60 ปีก่อน ไทยประกาศห้าม “นำเข้า” สินค้าจากจีนทั้งหมด

เยาวราช แหล่งรวมสินค้าต่างๆ จากเมืองจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายย่าน เยาวราช แหล่งรวมสินค้าต่างๆ จากเมืองจีนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

“สงครามการค้า” ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา อดีตถึงปัจจุบันเป็นหนึ่งในข่าวที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกเกิดความตึงเครียดจาก 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น

เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติ “สงครามการค้า” ระยะใกล้ของไทยบ้าง เราก็เคยทำท้าทายมหาอำนาจอย่างจีนเช่นกัน และไม่ใช้แค่ “ตั้งกำแพงภาษี” แต่เป็นการสั่ง “ห้าม” ติดต่อซื้อขายกันเลย โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 5 ประกาศ ณ วันที่ 17 มกราคม 2502 ความว่า

“โดยที่ปรากฏว่าสินค้าต่างๆ ที่ผลิตหรือมีกําเนิด ในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่งเข้ามาจําหน่ายใน ประเทศไทย ส่วนมากเป็นสินค้าประเภทไม่จําเป็น และมักจะนําเข้ามาด้วยการลักลอบ เป็นการยุ่งยากแก่ การกวดขัน ควบคุม ทั้งเป็นการเสียเปรียบในแง่ดุลย การค้า คณะปฏิวัติจึงเห็นสมควรห้ามมิให้นําสินค้าที่ ผลิตหรือมีกําเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ เข้ามา จําหน่ายในประเทศไทย

หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ห้ามมิให้นําสินค้าที่ผลิตหรือมีกําเนิด ในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ หรือซึ่งมาจากประเทศจีน คอมมิวนิสต์เข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ใดนําสินค้า ดังกล่าวนี้เข้ามาในราชอาณาจักรมีความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยศุลกากรฐานนําของต้องห้ามเข้ามา ในราชอาณาจักร

ข้อ 2 ให้ผู้ทําการจําหน่ายสินค้าที่ผลิตหรือ มีกําเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ หรือที่มาจาก ประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสินค้าดังกล่าวนี้อยู่ใน ความครอบครองก่อนวันประกาศนี้แจ้งปริมาณและ สถานที่เก็บต่อนายอําเภอท้องที่ซึ่งผู้ทําการจําหน่าย มีภูมิลําเนาหรือสถานที่ทําการค้าอยู่ ภายในกําหนด เวลาสิบห้าวัน นับแต่วันประกาศนี้

ข้อ 3 เมื่อพ้นกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วัน ประกาศนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดจําหน่ายสินค้าที่ผลิตหรือ มีกําเนิดในประเทศจีนคอมมิวนิสต์ หรือที่มาจาก ประเทศจีนคอมมิวนิสต์

ข้อ 4 ให้ถือว่าข้อความตามข้อ 2 ข้อ 3 แห่ง ประกาศนี้ มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 5 และ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตามที่กฎหมายนั้น ได้บัญญัติไว้”

โดยสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายขณะนั้น น่ามีทั้งที่นำเข้าจากจีนโดยตรง และเป็นการนำเข้าผ่านประเทศที่ 3 ก่อนที่จะส่งเข้ามาประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ขณะนั้นแม้ไทยกับจีนยังไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ส่ง “คณะทูตใต้ดิน” ไปเจรจาหาลู่ทางเปิดความสัมพันธ์ตั้งแต่ปี 2498 แล้ว


ข้อมูลจาก กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรม 26 กุมภาพันธ์ 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ: 16 สิงหาคม 2562