แผนที่สยามโดยชาวอังกฤษ “เก่าแก่สุด” ที่ค้นพบ

แผนที่สยามของชาวอังกฤษเก่าแก่สุด พิมพ์ที่กรุงลอนดอน ราว ค.ศ. 1678-9/พ.ศ. 2221-2 (ภาพคอลเลคชั่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)
แผนที่สยามของชาวอังกฤษเก่าแก่สุด พิมพ์ที่กรุงลอนดอน ราว ค.ศ. 1678-9/พ.ศ. 2221-2 (ภาพคอลเลคชั่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

ถ้าให้เอ่ยชื่อชาวอังกฤษในประวัติศาสตร์ เราคงนึกถึงเบาว์ริง (Sir John Bowring) หรือแหม่มแอนนา (Anna Leonowens) และถ้าเป็นแผนที่อังกฤษ เราอาจนึกถึงแผนที่สยามแผ่นใหญ่ในจดหมายเหตุครอเฟิร์ด (John Crawfurd, 1828) หรือแผนที่สยามโดยแมคคาร์ธี (James McCarthy, 1888) [1] ทั้งเบาว์ริงและแอนนา ครอเฟิร์ดและแมคคาร์ธี ล้วนเป็น “ผู้ดี” ที่เข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์ น้อยคนนักจะรู้จักไวท์ (Samuel White) หรือมอร์เด้น (Robert Morden) พ่อค้าและนักแผนที่อังกฤษสมัยอยุธยา ไม่แปลกอะไร เพราะในยุคนั้นชาวอังกฤษแทบไม่มีบทบาท ชาวต่างชาติที่เข้ามามีบทบาทและได้รับความสนใจได้แก่ ชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส ดัตช์ และญี่ปุ่น ฯลฯ

ผมเคยให้ข้อมูลในหนังสือ “ประมวลแผนที่: ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมือง” (กรุงเทพฯ: พ.ศ. 2555) ว่าแผนที่สยามแผ่นแรกของชาวอังกฤษ เขียนโดยมอร์เด้น (Robert Morden, “A New Map of India beyond Ganges”) พิมพ์ขึ้นที่กรุงลอนดอน ค.ศ. 1680/พ.ศ. 2223 [2] ผมยืนยันข้อมูลนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งผมค้นพบแผนที่แผ่นนี้

คือแผนที่ The Peninsula of India within ye Ganges (ขนาด 93 x 55 มม.) จากหนังสือ Atlas Minimus, or a Book of Geography shewing all the Empires, Monarchies, Kingdomes, Regions, Dominions, Principalities and Countries in the whole World โดยจอห์น เซลเลอร์ (John Seller) พิมพ์ที่กรุงลอนดอน ราว ค.ศ. 1678-9/พ.ศ. 2221-2 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ 1-2 ปีก่อนแผนที่โดยมอร์เด้น [3]

หน้าปกในของหนังสือ Atlas Minimus ที่รวมแผนที่สยามแผ่นนี้ (ภาพจาก www.miniaturemaps.net)

เมื่อปี ค.ศ. 2006/พ.ศ. 2549 หนังสือเล่มนี้ถูกนำออกประมูลโดยโซเธอบี้ส์ (Sotheby’s) กรุงลอนดอน ได้ราคาสูงถึง 28,800 ปอนด์ หรือสองล้านบาท [4] (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น หนึ่งปอนด์แลกได้ 69.50 บาท) ด้วยเหตุที่เป็นหนังสือหายากและราคาสูง แทบไม่มีพ่อค้าคนใดนำแผนที่จากหนังสือแบ่งออกขาย ผมเลยไม่แปลกใจที่ต้องรอนานกว่า 2 ทศวรรษ กว่าจะได้แผนที่มาไว้ในครอบครอง แล้วผมได้มาอย่างไร

ต้นเดือนมิถุนายน 2562 ผมเข้าร่วมงานนิทรรศการแผนที่โบราณ จัดที่ราชภูมิศาสตร์สมาคม (Royal Geographical Society) กรุงลอนดอน ผมไปแบบไม่คาดหวังอะไร เพราะหลายปีที่ผ่านมา ไปทีไรกลับบ้านมือเปล่า แผนที่สยามที่นำออกขายผมได้มาหมดแล้ว บางครั้งนึกเสียดายค่าตั๋วและห้องพัก ไม่อยากเสียเที่ยว เลยเลือกซื้อแผนที่แผ่นซ้ำเพียงเพราะสภาพที่ดีกว่า หรือแผ่นที่มีอยู่นั้นแทรกในหนังสือ ไม่สามารถนำมาสแกนเพื่อเผยแพร่ได้

แต่ปีนี้ต่างจากทุกปี เมื่อผมไปถึงบูธแผนที่ของพ่อค้าชาวเยอรมัน ทันทีที่คนขายเห็นผม เขายิ้มทักทายพร้อมกล่าวว่า Hey! Thavatchai. You are back! Did you find maps you like?” ผมตอบแบบเซ็งๆ No, nothing I’m afraid.” เขาตบบ่าผมเบาๆ ก่อนกล่าวประโยคเด็ด Maybe I have something for you?” พอเขายื่นแผนที่แผ่นหนึ่งมาให้ ผมรู้สึกตื่นเต้นราวถูกล็อตเตอรี่ ตั้งแต่เริ่มสะสมแผนที่เมื่อวัยสามสิบจนจะใกล้เกษียณ ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อน แม้แต่ภาพประกอบในหนังสือก็ไม่เคยเห็น ผมเหลือบดูราคาที่มุมซ้ายของแผนที่ก่อนบอกเขาไปทันที I’ll take this. How much?” ผมไม่ต่อรองราคาเพราะรู้ว่าอย่างไรก็ต้องซื้อ ไม่ได้ซื้อเพื่อเติมเต็มคอลเล็กชั่น แต่ซื้อเพื่อนำมาศึกษา หาข้อมูลใหม่เผยแพร่สู่สังคม

แผนที่ที่ดูเรียบง่ายไร้สีสัน ขนาดเท่านามบัตร จะสำคัญขนาดไหน ทำไมผมถึงตื่นเต้น ทำไมต้องซื้อ ผมขอตอบสั้นๆ ก่อนว่า เพราะมันเป็นแผนที่สยามของชาวอังกฤษเก่าแก่สุดที่ค้นพบ ทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมืองในสมัยโบราณได้ดีเยี่ยม ผมอยากชวนเพื่อนๆ มา “อ่าน” แผนที่ด้วยกัน ลองดูสิว่าจะตื่นเต้นเหมือนผมไหม

(ภาพคอลเลคชั่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

เริ่มที่ชื่อแผนที่ “คาบสมุทรอินเดียในลุ่มน้ำคงคา” (ye เป็นคำโบราณสำหรับ the) สังเกตว่าในตำราภูมิศาสตร์โบราณยังไม่เรียกภูมิภาคนี้ว่า Southeast Asia (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ชื่อนี้เพิ่งเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1943/พ.ศ. 2486 โดยเป็นชื่อเรียกกองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตร (South-East Asia Command, SEAC) ที่กำลังต่อสู้รับมือกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง [5]

คงมีคนเอะใจว่าทำไมชื่อบนแผนที่เรียกภูมิภาคนี้ว่า “อินเดียในลุ่มน้ำคงคา” เพราะในแผนที่ฝรั่งสมัยก่อนมักเรียกดินแดนนี้ว่า “อินเดียนอกลุ่มน้ำคงคา” หรือ “อินเดียตะวันออก” เช่น แผนที่โดยมอร์เด้นที่อ้างถึงก่อนหน้า หรือแผนที่โดยดูวัล (Pierre Duval, India extra Gangem, 1678) คงเพราะเซลเลอร์มองดินแดนนี้จากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เลยเห็นดินแดนอยู่ฝั่งขวาหรือในลุ่มน้ำคงคา ต่างจากนักแผนที่ส่วนใหญ่ที่มองจากมหาสมุทรอินเดีย เลยเห็นดินแดนอยู่ฝั่งซ้ายหรือนอกลุ่มน้ำคงคา [6]

แผนที่ไม่ปรากฏเส้นแบ่งพรมแดนของรัฐโบราณ เรื่องนี้ก็ไม่แปลก แผนที่หลายแผ่นสมัยนั้นไม่ระบุเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างรัฐ อาทิ แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเซลเลอร์ (John Seller, A Chart of the Easternmost part of the East Indies, 1675) หรือโดยสปีด (John Speed, A New Map of East India, 1676) สาเหตุคือคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนั้นพรมแดนยังไม่นิ่ง ยังเลื่อนไหลเปลี่ยนไปมา ไม่ว่าระหว่างตองอูกับอยุธยา โคชินไชน่ากับตังเกี๋ย อีกประการหนึ่ง เป้าหมายของศึกสงครามสมัยนั้นไม่เน้นการผนวกดินแดน แต่เน้นขยายปริมณฑลอำนาจ กวาดต้อนทรัพย์สมบัติและเชลยศึก ควบคุมแหล่งสินค้าและเครือข่ายการค้าที่สำคัญ ฯลฯ [7]

แผนที่ระบุชื่อและตำแหน่งของอาณาจักร ราชธานี และเมืองท่าสำคัญในขณะนั้น ได้แก่ สุมาตรา (Sumatra), อาเจะห์ (Achem), บอร์เนียว (Borneo), มะละกา (Malacca), ปาตานี/ปัตตานี (Patany), ลิกอร์/นครศรีธรรมราช (Ligor), กัมพูชา/อุดงค์ (Camboja), สยาม/กรุงศรีอยุธยา (Siam/Odia), เมาะตะมะ (Mataban), ตองอู (Targa), ฮอยอัน (Facfo), พะโค/หงสาวดี (Pegu), ไหหลำ (Hainan), โคชินไชน่า (Cauchin China), อะระกัน/มรัคอู (Aracan), ฮานอย (Kecio), เบงกอล (Bengala), และดงกิญ/ตังเกี๋ย (Tunquin) นอกจากนี้ แผนที่ให้ตำแหน่งแม่น้ำสายสำคัญ(ไม่ระบุชื่อ) อาทิ แม่น้ำคงคา อิระวดี เจ้าพระยา แม่น้ำแดง และแม่น้ำโขง ทั้งยังให้ตำแหน่งหมู่เกาะน้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ (ขอบซ้ายของแผนที่ ใกล้เมืองเมาะตะมะ) และเกาะปาละวัน (ขอบขวาของแผนที่ เหนือบอร์เนียว)

เพลททางด้านซ้ายของแผนที่ ให้ข้อมูลอาณาจักรและเมืองหลวงทั้ง ๗ แห่งบนคาบสมุทรมลายู (ภาพคอลเลคชั่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

ชื่อบนแผนที่ส่วนใหญ่เป็นชื่อเมืองท่าหรือศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเล เป็นชื่อที่เราคุ้นเคยกันดี แต่มีบางชื่อที่ควรขยายความเพื่อคลายข้อสงสัย

Patany … ผมเลือกใช้ “ปาตานี” ตามชื่อที่ปรากฏในแผนที่และเอกสารร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเหตุฟานเนค (Jacob Cornelis van Neck, c. 1663)[8] หรือแผนที่ร่วมสมัย (Melchisedech Thevenot, 1663; Richard Blome, 1667; John Speed, 1676) ล้วนระบุชื่อรัฐว่า “ปาตานี” (Patani, Patane, Patany) สังเกตอีกว่า “ปาตานี” บนแผนที่โดดเด่นไม่แพ้ “อยุธยา”, “มะละกา”, หรือ “พะโค” เนื่องด้วยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ปาตานีเป็นเมืองท่าสำคัญบนเส้นทางการค้าระหว่างจีนและคาบสมุทรมลายู มีเรือสินค้าจากหลากหลายสัญชาติเข้ามาค้าขาย ไม่แปลกที่ชาวดัตช์และอังกฤษเลือกเมืองท่าแห่งนี้ตั้งสถานีการค้า ก่อนหน้ากรุงศรีอยุธยา (บริษัท VOC ตั้งสถานีที่ปาตานี ค.ศ. 1601/พ.ศ. 2144, ที่อยุธยา ค.ศ. 1608/พ.ศ. 2151) [9]

Odia/Siam … ชื่อโยเดียและสยามปรากฏบนแผนที่ถึง 3 ครั้ง โดย Odia หมายถึงกรุงศรีอยุธยา Siam (ฟอนต์ตัวตรง) หมายถึงอาณาจักรสยาม/อยุธยา ส่วน Siam (ฟอนต์ตัวเอียง) น่าจะหมายถึงบางกอก การที่ช่างแผนที่ใส่ชื่อ Siam (ฟอนต์ตัวเอียง) ตรงกับตำแหน่งที่ตั้งของบางกอก เพราะในขณะนั้นเมืองหน้าด่านแห่งนี้เริ่มเป็นที่รับรู้ในหมู่พ่อค้าต่างชาติ

ชื่อง่ายผ่านไป ทีนี้ผมอยากชวนเพื่อนๆ มาร่วมสนุกกับชื่อยาก(กระชากจินตนาการ)

Targa … ใช่ครับ Targa คือตองอู หลายคนอาจแย้ง “ไม่ใช่มั้ง เมืองตากหรือเปล่า จะเป็นไปได้อย่างไร ตองอูร่นเข้ามาข้างในขนาดนี้ แถมตั้งอยู่บนแม่น้ำสายเดียวกับกรุงศรีอยุธยา คือแม่น้ำเจ้าพระยา” ผมขออธิบายดังต่อไปนี้

Targa ควรสะกดเป็น Tangu เหมือนในแผนที่โดยวิญโญลา (Giacomo Cantelli da Vignola, 1683) หรือจดหมายเหตุดี บริตู (Felipe de Brito) ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 [10] การวางตำแหน่งเมืองตองอูผิดพลาด ให้อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแทนที่จะเป็นแม่น้ำสะโตง เป็นเรื่องที่พบเห็นบ่อยในแผนที่สมัยนั้น ไม่เพียงแผ่นนี้ แต่ในแผนที่วิญโญลา (เพิ่งอ้าง),แผนที่มอร์เด้น (เพิ่งอ้าง) และ แผนที่โบลม (Richard Blome, 1677) สาเหตุน่ามาจากการที่ช่างแผนที่สับสนระหว่างเมืองตองอูและอาณาจักรตองอูยุคฟื้นฟู ที่ได้ขยายอำนาจเข้าผนวกหัวเมืองตอนใน นครเชียงใหม่ และดินแดนล้านนา ทั้งรวมไปถึงเมืองท่าฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทวาย และเมาะตะมะ ฯลฯ [11] ดังนั้น Targa หรือ “ตองอู” จึงร่นเข้ามาตอนในของคาบสมุทร เพื่อแสดงให้เห็นถึงอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของอาณาจักร

เสร็จจากพม่า เราข้ามต่อไปเวียดนาม จะเห็นว่าเวียดนาม (Dai Viet) แบ่งเป็นสองส่วน คือ Tunquin (Tongkin, ดงกิญ/ตังเกี๋ย) เวียดนามตอนเหนือ ปกครองโดยเจ้าตระกูลจิ่ญ (Trinh) และ Cauchin China (Cochin China, โคชินไชน่า) เวียดนามตอนกลาง ปกครองโดยเจ้าตระกูลเหงียวน (Nguyen) ส่วนเวียดนามตอนใต้ยังคงเป็นดินแดนของอาณาจักรจามปา (ไม่ปรากฏในแผนที่) และกัมพูชา

Tunquin เป็นการเขียนแบบฝรั่งเศสจากคำภาษาเวียดนาม Dong Kinh (ดงกิญ) ชื่อนี้เคยถูกใช้เรียกเมืองหลวง “ฮานอย” ในสมัยราชวงศ์เล (Le Dynasty) [12] ส่วน Cauchin China เป็นชื่อที่คิดค้นโดยชาวโปรตุเกส โดย Cauchin มาจากคำว่า Kochi ในภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “ฝั่งนี้” ดังนั้น Cauchin China หมายถึง “ฝั่งนี้ของประเทศจีน” (บางท่านสันนิษฐานว่า Cauchin อาจมาจากคำมาเลย์ Kuchi) ขณะที่ชาวเวียดนามเรียกดินแดนนี้ว่า Dang Trong หมายถึง “ดินแดนตอนใน” [13]

ใต้ Tunquin จะเห็นชื่อเมือง Kecio ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ แม่น้ำนี้คือแม่น้ำแดง (Red River) ส่วน Kecio (บางทีเขียน Keccio, Ke Ci, Che Ce, หรือ Cachao) [14] มาจากคำว่า Ke Cho ในภาษาเวียดนามที่แปลว่า “ตลาด” เป็นชื่อเก่าของกรุงฮานอย [15] ชื่อเก่าอีกชื่อที่เรารู้จักดีคือ Thang-Long

(ภาพจากคอลเลคชั่นของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช)

ผมขอแถมเกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้ ในจดหมายเหตุแดมเปียร์ (William Dampier) พ่อค้าอังกฤษที่เข้ามาฮานอย (เขาเรียกเมืองนี้ว่า Cachao) ระหว่าง ค.ศ. 1688-89/พ.ศ. 2231-32 แดมเปียร์เล่าว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์หรือฟอลคอน ได้สั่งหล่อระฆังขนาดใหญ่จำนวน 2 ใบที่เมืองฮานอย เพื่อนำไปติดตั้งที่โบสถ์กรุงศรีอยุธยาหรือละโว้ แต่ระฆังไปไม่ถึงสยามเพราะถูกทหารอังกฤษยึด [16] (แม้พวกอังกฤษจะไม่ยึด แต่กว่าระฆังจะไปถึง ฟอลคอนคงเสียชีวิตแล้ว)

ส่วนเมือง Facfo ถ้าดูจากตำแหน่งบนแผนที่ จะเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจากฮอยอัน (Hoi An, ห่อย อัน) เมืองท่านานาชาติที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายระหว่างเมืองท่ามะละกา จีน และญี่ปุ่น

Facfo ควรเขียนให้ถูกต้องเป็น Faifo ชื่อเรียกโดยชาวโปรตุเกส ย่อมาจาก Hoi An pho ในภาษาเวียดนามที่แปลว่า “เมืองฮอยอัน” [17] ชื่อเมืองนี้บางทีเขียน Faicfo, Fayfo, หรือ Kaifo ในแผนที่ฝรั่ง ชื่อเขียนบนแผนที่ที่ใกล้เคียงสุดคือ Haifo ในแผนที่โดยโบลม (Richard Blome, 1667) [18]

แผนที่โดยเซลเลอร์เป็นแผนที่แผ่นแรกๆ ที่เขียนขึ้นภายหลังการสิ้นสุดของสงครามจิ่ญ-เหงียวน (Trinh-Nguyen War, 1627-72) ในเวียดนาม เขียนก่อนการเข้ามาสยามของราชทูตฝรั่งเศสเดอ โชมงต์ และเดอ ลาลูแบร์ ซึ่งกรณีหลังนำไปสู่การสำรวจพื้นที่ตอนใน และความก้าวหน้าของการเขียนแผนที่สยามโดยชาวตะวันตก

ที่สำคัญ แผนที่โดยเซลเลอร์แผ่นนี้ เป็นแผนที่สยามพิมพ์ขึ้นบนเกาะอังกฤษ โดยชาวอังกฤษ “เก่าแก่สุด” ที่ค้นพบ [19]

ด้วยความที่แผนที่มีขนาดเล็ก จึงระบุเพียงชื่อและตำแหน่งของราชธานีและเมืองท่าสำคัญตามชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของกิจกรรมการค้า ความสนใจที่พ่อค้าชาวต่างชาติมีต่อภูมิภาคในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] แผนที่ Map of the Kingdoms of Siam and Cochin China เขียนโดย John Walker จากหนังสือ John Crawfurd, Journal of an Embassy from the Governor-General of India to the Courts of Siam and Cochin China (London: Henry Colburn, 1828) และแผนที่ Map of the Kingdom of Siam and Its Dependencies เขียนโดย James Fitzroy McCarthy จากวารสาร Proceedings of the Royal Geographical Society and Monthy Record of Geography, Volume X, Number 3, March 1888 แทรกระหว่างหน้า 134-35

[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, “แผนที่ใหม่ของ ‘อินเดียนอกลุ่มน้ำคงคา’ โดยโรเบิร์ต มอร์เด็น (Robert Morden) พ.ศ. 2223 (ค.ศ. 1680): A New Map of India beyond Ganges” ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ), ประมวลแผนที่: ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมือง กับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน-อุษาคเนย์ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2555), หน้า 42-43

[3] Rodney Shirley, Maps in the Atlases of the British Library: A descriptive catalogue c. AD 850-1800 (London: The British Library, 2004), หน้า 931; Laurence Worms and Ashley Baynton-Williams, British Map Engravers: A dictionary of engravers, lithographers and their principal employers to 1850 (London: Rare Book Society, 2011), หน้า 596; และ Jason C. Hubbard, Japoniae Insulae: The mapping of Japan, historical introduction and cartobibliography of European printed maps of Japan to 1800 (Houten: Hes & de Graaf, 2012), หน้า 223-224

[4] John Seller, “Atlas Minimus, or A Book of Geography …”, Lot number 455, in The Wardington Library Part 2, 10 October 2006 (London: Sotheby’s, 2006)

[5] Michael Liefer, Dictionary of the Modern Politics of South-East Asia (London: Routledge, 1995), หน้า 220; Russel H. Fifield, The Diplomacy of Southeast Asia: 1945-1958 (New York: Harper & Brothers, 1958), หน้า 459 และ David Joel Steinberg, In Search of Southeast Asia, revised edition (Honolulu: University of Hawaii Press, 1987), หน้า 3

[6] Thomas Suarez, Early Mapping of Southeast Asia: The epic story of seafarer, adventurers, and cartographers who first mapped the regions between China and India (Singapore: Periplus Editions, 1999), หน้า 209

[7] ภมรี สุรเกียรติ, เมียนมาร์ สยามยุทธ์ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2553), หน้า 66

[8] Jacob Cornelius van Neck, Journael van de tweede reys gedaan by den heer admiraal Jacob van Neck (Amsterdam: G. J. Saeghman, c. 1663), หน้า 32

[9] Anthony Reid, Southeast Asia in the Age of Commerce 1450-1680, Volume Two: Expansion and Crisis (New Haven: Yale University Press, 1993), หน้า 211-12; และ Bhawan Ruangsilp, Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch perceptions of the Thai kingdom c. 1604-1765 (Leiden: Brill, 2007), หน้า 19

[10] แผนที่ Penisola dell India di la dal Gange เขียนโดย Giacomo Cantelli da Vignola (Rome, 1683); และ Donald F. Lach and Edwin J. Van Kley, Asia in the Making of Europe, Volume III: A Century of Advance (Chicago: The University of Chicago Press, 1993), หน้า 1125

[11] ภมรี [เชิงอรรถ 7], หน้า 121-28 และ Barbara Watson Andaya and Leonard Y. Andaya, A History of Early Modern Southest Asia, 1400-1830 (Cambridge: Cambridge University Press, 2015), หน้า 216-17

[12] C. P. Fitzgerald, The Southern Expansion of the Chinese People (London: Barrie & Jenkins, 1972), หน้า 19; และ K. W. Taylor, A History of the Vietnamese (Cambridge: Cambridge University Press, 2013), หน้า 659-60

[13] Reid [เชิงอรรถ 9], หน้า 211 และ Lach & Van Kley [เชิงอรรถ 10], หน้า 1257

[14] ชื่อ Keccio พบในแผนที่ Presquisle de L’Inde a L’Orient du Golfe de Bengala เขียนโดย Allain Manesson Mallet (Paris, 1683); ชื่อ Ke Ci พบในจดหมายเหตุมารินี (G. F. de Marini, 1663) อ้างใน Lach & Van Kley [เชิงอรรถ 10], หน้า 1277; ชื่อ Che Ce พบในจดหมายเหตุโรดส์ (Alexandre de Rhodes, 1650) อ้างใน Lach & Van Kley [เล่มเดียวกัน], หน้า 1280; ส่วนชื่อ Cachao พบในจดหมายเหตุแดมเปียร์ (William Dampier) อ้างใน Mark Sidel, Old Hanoi (Kuala Lumpur: Oxford University Press, 1998), หน้า 10

[15] Lach & Van Kley [เล่มเดียวกัน], หน้า 1254

[16] Lach & Van Kley [เล่มเดียวกัน], หน้า 1297

[17] Chingho Chen, Historical Notes on Hoi-An (Faifo) (Carbondale, Illinois: Center for Vietnamese Studies, Southern Illinois University at Carbondale, 1974), หน้า 10

[18] ชื่อ Faicfo พบในแผนที่ Carte du Royaume de Siam เขียนโดย Pierre Duval (Paris, 1686); ชื่อ Fayfo พบในแผนที่ A New Map of India beyond Ganges เขียนโดย Robert Morden (London, 1680); ชื่อ Kaifo พบในแผนที่ Presquisle de L’Inde a L’Orient du Golfe de Bengala เขียนโดย Allain Manesson Mallet (Paris, 1683); ส่วนชื่อ Haifo พบในแผนที่ A General Mapp of the East Indies เขียนโดย Richard Blome (London, 1667)

[19] ในราว ค.ศ. 1676/พ.ศ. 2219 เซลเลอร์ได้จัดพิมพ์แผนที่ในรูปแบบของไพ่ เป็นแผนที่ชุดเดียวกับที่ปรากฏในหนังสือ จะแตกต่างก็บนหัวมุมไพ่ มีตัวเลขโรมันพิมพ์กำกับ แผนที่หรือไพ่ชุดนี้ปัจจุบันเก็บรักษาที่ The British Museum (Schreiber Collection) ประเทศอังกฤษ และที่ Beinecke Rare Book and Manuscript Library, Yale University สหรัฐอเมริกา ในเมื่อเป็นแผนที่เดียวกัน จะต่างก็เพียงความหนาของกระดาษ และตัวเลขโรมันที่เขียนกำกับ จึงอนุโลมได้ว่าแผนที่ที่เพิ่งค้นพบเป็นแผนที่ “เก่าแก่สุด” พิมพ์บล็อกเดียวกับแผนที่ c. 1676 ที่ปรากฏบนไพ่ ดูรายละเอียดใน Hubbard [เชิงอรรถ 3], หน้า 223-24 และ William B. Ginsberg, Maps and Mapping of Norway 1602-1855 (New York: Septentrionalium Press, 2009), หน้า 59-63


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2562