“กบฏจีนนายก่าย” วางแผนปล้นวังหลวงสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

กบฏจีนนายก่าย ชาวจีน เป็นกบฏ ต่อ กรุงศรีอยุธยา อยุธยา

“กบฏจีนนายก่าย” การกบฏครั้งสำคัญของ “ชาวจีน” ในสมัย กรุงศรีอยุธยา นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ช่วงต้นแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

มูลเหตุของกบฏสืบย้อนกลับไปเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังดำรงตำแหน่ง “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” หรือวังหน้าในสมัยของพระเชษฐาของพระองค์ คือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พ.ศ. 2251-2275) หรือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์จึงมีสิทธิอย่างถูกต้องในการสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระเชษฐา

Advertisement

แต่ในบั้นปลายพระชนมชีพของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ทรงต้องการให้พระราชโอรสสืบราชสมบัติมากกว่า เจ้าฟ้าอภัย จึงกลายเป็นผู้ท้าชิงราชบัลลังก์กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในขณะนั้นทันที แต่สุดท้ายสงครามชิงราชสมบัติจบลงด้วยชัยชนะของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เจ้าฟ้าพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา ละครพรหมลิขิต
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในละครพรหมลิขิต (ภาพจากละครพรหมลิขิต)

“กบฏจีนนายก่าย”

คำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่า ภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้ขึ้นครองราชย์เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าบรมราชา และสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ผู้สบคบคิดชิงราชสมบัติกับพระองค์

ปีถัดมาภายหลังการปราบดาภิเษก เถลิงราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2277 ว่า ชาวจีนเกิดความไม่พอใจสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเกี่ยวกับกรณีการประหารชีวิตเจ้านายและขุนนางที่เกี่ยวข้องกับเจ้าฟ้าอภัย จึงมีการสมคบคิดกันก่อความวุ่นวายแต่ความแตกเสียก่อน ดังความว่า

“ครั้น ณ เดือน ๑๐ แรม ๑๐ ค่ำ เพลาค่ำ ผู้อยู่รักษากรุงเทพมหานคร (กรุงศรีอยุธยา) บอกหนังสือขึ้นไปกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า จีนนายไก้ (สะกดตามต้นฉบับ – ผู้เขียน) คบคิดกันเพลาค่ำยกขึ้นมา จะเข้าปล้นเอาพระราชวังหลวงประมาณ ๓๐๐ คน ข้าพระพุทธเจ้า (ผู้อยู่รักษากรุง) ทั้งปวงชวนกันออกไล่ตีแตกจีนแตกหนีกระจัดกระจายไป”

ชาวจีนกลุ่มดังกล่าวคือจีนจากชุมชนนายก่าย พากันรวมสมัครพรรคพวก รวมกำลังกันได้ 300 คน วางแผนเตรียมการบุกเข้าไปปล้นพระราชวังหลวงแล้วจึงหลบหนี ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่ได้ประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่เสด็จไปคล้องช้างที่เมืองลพบุรี

อย่างไรก็ตาม การกบฏครั้งนี้วางแผนไม่รัดกุมพอ ข่าวรั่วไหลไปถึงผู้รักษากรุงฯ วังหลวงจึงนำกำลังเข้าปราบปรามเป็นผลสำเร็จ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงทราบ จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา แล้วทรงให้ดำเนินการไต่สวนสืบหาความจริงต่าง ๆ ดังความว่า

“ทรงทราบแล้ว เพลาตี ๑๑ ทุ่มจะรุ่งขึ้นวันแรม ๑๑ ค่ำ ก็เสด็จพระราชดำเนินลงมา ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ครั้นเสด็จพระราชดำเนินมาถึงกรุงแล้ว จึงทรงพระกรุณาให้สืบสาวจับจีนซึ่งคบคิดกัน จับได้ ๒๘๑ คน ทรงพระกรุณาสั่งให้ลงพระราชอาชญาขับเฆี่ยนโบยตี ที่เป็นเหตุ ๑๐ คนให้ประหารชีวิตเสีย ที่ปลายเหตุนั้นให้จำไว้ ณ คุก”

สรุปว่ามีคนจีนถูกจับกุมทั้งสิ้น 281 คน จากเหตุการณ์ “กบฏจีนนายก่าย” พระเจ้าแผ่นดินทรงมีบัญชาให้ประหารชีวิตต้นคิดและผู้นำกบฏทั้งสิ้น 10 คน ส่วนคนอื่น ๆ ให้ลงพระราชอาญาและจำคุก จากตัวเลขผู้ก่อการ ผู้ถูกจับกุม และถูกประหารชีวิต ที่มีเป็นหลักร้อย-หลักสิบ เทียบกับจำนวนประชากรของชุมชนจีนย่านคลองนายก่ายถือว่ามีจำนวนไม่มากนัก เพราะนี่คือชุมชนย่านการค้าขนาดใหญ่ของ ชาวจีน สมัยอยุธยา

จะเห็นว่าราชสำนักอยุธยาเข้มงวดและระมัดระวังในการปราบปรามฝ่ายกบฏอย่างมาก โดยแยกแกนนำออกจากไพร่พลที่ทำตามคำสั่งผู้นำ ไม่เหมารวมทั้งหมด เพื่อป้องกันมิให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับชาวจีนกลุ่มอื่น ๆ แม้ตามกฎหมายและจารีตสมัยอยุธยาแล้ว การก่อกบฏสามารถนำมาซึ่งการล่มสลายของทั้งชุมชน เพราะผู้เกี่ยวข้องจะต้องโทษประหาร 9 ชั่วโคตร

การปราบปรามกบฏครั้งนั้นจึงไม่มีผลทำให้ชุมชนจีนคลองนายก่ายถึงคราวอวสาน ทางการเชื่อว่าชาวจีนในย่านนี้ส่วนใหญ่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏ ดังจะพบว่าใน พ.ศ. 2310 เมื่อกองทัพอังวะเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ไพร่พลจากชุมชนจีนนายก่ายภายใต้การนำของหลวงอภัยพิพัฒน์ (จีน) จำนวน 2,000 นาย คือกองกำลังอาสาที่เข้ารบต่อต้านฝ่ายพม่า โดยนำกำลังออกไปตีค่ายอังวะที่ค่ายโพธิ์สามต้น ก่อนถูกข้าศึกตีแตกพ่ายกลับมา จนต้องถอยไปตั้งหลักอยู่ที่วัดทะเลหญ้า (วัดบรมวงศ์อิศวรารามในปัจจุบัน)

ถือเป็นการยืนยันการมีอยู่ของชุมชนจีนย่านคลองนายก่าย ซึ่งดำรงอยู่จนถึงฉากสุดท้ายของ กรุงศรีอยุธยา และมีบทบาทสำคัญในช่วงเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. (2566). Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน.

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ : พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (2479). พิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภาณพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยูรวงศาวาส. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2566