“จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไป..ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอด” พระบรมราชวินิจฉัยในร.4

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏนามศิลปิน, สีฝุ่น สมัยรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานในพระที่นั่งอัมพรสถาน กรุงเทพฯ ภาพตกแต่งฉากหลังเพิ่มเติม (ภาพต้นฉบับจากหนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่มที่ 1)

พระบรมราชวินิจฉัยใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงเผยแพร่แก่สาธารณะเมื่อปี 2411 กรณีการส่งจิ้มก้อง หรือเครื่องบรรณาการไปยังประเทศจีน บางส่วนมีดังนี้

“…ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยในเวลาล่วงแล้วนั้น ไม่มีความกระด้างกระเดื่องว่าพวกจีนล่อลวงให้เสียยศ จีนสั่งให้ไปก้องเมื่อไรก็ไปเมื่อนั้น ถูกลวงทั้งก้องทั้งซิ่ว ไม่มีอายขายหน้า โง่งมงายตลอดลงมาหลายชั่วอายุคน

ความโง่เป็นไปทั้งนี้ ต้นเหตุใหญ่เพราะว่าหนังสือจีนรู้โดยยากที่สุด ไม่เหมือนหนังสือไทยแลหนังสือต่างประเทศทั้งหลายพอจะรู้ได้บ้าง ก็ไทยแท้มิใช่บุตรจีนรู้หนังสือจีนก็ไม่มี ก็เมื่องมงายโง่มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

พระเจ้าแผ่นดินไทยทั้งหลายในเวลาก่อนนั้น แลเสนาบดีไทยก็โง่งมมาด้วยหลายชั่วแผ่นดินนั้น เพราะความมักง่าย ครั้นทูตเก่าแลล่ามเก่าตายไปหมดแล้ว ได้ยินว่าคราวหนึ่งมีล่ามจีนเป็นคนซื่อแปลความตามฉบับหนังสือจีนที่จริงแจ้งความจริงให้ท่านเสนาบดีไทยในเวลาที่ล่วงแล้วเป็นลำดับมานั้นให้รู้แท้แน่ว่า จีนกวางตุ้งดูหมิ่นดูแคลนมีหนังสือมาสั่งให้ไปก้อง คือให้ไปอ่อนน้อม…”

ทั้งนี้ ธรรมเนียมการจิ้มก้องของรัฐบนดินแดนไทยในอดีตมีมานานหลายร้อยปี อาจจะมีขาดช่วงไปบ้าง แต่ก็ถูกฟื้นฟูขึ้นเรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ และแม้จะมีลักษณะของการแสดงความนอบน้อมต่อรัฐใหญ่ แต่การอยู่ในสถานะรัฐบรรณาการของจีนก็ทำให้รัฐไทยสมัยนั้นๆ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าเป็นการตอบแทนด้วยเช่นกัน

และข้อสังเกตอีกประการคือ สยามส่งเครื่องบรรณาการไปให้จีนเป็นครั้งสุดท้ายคือปี พ.ศ. 2396 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่จีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นรอบแรกมาแล้ว หลังจากนั้นอีกสองปี สยามก็ลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง จากนั้นอีกเพียงหนึ่งปีก็เกิดสงครามฝิ่นขึ้นอีกครั้ง ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นภาวะที่จีนกำลังตกต่ำอย่างหนัก ขณะที่อิทธิพลของอังกฤษกำลังเฟื่องฟู

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2560