
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
ผู้เขียน | กชภพ กรเพชรรัตน์ |
เผยแพร่ |
โมเดลสามโลกในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1677)
ระบบรัฐบรรณาการ (จิ้มก้อง/จิ้นก้ง 进贡) ของจีน ถือเป็นระเบียบในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโบราณ ในการติดต่อสื่อสารกับบรรดาประเทศต่าง ๆ อยู่บนรากฐานของการยอมรับความเป็นเจ้าประเทศราชของจีน ซึ่งไม่ได้มีความหมายเหมือนรัฐบรรณาการในยุคล่าอาณานิคมแบบตะวันตกที่เข้ามาควบคุมและแทรกแซงรัฐนั้นโดยตรง
ระบบนี้เกิดจากการติดต่อกับอนารยประเทศเพื่อแสดงถึงอำนาจเหนือด้านวัฒนธรรมของจีน มีการตั้งพิธีการตามที่จีนกำหนด เช่น สินค้าที่จีนต้องการ ตั้งอยู่บนรากฐานของลัทธิขงจื๊อที่มีแนวคิดที่ว่า สรรพสิ่งใต้โลกต้องมีการประพฤติแบบมีระเบียบ และแบบแผน (หลี่ li i礼) ถ้าสรรพสิ่งใต้โลกรู้จักตำแหน่งที่โลกใบนี้จะมีความสุข เพราะจีนมองตัวเองว่าเป็นศูนย์กลางแห่งอารยธรรมแห่งโลก ความประพฤติเป็นเสมือนกฎเกณฑ์ที่เป็นเหมือนสัญญาหรือการบังคับ ซึ่งตั้งอยู่บนผลประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกันในรูปแบบพิธีการ
จากที่กล่าวไปสำหรับจีนในยุคโบราณเองมองตนว่าการที่รัฐโบราณอื่น ๆ ต่ำต้อยกว่าตน โดยใช้กฎเกณฑ์ตัดสินทางวัฒนธรรม โดยใช้แนวคิดขงจื๊อเป็นหลักในการจัดกลุ่มรัฐโบราณดั่งหลักฐานในบันทึกในสมัยราชวงศ์หมิง (明 史 录)
หมิงสือลู่ ในวันที่ 16 พฤศิจิกายน ค.ศ. 1372 ศักราชหงอู่
ก่อนหน้านี้ เกาหลีส่งเครื่องบรรณาการมาหลายครั้งนัก ดังนั้น จึงได้ส่งเอี๋ยนอันต้าหลี่ไปที่ประเทศนั้น แจ้งให้ทราบพระราชประสงค์ให้งดส่งมาถึงบัดนี้ เพียงในปีเดียว เครื่องราชบรรณาการก็ยังเข้ามาหลายครั้ง ทำให้ผู้คนลำบากและราชทูตต้องทุกข์ทรมานจากการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลและหนทางบก เหมือนครั้งหงสื่อฟ่าน (Hong Shi-Fan) เดินทางกลับประเทศ เขาตกอยู่ในอันตรายอย่างหนัก โชคดีที่มีผู้ช่วยให้รอดกลับไปถึงบ้านเมืองและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เช่นนั้นเขาก็คงกลับไปไม่ถึง
แต่โบราณกาลมาเจ้าเมืองต่าง ๆ ส่งคณะทูตขนาดเล็กเข้ามาเฝ้าทุกปี แลส่งคณะทูตชุดใหญ่มาเข้าเฝ้าทุกสามปี ส่วนบรรดารัฐต่างด้าวท้าวต่างแดนนอกพรมแดนจีน ให้มาถวายเครื่องราชบรรณาการเพียงครั้งเดียว…
ตอนนี้เกาหลีมีความใกล้ชิดกับจีนมา ชาวเกาหลีรู้จักตำราศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ แลวัฒนธรรมเป็นอย่างดี อีกทั้งดนตรีแลพิธีกรรมก็เหมือนกับจีนมาก ซึ่งทำให้จัดรวมเกาหลีไว้ในกลุ่มประเทศต่างด้าวไม่ได้
ควรสั่งให้เกาหลีส่งคณะทูตมาทุกสามปีแลส่งเครื่องราชบรรณาการมาเพียงปีละครั้ง ผลิตผลท้องถิ่นที่เป็นเครื่องราชบรรณาการที่กำหนดมีเพียงแต่ผ้าพื้นเมืองสิบพับ ไม่ต้องนำมามาก ขอให้สำนักราชเลขาธิการแจ้งความประสงค์เราไปให้เขาทราบ
บรรดาประเทศที่อยู่ห่างไกลที่เพิ่งอ่อนน้อม เช่น จัมปา อันหนาน (เวียดนาม) ซีหยาง (ประเทศในมหาสมุทรอินเดีย) สั่วลี่ (โจฬะ) ชวา ไป่หนี (บอร์เนียว) ซันโฟชี่ (ศรีวิชัย) สยาม-ละโว้ แลเจิ่นล่า (กัมพูชา) ก็ขอให้แจ้งเจตนารมณ์ของเราให้ทราบด้วย
จากบันทึกดังกล่าว ได้กล่าวถึงรัฐที่จีนมองว่าได้ยอมรับจีนเป็นอธิราช (Overlordship) จีนได้แบ่งรัฐออกเป็นสามโลก โดยใช้วัฒนธรรมแบบจีนเป็นหลัก ได้แก่ โลกที่หนึ่ง คือจีนและเมืองบริวารโดยรอบ โลกที่สอง คือประเทศที่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมขงจื๊อ อย่างอาณาจักรโชซอน (เกาหลีโบราณ) เช่น ในเรื่องภาษาและวรรณกรรม ดนตรี ปรัชญา การปกครอง และโลกที่สาม ที่จีนมองว่าเป็นดินแดนป่าเถื่อน ไร้อารยะ โดยเฉพาะรัฐโบราณต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สยาม จามปา ศรีวิชัย มะละกา เจินล่า (เขมรโบราณ) เป็นต้น
โดยจีนใช้เกณฑ์จากขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้รับแนวคิดแบบขงจื๊อ หากกษัตริย์รัฐไหนมิได้ดำเนินการปกครองหรือมีแนวคิดการปกครองแบบดังกล่าว คือเป็นรัฐที่ไม่ได้มีแนวทางให้กับประชาชน สังคม ไร้ระเบียบวินัยและมองว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน
สรุป
จีนในยุคโบราณใช้วัฒนธรรมเป็นหลักในการตีสร้างโมเดลการแบ่งโลกในศวรรษที่ 14 เป็นสามโลกภายใต้วัฒนธรรมและประเพณีเพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามระบบราชสำนักจีน ในขณะเดียวกันในโลกศตวรรษที่ 21 มีการกำเนิดรัฐชาติสมัยใหม่ (Modern state) อุดมการณ์การเมืองในการแบ่งโลกคือแนวคิดทาง “รัฐภูมิศาสตร์” (Geopolitics) ทางหนึ่งที่พยายามโน้มน้าวกลุ่มประเทศพันธมิตรแต่ละฝ่ายให้โน้มนำนโยบายประเทศหัวหน้าค่ายไปปฏิบัติตาม
หากมองย้อนไปในอดีตพบว่ารัฐโบราณเล็ก ๆ ก็มีสภาพไม่ต่างอะไรกับรัฐสมัยใหม่ ที่ถูกมหาอำนาจของแต่ละยุคกำหนดกฎกติกาให้ปฏิบัติตามมหาอำนาจในช่วงเวลานั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ธุรกิจสิ่งพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิงใช้อะไร? เมื่อไม่มีคอมพิวเตอร์-เครื่องพิมพ์ดิจิทัล ฯลฯ
- อวสานราชวงศ์หมิงของจีน ยุคสุดท้ายชาวฮั่นปกครองกันเอง ยุติที่เพียงจุดต้นไม้ท้ายวัง
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สมัยราชวงศ์หมิง จีนมี ‘โมเดลสามโลก’ ก่อนสมัยสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 การมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคโบราณ” เขียนโดย กชภพ กรเพชรรัตน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2565 [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2566