“กบฏธรรมเถียร” กบฏไพร่ครั้งแรกในสมัยพระเพทราชา

“กบฏธรรมเถียร” กบฏไพร่ครั้งแรกในสมัยพระเพทราชา เป็นกบฏที่สร้างความปั่นป่วนให้กับทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอย่างมาก ภาพนี้เป็นจิตรกรรมจากโครงภาพพระราชพงศาวดาร เขียนสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระคด

ข้าหลวงเดิมอ้างตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ ยกไพร่พลใช้หอกดาบ และสรรพเครื่องมือทำมาหากิน บุกกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินทรงเตรียมหนี วังหน้าทรงออกบัญชาการปราบ สุดท้ายทรงนิรโทษกรรมชาวบ้านที่เข้าร่วม

รายงานข่าวจากพระราชพงศาวดารแจ้งว่า เมื่อจุลศักราช 1046 ปีชวด ฉศก (พ.ศ. 2227) นายธรรมเถียรข้าหลวงเดิมเจ้าฟ้าอภัยทศ ได้นำขบวนชาวนา ถือหอกดาบ คันหลาว คานหาบข้าว และเคียว เดินเท้าจากลพบุรีมาจนถึงตำหนักพระนครหลวง เตรียมบุกเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อยึดราชบัลลังก์พระเจ้าแผ่นดิน พระเพทราชา

จำเดิมแต่เมื่อเจ้าฟ้าอภัยทศ พระราชอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงถูกฝ่ายพระเพทราชาลวงให้เสด็จไปลพบุรี จนถูกสำเร็จโทษที่ตำบลวัดซาก นั้น นายธรรมเถียรมีความเคียดแค้นที่เจ้านายถูกแย่งอำนาจ จึงหลบไปเรียนวิชาความรู้ ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว แล้วกลับมาประกาศตัวเป็นเจ้าฟ้าพระองค์นั้น โดยอ้างว่า เจ้าฟ้าอภัยทศที่ร่ำลือกันว่าถูกสำเร็จโทษไปแล้วนั้น หาได้ตายไม่ นอกจากจะติดไฝให้เหมือนเจ้าฟ้าอภัยทศแล้ว ชาวบ้านชาวดงล้วนไม่เคยเห็นเจ้าฟ้าอภัยทศมาก่อนก็สำคัญว่าเป็นตัวจริง ต่างเอาสิ่งของมานบนอบนายธรรมเถียร  และยอมสมัครเข้าเป็นพวกในขบวนการของนายธรรมเถียรเป็นอันมาก สำนักข่าวพงศาวดารพระพนรัตน์แจ้งว่า ผู้คนที่เข้าร่วมมาจากนครนายก สระบุรี ลพบุรี และแขวงขุนนคร

ครั้นถึงเดือน 3 ปีนี้ นายธรรมเถียรเรียกชุมนุมปลุกระดมพลพรรคพร้อมสรรพ ขึ้นขี่ช้างพลางกาง ถือพัดโบก ใช้คนกุลาซึ่งเป็นข้าในเรือนเป็นท้ายช้าง ยกพลมาตามท้องทุ่ง กวาดฝูงชนที่กำลังทำนาอยู่นั้นมาด้วยเป็นอันมาก เมื่อมาถึงพระตำหนักพระนครหลวงก็หยุดทัพเข้าพัก ตัวนายธรรมเถียรเองขึ้นขี่ช้าง เอาเครื่องสูงที่มีอยู่ที่ตำหนักพระนครหลวงกั้น แห่หน้าแห่หลังมา

อนึ่ง เมื่อนายธรรมเถียรมาถึงพระตำหนักพระนครหลวงได้สามวันนั้น ได้ให้คนสนิทไปนิมนต์พระพรหม ณ วัดปากคลองช้าง ว่าเจ้าฟ้าอภัยทศเสด็จมาอยู่ ณ พระตำหนักพระนครหลวงได้สามวันแล้ว บัดนี้รับสั่งให้มานิมนต์พระผู้เป็นเจ้าขึ้นไป พระพรหม ซึ่งสันนิษฐานว่าจะเป็นพระอาจารย์ของเจ้าฟ้าอภัยทศมาก่อนจึงแจ้งแก่ผู้มานิมนต์ว่า “ถ้าและลูกกูยังอยู่จริง ไหนเลยจะอยู่แต่ที่พระนครหลวงเล่า ก็จะลงมาถึงนี่ การทั้งนี้หากโกหก หาจริงไม่ สูเจ้าอย่าเชื่อถือ ถ้าและผู้ใดเชื่อมันถือมัน ผู้นั้นก็จะพลอยตายเสียเปล่าเป็นมั่นคง” ผู้มานิมนต์ก็กลับไปบอกกัน ต่างคนต่างหนีไปเป็นอันมาก

เมื่อนายธรรมเถียรยกกองกำลังมาถึงชานพระนครนั้น ทางฝ่ายอยุธยา มีรายงานข่าวไม่ตรงกัน  สำนักข่าวพันจันทนุมาศระบุว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพทราชาทรงทราบข่าว ก็สำคัญพระทัยว่าเป็นเจ้าฟ้าพระองค์นั้นยกทัพมาเอง ดำรัสให้เตรียมเรือพระที่นั่งหนี ส่วนทางสำนักพระพนรัตน์อ้างว่า เมื่อฝ่ายธรรมเถียรยกมาถึงตำบลบ่อโพงใกล้เพนียดคล้องช้าง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ขุนหลวงสรศักดิ์) ทอดพระเนตรเห็นก็ตกพระทัย และเตรียมปราบอย่างใหญ่โต แม้องค์พระเจ้าอยู่หัวเองก็ยังตกพระทัย ถึงกับให้มหาดเล็กไปเชิญพระแสงขอพลพ่ายที่สมเด็จพระนเรศวรใช้ในคราวสงครามยุทธหัตถีมาเพื่อปราบกบฏครั้งนี้

กรมพระราชวังบวรฯ ทรงอำนวยการปราบโดยให้ทหารขึ้นประจำเชิงเทิน ป้อมมหาชัย ตั้งสัตยาธิษฐานแล้วใช้ปืนใหญ่เล็งยิงไปที่ธรรมเถียร เมื่อยิงครั้งแรก ไฟไม่ติดดินปืน เมื่อไขเอากระสุนดินดำออกมาจึงรู้ว่าบรรจุผิด ทรงให้บรรจุใหม่ จึงยิงได้ พนักงานที่บรรจุกระสุนในครั้งแรกถูกประหารชีวิต เพราะทรงเห็นว่าเป็นพวกฝ่ายกบฏเป็นแน่แล้ว

แหล่งข่าวบางสำนักบอกว่าลูกปืนถูกธรรมเถียรตาย บางแหล่งบอกถูกช้างของธรรมเถียร ส่วนธรรมเถียรบาดเจ็บ ถูกจับตัวไปประหารชีวิตในภายหลัง

พันจันทนุมาศซึ่งอ้างว่าปืนใหญ่ถูกธรรมเถียรตกช้างตาย ยังอ้างต่อไปว่า กุลาซึ่งทำหน้าที่ขี่ท้ายช้างโจนลงจากหลังช้างหลบหนี ทางการตามจับได้ที่ตำบลวัดขนานป่าข้าวสาร ไพร่พลที่เป็นหัวหน้าแตกหนีกระจายไป ส่วนไพร่พลชายหญิงที่ติดตามร่วมขบวนมายังเดินหลามเข้ามาไม่หยุด จนทางการต้องเข้าควบคุม ส่วนช้างพลาย พาหนะของธรรมเถียรนั้นก็จับเข้ามาถวาย

เมื่อปราบกบฏเสร็จแล้ว บรรดาระดับแกนนำถูกลงโทษตามความหนักเบา ตั้งแต่ประหารชีวิตไปจนถึงถูกส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ส่วนฝูงชายหญิงไพร่พลนั้น พันจันทนุมาศยืนยันว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสว่า “มันเป็นโมหะ หาปัญญามิได้ ปล่อยมันเสียเถิด อย่าเอาโทษเลย”

นายสมสมัย ศรีศูทรพรรณ นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนเรื่อง “โฉมหน้าศักดินาไทย” ได้วิจารณ์การก่อการยึดอำนาจของไพร่ในครั้งนี้ว่า มีลักษณะเป็นการลุกฮือก่อจลาจลของคนจำนวนมากๆ (Mob) ซึ่งขาดพลังที่มั่นคงพร้อมเพรียง ขาดการจัดตั้งเป็นองค์การที่มีพลัง จึงนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในบั้นปลาย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากเอกสารประกอบการเสวนาของ สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 18 กันยายน 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 เมษายน 2561