ผู้เขียน | ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช |
---|---|
เผยแพร่ |
ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช คือหนึ่งในผู้หลงใหลใน “แผนที่โบราณ” อันดับต้นของไทย และมีเก็บสะสมไว้มากมาย เป็นแผนที่ที่หาชมได้ยากยิ่ง และเพื่อให้ทุกคนได้ชมแผนที่ในอดีตที่มีความหมายในมิติประวัติศาสตร์ จึงเกิดเป็นหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” (สำนักพิมพ์มติชน) ขึ้น
ธวัชชัยได้เล่าถึงความเป็นมาของการหลงใหล “แผนที่โบราณ” ไว้ดังนี้
ผมจำได้ดีซัมเมอร์ปี 1996 ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ บ่ายวันหนึ่งผมอยากไปตัดผมที่ร้านย่านเซาธ์ เคนซิงตัน (South Kensington) กรุงลอนดอน พอไปถึงปรากฏว่าคิวแน่น ก็ไม่เป็นไร ไปเดินเล่นสักพักค่อยกลับมา
ขณะที่กำลังเดินเล่น จู่ๆ ผมเหลือบเห็นแผนที่โบราณวางโชว์อยู่หน้าร้านแผนที่ The Map House บนถนน Beauchamp Place
“…ก็สวยดี แต่แพงหรือเปล่าไม่รู้ อยากได้ไปติดผนังห้อง”
ผมตัดสินใจเดินเข้าไปในร้าน
“สวัสดีครับ ไม่ทราบว่าคุณมีแผนที่ประเทศไทยบ้างไหมครับ”
“เรามีครับ เชิญท่านที่แกลเลอรี่บนชั้นสองครับ”
คุณฟิลิป (Philip Curtis) พาผมไปยังห้องแผนที่ (map gallery) เป็นห้องขนาดย่อมลักษณะคล้ายห้องอ่านหนังสือ (study) หรือห้องทำงานของผู้ดีอังกฤษ ตรงกลางห้องมีโต๊ะไม้ขนาดใหญ่รายล้อมด้วยตู้แผนที่ ทั้งมีแผนที่โลกสีเทาหม่นแขวนบนผนัง ดูมีมนต์ขลังเหมือนในหนังเชอร์ล็อก โฮมส์
“ว้าว! ห้องนี้สวยจัง” ผมอุทานพลางพึมพำในใจ “ไม่น่าเข้ามาเลย”
“ท่านสนใจประเทศไทยเท่านั้นหรือครับ เรายังมีแผนที่ประเทศจีนและญี่ปุ่นให้ท่านเลือกด้วย”
“ผมขอประเทศไทยก็พอครับ ที่จริงผมแค่เดินผ่าน มองลอดเข้ามาเห็นแผนที่สวยดี เลยขอแวะ…”
ผมเริ่มกังวล ไม่คิดว่าแกลเลอรี่ชั้นบนจะเลิศหรู ของในห้องต้องแพงแน่เลย
“เชิญท่านตามสบายครับ ขอเวลาสักครู่ ผมมีแผนที่ประเทศไทยหลายแผ่นให้ท่านเลือกชม”
ฟิลิปเปิดลิ้นชัก หยิบแผนที่สยามและกรุงศรีอยุธยามาให้เลือก เขาให้ข้อมูลรายละเอียด อธิบายความสำคัญของแผนที่แต่ละแผ่น
“This is a rather splendid map … เป็นแผนที่สยามเขียนโดยบาทหลวงพลาซิด (P. Placide) พิมพ์ปี ค.ศ. 1686 ปีเดียวกับที่คณะราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ส่วนแผ่นนี้เป็นแผนที่อยุธยาโดยโจแลง (F. Jollain) พิมพ์ปีเดียวกัน เป็นแผนที่อยุธยาที่งดงามและให้รายละเอียดมากที่สุด ตรงนี้เป็น Palais du Roy หรือพระบรมมหาราชวัง มุมขวาบนคือผังเมืองละโว้ ม้วนแผนที่ทางด้านซ้ายแสดงเส้นทางลำน้ำเจ้าพระยาจากปากอ่าวสยามจรดชานกรุงศรีอยุธยา สังเกตว่ามีหมู่บ้านกระจายเกือบทั่วทั้งสองฟากของแม่น้ำ บ่งบอกถึงความสำคัญของสายน้ำต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น ส่วนทางด้านขวาล่างเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวต่างชาติ อาทิ โปรตุเกส ฮอลันดา มลายู ญี่ปุ่น และจีน ฯลฯ”
แผนที่แต่ละแผ่นถนอมรักษาไว้ในซองโพลีเอสเตอร์เรียกว่า “ไมลาร์ชีท” (mylar sheet) ตรงมุมล่างของแผนที่มีตัวเลขและตัวอักษรเขียนด้วยดินสอแสดงรหัสสินค้า ราคา และปีที่พิมพ์
ผมแอบมองราคาและปีพิมพ์ 5,000 ปอนด์, 6,000 ปอนด์, 1686, 1696, 1713 ฯลฯ
อุแม่เจ้า! ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นกระดาษอะไรเก่าขนาดนี้ เก่าสุดที่เห็นเป็นภาพถ่ายคุณพ่อและคุณแม่สมัยยังจีบกัน แต่แผนที่บนโต๊ะมีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี บางแผ่นสามถึงสี่ร้อยปี ย้อนไปสมัยอยุธยาตอนต้น
ส่วนราคาแผนที่ แพงกว่าค่าเรียนปริญญาโทที่อังกฤษสมัยนั้นเสียอีก!
ปากบอกซื้อไม่ไหว แต่ใจเหมือนต้องมนต์สะกด มีอะไรบางอย่างเหนี่ยวรั้งไม่ให้ผมไปจากห้อง และฟิลิปก็ใจเย็น ไม่กดดัน ไม่แสดงอาการดูแคลนลูกค้าที่พลัดหลงเข้ามาในร้าน
“เอาน่า ไหนๆ เข้ามาแล้ว คนขายเสียเวลากับเราเป็นชั่วโมง ถ้าไม่ซื้อเดี๋ยวเสียฟอร์ม เขาจะพาลดูถูกคนไทยไปทั้งหมด”
ขณะที่กำลังเลือกแผนที่ ผมพลันเห็นแผนที่อยุธยาราคาไม่แพง (240 ปอนด์) ฟิลิปเห็นผมให้ความสนใจกับแผนที่แผ่นนี้ เลยกล่าวขึ้นว่า
“แผ่นนี้ก็น่าสนใจ เป็นแผนที่โดยเบลแลง (J. N. Bellin) พิมพ์ที่กรุงปารีสเมื่อปี ค.ศ. 1764 หรือเพียงสามปีก่อนเสียกรุงฯ”
ผมขอยืมเครื่องคิดเลขมาคำนวณปีพุทธศักราช
“เออ จริงด้วย เป็นแผนที่กรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2307 ตรงกับสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ น่าจะเป็นแผนที่แผ่นสุดท้ายก่อนเสียกรุงฯ อีกทั้งพิมพ์ขึ้นสองร้อยปีก่อนเราเกิดพอดี” (ผมเกิดปี 2507)
“ถ้าท่านเพิ่งเริ่มต้นสะสม ผมขอแนะนำแผ่นนี้ เป็นแผนที่หายาก สภาพดี ทั้งราคาย่อมเยา ถ้าท่านสนใจ ผมคิดให้ราคาพิเศษ”
“โอเค ผมขอซื้อแผ่นนี้ครับ”
ผมสารภาพกับฟิลิปในภายหลังว่า ทีแรกไม่ได้คิดจะซื้อ แต่เกรงใจเพราะได้รับความรู้จากเขามากมาย อีกทั้งใช้เวลาในร้านร่วมสองชั่วโมง ไม่ซื้อจะน่าเกลียด
ฟิลิปหัวเราะชอบใจ “ไม่มีปัญหา ผมคุยกับคุณสนุกมาก ตอนคุณเดินเข้ามาผมรู้สึกว่าคุณดูไม่ค่อยมั่นใจ แต่สักพักคุณเปลี่ยนเป็นคนละคน ผมสังเกตเห็นความตื่นเต้น ความอัศจรรย์ใจที่ฉายชัดออกมาทางแววตา คุณถามซอกแซก จดรายละเอียด ถามชื่อผู้เขียนและปีพิมพ์ ลูกค้าคนอื่นเขาไม่เป็นแบบนี้”
“ผมเชื่อตั้งแต่นาทีนั้นว่าคุณจะกลับมาใหม่”
แล้วก็เป็นเช่นนั้น ทุกครั้งที่ผมไปลอนดอน ผมจะแวะไปเดอะแมพเฮาส์ ไปทักทายฟิลิป ไปนั่งเล่นรำลึกความทรงจำในห้องห้องนี้ ห้องที่เปลี่ยนชีวิตผม
“กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช หนังสือที่เกิดจากแรงปรารถนาที่จะมาช่วยเติมเต็มส่วนที่ขาด ช่วยทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในแผนที่ ทดลองอ่านได้ที่: https://bit.ly/3My9LUp สามารถสั่งซื้อ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” ช่องทางออนไลน์ได้แล้วตามลิงก์ https://bit.ly/473MfXy
อ่านบทความอื่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช
- ไขปริศนาภาพ “ยูเดีย” ภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามสุด
- เปิดเผยเอกสารค้นพบใหม่!!! “พระราชหัตถเลขา ร.๔ ทรงเขียนที่หว้ากอ” ในวาระ “๑๕๐ ปี สุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ”
- แผนที่สยามโดยชาวอังกฤษ “เก่าแก่สุด” ที่ค้นพบ
- “เรกนัม เสียน” (Regnum Sian) แผนที่ร่วมสมัย “ยุทธหัตถี” กับ ๑๙ ปีที่รอคอย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2563