ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544 |
---|---|
ผู้เขียน | ชาญวิทย์ เกษตรศิริ |
เผยแพร่ |
การค้าพาณิชย์ “ไทย-จีน” ในยุค “จิ้มก้อง” สร้างรายได้มหาศาลในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
เมื่ออยุธยาล่มสลายไปในปี 2310 การค้าการพาณิชย์…ก็ถึงกาลอวสานไปด้วย กว่าจะฟื้นตัวเริ่มขึ้นใหม่ก็กินเวลากว่าทศวรรษ ดังเห็นได้จากพระราชกรณียกิจในด้าน “การค้าและพาณิชย์” ของพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช (ตากสิน) และกษัตริย์ราชวงศ์จักรีสมัยต้นรัตนโกสินทร์…
การส่งสินค้าออกของไทย (ในรูปของการค้าเรือสำเภา) ซึ่งกล่าวได้ว่าสืบทอดมาจากสมัยอยุธยาก็จริง แต่ก็มีลักษณะพิเศษของรัตนโกสินทร์อีกด้วย ทั้งนี้โดยยึดเอารัชสมัยของรัชกาลที่ 2 และ 3 เป็นกรณีศึกษาเฉพาะ
ในกรณีของรัชกาลที่ 3 นั้น เรามักจะคุ้นเคยดีว่าพระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์-พ่อค้า” ที่สามารถ แต่สำหรับรัชกาลที่ 2 ดูเหมือนประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ที่เขียนและเล่าเรียนกันมา มักจะกล่าวถึงพระองค์ในแง่ของการทรงเป็นกวีและศิลปิน ให้น้ำหนักในเรื่องกิจการในราชสำนักทางด้านวัฒนธรรมเป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่รัชสมัยของพระองค์กิจการด้านเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองฟื้นตัวจากความบอบช้ำของการเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว
ถ้าจะมองในมุมกว้าง สงครามระหว่างไทยกับพม่า อันเป็นผลให้เสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 นั้น มีผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างมาก กล่าวคือ ศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยถูกทำลายลงราบเรียบ ดินแดนตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจรดภาคกลางถูกกระทบกระเทือนด้วยสงคราม ประชาชนไม่สามารถทำการเพาะปลูกหรือทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ประชาชนส่วนใหญ่ถ้าไม่ถูกจับกวาดต้อนไปเป็นเชลย ก็ล้มหายตายจากไป หรือไม่ก็ต้องหนีไปหลบภัยในที่ที่ห่างไกลออกไป
ดินแดนทางภาคตะวันออกของไทย ดูจะเป็นดินแดนที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากสงครามน้อยที่สุด ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยอะไรทีวีรบุรุษอย่างพระยาวชิรปราการ (ตากสิน) จะเสด็จไปรวบรวมกำลังคนทางด้านจากชลบุรีถึงจันทบุรี และทางด้านนี้พระองค์ก็ยังทรงได้ฐานสนับสนุนสำคัญทั้งทางด้านกำลังคนกับกำลังทรัพย์ กล่าวคือจากชุมชนจีนตามหัวเมืองชายทะเลเหล่านั้น
ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ทรงมีบิดาเป็นแต้จิ๋ว และมีมารดาเป็นไทย จึงไม่สู้จะยากอะไรที่พระองค์จะได้กำลังสนับสนุนจากชาวจีน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแต้จิ๋ว
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่ พร้อมด้วยกำลังคนเพียงประมาณ 1 หมื่นคนนั้น ก็ทรงเลือกเมืองบางกอกเป็นราชธานี (ธนบุรี) ณ ที่นี้ชุมชนจีนที่ตั้งหลักแหล่งมั่นคงอยู่แล้ว อยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกของบางกอก คือแถบพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน
ในอดีต “บางกอก” หมายถึงดินแดนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา บางกอกเป็น “เมืองอกแตก” ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ “พระราชวังเดิม” (กองทัพเรือในปัจจุบัน)
เราทราบดีจากหลักฐานของชาวต่างประเทศ เช่น วันวลิต และลาลูแบร์ ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยสมัยกลางอยุธยา ได้ประมาณกันไว้ว่า มีคนจีนในเมืองหลวงที่อยุธยาประมาณ 3,000-4,000 คน และในสมัยรัตนโกสินทร์ก็อาจจะมีคนจีนในเขตเมืองหลวงกว่า 6,000 คนก็ได้ ขอให้ตั้งข้อสังเกตว่าคนจีนเหล่านี้เป็น คนจีนที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ชำนาญการพิเศษ คือเป็นแพทย์ พ่อ ค้า ศิลปิน ช่างฝีมือ ฯลฯ หาได้เป็นกุลีที่มาขายแรงงานไม่ กุลีที่มาขายแรงงานจะเริ่มมีอย่างมาก ๆ ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังนั้น ฐานะของคนจีนในเมืองไทยแต่เดิมจึงอยู่ในระดับสูงพอสมควร
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ทรงขับไล่พม่าไปแล้ว พระองค์ก็ยังทรงวุ่นอยู่กับการสงครามต่อไปอีก ทั้งการตั้งรับพม่า การรวบรวมอาณาจักรให้เป็นเอกภาพ และการแผ่ขยายอำนาจไปสู่อาณาจักรรอบ ๆ ในขณะเดียวกันก็ทรงพยายามที่จะฟื้นฟูการเมืองและเศรษฐกิจให้กับอาณาจักรใหม่ของพระองค์ และเป้าหมายที่สำคัญในระยะนี้ก็คือการสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในการที่จะได้รับรองจากจีนเพื่อที่จะได้ทำการค้าอีกด้วย เพราะในระบบเก่านั้นการค้าและการเมือง (ความสัมพันธ์) กับจีนหาได้แยกขาดจากกันไม่…
ความผันผวนของเหตุการณ์และสงครามในเมืองไทย ทำให้จีนไม่แน่ใจในการติดต่อกับไทยเป็นเวลานาน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงใช้เวลาถึง 10 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2320 (1777) จึงได้รับอนุมัติจากจีนให้ส่งทูตบรรณาการไปได้ และทรงได้รับการรับรองจากจีนว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของไทยก็เมื่อ พ.ศ. 2324 (1781) เกือบจะสิ้นรัชกาลอยู่แล้ว
เมื่อเปลี่ยนจากราชวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาสู่ราชวงศ์จักรีนั้น สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือความพยายามของพระเจ้าแผ่นดินสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบการค้าของรัฐ และการผูกขาดของหลวง รวมทั้งการสถาปนาความสัมพันธ์อันดีกับจีนดังที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้วางรากฐานไว้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการส่งสินค้าออก ซึ่งในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น เราอาจจะพูดได้ว่า เป้าหมายสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจ-การต่างประเทศ คือเล็งไปที่เมืองจีนเป็นหลัก ส่วนการติดต่อและการค้ากับประเทศรอบบ้านตลอดจนการค้ากับฝรั่งตะวันตกต้องถือได้ว่าเป็นประเด็นรอง
ความรุ่งโรจน์และอวสานของระบบบรรณาการ “จิ้มก้อง”
ในระหว่างรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 คือระหว่าง พ.ศ. 2325-2396 (1782-1853) คือตั้งแต่ปีแรกในรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งถึงปีสุดท้ายของการที่ไทยส่งทูตบรรณาการไปเมืองจีนในสมัยรัชกาลที่ 4 (ก่อนที่จะทำสนธิสัญญาเบาวิ่งกับอังกฤษเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2398 หรือ ค.ศ. 1855) นั้น ไทยส่งทูตบรรณาการไป “จิ้มก้อง” เมืองจีนถึง 35 ครั้ง เฉลี่ยเกือบทุก 2 ปีต่อ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นอัตราการส่งทูตบรรณาการที่ถี่มาก
ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ระบบทูตบรรณาการนี้เป็นระบบการติดต่อระหว่างประเทศที่จีนบัญญัติขึ้น จีนกำหนดไว้ในสมัยนั้นว่า ทูตบรรณาการจากต่างแดนจะไปเมืองจีนได้ 3 ปีต่อ 1 ครั้ง แต่ละครั้งจะนำเรือมาได้ 3 ลำ มีคนในเรือแต่ละลำประมาณ 100 คน และจะเข้าเมืองจีนได้ก็ที่ท่าเรือเมืองกวางตุ้งเท่านั้น
บรรณาการและสินค้าที่จะนำมานั้นจีนไม่จำกัด ทั้งยังไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า และยังสามารถจะซื้อสินค้าสิ่งของอะไรจากจีนก็ได้ ยกเว้นสินค้าบางรายการที่จีนถือว่าจำเป็นต่อการป้องกันประเทศของตน เช่น อาวุธ ทองแดง ดินประสิว และเอกสารทางประวัติศาสตร์ (หรือพงศาวดาร)
เราทราบดีว่า การค้าของรัฐในสมัยนี้ เป็นการค้าที่เจ้าและขุนนางเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็น “การผูกขาด” ดังเช่นที่ปรากฏมาแล้วในสมัยอยุธยา เราทราบกันดีอีกเช่นกันว่า ในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น มีสำเภาหลวงติดต่อค้าขายกับจีนเพียง 2 ลำ คือ เรือหูสูง และเรือทรงพระราชสาส์น ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 2 มีเรือสำเภาหลวง 2 ลำ เช่นกัน คือ เรือมาลาพระนคร และเรือเหราข้ามสมุทร
เราพอจะประมาณได้จากข้อเขียนของชาวต่างประเทศในสมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากงานของจอห์น ครอว์ฟอร์ด ซึ่งเป็นทูตการค้าของรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย ซึ่งเข้ามาใน พ.ศ. 2365 (1822) พร้อมด้วยผู้ติดตามชื่อ จอร์จ ฟินเลย์สัน ต่างก็ได้บันทึกรายการเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของไทยไว้เป็นอย่างดี
ชาวต่างประเทศเหล่านี้เชื่อว่ามีเรือจากไทยไปค้าขายเมืองจีนปีละ 80 ลำ ไปอินโดนีเซีย (ปัตตาเวีย) 3 ลำ ไปมลายู 5 ลำ ไปสิงคโปร์ 27 ลำ ไปเวียดนาม (ไซ่ง่อน) 18 ลำ ฯลฯ
ในบรรดาเรือค้าขายเหล่านี้เป็นของพระเจ้าแผ่นดินไทยเสีย 2 ลำ และเป็นเรือของขุนนาง 20 ลำ ดังนั้นส่วนที่เหลือเราอาจจะตั้งสมมุติฐานว่าคงจะเป็นเรือของเอกชนจีนในไทย ที่ได้สิทธิทางการค้าจากพระเจ้าแผ่นดินหรือขุนนาง หรือไม่ก็ทำการค้าร่วมทุนกับพระเจ้าแผ่นดินและขุนนาง แบ่งปันผลกำไรกัน
เราประสบปัญหาจากข้อมูลของชาวต่างประเทศเหล่านี้บ้าง กล่าวคือ เราไม่ทราบแน่ว่าจำนวนเรือที่กล่าวไว้นี้ ถ้าหากว่าไปจากเมืองไทย จะกล่าวได้ว่าเป็นเรือของไทย หรือของคนที่พำนักอยู่ในเมืองไทยทั้งหมด หรือไม่ทั้งนี้เพราะปัญหาสัญชาติของเรือดูจะไม่แน่นอน (ในความหมายของโลกสมัยใหม่)
อย่างไรก็ตาม เราอาจกล่าวสรุปอย่างกว้าง ๆ ได้ว่าในการค้าซึ่งมีกับจีนเป็นหลักนั้น น่าจะมีเรือไปมาระหว่างไทยกับจีนประมาณ 150-200 ลำ ในช่วงระหว่างรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 4 (1820-1860) ดังสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีในวรรณกรรมของสุนทรภู่ ที่ท่านให้ภาพของการค้าขายที่คึกคักในต้นรัตนโกสินทร์
นี่เป็นสภาพการค้าต่างประเทศกับจีนโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งคงมีความสำคัญอย่างมากต่อรายได้ของหลวงในสมัยนั้น และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ซึ่งภายหลังขึ้นเป็นรัชกาลที่ 3) ก็ทรงมีบทบาททางการค้าอย่างมากในสมัยของรัชกาลที่ 2 จนกระทั่งได้รับสมัญญานามว่า “เจ้าสัว”
การค้าที่ว่านี้ยังคงทำโดยใช้เรือสำเภาเป็นหลัก คือหมายถึงเรือสินค้าแบบของจีนเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยานั่นเอง แต่เรือสำเภาแบบจีนก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นใช้เรือกำปั่น (คือเรือที่ต่อแบบฝรั่ง) แทนในประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 คือ เปลี่ยนจากการต่อเรือแบบจีนเป็นต่อเรือแบบฝรั่ง ดังนั้นจะเป็นได้จากการที่รัชกาลที่ 3 ทรงปรารภเกี่ยวกับการที่เรือสำเภาจะหมดไป เพราะเรือกำปั่นบรรทุกได้ดีกว่า วิ่งได้เร็วกว่า จึงทำให้พระองค์สร้างรูปเรือสำเภาไว้ให้คนรุ่นหลังดูที่วัดยานนาวาในกรุงเทพฯ เรือใบแบบกำปั่นนั้น จะถูกเรือกลไฟที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำเข้ามาแทนที่ในที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4
สินค้าขาออกของไทย-สินค้าเข้าจากจีน
มีผู้ประมาณกันไว้ว่าเมืองไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์นั้น คงมีพลเมืองประมาณ 4-5 ล้านคน สังคมไทยโดยส่วนใหญ่เลี้ยงตนเองได้ ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในระบบไพร่และทำการเพาะปลูกเป็นหลัก ดังนั้น การค้ากับต่างประเทศจึงจำกัดอยู่ในแง่เป็นการค้าของรัฐ “ผูกขาดโดยหลวง” การค้าของไทยมีลักษณะที่เป็นการส่งสินค้าออก ซึ่งมักจะมีมูลค่ามากกว่าสินค้าเข้า ทำรายได้ให้กับเจ้าและขุนนางเป็นจำนวนมาก (อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัชกาลที่ 2 เคยปรากฏว่าเงินที่ได้จากภาษีอากรของพระคลัง มีไม่พอแจกจ่ายเบี้ยหวัดให้กับเจ้าและขุนนาง ต้องขอลดเบี้ยหวัดลงครึ่งหนึ่ง และต้องทรงจ่ายเป็นผ้าลายแทนอยู่ครั้งหนึ่ง)
สินค้าขาออกของไทยส่วนใหญ่เป็นผลิตผลธรรมชาติที่ยังมิได้รับการปรับปรุงแต่งแต่อย่างใด จอห์น ครอว์ฟอร์ด กล่าวว่า มีฝาง พริกไทย ดีบุก ตะกั่ว เร่ว (ต้นไม้ชนิดหนึ่งจำพวกกระวาน ที่ใช้เป็นเครื่องเทศ) เนื้อไม้ งาช้าง และรง ส่วนจอร์จ ฟินเลย์สัน กล่าวว่า มี พริกไทย น้ำตาล กำยาน เนื้อไม้ (กฤษณาและอะกิลา ซึ่งเป็นไม้ชนิดหนึ่ง)
เฮนรี่ เบอร์นี่ ซึ่งเข้ามาเมืองไทยในฐานะทูตทางการค้า เมื่อ พ.ศ. 2369 (1826) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังครอว์ฟอร์ดเพียงไม่กี่ปี ก็ได้กล่าวถึงสินค้าขาออกของไทยไปเมืองจีนว่ามี ฝาง พริกไทย ครั่ง งาช้าง และรง
ในบรรดาสินค้าขาออกไปเมืองจีนนั้น ฝางจะเป็นสินค้าที่มีจำนวนมากที่สุด (มิได้หมายความว่ามีมูลค่ามากที่สุดแต่อย่างใด) จีนสั่งฝางจากไทยไปเพื่อใช้เป็นสีย้อมผ้าให้เป็นสีแดง และเป็นที่นิยมกันมาก ปรากฏว่าในสมัยปลายรัชกาลที่ 2 (1820) นั้น ไทยส่งฝางไปจีนประมาณปีละ 7 หมื่นหาบ (หรือ 4,200 ตัน) ครั้นถึงสมัยปลายรัชกาลที่ 3 (1850) ส่งเพิ่มถึง 1 แสนหาบ (หรือ 6,000 ตัน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินค้าออกอันดับหนึ่งก็ว่าได้
สินค้าขาออกที่สำคัญอีกอย่างก็คือ พริกไทย ดูเหมือนว่าจีนจะใช้พริกไทยจากไทยเป็นส่วนใหญ่ และการส่งพริกไทยจากไทยไปจีนในช่วงต้นรัชกาลที่ 1 จนถึงปลายรัชกาลที่ 3 ก็ดูจะคงตัว คิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าออก
ส่วนน้ำตาลนั้น กล่าวได้ว่าการส่งออกในระยะต้นมีน้อย แต่จะเพิ่มขึ้นมากในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 คิดเป็นมูลค่า 5 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าออก
มีรายการสินค้าขาออกอีกรายการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ฝ้าย ปรากฏว่าในปีต้น ๆ ของรัชกาลที่ 3 (1825) นั้น สินค้าฝ้ายเพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นหาบ (3,000 ตัน) เป็น 1 แสน 4 หมื่นหาบ (8,400 ตัน) ในปลายรัชกาลที่ 3 (1850) คิดเป็นมูลค่าถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าออก
ในด้านสินค้าเข้าจากจีนนั้น กล่าวได้ว่าเป็นสินค้าที่ทำสำเร็จรูปแล้ว มิใช่สินค้าประเภทผลิตผลธรรมชาติที่ยังมิได้รับการปรุงแต่งอย่างของไทย สินค้าสำเร็จรูปนี้ที่สำคัญอย่างมากก็คือ เครื่องลายครามชนิดดี ถ้วยชาม และก็ผ้าไหมผ้าแพรชนิดต่าง ๆ
ส่วนสินค้าที่รองลงไปอีกก็อาจจะเป็นพวกผัก-ผลไม้แห้งหรือดอง กระเบื้อง ร่ม หวี ยาจีน เป็นต้น สินค้าสำเร็จรูปเหล่านี้ได้รับความนิยมในเมืองไทยมาก สินค้าชนิดที่ราคาแพงก็เป็นที่นิยมในหมู่เจ้าและขุนนาง แต่สินค้าบางอย่างก็มีประชาชนบางส่วนบริโภคด้วย อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์นั้นพัฒนารสนิยมของตนให้บริโภคและเคยชินกับสินค้าต่างประเทศจากจีนมากเสียกว่าสังคมไทยสมัยอยุธยาเสียอีก
ทั้งนี้เป็นผลของความเฟื่องฟูทางการค้าไทย-จีน ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งดูจะมีมากกว่าสมัยก่อน ๆ นั่นเอง ประมาณกันว่าสินค้าจากจีนมาไทยนั้นเพิ่มจาก 35,093 ตัน ในสมัยปลายรัชกาลที่ 2 (1820) เป็น 60,000 ตัน ในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 (1859) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า…
อ่านเพิ่มเติม :
- “จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไป..ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอด” พระบรมราชวินิจฉัยในร.4
- โมเดลสามโลกในสมัยราชวงศ์หมิง
- รัชกาลที่ 4 รับสั่ง “จิ้มก้อง” ที่ยืนยาวมาได้เพราะมีพวกเห็นแก่ “กําไร”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ประวัติการค้า-พาณิชย์ภาครัฐของไทยสมัยโบราณ (จบ)” เขียนโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2544
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2565