เผยโฉมภาพประวัติศาสตร์ “ปัตตานี” เก่าแก่กว่า 400 ปี

ชุด ภาพพิมพ์ บอกเล่า เมือง ปัตตานี
ภาพพิมพ์ออริจินัลจากห้องสมุด ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช (อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)

เผยโฉมภาพประวัติศาสตร์ “ปัตตานี” เก่าแก่กว่า 400 ปี

ภาพโบราณ “สยามประเทศ” ที่วาดหรือพิมพ์โดยชาวยุโรป ไม่เพียงมีคุณค่าในเชิงศิลปะ แต่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ ความคิด และจินตนาการ ที่ชาวยุโรปมีต่อสยามประเทศในยุคสมัยนั้น แต่น่าเสียดายที่ภาพเหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างจริงจัง

ภาพพิมพ์ “สยามประเทศ” เก่าแก่สุดที่ค้นพบคือ “ชุดภาพปัตตานี” เป็นภาพพิมพ์ทองแดง (copperplate) จำนวน 4 ภาพในหนังสือ Achter Theil der Orientalischen Indien จัดพิมพ์โดยโยฮาน ธีโอดอร์ เดอ บรี (Johann Theodore de Bry) และโยฮาน อิสราเอล เดอ บรี (Johann Israel de Bry) พิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมันที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ค.ศ. 1606/พ.ศ. 2149 และพิมพ์ภาษาลาตินในปีถัดมา โดยฉบับลาตินให้ชื่อหนังสือว่า Indiae Orientalis pars octava พิมพ์ที่แฟรงก์เฟิร์ตเช่นกัน

ภาพชุดปัตตานีรวมอยู่ในภาคที่ ๘ (Indiae Orientalis pars octova) ของ Petits Voyages (ครบชุด ๑๒ ภาค) สารานุกรมการเดินทางมายังเอเชียของชาวดัตช์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ – ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ พิมพ์ที่แฟรงก์เฟิร์ต ค.ศ. ๑๕๙๘-๑๖๑๓ (ภาพจาก Donald A. Heald)

หนังสือ Achter Theil der Orientalischen Indien เป็นภาคที่ 8 ของ Petits voyages หรือสารานุกรมการเดินทางมายังเอเชียของชาวดัตช์ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 – ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยในภาคนี้มีบันทึกการเดินทางของยาค้อบ ฟาน เน็ค (Jacob van Neck) ชาวดัตช์ที่เดินทางเข้ามา ปัตตานี (7 พฤศจิกายน 1601/2144 – 23 สิงหาคม 1602/2145) เขียนโดยโรลอฟซูน (Roelof Roelofszoon) นักบวชผู้ร่วมคณะเดินทาง [1]

ภาพพิมพ์จำนวน 4 ภาพ ขนาด 135 x 170 มม.โดยประมาณ มีรายละเอียดดังนี้ การเข้ามาปัตตานีของฟาน เน็ค, ขบวนเสด็จฯ พระราชินีรายอฮีเยา, การลงโทษผู้ต้องหาคดีชู้สาว, และการคล้องช้าง ภาพพิมพ์ออริจินัลจากห้องสมุด ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช (อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น)

ภาพการเข้ามาของฟาน เน็ค จากหนังสือ Indiae Orientalis pars octava (Frankfurt 1607/๒๑๕๐)
รายอฮีเจา กับ ขบวนเสด็จ ภาพพิมพ์ บอกเล่า เมือง ปัตตานี
ภาพขบวนเสด็จฯ พระราชินีรายอฮีเยา จากหนังสือ Achter Theil der Orientalischen Indien (Frankfurt 1606/๒๑๔๙)
การลงโทษ ผู้ต้องหา ภาพพิมพ์ บอกเล่า เมือง ปัตตานี
ภาพการลงโทษผู้ต้องหาคดีชู้สาว จากหนังสือ Achter Theil der Orientalischen Indien (Frankfurt 1606/๒๑๔๙)
การคล้อง ช้าง ภาพพิมพ์ บอกเล่า เมือง ปัตตานี
ภาพการคล้องช้าง จากหนังสือ Achter Theil der Orientalischen Indien (Frankfurt 1606/๒๑๔๙)

ภาพเด่นสุดน่าจะเป็นภาพขบวนเสด็จฯ พระราชินีรายอฮีเยา (Raja Ijau) ผู้ปกครองปัตตานี (1584-1616/2127-2159) ฟาน เน็ค กล่าวถึงพระองค์ว่า “ทรงปกครองบ้านเมืองอย่างร่มเย็นเป็นสุข ราษฎรต่างชื่นชอบการปกครองของพระองค์มากกว่าในรัชสมัยที่ผ่านมา อีกทั้งสินค้าข้าวของต่างๆ ได้มีราคาถูกลงเป็นอย่างมาก” [2]

แม้ว่าฟาน เน็คใช้เวลาอยู่ในปัตตานีนานร่วมปี แต่ในบันทึกที่เขียนโดยโรลอฟซูนไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก กล่าวถึงเพียงเรื่องการค้าและศาสนสถานที่เขาได้พบเห็น ต่อมาคอมเมอแลง (Isaac Commelin) ได้เพิ่มเติมรายละเอียดจากบันทึกของสปริงเคล (Victor Sprinckel) ที่เข้ามาปัตตานี (1607/2150) บันทึกฟาน เน็คและสปริงเคลรวมอยู่ในสารานุกรมของคอมเมอแลงที่ชื่อว่า Begin ende voortgangh พิมพ์ที่อัมสเตอร์ดัม (1646/2189)

บันทึกการเดินทางของฟาน เน็ค ได้รับการตีพิมพ์แยกเล่มครั้งแรกเมื่อราว ค.ศ. 1665/พ.ศ. 2208 ให้ชื่อหนังสือว่า Journael van de Tweede Reys, gedaen by den Heer Admirael Jacob van Neckพิมพ์ที่อัมสเตอร์ดัมโดย Gillis Joosten Saeghman หนังสือมีความยาว 32 หน้า ภาพปัตตานี 3 ภาพ ผมเพิ่งได้หนังสือจากเนเธอร์แลนด์ และจะนำเสนอในโอกาสต่อไป

สองพี่น้อง “เดอ บรี” ยังได้พิมพ์แผนที่คาบสมุทรมลายูซึ่งระบุตำแหน่งของ ปัตตานี (Patane) แผนที่ Nova tabula Insularum Javae, Sumatrae, Borneonis et aliarum Malaccam (ขนาด 43 x 37 ซม.) แทรกอยู่ในภาค 2 ของสารานุกรม Petits voyages ถือเป็นแผนที่ต้องห้ามในยุคนั้น เพราะให้รายละเอียดการสำรวจชายฝั่งคาบสมุทรมลายู สุมาตรา และตอนบนของชวา (1595-1597/2138-2140) โดยฮูธมัน (Cornelis de Houtman) ผู้บัญชาการกองเรือของบริษัท วี. โอ. ซี. (VOC) แห่งฮอลันดา ไม่แปลกใจเพราะทางบริษัทต้องการเก็บข้อมูลการสำรวจเป็นความลับ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตน[๓]

ผมนำเสนอข้อมูลภาพปัตตานีในทัศนะมุมมองของนักสะสม เพื่อหวังกระตุ้นให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของเอกสารจดหมายเหตุต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของชาติ ผมอยากถือโอกาสนี้เขิญชวนนักสะสมท่านอื่นๆ ที่ได้เพียรพยายามเสาะแสวงหาเอกสาร ภาพถ่าย หรือแผนที่โบราณ ได้โปรดค้นคว้าในสิ่งที่ท่านรัก เผยแพร่แบ่งปันความรู้ อย่าปล่อยให้หลายสิ่งหลายอย่างยังคงหลบเร้นอยู่ในเสี้ยวของประวัติศาสตร์อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] Donald F. Lach and Edwin J. van Kley, Asia in the Making of Europe, vol. 3, bk. 1 (Chicago: University of Chicago Press, 1993), 463-464, 515-516.

[2] Journal van Jacob van Neck (1602) อ้างใน Anthony Reid, Southeast Asia in the Age of Commerce 1450-1680, vol. 1 (New Haven: Yale University Press, 1988), 171; Patrick Jory, Ghosts of the Past in Southern Thailand (Singapore: NUS Press, 2013), 20, 26.

[3] แผนที่คาบสมุทรมลายูโดยเดอ บรี คัดลอกจากแผนที่ต้องห้ามโดย Willem Lodewijcksz (1598/2141) ดู Thomas Suarez, Early Mapping of Southeast Asia (Singapore: Periplus Editions, 1999), 180-181; Emma Gray, “The ‘Secret’ Map,” sl.nsw.gov.au ( (State Library of New South Wales, Australia).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2562