เส้นทางชีวิต “โกษาธิบดีจีน” ขุนนางใหญ่ยุคพระเจ้าท้ายสระ ท้ายสุดพบจุดจบแสนอนาถ

โกษาธิบดีจีน ชาวจีน อยุธยา จากละคร พรหมลิขิต
ภาพ : Ch3Thailand

“โกษาธิบดีจีน” มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา และเป็นหนึ่งในตัวละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยและมีอำนาจกว้างขวางมาก มี ชาวจีน มากหน้าหลายตามาฝากลูกหลานเพื่อเข้ารับราชการ แต่รู้หรือไม่ว่าบั้นปลายของชีวิต ขุนนางมากบารมีผู้นี้กลับต้องพบจุดจบอย่างน่าสลดใจ 

โกษาธิบดีจีน ที่ขึ้นมาเรืองอำนาจในสมัยพระเจ้าท้ายสระ เดิมคือ “ออกญาสมบัติธิบาล” ในสมัยพระเจ้าเสือ มีหน้าที่รักษาการตำแหน่งพระคลัง และเพราะเป็นคนเก่ง จึงได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว 

ทั้งต่อมา ยังได้รับตำแหน่งในการจัดแต่งบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนเมื่อ พ.ศ. 2251 และส่งเรือสลุบพร้อมสาส์นไปปัตตาเวีย ใน พ.ศ. 2252 

กระทั่งเข้าสู่สมัยพระเจ้าท้ายสระ ออกญาสมบัติธิบาล ก็กลายมาเป็น “โกษาธิบดีจีน” ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ในปี 2254 และด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่เติบโตขึ้น จึงทำให้ต่างชาติที่เข้ามาในอยุธยาต่างบันทึกเรื่องราวของเขาไว้มากมาย 

เริ่มต้นตั้งแต่เอกสารของอังกฤษ ที่ป้อมเซนต์จอร์จ ในเมืองมัทราส โจฬะมณฑล ที่ระบุไว้ว่า “พระยาโกษาจีนมีญาติเป็นขุนนางเมืองเอ้หมึง” ทั้งยังคุ้นเคยกับเครือข่ายจีนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นชาติพันธุ์จีนที่เรืองอำนาจทางการเมืองในสมัยนั้น

ชาวจีนที่มีบทบาททางการค้าในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีขุนนางผู้นี้ให้การสนับสนุน ดังที่บาทหลวงฝรั่งเศส หลุยส์ เดอ ซิส เผยว่า “พระยาโกษาธิบดีจีนที่พระมหากษัตริย์ทรงพระเมตตาเป็นคนสุภาพ รู้ความบังควร ไม่บังควร แต่ดูเชื่อใจจีนที่คบด้วยและชอบแต่งตั้งจีนพวกพ้องเป็นขุนนาง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทำให้พ่อค้าจีนเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในสยาม”

เส้นทางการรับราชการในราชสำนักของโกษาธิบดีจีนดำเนินไปเรื่อย ๆ และทำหน้าที่เรื่องการค้าการคลังได้ดี แม้จะมีปัญหาติดขัดบ้าง เช่น เกิดเหตุการณ์นายสำเภาที่นำเรือไปนางาซากิ ขโมย ทา-ป้าย หรือหนังสือจีนที่ตราหมายเมืองว่าจะกำหนดไปเมืองนั้น ๆ ของสยามไปถึง 2 ครั้ง ในปี 2260 และ 2264 เป็นต้น

ชีวิตที่มากด้วยอำนาจวาสนาของโกษาธิบดีจีนนั้นมีเค้าลางหมดสิ้นลง เพราะช่วงที่พระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรใกล้สวรรคต พระองค์ได้พระราชทานสมบัติแก่ “เจ้าฟ้าอภัย” พระราชโอรสองค์ที่ 2 ทั้งที่ขณะนั้น “เจ้าฟ้าพร” พระราชอนุชาในพระเจ้าท้ายสระ ดำรงพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป 

โกษาธิบดีจีนเลือกสนับสนุนเจ้าฟ้าอภัยให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา แต่ท้ายที่สุดโชคกลับไม่เข้าข้าง เพราะเจ้าฟ้าอภัยเป็นฝ่ายปราชัย เจ้าฟ้าพรเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ขุนนางใหญ่ชาวจีนผู้นี้จึงต้องลี้ภัยการเมืองไปออกบวช แต่เนื่องจากเป็นคนใหญ่คนโตและมีอำนาจทางการเมือง จึงถูกทหารมุสลิม 30 คนตามไปจับ และสังหารในขณะที่ยังห่มผ้าเหลือง

การสูญเสียครั้งนี้ ทำให้ ชาวจีน ในอยุธยามากมายกลับมาล้างแค้น จนเกิดเป็น “กบฏนายก่าย” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุเนตร ชุตินธรานนท์. ในยุคอวสาน กรุงศรีฯ ไม่เคยเสื่อม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2566