้ข้างต้น เพราะสัตว์เหล่านั้นล้มตายเสียนานแล้ว [1]
………..
แต่แล้วข้อความบางตอนในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 เขียนโดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กลับสื่อเรื่องลึกลับนี้ขึ้นมาอีก ทว่าเขียนไว้อย่างคลุมเครือถึงการที่ไทยติดต่อไปยังชาวฝรั่งเศสให้เป็นที่รำคาญใจอีกครั้งว่า…
…ในปี พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ได้คิดสั่ง [น่าจะเป็นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมากกว่า-ผู้เขียน] ไปยังนักปราชญ์ฝรั่งเศส ขอให้ส่งราชสีห์ผู้เมียเข้ามาคู่ 1 จะทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะได้มีไมตรีหาสัตว์ส่งออกไปให้เขาบ้าง แต่ทางฝรั่งเศสแจ้งกลับมาว่าเป็นความลำบาก ด้วยสัตว์นั้นดุร้ายนัก จึงยิงเอาราชสีห์ที่ป่ามาถอดเอาเนื้อและกระดูกออกเสีย ทายามิให้ผุพังไป แล้วยัดสำลีทำเป็นรูปงามดีเหมือนดังเป็น ส่งเข้ามา ณ กรุงเทพ มหานคร [2]
ประโยคที่ว่า “เพราะได้มีไมตรีหาสัตว์ส่งออกไปให้เขาบ้าง” นั้นบอกความนัยว่าทางกรุงสยามอาจจะเคยจัดส่งสัตว์บางชนิดออกไปแล้วจริงๆ จึงได้มีการติดต่อประสานงานกันเรื่องสิงโต ซึ่งเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งซึ่งหายากและคนไทยไม่เคยเห็น
บันทึกของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ตอนนี้สำคัญมาก เพราะมีส่วนทำให้การตรวจสอบเรื่องดังกล่าวถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีก ข้อมูลทั้งหมดถูกนำออกมาชำระตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังคือ
1. ใน พ.ศ. 2399 (ค.ศ. 1856) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้มีการจัดหาสัตว์ที่มีค่าสูง เพื่อส่งไปถวายแด่นโปเลียนที่ 3 ประกอบด้วย
“ช้างอายุ 6 ปี 5 เชือก สมเสร็จงาม 1 ตัว วัวตัวผู้ 1 ตัว วัวขาวเพศเมีย 1 ตัว แพะผู้ 1 ตัว แพะเมียหลายตัวจากทิเบต ลิงอุรังอุตัง 3 ตัว นกหว้าดำจากบอร์เนียว 1 ตัว กวาง 2 ตัว หมีจากลาว 2 ตัว ลิงบาบูน 2 ตัว เสือลายพาดกลอน 1 คู่ ตัวกินมด 1 ตัว และ ฯลฯ” [1]
แต่โครงการนี้ต้องพับไป เพราะอุปสรรคจากการที่ฝรั่งเศสติดพันในสงครามทางยุโรป
2. ใน พ.ศ. 2404 (ค.ศ. 1861) หลังจากห่างเหินกันไปนาน 5 ปี รัชกาลที่ 4 ทรงจัดส่งคณะราชทูตไทยไปยังกรุงปารีส เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนโปเลียนที่ 3 พร้อมกับถวายเครื่องมงคลราชบรรณาการจำนวนมาก แต่ไม่มีช้างและสัตว์ไปด้วย ในคราวเดียวกันนี้เองทรงโปรดฯ ให้ทูตไทยไปดูงานสวนสัตว์ของกรุงปารีส ด้วยจุดประสงค์ที่ไม่เป็นที่เปิดเผย พระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) ได้บันทึกการไปเยี่ยมชมสวนสัตว์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระราชวังดุยเลอรีส์ [3]
แล้วทำรายงานอย่างละเอียดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในภายหลัง เป็นที่เข้าใจว่าในระหว่างการเข้าพบเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นราชทูตไทยได้หยิบยกพระราชดำริเดิมของรัชกาลที่ 4 ที่มีพระราชประสงค์จะส่งสัตว์มาถวายแด่นโปเลียนที่ 3 ให้มีการพิจารณากันใหม่ และร้องขอให้ทางฝรั่งเศสจัดส่งเรือมารับสัตว์เหล่านั้นถึงในกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง” เป็นกรณีพิเศษ
เมื่อคณะทูตเดินทางกลับ นโปเลียนได้พระราชทานวัวกระทิงชนิดพ่อพันธุ์อย่างดีมายังรัชกาลที่ 4 ด้วยตัวหนึ่งส่งมากับคณะทูตไทย เป็นการประเดิม (ดูศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2547: พบหลักฐานใหม่ในปารีส จดหมายถึง มงกุฎถึงนโปเลียน น่าสงสัย)
………….
3. ใน พ.ศ. 2405 (ค.ศ. 1862) นโปเลียนที่ 3 ทรงจัดส่งเรือรบฝรั่งเศสลำใหญ่มากับลูกเรือคุณภาพดีหลายสิบคนพร้อมด้วยกรงเหล็กขนาดต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นจากสวนสัตว์กรุงปารีส เพื่อมารับของขวัญสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมายมั่นตั้งพระทัยมานานหลายปี รัชกาลที่ 4 ทรงต้อนรับขับสู้การมาของเรือฝรั่งเศสอย่างอบอุ่น มีบันทึกไว้ว่าทรงเตรียมการเหมือนรับรองทูตสำคัญของพระเจ้าแผ่นดินทีเดียว โดยทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลาฯ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง “มิให้ขาดได้ตามรับสั่ง” นับเป็นการให้ความสำคัญกับพระวิเทโศบายแผนใหม่แบบที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
โครงการนำร่องเรื่องส่งสัตว์ไปถวายนโปเลียนที่ 3 ถึงกรุงปารีส “เพื่อประชาสัมพันธ์กรุงสยาม” สำเร็จลงด้วยดีในปีนี้ ด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดของทั้ง 2 ฝ่าย และจะไม่เกิดขึ้นกับคณะทูตชุดใดๆ อีกเลยจนตลอดรัชกาลที่ 4
“หลักฐานใหม่” ที่พบ หลบอยู่ระหว่างรอยต่อของพงศาวดารไทย 2 เล่ม แต่มีเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่ระบุไว้อย่างอาจหาญและเป็นทางการ…
“หมายรับสั่ง เรื่องรับแขกเมืองฝรั่งเศสที่นำเรือรบเข้ามารับช้างและสัตว์ต่างๆ เมื่อ พ.ศ. 2405
ด้วยเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี [โปรดสังเกตว่า เป็นขุนนางคนเดิมที่เคยสั่งสิงโตเข้ามา ใน พ.ศ. 2406 ผู้เขียน] รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สั่งว่าช้างและสัตว์ต่างๆ ซึ่งจะส่งออกไปทรงยินดีสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ตกค้างอยู่ยังไม่ได้ส่งออกไป บัดนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแต่งให้กัมปะโดปัศการิยาคุมเรือรบกลไฟซิวยิรวมเดอ เข้ามารับช้างและสัตว์ต่างๆ ออกไปถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส
โปรดเกล้าฯ กำหนดให้กัมปะโดปัศการิยาและขุนนางในเรือรบ และมองสิเออร์ดิสตรียาผู้ว่าการกงสุลฝรั่งเศส รวมกัน 11 นาย เข้าเฝ้าทูลละอองฯ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ณ วันจันทร์ เดือน 8 แรม 3 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก เพลาบ่ายนั้น เสด็จออกแขกเมืองครั้งนี้เหมือนอย่างเสด็จออกรับกัปตันนายกำปั่นรบ แต่ก่อนๆ นั้น” [4]
จากจดหมายรับสั่งที่มีความหมายนี้เปรียบได้กับบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับแรก เรื่องส่งช้างและสัตว์ไปเป็นบรรณาการได้รับการยืนยันอย่างมีหลักฐานเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ประมุขชาวต่างชาติอีกพระองค์หนึ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ไว้มีซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ตรัสไว้เมื่อครั้งเสด็จมาเมืองไทยว่า “พระเจ้ากรุงสยามเคยถวายช้างให้กับเจ้าต่างเมืองเป็นของขวัญ มีช้างพังและช้างพลาย ก็เคยส่งไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 มาแล้ว” (จากหนังสือ การเสด็จเยือนประเทศสยามของพระเจ้านิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย-ฉบับแปลโดยกรมศิลปากร พ.ศ. 2540)
นอกจากนั้นผู้เขียนยังพบ…ภาพประวัติศาสตร์สำหรับเรื่องนี้ต่อไปอีก กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ลิลลุสตราซิองที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส พิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ลงภาพสัตว์ป่าจากสยามในสวนสัตว์กรุงปารีส ตีพิมพ์ไว้ในปี ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) และ ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) ตามลำดับ ทำให้ทราบว่าสัตว์เหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่จริง อย่างน้อยก็ตลอดรัชกาลที่ 4
ภาพที่หนึ่ง เป็นเสือลายพาดกลอน 2 ตัวจากสยาม ภาพที่สองเป็นตัวนิ่มที่งดงาม 1 ตัวตรงตามบัญชีหางว่าวที่มีอยู่จริง ส่วนภาพที่สามนั้นพิเศษกว่าเพื่อน เป็นภาพล้อการปรากฏตัวของช้างจากพระเจ้ากรุงสยาม ในกระโจมยักษ์แห่งหนึ่งกลางกรุงปารีส…บรรยายไว้แบบล้อเลียนว่า “ช้างจากพระเจ้ากรุงสยามเป็นที่นับถือในประเทศของมัน กำลังทักทายผู้ชมอยู่บนอัฒจันทร์” [5]
เอกสารอ้างอิง :
[1] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ. ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539
[2] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค), พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, 2477
[3] จดหมายเหตุของพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เรื่องราชทูตไทยไปฝรั่งเศสในรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2404.
[4] ศิลปากร, กรม. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๒ เรื่องทูตฝรั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ, 2506.
[5] หนังสือพิมพ์ LILLUSTRATION. Paris ฉบับ ลวท. 15 สิงหาคม 1866 และ 10 ตุลาคม 1868.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 10 กันยายน 2564