จาก “แชร์นอเนิม” มาเป็น “ซาร์เนา” ชื่อเก่าอยุธยาก่อนการเข้ามาของโปรตุเกส

จาก “แชร์นอเนิม” มาเป็น “ซาร์เนา” ชื่อเก่า อยุธยา ก่อนการเข้ามาของโปรตุเกส

ผมเห็นใจนุช วันหยุดแทนที่จะได้ไปเที่ยว แต่ผัวมัวขลุกอยู่ในห้อง นั่งเสิร์ชข้อมูลออนไลน์ ดาวน์โหลดไฟล์จดหมายเหตุ ฯลฯ ผมรู้เธอแอบน้อยใจ มันหาใช่ชีวิตหลังแต่งอย่างที่คิด ไม่สวีทเหมือนในเฟซบุ๊ก ผมได้แต่ปลอบเธอ อดทนหน่อยนะ งานเสร็จเมื่อไหร่ เราไปเที่ยวกัน

ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร มันเป็นแพชชั่น (passion) ของมนุษย์สายประวัติศาสตร์ยากจะเข้าใจ นักประวัติศาสตร์ด้วยกันคงอธิบายได้ดีกว่า ธงชัย วินิจจะกูล (Siam Mapped, 1994/2537) กล่าวถึงประเด็นนี้เมื่อปี 2549 การศึกษาของคุณธวัชชัยเป็นผลผลิตของความอุตสาหะและปัญญา พอๆ กับความรักในสิ่งที่ตนทำ (หรือจะเรียกว่าความบ้าก็น่าจะได้)” คริส เบเกอร์ (A History of Thailand, 2005/2548) กล่าวทำนองเดียวกัน เขาเป็นคนบ้าแผนที่ แต่เขาแตกต่างจากนักสะสมคนอื่นตรงที่เขาทำอะไรอย่างเป็นระเบียบและเยี่ยมยอด อีกทั้งยังชอบเล่าเรื่อง [1]

สิบสามปีผ่านไป แพชชั่นยังคงอยู่ ตัวหนังสือหรือแผนที่ยังตรึงให้ผมหยุดและครุ่นคิด บันทึกที่ตั้งใจอ่าน ตัวหนังสือที่พยายามแกะ ทุกหน้าทุกตัวอักษรล้วนสะท้อนการรับรู้ที่ผู้บันทึกมีต่อแผ่นดินสยามและผู้คน ณ ห้วงเวลานั้น

สิบสามปีที่แล้ว ผมเขียน กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง หนังสือขายหมดแต่ผมจบไม่ได้ ยังคงใช้เวลาอยู่กับกองเอกสาร ง่วนอยู่กับการค้นชื่อโบราณ ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมพยายามตรวจสอบหลักฐานฝรั่งทุกชิ้น ไม่ว่าจะหนังสือหรือแผนที่ ฯลฯ เพื่อค้นรายชื่อกรุงศรีอยุธยาก่อนมาเป็นโอเดีย” (Odia) ย่อหน้าต่อจากนี้เป็นผลสรุป โดยผมจะไล่เรียงรายชื่อตามปีที่ปรากฏ พร้อมข้อมูลที่มาโดยสังเขป

(1)

[Cernonem] (1448/1991) — “แชร์นอเนิม

เป็นชื่อเรียกกรุงศรีอยุธยาเก่าแก่สุด ปรากฏครั้งแรกในบันทึกการเดินทางของนิกโกโล เด คงติ (Niccolò de’ Giovanni Conti) รวมอยู่ในหนังสือชุด De Varietate Fortunae (ความผันผวนของโชคชะตา) เรียบเรียงโดย โพจโจ บราคโชลินี (Poggio Bracciolini) เขียนเสร็จ ค.. 1448/.. 1991 [2]

คงติเป็นพ่อค้าชาวเวนิส เดินทางเข้ามาในอุษาคเนย์ราว ค.. 1425-1430/.. 1968-1973 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ในบันทึกภาษาลาตินมีข้อความเกี่ยวกับสยามดังนี้

“[คงติ] ออกเดินทางจากสุมาตราท่ามกลางกระแสคลื่นและลมพัดแรง ใช้ระยะเวลา 16 วันก่อนถึงเมืองตะนาวศรีซึ่งตั้งอยู่บนปากแม่น้ำชื่อเดียวกัน ดินแดนนี้มีช้างชุกชุมและอุดมไปด้วยไม้ฝาง หลังจากได้สำรวจไปทั่วทุกหนแห่ง ทั้งทางบกและทางน้ำ เขาเดินทางต่อไปยังปากแม่น้ำคงคา [?] และหลังจากนั้น 15 วัน ก็ได้มายังนครอันรุ่งเรืองมั่งคั่งมีนามว่าแชร์นอเนิม (Cernonem)” [3]

แชร์นอเนิมในบันทึกเป็นการถ่ายเสียงจาก ชะฮฺริ เนาว์ (Shahr-i Nau) คำภาษาเปอร์เซียแปลว่าเมืองใหม่หมายถึงกรุงศรีอยุธยา เหตุที่เรียกเมืองใหม่เพราะก่อนหน้าการสถาปนากรุงศรีอยุธยา บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเมืองเก่าที่สำคัญ 2 เมือง ได้แก่ ละโว้และสุพรรณบุรี ส่วนการเรียกชื่อเป็นภาษาเปอร์เซีย เพราะในสมัยนั้นเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารตามเมืองท่าแถบอ่าวเบงกอล [4]

ปากแม่น้ำคงคาน่าจะหมายถึงปากน้ำตะนาวศรี จากเมืองตะนาวศรีมากรุงศรีอยุธยาสามารถเดินทางข้ามทางด่านสิงขรมาเมืองกุยแล้วต่อไปเพชรบุรี ลงเรืออีกทีเพื่อตัดอ่าวไทยขึ้นแม่น้ำเจ้าพระยาไปกรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาเดินทางราว 10-12 วัน [5]

(2)

Scierno/Scerno (c.1450/1993) — “ชิแอร์โน/เชอร์โน

ฟรา เมาโร นำข้อมูลของคงติไปบันทึกใน Il Mappamondo di Fra Mauro แผนที่โลกเขียนราว ค.. 1450/.. 1993 โดยถ่ายเสียง ชะฮฺริ เนาว์ เป็นภาษาอิตาลีว่า ชิแอร์โน/เชอร์โน (Scierno/Scerno) ทั้งยังพรรณนาเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้บนแผนที่ดังนี้

นครชิแอร์โน (Scierno) แห่งนี้ใช้ระยะเวลาเดินทางทางบกเป็นเวลาราวหกวัน บนฟากหนึ่งของแม่น้ำชิแอร์โนหรือคงคา จะพบผู้คนอาศัยอยู่เรียงรายตลอดระยะเวลาเดินทางราวสามสิบวัน ส่วนอีกฟากของแม่น้ำเต็มไปด้วยบ้านเรือน ปราสาท และพระราชวังที่งดงามวิจิตรตระการตา[6]

เมาโรวางตำแหน่งชิแอร์โนบนแผนที่ได้อย่างแม่นยำ โดยเขียนปราสาทเป็นสัญลักษณ์แทนอาณาจักรเชอร์โน (Reg[no] de Sce[r]no) โอบล้อมด้วยแม่น้ำชิแอร์โน (Fl. Scierno) ซึ่งไหลลงสู่อ่าวไทย เมืองที่อยู่ทางใต้ของชิแอร์โนคือเชลียง (Zelieng) และสุโขทัย (Sciechutai) ทางตะวันออกคืออังวะ (Aua), พุกาม (Pochang) และอาระกัน (Racbang) ถ้าพิจารณาจากตำแหน่งบนแผนที่ จะเห็นชัดว่าชิแอร์โนคือกรุงศรีอยุธยา แม่น้ำชิแอร์โนคือแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนหนึ่งของแผนที่โลกโดยฟรา เมาโร (c.1450/1993) แสดงเส้นทางโบราณจากตะนาวศรี (Tanasari) สู่กรุงศรีอยุธยา (Reg[no] de Sce[r]no) ใต้กรุงศรีอยุธยาคือเชลียง (Zelieng) ใต้สุดของภาพคือสุโขทัย (Sciechutai) และขอให้สังเกตชื่อที่เขียนกำกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกรุงศรีอยุธยาเขียน Fl[umen] Scierno (แม่น้ำชิแอร์โน) แต่บริเวณสุโขทัยเขียน Flum[en] Ganges (แม่น้ำคงคา) แสดงว่าเมาโรก็เข้าใจผิดว่าแม่น้ำเจ้าพระยาและคงคาเป็นสายเดียวกัน

ความสนุกของแผนที่โบราณคือการได้ใช้จินตนาการในการอ่าน แผนที่เมาโรแลดูแปลกเพราะวางทิศใต้ไว้ด้านบน แทนที่เชลียงสุโขทัยจะอยู่ทางเหนือกรุงศรีอยุธยา กลับอยู่ทางใต้ แทนที่อังวะอาระกันพุกามจะอยู่ทางตะวันตก กลับอยู่ทางตะวันออก ฯลฯ เป็นต้น

ดินแดนคาบสมุทรอุษาคเนย์ในบันทึกมาร์โค โปโลมีเพียงพุกาม? (Mien) และจามปา (Ciamba) [7] ส่วนคงติกล่าวถึงตะนาวศรี (Tenasserim), อาระกัน (Rachani), อังวะ (Aua), พะโค (Panconiam), และกรุงศรีอยุธยา (Cernonem) เมาโรใช้ข้อมูลโปโลและคงติ แต่แผนที่ของเขาระบุชื่อเมืองหลายแห่งที่ไม่ปรากฏในบันทึก เช่น เมาะตะมะ (Marthaban), มะละกา (Melacha), ทวาย (Taua), กุย (Choy), เพชรบุรี (Bicipuri), เชลียง (Zelieng), และสุโขทัย (Sciechutai) ฯลฯ เมาโรได้ข้อมูลมาจากไหน?

ชื่อเมืองพะโคในบันทึกเขียน Panconiam แต่บนแผนที่เขียน Paigu ใกล้เคียงกับชื่อในบันทึกโปรตุเกส (Peigu) [8] เมาโรได้ชื่อนี้จากไหน? ทั้งยังเสนอว่าแม่น้ำคงคาในบันทึกน่าจะหมายถึงแม่น้ำเจ้าพระยา อะไรทำให้เขาคิดเช่นนั้น?

คงติเป็นชาวเวนิส เมาโรเขียนแผนที่อยู่ที่เวนิส เป็นไปได้ไหมว่าเขาทั้งสองได้มีโอกาสพูดคุยกัน? [9]

คงติเล่าในบันทึก หลังจากได้สำรวจไปทั่วทุกหนแห่ง ทั้งทางบกและทางน้ำ เขาเดินทางต่อไปยังปากแม่น้ำคงคา และหลังจากนั้น 15 วัน ก็ได้มายังนครอันรุ่งเรืองมั่งคั่งมีนามว่าแชร์นอเนิมหากดูในแผนที่จะเห็นแม่น้ำตะนาวศรี (สีฟ้า) ไหลจากตอนบนของแผนที่ พอมาถึงบริเวณ p. Bangala มีแม่น้ำ (สีเขียว) ตัดผ่านและไหลต่อไปถึงกุย (Choy) ผมสงสัยว่าการสำรวจไปทั่วทุกหนแห่งคือการไปยังเมืองต่างๆ ที่ปรากฏบนแผนที่ รวมถึงกุยและเพชรบุรีที่อยู่ในเส้นทางตะนาวศรีสู่กรุงศรีอยุธยาแม่น้ำคงคาในบันทึกน่าจะเป็นความสับสนของคงติ โดยเมาโรแก้ไขให้ใหม่เป็นแม่น้ำชิแอร์โนหรือเจ้าพระยาในแผนที่

การที่เมาโรแก้ไขข้อมูลทั้งได้ระบุชื่อที่ไม่อยู่ในบันทึก แสดงว่าเขาได้สอบถามเพิ่มเติมจากคงติ และการที่คงติรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองเหล่านี้โดยเฉพาะเชลียงและสุโขทัย แสดงว่าเขาน่าจะได้เข้ามากรุงศรีอยุธยา

(3)

Xarnauz (c.1498/2041 ) — “ซาร์เนาซ์

เป็นชื่อเรียกกรุงศรีอยุธยาเก่าแก่สุดในเอกสารโปรตุเกส พบใน Roteiro da primeira viagem de Vasco da Gama à Índia, 1497-1499 (จดหมายเหตุการเดินทางสู่อินเดียครั้งที่ 1 ของวาสโก ดา กามา, .. 2040-2042) เชื่อกันว่าเขียนโดยเวลญู (Álvaro Velho) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 [10] เป็นรายงานผลการสำรวจของดา กามา ชาวโปรตุเกสผู้ค้นพบเส้นทางเดินเรือสู่อินเดีย บันทึกไม่เพียงกล่าวถึงดินแดนที่ได้เดินทางไปเท่านั้น ยังกล่าวถึงดินแดนอื่นที่ได้รับรู้จากพ่อค้าหรือคนนำร่องชาวอาหรับ [11] ในบทอาณาจักรอื่นๆที่หน้า 83 ของบันทึก มีการกล่าวถึงสุมาตรา (Camatarra), กรุงศรีอยุธยา (Xarnauz), และตะนาวศรี (Tenacar) ฯลฯ แห่งละหนึ่งย่อหน้า โดยกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาดังนี้

ซาร์เนาซ์ (Xarnauz) เป็นอาณาจักรคริสเตียนและมีกษัตริย์เป็นชาวคริสเตียน ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกาลิกัตราว 50 วันถ้ากระแสลมดี กษัตริย์ทรงมีทหารอยู่ในอำนาจ 20,000 นาย ม้าศึก 4,000 ตัว และช้างศึก 400 เชือก ดินแดนนี้อุดมไปด้วยกำยานและไม้กฤษณา หนึ่งฟาราซาลล่า (farazalla) ของกำยานและไม้กฤษณาราคาตกอยู่ที่ 3 ครูซาดูช และ 25 ครูซาดูช (cruzados) ตามลำดับ” [12]

จดหมายเหตุ Roteiro (c.1498/2041) แสดงชื่อ Xarnauz เป็นจดหมายเหตุโปรตุเกสชิ้นแรกที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสยาม ทั้งยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก

ซาร์เนาซ์เพี้ยนจากชะฮฺริ เนาว์กษัตริย์ซาร์เนาซ์คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ส่วนฟาราซาลล่าและครูซาดูชคือมาตรวัดน้ำหนักและหน่วยเงินโบราณ ส่วนประเด็นคริสเตียนแคมโปสให้ความเห็นว่าชาวโปรตุเกสสมัยนั้นไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนา จึงเข้าใจว่าผู้ใดไม่นับถืออิสลามจะต้องเป็นชาวคริสเตียน [13]

Roteiro คือหลักฐานแสดงว่าโปรตุเกสรู้จักกรุงศรีอยุธยาก่อนเข้ามาในสยาม (1511/2054) บันทึกได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกที่เมืองปอร์ตู (Porto, 1838/2381) ส่วนต้นฉบับปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดเทศบาลเมืองปอร์ตู (Biblioteca Pública Municipal do Porto) โปรตุเกส [14]

(4)

Cerener (1502/2045 ) — “เชอเรอเนอร์

แผนที่ตัวเขียนไม่มีชื่อ แต่นิยมเรียกกันว่าแผนที่โลกคันติโน” (The Cantino Planisphere) ตามชื่อของอัลแบร์โต คันติโน (Alberto Cantino) ผู้ว่าจ้างให้นักแผนที่นิรนามชาวโปรตุเกสคัดลอกข้อมูลผลการสำรวจล่าสุดของโปรตุเกส (Padrão Real) ทั้งในแอฟริกาและอินเดีย แผนที่เขียนเสร็จ ค.. 1502/.. 2045 เป็นแผนที่ขนาดใหญ่ (1,020 มม. x 2,180 มม.) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดเอสเต็นเซ่ (Biblioteca Estense) เมืองโมเดนา (Modena) อิตาลี

แผนที่มีความสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก เป็นแผนที่แรกสุดที่แสดงเส้นสมมุติแบ่งโลกหรือแบ่งปริมณฑลทางอำนาจระหว่างโปรตุเกสและสเปน อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาทอร์เดซิลลาซ (Treaty of Tordesillas, 1494/2037) ประการที่สอง เป็นแผ่นแรกสุดที่แสดงผลการสำรวจของโปรตุเกสในยุคแห่งการค้นพบและประการที่สาม ให้รายละเอียดเส้นทางการค้า เมืองท่า แหล่งเครื่องเทศ และอัญมณี ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ข้อความข้างเกาะสุมาตราบันทึกว่าเกาะนี้เรียกว่าโทปอร์บานา เป็นเกาะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อุดมไปด้วยทุกสิ่ง ทั้งเงิน ทอง อัญมณี ไข่มุก ทับทิมเม็ดใหญ่ ผ้าไหม และผ้าแพร ฯลฯข้างมะละกาบันทึกว่าเมืองนี้มีสินค้าทุกชนิดที่ส่งมายังกาลิกัตและสินค้าอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยสินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากทางฝั่งประเทศจีนบนแผนที่ยังระบุชื่อกรุงศรีอยุธยาว่าเชอเรอเนอร์ (Cerener) ทั้งให้ข้อมูลสั้นๆ ว่า ที่นี่มีสินค้าทุกชนิดที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า [15]

(5)

Cernouem (1502/2045 ) — “แชร์โนม

พบในบันทึกคงติที่รวมอยู่ในตอนท้ายของบันทึกโปโลฉบับภาษาโปรตุเกส พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงลิสบอน (1502/2045) โดยในแผ่นที่ lxxxii ปรากฏข้อความ “…çidade no dito ryo muj nobre e muy rica chamada Cernouem.” พอจับใจความได้ว่า “…นครที่รุ่งเรืองมั่งคั่งมีนามว่าแชร์โนม [16]

(6)

Cernomé (1503/2046) — “แชร์นอเม่

พบในบันทึกคงติที่รวมอยู่ในบันทึกโปโลฉบับภาษาสเปน พิมพ์ครั้งแรกที่เมืองเซวิลล์ (Sevilla, 1503/2046) สเปน โดยในแผ่นที่ xxviii ปรากฏข้อความเนื้อหาเดียวกัน “…cernomé noble e mui abastada.” (“…แชร์นอเม่ รุ่งเรืองและมั่งคั่ง) [17]

บันทึกคงติฉบับภาษาสเปน (1518/2061) เรียกกรุงศรีอยุธยาว่า Cernomé ตรวจสอบแล้วพบว่าชื่อเขียนตรงกับฉบับพิมพ์ครั้งแรก (1503/2046)

(7)

Zerena (c.1508/2051) — “เซเรน่า

พบในแผนที่ตัวเขียนแสดงชายฝั่งทะเลจีนใต้ตั้งแต่เวียดนาม (Chinacochin), จามปา (Campochachin), กัมพูชา (Fulucandoia), กรุงศรีอยุธยา (Zerena), จรดนครศรีธรรมราช (Magaragor) แผนที่ไม่ระบุผู้เขียนหรือปีที่เขียน แต่เชื่อว่าเป็นผลงานของ มาจโจโล (Vesconte de Maggiolo) ช่างแผนที่ชาวอิตาลี เขียนราว ค.. 1508/.. 2051 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงลอนดอน [18]

(8)

Sarnau (1510/2053) — “ซาร์เนา

วาร์เทมา (Ludovico di Varthema) ชาวอิตาลีที่เข้ามาอุษาคเนย์ระหว่าง ค.. 1502-1508/.. 2045-2051 ได้เขียนบันทึกการเดินทาง Itinerario พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงโรม (1510/2053) ในบันทึกมีข้อความบางตอนเกี่ยวกับสยาม

เรายังได้พบพ่อค้าชาวคริสเตียนที่นี่ [เบงกอล] พวกเขาเล่าว่าได้เดินทางมาจากซาร์เนา (Sarnau)” และอีกข้อความหนึ่งระบุว่า ไม้กฤษณาคุณภาพดีที่สุดคือกะลำพักที่มาจากซาร์เนา[19]

ซาร์เนายังพบในจดหมายเขียนโดยเอ็มโปลี (Giovanni da Empoli, 1514/2057) พ่อค้าชาวฟลอเรนซ์ กล่าวถึงเรือสำเภาจากซาร์เนา (Sarnau), พะโค (Pechu), เมาะตะมะ (Martaman) และตะนาวศรี (Tanazzari) ฯลฯ ที่เข้าไปในเมืองท่าเปเดอร์ (Pedir) ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราเมื่อราว ค.. 1510/2053 จดหมายฉบับนี้ทำให้เราเห็นภาพการค้าพาณิชย์ระหว่างเมืองท่าต่างๆ ในดินแดนใต้ลม” (The Lands below the Winds) ก่อนการเข้ามาของโปรตุเกส [20]

(9)

จากการตรวจสอบบันทึกฝรั่งตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15/กลางพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา พบชื่อเรียกกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย 8 ชื่อ ตั้งแต่แชร์นอเนิมจนถึงซาร์เนา ฯลฯ ล้วนเป็นสำเนียงเพี้ยนของฝรั่งที่มาจากคำภาษาเปอร์เซีย คือ ชะฮฺริ เนาว์ คำนี้เดิมเป็นชื่อเรียกสำหรับกรุงศรีอยุธยาและสยาม

ส่วนคำว่าสยามและโอเดียเริ่มปรากฏเมื่อไหร่ ไว้โพสต์หน้าผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ธงชัย วินิจจะกูล, “คำนิยม,” ใน ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549), (11); Chris Baker, “In Search of the Big Picture,” Bangkok Post, 25 September 2006, O1.

[2] Kennon Breazeale, “Editorial Introduction to Nicolò de’ Conti’s Account,” SOAS Bulletin of Burma Research, vol. 2, no. 2 (Autumn 2004), 104.

[3] “… Relicta Taprobana ad urbem Te | nasserim supra hostium fluuii eodem nomine uocitati die | bus. xvi. tempestate actus est: quæ regio & elephantis & | uerzino abundat: hinc pluribus itineribus terra mariq[ue] | confectis: hostia gangis ingressus aduerso flumine diebus | xv. delat[us] est ad ciuitatem nomine cernonem insignem: at | q[ue] opulentam:” คัดลอกจากหนังสือ India Recognita (Milan: Uldericus Scinzenzeler, 1492) เป็นบันทึกฉบับพิมพ์ครั้งแรก ต้นฉบับตัวเขียนปัจจุบันเก็บรักษาที่หอสมุดริกการ์เดียนา (Biblioteca Riccardiana) เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ในส่วนของการแปล ด้วยข้อจำกัดทางภาษา ผมเลือกแปลจากฉบับภาษาอังกฤษ The Travels of Nicolo Conti, in the East, (London: Hakluyt Society, 1857) ซึ่งแปลจากต้นฉบับลาตินที่พิมพ์ขึ้นใหม่ (1723/2266) ผมได้แก้ไขเล็กน้อยโดยแปล verzino ว่าไม้ฝาง ไม่ใช่นกพันธุ์หนึ่งตามความเข้าใจของผู้แปลชาวอังกฤษ

[4] พ่อค้าชาวเปอร์เซียเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 ดู Charnvit Kasetsiri, The Rise of Ayudhya: A History of Siam in the Fourteenth and Fifteenth Centuries (Kuala Lumpur: Oxford University Press, 1976), 8. พวกเขาเรียกอยุธยาว่า Shahr-i Nau หรือเมืองใหม่ หลักฐาน Shahr-i Nau เก่าแก่สุดพบในบันทึก Matla’ al-Sa’dayn (1442/1985) ชื่อนี้บางครั้งเขียน Shahr Nawa หรือ Shahr Nawi โดยคงความหมายเดียวกัน อย่างไรก็ดี ในบันทึกสำเภาสุไลยมานอิบรอฮีม (Ibn Muhammad Ibrahim) อาลักษณ์ของคณะราชทูตเปอร์เซียเรียกอยุธยาว่า Shahr-i Nav หรือเมืองแห่งเรือและคูคลองดู John O’Kane, The Ship of Sulaiman (New York: Columbia University Press, 1972), 88; M. Ismail Marcinkowski, From Isfahan to Ayutthaya: Contacts between Iran and Siam in the 17th Century (Singapore: Pustaka Nasional, 2005), 45-48.

[5] คณะราชทูตเปอร์เซียและบาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ใช้เส้นทางนี้ ดู พิทยา บุนนาค, มุสลิมผู้นำปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกในสยาม (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548), 114; Michael Smithies, “Jacques de Bourges (c.1630-1714) and Siam,” Journal of the Siam Society, vol. 81, pt. 2 (1993), 114-116. “เส้นทางนี้ใช้เวลาเดินทางเพียง 10-12 วัน,” อ้างใน John Anderson, English Intercourse with Siam in the Seventeenth Century (London: Kegan Paul, 1890), 6.

[6] แผนที่โลกโดยเมาโร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ(มาร์เคียนา) Biblioteca Nazionale Marciana เมืองเวนิส อิตาลี ข้อความเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาเขียนไว้ดังนี้ “Questa cità de scierno è vj çornade fra terra. El suo fiume nominato scierno over ganges è habitado circa xxx çornade da uno ladi e da l’altro de citade, castelli e palaçi mirabelmente.” ดู Piero Falchetta, Fra Mauro’s World Map (Turnhout: Brepols, 2006), 321.

[7] A. C. Moule and Paul Pelliot, Marco Polo: The Description of the World (London: George Routledge & Sons, 1938), 293-294, 366-368. เบอร์ตันและเพนเซอร์เสนอว่าเมืองหลวงของ Mien ในบันทึกโปโลคือพุกาม ดู Richard F. Burton, Camoens: His Life and His Lusiads. A Commentary, vol. II (London: Bernard Quaritch, 1881), 528; N. M. Penzer, The Most Noble and Famous Travels of Marco Polo (London: Argonaut Press, 1929), 292.

[8] จดหมายเหตุบาร์โบซา (Duarte Barbosa) อ้างใน Thailand and Portugal: 470 Years of Friendship (Lisbon: Calouste Gulbenkian Foundation, 1982), 37.

[9] คงติได้เดินทางไปเวนิสหลายครั้งภายหลังกลับจากเอเชีย เพลเลียตให้ความเห็นว่าเมาโรน่าจะได้พูดคุยกับคงติและนำข้อมูลไปเขียนแผนที่ ดู Paul Pelliot, Notes on Marco Polo, vol. 1 (Paris, Imprimerie Nationale, 1959), 179.

[10] ราเวนสไตน์ให้ความเห็นว่าเวลญู ผู้ร่วมเดินทางไปกับดา กามา น่าจะเขียนบันทึกนี้ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 ดู E. G. Ravenstein, A Journal of the First Voyage of Vasco da Gama, 1497-1499 (London: Hakluyt Society, 1898), xxiii, xxxi. แต่ทางหอสมุดเมืองปอร์ตูไม่ยืนยันข้อมูล โดยทางหอสมุดไม่ระบุชื่อผู้บันทึก และให้ปีที่บันทึกไว้คร่าวๆ ว่าเป็นช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 16 ดูเอกสารที่ทางหอสมุดเสนอต่อยูเนสโก “Memory of the World: Journal of the First Voyage of Vasco da Gama to India, 1497-1499,” unesco.org

[11] เป็นไปได้ว่าดา กามารับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับซาร์เนาซ์จากมาจิด (Ibn Majid) คนนำร่องชาวอาหรับ หรือจากพ่อค้าคนอื่นช่วงเวลาที่อยู่เมืองกาลิกัต ดู G. R. Tibbetts, Arab Navigation in the Indian Ocean before the Coming of the Portuguese (London: Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland, 1971), 9.

[12] ผมได้ตรวจสอบสำเนาต้นฉบับซึ่งระบุชื่อกรุงศรีอยุธยาว่า Xarnauz ส่วนเนื้อหาที่คัดลอกมาจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาษาโปรตุเกส มีข้อความเกี่ยวกับสยามดังต่อไปนี้ “Xarnauz he de christãos e o rey christão: estaa de Calecut cincoenta dias de bom vemto: este rey ajuntará vinte mill homens de peleja e quatro mil de cavallo. E tem quatrocentos alifantes de guerra: nesta terra ha muito beijoim, e vall a farazalla tres cruzados, e ha hi muito aloee, e vall a farazalla xxv cruzados.” ดู A. Herculano e o Barão do Castello de Paiva, Roteiro da Viagem de Vasco da Gama em MCCCCXCVII, segunda edição (Lisboa: Imprensa Nacional, 1861), 109-110. อ่านฉบับแปลภาษาอังกฤษใน E. G. Ravenstein, A Journal of the First Voyage of Vasco da Gama, 99 และข้อมูลประกอบใน มาเรีย ดา กงไซเซา ฟลอรืช, ชาวโปรตุเกสและสยามสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ออร์คิด, 2547), 17.

[13] Joaquim de Campos, Early Portuguese Accounts of Thailand (Lisboa: Câmara Municipal de Lisboa, 1983), 11.

[14] Diogo Kopke e o Antonio da Costa Paiva, Roteiro da Viagem que em descobrimento da India pelo Cabo da Boa Esperança fez Dom Vasco da Gama em 1497 (Porto: Typographia Commercial Portuense, 1838). จดหมายเหตุ Roteiro ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (UNESCO Memory of the World Register) .. 2556

[15] ข้อความข้างชื่อเชอเรอเนอร์บันทึกสั้นๆ ว่า “[Cerener] aqui a todas as mercadarias que atras.” ดู Armando Cortesão e Avelino Teixeira da Mota, Portugaliae Monumenta Cartographica, vol. I (Lisboa: Comissão Executiva das Comemorações do V Centenário da Morte do Infante D. Henrique, 1960), 7-13, pl. 4, 5. นอกจากนี้ ยังพบชื่อ Cererner หรือใกล้เคียง (ตัวอักษรจางไม่สามารถอ่านได้) บนแผนที่โลกโดยนิกโกโล คาเวโร (Niccolò Caverio) เขียนราว .. 1505/.. 2048 โดยชื่อดังกล่าวปรากฏบริเวณปากน้ำเจ้าพระยา ข้อมูลจาก museogalileo.it (Museo Galileo, Florence).

[16] Marco Polo, Marco Paulo. Ho liuro de Nycolao Veneto. Ho trallado da carta de huu[m] genoues das ditas terras … (Lyxboa: per Valentym Fernãdez, 1502), fol. lxxxii. ข้อมูลจาก purl.pt (“biblioteca nacional digital,” Biblioteca Nacional de Portugal).

[17] Marco Polo, El libro del famoso Marco paulo veneciano de las cosas marauillosas que vido en las partes orientales (Seuilla: por Lanzalao Polono y Jacome Cromberger Alemano, 1503), fol. xxviii. ข้อมูลจาก fama2.us.es (Versión digital del ejemplar de la Biblioteca de la Universidad de Salamanca).

[18] Edward Luther Stevenson, Atlas of Portolan Charts: Facsimile of Manuscript in British Museum (New York: Hispanic Society of America, 1911), XXI. fol. 11a.

[19] ผมไม่พบบันทึกวาร์เทมาฉบับพิมพ์ครั้งแรก แต่จากการตรวจสอบบันทึกฉบับพิมพ์ภาษาอิตาลีที่เวนิส และฉบับภาษาอังกฤษซึ่งแปลจากฉบับพิมพ์ครั้งแรก พบว่าให้ชื่อกรุงศรีอยุธยาตรงกันว่า Sarnau ดู Ludovico de Varthema, Itinerario de Ludovico de Varthema bolognese (Venetia: Georgio di Rusconi, 1522) ข้อมูลจาก bdh.bne.es (“Biblioteca Digital Hispánica,” Biblioteca Nacional de España); John Winter Jones, The Travels of Ludovico di Varthema (London: Hakluyt Society, 1863), 212, 235.

[20] ดู Nunziatella Alessandrini, “The Far East in the Early 16th Century: Giovanni da Empoli’s Travels,” in Mary N. Harris (ed.), Global Encounters European Identities (Pisa: Pisa University Press, 2010), 220. ชื่อ Sarnau เขียนเป็น Sornau ในจดหมายเหตุปินตู ชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาในสยามช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ดู Fernão Mendes Pinto, The Travels of Mendes Pinto, edited by Rebecca D. Catz (Chicago: University of Chicago Press, 1989), 419. “ดินแดนใต้ลมเป็นคำนิยามดินแดนอุษาคเนย์พบในบันทึกสำเภาสุไลยมานดู John O’Kane, The Ship of Sulaiman, 174; Anthony Reid, Southeast Asia in the Age of Commerce 1450-1680. Volume One: The Land below the Winds (New Haven, Yale University Press, 1988), ch. 1.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2562