ทำไมโปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่ตั้งถิ่นในสยาม สู่อิทธิพลการทหาร-การค้า-ศาสนา

ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาเจริญไมตรีกับสยาม หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาวสยามกับชาวโปรตุเกสทั้งในด้านการสงครามและการศาสนา หลักฐานเหล่านี้ปรากฏอยู่ในบันทึกของชาวโปรตุเกสอย่างแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) และบาทหลวงอันโตนิโอ ปินโต (Antonio Pinto ค.ศ.1664-1696)

หากพูดถึงการติดต่อระหว่างสยามกับโปรตุเกสในช่วงแรกเริ่มนั้น กัสปาร์ กอไรญา (Gasper Correira) ระบุไว้ว่า สยามกับโปรตุเกสเริ่มติดต่อตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ อุปราชรัฐโปรตุเกสแห่งอินเดีย ผู้พิชิตเมืองมะละกาส่งดูอาร์เต เฟร์นันเดซ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์เมืองสยาม เชื่อว่ารู้จักอยุธยาผ่านทางมะละกา การสร้างสัมพันธ์ช่วงแรกก็ไม่ได้ตั้งใจสานสัมพันธ์ทางการทูตหรือการค้า แต่เกิดจากเหตุการณ์สงครามที่โปรตุเกสมีต่อรัฐในอารักขาของอยุธยา

อย่างไรก็ตาม ชาวโปรตุเกสไม่ใช่ชาติแรกที่เข้ามาในสยาม แต่นักประวัติศาสตร์บ่งชี้ตามหลักฐานว่า ชาวโปรตุเกสเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยาและสร้างสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสยาม

ในเอกสารโปรตุเกสที่พูดถึงชาวสยามนั้นก็มีข้อความไม่มากนักที่พูดถึงสยาม เอกสารจดหมายรายงานของรุย ดือ บริตู (Rui de Brito) ชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาตะวันออกไกลปลายศตวรรษที่ 15 ไปถึงอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Abuquerque) บรรยายไว้ว่า “เจ้าผู้ปกครองเมืองอาณาจักสยามมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารีและปกครองคนหมู่มาก ทั้งมีดินแดนในพระราชอำนาจมากมายที่ติดกับทะเล”

เอกสารที่เชื่อว่าเป็นเอกสารโปรตุเกสฉบับแรกที่เกี่ยวกับสยามก็คือ จดหมายของรุยที่มีถึงอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจติดต่อการค้าและการยุทธ์ในสยาม

บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อธิบายเรื่องเหตุผลที่ชาวโปรตุเกสเข้ามาในสยามเป็นชาติแรกไว้ในบทความเรื่อง “มิสซังในอดีต…สู่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ”

ใจความส่วนหนึ่งมีว่า

“ในศตวรรษที่ 14 และ 15 แขกมุสลิม หรือพวกเติร์ก (Turk) กำลังมีอำนาจมากและรุกรานยุโรป และเมื่อเมืองสำคัญ เช่น Constantinople ถูกตีแตกในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453 (พ.ศ. 1996) ชาวยุโรปและพระศาสนจักรเองก็เริ่มกลัวกันว่า ยุโรปจะรอดพ้นมือของพวกเติร์กหรือไม่ในยุโรป

ตอนนั้นก็มีเพียงประเทศ 2 ประเทศที่มีอำนาจและเข้มแข็งเพียงพอที่จะต้านทานการรุกรานของพวกแขกมุสลิมได้ ได้แก่ โปรตุเกสและสเปน นอกจากมีอำนาจและกำลังเพียงพอแล้ว ยังมีความก้าวหน้าในการสำรวจดินแดนใหม่ๆ อีกด้วย กษัตริย์ของทั้ง 2 ประเทศ (ซึ่งเป็นประเทศคริสตัง) ต่างก็ขออำนาจจากพระสันตะปาปา ที่จะทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อไปยังดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ๆ เหล่านั้น บรรดาพระสันตะปาปาในสมัยนั้น ต่างก็เห็นถึงประโยชน์ทั้งด้านวิญญาณและด้านวัตถุด้วย ก็ได้มอบสิทธิพิเศษมากมายแก่พวกนักสำรวจของโปรตุเกส และสเปน และมอบหมายให้ทั้ง 2 ประเทศนี้ทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้…

โปรตุเกสและสเปนต่างก็เป็นมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่ในสมัยนั้น เพื่อมิให้ทะเลาะวิวาทและบาดหมางกันเอง โลกใบนี้ก็กว้างใหญ่ พระสันตะปาปา Alexander VI จึงได้ออกกฤษฎีกา Inter Caetera วันที่ 3 พฤษภาคม 1493 (พ.ศ. 2036) แบ่งโลกออกเป็น 2 ซีก โดยการขีดเส้นจากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง ซีกโลกด้านตะวันตกมอบให้สเปน, ด้านตะวันออกมอบให้โปรตุเกส”

แต่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ถกเถียงกันกว้างขวางย่อมเป็นเอกสาร “บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต” โดยแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต (Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) นักเดินทางที่มีประวัติเบื้องต้นค่อนข้างโลดโผน จากข้อมูลของเอกสารอธิบายว่า เขาเข้ามาในสยาม 2 ครั้ง ครั้งแรก ก่อนค.ศ. 1548 และครั้งที่ 2 ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่หลังจากตรวจสอบข้อมูลในเอกสารก็มีนักประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ศักราชซึ่งคลาดเคลื่อนออกไป

ในด้านการทูตเพื่อทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกเรียกได้ว่าเป็นชื่อดูอาร์เต โคเอโย (Duarte Coelho) ในช่วงพ.ศ. 2059

เมื่อเอ่ยถึงแหล่งที่อยู่ของชาวโปรตุเกสในสยาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีที่ศึกษาเรื่องชาวค่ายโปรตุเกสในสยามอย่างปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ผู้เคยทำงานกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2527 บรรยายว่า หมู่บ้านโปรตุเกสกำเนิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2083 ตามพระบรมราชโองการฯ ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกส 120 คน ถือเป็นบำเหน็จการทำความดีความชอบจากการเข้าร่วมรบในสงครามเชียงกรานจนได้รับชัยชนะ

แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เชื่อว่า ชาวโปรตุเกสก็เริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนเพื่อทำการค้าในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แล้ว หลังจากที่ดูอาร์เต โคเอโย ทำสัญญาได้เป็นผลสำเร็จ ชาวโปรตุเกสก็รับภาระสำคัญอีกประการในกองทัพคือจัดหาอาวุธพร้อมกับฝึกหัดการใช้งาน ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินสยามพระราชทานพระราชานุญาตให้ชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานและค้าขายในประเทศได้รวมทั้งให้อิสระในการนับถือศาสนา สามารถสร้างไม้กางเขนไว้กลางเมือง อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่าด้วยอุปสรรคด้านภาษาทำให้การเผยแผ่ศาสนาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

เมื่อถึงช่วงทรงทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่ การรบก็ได้ประโยชน์จากทหารอาสาโปรตุเกส และปราบทัพเชียงใหม่อย่างราบคาบ แต่ในช่วงเวลนั้น นักวิชาการเชื่อกันว่า พม่าเองก็มีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาพร้อมรับจ้างรบให้กับทุกฝ่ายที่สามารถจ้างได้

การรบระหว่างสยามกับเชียงใหม่มีปรากฏในบันทึกของปินโต โดยการรบกับเชียงใหม่ใน ปี ค.ศ. 1548 (พ.ศ. 2088) เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในเอกสารของปินโต แต่ครั้งนี้เขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้มองได้ว่าข้อมูลในเรื่องเล่าน่าจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอยู่มาก

ขณะที่สงครามกับเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ซึ่งบันทึกของปินโตระบุปีคือ ค.ศ. 1548 (พ.ศ. 2091) อันเป็นปีที่คลาดเคลื่อนจากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่บรรยายศึกเมืองเชียงกรานเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1538 (พ.ศ. 2081)

แผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยลาลูแบร์ แสดงอาณาบริเวณในค่ายโปรตุเกส (อักษร H)

พิทยะ ศรีวัฒนสาร นักวิชาการที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสอธิบายเนื้อหาในบันทึกของปินโตซึ่งบอกเล่าว่า กษัตริย์สยามให้คำมั่นสัญญากับชาวต่างชาติทุกแห่งที่ร่วมรบด้วยจะได้รับรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ได้รับอนุญาตให้สร้างศาสนสถานในแผ่นดินสยามได้ แต่ส่วนหนึ่งปินโต ก็เขียนในทำนองว่า การรบครั้งนี้มีสภาพเหมือนถูกเกณฑ์แบบกลายๆ กล่าวคือ หากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกขับออกภายใน 3 วัน จึงทำให้มีชาวโปรตุเกส 120 คน จาก 130 คนร่วมรบ

บันทึกของปินโต ยังเล่าถึงเหตุการณ์หลังสงครามที่บอกว่า สมเด็จพระไชยราชาเสด็จสวรรคตเพราะทรงถูกวางยาพิษ โดยผู้ลงมือคือพระมเหสีของพระองค์ที่สมคบกับออกขุนชินราช เมื่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระไชยราชาขึ้นเสวยราชสมบัติ ทั้งสองก็ลอบวางยาพิษพระมหากษัตริย์พระองค์น้อยและขึ้นครองราชย์แทน ไม่กี่เดือนต่อมา พระมหากษัตริย์และพระมเหสีก็ถูกปลงพระชนม์โดยออกญาพิษณุโลก เหล่าขุนนางก็ถวายราชสมบัติแด่พระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระไชยราชา ซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุหลายพรรษา

หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชา สยามเริ่มตกอยู่สภาพสั่นคลอนกระทั่งพ.ศ. 2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐา ปีต่อมาพม่าก็เข้าโจมตีและล้อมสยาม ศึกครานั้นมีทหารโปรตุเกสที่ป้องกันเมืองนำมาโดยดิโอโก้ เปอไรร่า (Diogo Pereira) พร้อมทหารโปรตุเกสประมาณ 50 นาย ขณะที่พ่อค้าโปรตุเกสก็มักต้องร่วมรบด้วยหลายครั้งเพื่อเอาใจกษัตริย์และยังเป็นการป้องกันทรัพย์สินของตัวเอง

ในช่วงพ.ศ. 2147 เป็นต้นมาชาวยุโรปก็เข้ามามากขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาเริ่มมั่งคั่งมากขึ้น ชาวยุโรปที่เข้ามาก็อาศัยชาวโปรตุเกสที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อนหน้าช่วยให้ความรู้และช่วยทำความเข้าใจด้านภาษา อาชีพที่สำคัญของชาวโปรตุเกสอีกประการในช่วงนั้นก็คือล่าม นักโบราณคดีคาดว่า ภาษาโปรตุเกสเองก็แพร่หลายในราชสำนัก พระราชวงศ์ และขุนนางก็พอจะใช้ภาษาโปรตุเกสได้

จะเห็นได้ว่าบทบาทของชาวโปรตุเกสในสยามจะมีหลากหลายทั้งทางทหาร การค้า แต่อำนาจของชาวโปรตุเกสในสยามลดลงในช่วงที่ฮอลันดาและอังกฤษซึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในยุคนั้นเริ่มเข้ามา นักโบราณคดีเชื่อกันว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาในยุคนั้นก็มีสภาพกระทบกระทั่งกันเองเป็นบางคราวจากสาเหตุด้านการเมือง และศาสนา เนื่องจากชาวอังกฤษและฮอลันดานับถือคริสต์ศาสนา นิกายโปรแตสแตนท์ ส่วนโปรตุเกสนับถือนิกายคาทอลิค

ชาวโปรตุเกสก็จำเป็นต้องดิ้นรนมากขึ้น หลังมีแนวโน้มว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดปรานชนชาติอื่นมากกว่า พ.ศ. 2152 คณะสงฆ์นิกายเยซูอิตเดินทางมาสมทบในค่ายของโปรตุเกส เป็นกลุ่มเชี่ยวชาญเรื่องวิทยาการสมัยใหม่อย่างเช่นการคำนวณ พวกเขาเห็นว่าศาสนาไม่สามารถรักษาเสถียรภาพได้มั่นคง ก็เริ่มเข้าหาฐานขุนนางโปรตุเกสให้สนับสนุนกลุ่มบาทหลวงให้เป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินด้านการนโยบายต่างประเทศและวิทยาการสมัยใหม่จากยุโรป

เป็นที่ทราบกันว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามหลายพระองค์เชื่อใจทหารรับจ้างโปรตุเกส นายทหารหลายรายได้รับตำแหน่งสูงในกองทัพและราชสำนัก หลังกรุงแตกในพ.ศ. 2112 มีหลักฐานว่าชาวโปรตุเกสเสียชีวิตอย่างน้อย 27 คน และมีตกเป็นเชลยอีกจำนวนหนึ่ง

ในจดหมายเหตุของบาทหลวงปินโต พระราชพงศาวดารไทย และปูมโหร ยังมีบันทึกถึงเหตุการณ์การตายในช่วง พ.ศ. 2239 โดยเล่าว่า เกิดไข้ทรพิษระบาด ผู้คนล้มตายกันมาก คนตายทั่วพระราชอาณาจักรเกือบ 8 หมื่นคน พื้นที่วัดไม่มีที่ฝังศพจนศพเกลื่อนกลาดตามทุ่งนา วัดที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนของชาวต่างชาติก็ฝังศพแล้ว 4,200 ศพ เมื่อมีการขุดแต่งโบราณสถานบ้านนักบุญเปโตร ในหมู่บ้านโปรตุเกส ก็พบโครงกระดูกจำนวนมากนอนเรียงรายเป็นระเบียบอย่างแน่นหนาในชั้นดิน

สำหรับโบสถ์ในหมู่บ้านโปรตุเกส ปรากฏหลักฐานในเอกสารหลายฉบับ คือ บันทึกของแกมป์เฟอร์ (Kaempfer) ที่กล่าวถึงการตั้งหมู่บ้านของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาว่า “ทางทิศใต้มีหนทางแคบๆ ลงสู่แม่น้ำ ชาวดัทช์ตั้งโรงงานและร้านค้าที่หรูหรา สะดวกสบายบนพื้นที่แห้ง ต่ำลงไปอีกนิดบนฝั่งเดียวกันนั้น มีหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น พะโค และมะละกา ฝั่งตรงข้ามมีชาวโปรตุเกสที่เกิดจากชนพื้นเมือง ถัดออกไปเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์โดมิงโก เป็นคณะบาทหลวงชาวโดมินิกัน ด้านหลังโบสถ์เล็กๆ อีกหลังหนึ่งชื่อเซนต์ออสติน เป็นของบาทหลวง 2 ท่าน ไม่ไกลจากนี้เท่าใดนัก มีโบสถ์เยซูอิตชื่อเซนต์พอลซึ่งเลียนแบบมาจากโบสถ์ใหญ่ในเมืองกัว”

ในจดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ของบาทหลวงกีร์ ตาชาร์ด ก็มีบันทึกใจความว่า ที่กรุงสยามนั้นมีวัดโปรตุเกส ประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากกว่าสี่พันคน วัดทั้งสองแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสังฆราชแห่งเมืองมะละกา”

และแผนที่จากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนในปี พ.ศ. 2230 ได้แสดงอาณาบริเวณของค่ายโปรตุเกสและแสดงขอบเขตตำแหน่งของโบสถ์ 2 หลัง อธิบายว่า

“The Portuguese Jacobins (Jacobin เป็นภาษาฝรั่งเศส ตรงกับภาษาอังกฤษว่าโดมินิกัน) อยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านญี่ปุ่น The Portuguese Jesuits อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน”

ขณะที่กรุงแตกอีกครั้งในพ.ศ. 2310 ก็เป็นจุดจบความเป็นอยู่ที่ผสมกลมกลืนกับไทยซึ่งดำเนินมายาวนานเกือบ 300 ปีลงไปพร้อมกับกรุงศรีอยุธยา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Seabra, Leonor. “Macao and Siam (Thailand) : Relation in the Seventeenth and Eighteenth Centuries” in Review of the Culture, No 19, 2nd serie (April-June 1994) pp. 47-62. แปลโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี ใน กระดานทอง สองแผ่นดิน

ปรีดี พิศภูมิวิถี. กระดานทอง สองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.

ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์. “ศาสนาและความเป็นตายของชาวค่ายโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา”. ใน ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2527.

พิทยะ ศรีวัฒนสาร. “395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย”. ใน Facebook / Bro Bidya. ออนไลน์. เผยแพร่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554. เข้าถึง 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562. <https://www.facebook.com/notes/bro-bidya/395-ปี-บันทึกของปินโต-หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย/173959419282420/>

สำนักบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “สมมติฐานใหม่ที่ “บ้านโปรตุเกส” วัดโดมินิกัน ข้อมูลที่ด่วนสรุป?”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2548. ออนไลน์เผยแพร่เมื่อ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2560. <https://www.silpa-mag.com/history/article_10716>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2562