ตามรอย ทหารรับจ้างโปรตุเกส ผู้นำเทคโนโลยี-ยุทธศาสตร์การทหาร สู่ราชสำนักอยุธยา

เรือ โปรตุเกส ทหารรับจ้างโปรตุเกส

ตามรอย ทหารรับจ้างโปรตุเกส ผู้นำเทคโนโลยี-ยุทธศาสตร์การทหาร สู่ราชสำนักอยุธยา

ชาวโปรตุเกสเป็นชาติยุโรปชาติแรกที่เข้ามาสยาม โดยนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกลวิธีทางการทหาร ระบบสวัสดิการสมัยใหม่ และวิธีการสร้างป้อมปราการที่ดีมาสู่สยาม [1]

นับตั้งแต่มีการติดต่อกันระหว่างชาวโปรตุเกสและชาวสยาม ความสัมพันธ์และความช่วยเหลือทางการทหารมักมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์กันระหว่างสองชาตินี้ โดยโปรตุเกสได้รับการรับรองสิทธิในการพำนักในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และสำคัญในอุษาคเนย์มากอย่างสยาม โปรตุเกสรับภาระในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และพระเจ้าแผ่นดินสยามพระราชทานพระราชานุญาตให้ชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานและค้าขายในประเทศได้อย่างสะดวกรวมทั้งให้อิสระในการนับถือศาสนา [2]

ขณะนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นการที่มีสัญญากับโปรตุเกสย่อมมีประโยชน์ต่อการสงคราม เพราะทหารอาสาโปรตุเกสเข้าได้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ โจมตีเมืองเชียงใหม่ และปราบทัพเชียงใหม่อย่างราบคาบที่ลำปาง นอกจากนี้โปรตุเกสยังช่วยส่งกองทัพมารบกับพม่า จึงทำให้โปรตุเกสได้รับปูนบำเหน็จที่ดินในการตั้งถิ่นฐาน และเกิดค่ายโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยาในที่สุด [3]

แผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยลาลูแบร์ ค่ายโปรตุเกส
แผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยลาลูแบร์ แสดงอาณาบริเวณในค่ายโปรตุเกส (อักษร H)

ระหว่างปี ค.ศ. 1516/พ.ศ. 2054 และปี ค.ศ. 1538/พ.ศ. 2081 ชาวโปรตุเกสจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยาม ทั้งที่ปัตตานี และเมืองอื่น ๆ ในราชอาณาจักร [4]

…หลังจากปี ค.ศ. 1534/พ.ศ. 2077 [หลังสมัยสมเด็จพระไชยราชา (ค.ศ. 1534-1546/พ.ศ. 2077-2089)-กองบก.ออนไลน์] จำนวนของชาวโปรตุเกสในสยามเพิ่มมากขึ้นราว 120 คน และพระเจ้ากรุงสยามได้จัดตั้งทหารต่างชาติส่วนพระองค์ขึ้น [5] เพื่อสอนให้ชาวสยามเริ่มใช้ปืนแบบฝรั่งเป็น กลุ่มทหารปืนใหญ่เหล่านี้ได้เข้าร่วมกับทหารสยาม โดยทำหน้าที่เป็นผู้ชำนาญการปืนใหญ่โดยรั้งตำแหน่งตามสมควร

กล่าวกันว่ามีความเป็นไปได้ที่สมเด็จพระไชยราชาอาจเปลี่ยนการนับถือศาสนาเป็นคริสต์ โดยมีชื่อทางคริสต์ว่า ดง จูอาว (Dom João) ในปี ค.ศ. 1544/พ.ศ. 2087 [6]

เฟอร์นาว เมนดืช ปินตู (Fernão Mendes Pinto) กล่าวว่าเจ้าเมืองมะละกาได้ส่ง เปโร ดือ ฟาเรีย (Pero de Faria) มาสยามในปี ค.ศ. 1540/พ.ศ. 2083 เพื่อเจรจาขอปล่อยตัว โดมิงกช ดือ ไซซ่าส (Domingos de Seixas) ผู้ซึ่งถูกกุมตัวในคุกสยามเป็นเวลา 23 ปี เปโร ดือ ฟาเรีย ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีและพระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงอนุญาตให้ปล่อยตัว โดมิงกูช ดือ ไซซ่าส พร้อมกับชาวโปรตุเกสอีก 16 คน [7]

ทหารโปรตุเกส มะละกา ทหารรับจ้างโปรตุเกส
ทหารโปรตุเกสบุกยึดมะละกา เมื่อ ค.ศ. 1511

ปี ค.ศ. 1523/พ.ศ. 2066 โดมิงกูช ดือ ไซซ่าส ไปประจำที่เมืองตะนาวศรีเพื่อจัดซื้อเสบียงให้ป้อมปราการของโปรตุเกสในเมืองปาเสร์ บันทึกของ บารูช ระบุว่าชาวโปรตุเกสเหล่านั้นถูกนำตัวไปถวายพระเจ้าแผ่นดินสยามผู้ทรงมีพระราชบัญชาให้นำชาวโปรตุเกสเหล่านี้เข้าไปสู่กองเรือแห่งสยาม เพราะชาวโปรตุเกสมีความรู้เรื่องปืนใหญ่ดีมาก และสามารถช่วยรบพุ่งในการศึกสงครามได้ โดมิงกูช ดือ ไซซ่าส จึงได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นนายเรือเอกแห่งกองทัพสยาม และนับเป็นทหารรับจ้างอย่างแท้จริง [8]

ระหว่างปี ค.ศ. 1545/พ.ศ. 2088 และ ค.ศ. 1546/พ.ศ. 2089 สมเด็จพระไชยราชามีเหตุปะทะกับนครเชียงใหม่อีกครั้ง พระองค์จึงทรงใช้ ทหารรับจ้างโปรตุเกส ในการต่อสู้กับเมืองเชียงใหม่ ทหารโปรตุเกสเหล่านี้ต่อสู้ด้วยความสามารถ เมื่อเสร็จศึกแล้วจึงพระราชทานสิทธิทางการค้าและมอบสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัยให้เป็นพิเศษ [9]

จำต้องกล่าวในที่นี่ว่าข้างฝ่ายพม่าก็มีทหารโปรตุเกสรับจ้างเช่นกัน ในสมัยนั้นทหารโปรตุเกสรับจ้างรบให้กับทุกฝ่ายที่มีกำลังจ้าง

เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชา สยามประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ภายในประเทศที่สั่นคลอนจนกระทั่งปี ค.ศ. 1548/พ.ศ. 2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐา ปี ค.ศ. 1549/พ.ศ. 2092 กษัตริย์พม่าเข้าโจมตีสยาม และโอบล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ ทหารโปรตุเกสพยายามป้องกันเมืองโดยมี ดิโอโก้ เปอไรร่า (Diogo Pereira) เป็นผู้นำทหารโปรตุเกสประมาณ 50 นาย พ่อค้าชาวโปรตุเกสมักต้องเข้าร่วมรบอยู่เนือง ๆ เพื่อให้กษัตริย์สยามพึงพอพระราชหฤทัย และเพื่อปกป้องทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง [10]

อัลฟงโซ ดือ อัลบูแกร์เกอ อุปราชรัฐโปรตุเกสแห่งอินเดีย ผู้พิชิตมะละกา และส่งราชทูตมายังราชสำนักอยุธยา
อัลฟงโซ ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Albuquerque) อุปราชรัฐโปรตุเกสแห่งอินเดีย ผู้พิชิตมะละกา และส่งราชทูตมายังราชสำนักอยุธยา

ปี ค.ศ. 1569/พ.ศ. 2112 พม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว พม่าตั้งพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นกษัตริย์โดยให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นของพม่า เขมรจึงฉวยโอกาสในยามที่สยามอ่อนแอเข้าโจมตีสยามหลายครั้ง การปล้นสะดมของเขมรทำให้พม่ายอมผ่อนปรนให้สยามสร้างกำแพงเมืองได้ใหม่ ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1580/ พ.ศ. 2123 กำแพงเมืองของกรุงศรีอยุธยาที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1550/ พ.ศ. 2093 โดยความช่วยเหลือของโปรตุเกส ก็ถูกทลายลงและสร้างขึ้นใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม

ปี ค.ศ. 1584/พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวร หรือพระองค์ดำ ต้องการเป็นเอกราชจากพม่า และพยายามต่อสู้กับการรุกรานของพม่าในปี ค.ศ. 1586-1587/พ.ศ. 2129-2130 และในปี ค.ศ. 1593/พ.ศ. 2136 ที่สมรภูมิหนองสาหร่าย พระองค์ได้ประกาศอิสรภาพจากพม่า [11]

สมเด็จพระมหาธรรมราชา (ค.ศ. 1569-1590/พ.ศ. 2112-2133) ทรงซื้อปืนใหญ่จากต่างชาติ เมื่อสมเด็จพระนเรศวร (ค.ศ. 1590-1605/พ.ศ. 2133-2148) ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงสานต่อการรวบรวมอำนาจทางการเมืองของสยามประเทศ และหลังจากที่พระองค์กอบกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ กองทัพของสยามก็มีความสามารถในการใช้ปืนใหญ่ในกองทัพได้เป็นอย่างดี [12]

กองเรือ VOC ของดัตช์ กองเรือโปรตุเกส มะละกา
กองเรือ VOC ของดัตช์ กำลังรบกับกองเรือโปรตุเกสที่มะละกา เมื่อ ค.ศ. 1606

ในปี ค.ศ. 1594/พ.ศ. 2137 สมเด็จพระนเรศวรเข้าโจมตีเขมรและกวาดต้อนเชลยชาวสเปนและโปรตุเกสในเมืองละแวก ซึ่งในจำนวนนักโทษนั้นมี ดิโอโก้ เวโลโซ (Diogo Veloso) ซึ่งต่อมาได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระนเรศวรมาก จนกระทั่งปลายปีนั้นได้เดินทางไปกรุงมะนิลาพร้อมกับทูตสยามโดยอ้างว่าจะเดินทางไปขออาวุธ แต่แล้ว ดิโอโก้ เวโลโซ กลับกำจัดทูตสยามที่เมืองมะละกา และหนีไปรับใช้กษัตริย์เขมรอีกครั้ง [13]

พระเจ้าแผ่นดินสยามหลายพระองค์ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ ทหารรับจ้างโปรตุเกส เหล่านี้ ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับตำแหน่งสูง ๆ ในกองทัพและราชสำนัก ขณะเดียวกันพ่อค้าที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางการค้าก็ต้องถูกบังคับให้ร่วมช่วยในการสงคราม

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] Damrong Rajanubhab, The Introduction of the Western Culture in Siam, Bangkok, 1925, p. 107.

[2] W.A.R. Wood, A History of Siam, Bangkok : The Siam Barnavich Press, 1933, pp. 98-99.

[3] W.A.R. Wood, A History of Siam, p. 100.

[4] Hugh Clifford, Further India, Bangkok : White Lotus, 1900, p. 87.

[5] David K. Wyatt, Thailand : A Short History, New Haven/Yale, Yale University Press, p. 89.

[6] Manuel de Faria e Sousa, Asia Portuguesa, Porto : Livraria Civilizaçao, 1945, vol. 3, p. 127.

[7] Fernão Mendes Pinto, Peregrinação, Porto : Lello & Irmaos, 1984, chap. 183, pp. 525-526.

[8] le João de Barros, Da Asia, Década III, chap. 2, pp. 248-259.

[9] W.A.R. Wood, A History of Siam, pp. 102-103.

[10] Diogo do Couto, Da Asia, Decada VI, Lisboa : Livraria Sam Carlos, 1974, bk. 7, chap. 9, pp. 128-129.

[11] David K. Wyatt, Thailand : A Short History, p. 193.

[12] W.A.R. Wood, A History of Siam, pp. 128.

[13] Bernard Groslier, Angor et le Cambodge au XVIè siècle d’après les sources portugaises et espagnoles, Paris : Press Universitaire de France, 1958, pp. 38-39.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ กระดานทองสองแผ่นดิน เขียนโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี (สำนักพิมพ์มติชน, 2553)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2564