ทำไม “กบฏบุญกว้าง” ที่เล่าลือว่ามีคุณไสย ยึดนครราชสีมาได้โดยใช้พรรคพวกแค่ 28 คน

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

กบฏบุญกว้าง เป็นกบฏที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระเพทราชา กบฏครั้งนี้เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากส่วนกลาง เพราะเป็นกบฏที่เกิดขึ้นที่เมือง นครราชสีมา ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญที่ส่วนกลางใช้เป็นฐานอำนาจในการควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ ฟากตะวันออกเฉียงเหนือ

กบฏครั้งนี้มีความแตกต่างจากกบฏญาณพิเชียร (พ.ศ. 2124) กบฏธรรมเถียร (พ.ศ. 2231-2246) ที่มักถูกจัดว่าเป็น “กบฏไพร่” ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องมาจากกบฏครั้งนี้เกิดภายใต้ภาวะแวดล้อมและปัจจัยที่แปลกออกไปโดยเฉพาะเงื่อนไขทางสังคม (Social Context) ซึ่งรวมถึงลักษณะขอ’ประชากร ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติลาว และลักษณะวัฒนธรรมและความเชื่อของคนเชื้อชาตินั้น

อย่างไรก็ดี การพิจารณาถึงสาเหตุอันนำมาซึ่งการกบฏครั้งนี้ก็ไม่อาจตัดออกได้จากการศึกษาถึงนโยบายและพฤติกรรมทางการเมืองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่พยายามจะรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อเป็นการสะดวกในการศึกษาจะขอกล่าวถึงกบฏบุญกว้างตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏในเอกสารก่อน

พงศาวดารส่วนใหญ่ยกเว้นพงศาวดารฉบับพันจันทุมาศ [1] อธิบายถึงกบฏครั้งนี้ว่าเป็นกบฏลาว ผู้นำกบฏชื่อบุญกว้าง มีถิ่นฐานอยู่แขวงหัวเมืองลาวตะวันออก บุญกว้างเป็นคนที่มี “ความรู้ วิชาการดี” มีสมัครพรรคพวกรวม 28 คน บุญกว้างได้นำสมัครพรรคพวกเข้ายึดครอง นครราชสีมา โดยอาศัยวิทยาคุณทางไสยศาสตร์กำราบเจ้าเมืองและขุนนางคนอื่น ๆ ต่อมาเจ้าเมืองนครราชสีมากระทำกลอุบายแหย่ให้บุญกว้างนำกองทัพยกลงไปตีกรุงศรีอยุธยา จนเป็นเหตุให้บุญกว้างเสียทีและถูกจับกุมตัวประหารชีวิตในภายหลัง [2]

อย่างไรก็ดี ความในพงศาวดารฉบับจันทนุมาศซึ่งเป็นพงศาวดารฉบับเก่าที่สุดที่ได้รับการชำระหลังเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 และเป็นต้นแบบสำหรับการชำระพงศาวดารครั้งต่อไป [3] ได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปกล่าวคือ

หลังจากที่บุญกว้างและพวกทั้ง 28 คนยึดเมืองนครราชสีมาได้แล้ว ทางอยุธยาได้ยกกองทัพใหญ่ขึ้นไปล้อมเมืองเป็นเวลานานถึง 3 ปีก็ตีเมืองไม่สำเร็จชาวเมืองต่างอดอยากเป็นอันมาก พวกกบฏทั้ง 28 คนจึงได้หลบหนีออกจากเมือง ตามจับตัวไม่ได้ ส่วนแม่ทัพนายกองฝ่ายอยุธยาได้กิตติศัพท์ว่าพระเพทราชาสวรรคตจึงถอยทัพกลับลงมา ด้วยเข้าใจว่าข่าวนั้นเป็นจริง เป็นอันว่าการตีนครราชสีมาครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ

จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏในพงศาวดารทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดบุญกว้างพร้อมด้วยพรรคพวกเพียง 28 คน จึงสามารถเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมาได้อย่างง่ายดาย กบฏครั้งนี้ควรจะมีปัจจัยประการอื่นที่นอกเหนือไปจากหลักฐานเท่าที่ปรากฏในพงศาวดาร ซึ่งปัจจัยนั้นน่าจะสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนมือของราชวงศ์ที่ครองอำนาจทางการเมืองที่กรุงศรีอยุธยา การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นขุนนาง

ในกรณีของพระยายมราชสังข์เจ้าเมืองนครราชสีมานั้น หลักฐานในพงศาวดารทุกฉบับยืนยันสอดคล้องต้องกันว่าเป็นผู้ที่ทำการรบได้อย่างเข้มแข็ง สามารถรักษาเมืองอยู่ได้นานถึง 3 ปี

“พระยานครราชสีมาก็ตรวจจัดรี้พลขึ้นอยู่ประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน ปราการป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทัพกรุงยกเข้าแหกหักเป็นหลายครั้ง ชาวเมืองรบพุ่งป้องกันทั้งกลางวันกลางคืนไม่ย่อหย่อน ทัพกรุงแหกหักเอามิได้ ก็ตั้งล้อมมั่นไว้…ไพร่พลเมืองอดอยากซูบผอมล้มตายเป็นอันมาก แต่ทว่าพระยายมราชเจ้าเมืองนี้มีฝีมือเข้มแข็ง ตั้งเคี่ยวขับต้านทานอยู่มิได้แตกฉาน” [4]

ส่วนกลาง (พ.ศ. 2231) ยังความไม่พอใจมาให้กับขุนนางท้องถิ่นที่เป็นฐานอำนาจเดิมของพระนารายณ์ คือพระยายมราชสังข์ เจ้าเมืองนครราชสีมาและพระยาเดโชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช พระเพทราชาต้องใช้เวลาปราบกบฏทั้งสองครั้งนี้ราว 10 ปีจึงปราบสำเร็จ

อย่างไรก็ดีท้ายที่สุดกองทัพอยุธยาก็สามารถตีเมืองนครราชสีมาได้แต่พระยาราชสังข์ก็สามารถพาครอบครัวหลบหนีออกจากเมืองได้เช่นกัน หลังจากสงครามครั้งนี้ประมาณ 6 ปี จึงได้เกิดกบฏบุญกว้างขึ้น

ศึกนครราชสีมาภายใต้การนำของพระยายมราชสังข์ดูจะเป็นกุญแจสำคัญที่พอจะใช้คลี่คลายเงื่อนงำของกบฏบุญกว้างที่เกิดตามมาในภายหลังได้ แต่ก่อนจะไปถึงประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นเขตที่ชนเชื้อชาติลาวอาศัยรวมกันอยู่หนาแน่น การที่อยุธยาจะรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงในเขตนั้นให้ได้

เมืองที่สำคัญจะเป็นศูนย์อำนาจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนั้นคือเมืองนครราชสีมา กษัตริย์ที่ส่วนกลางจึงจำเป็นต้องส่งขุนนางที่เข้มแข็ง ทั้งในการปกครองและการรบไปครองเมืองนี้ และที่สำคัญคือขุนนางผู้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์และไว้ใจได้ ด้วยเหตุนี้พระนารายณ์จึงทรงเลือกให้พระยายมราชสังข์ไปครองเมืองนครราชสีมา ครั้นเมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชย์พระยายมราชสังข์ก็พยายามแยกหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกเป็นอิสระจากส่วนกลาง ซึ่งก็สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่พระยายมราชสังข์สิ้นอำนาจลง ปัญหาที่เกิดตามมา คือขุนนางที่ขึ้นมาครองเมืองนครราชสีมาสืบต่อขาดซึ่งอำนาจบารมีพร้อมทั้งฐานกำลังสนับสนุนเช่นพระยายมราชสังข์ [5] เป็นไปได้ว่าสถานการณ์ขณะนั้นไม่เปิดโอกาสให้พระเพทราชาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นแทนอำนาจพระยายมราชสังข์เช่นกันทั้งนี้เพราะการปราบกบฏก็ยังไม่เสร็จสิ้น เพราะเมืองนครศรีธรรมราชในขณะนั้นก็ยังคงแข็งเมืองอยู่

ความอ่อนแอของเจ้าเมืองใหม่และการสลายตัวของกลุ่มอำนาจเดิมย่อมผลักดันให้เกิดภาวะความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในชุมชนของชาวลาวซึ่งกระจายตัวอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเปิดโอกาสให้บุญกว้างและสมัครพรรคพวกอ้างตัวเป็นผู้มีบุญและก่อการกบฏขึ้น

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า กบฏบุญกว้าง เป็นกบฏเดียวในสมัยอยุธยาที่มีส่วนใกล้เคียงกับกบฏผู้มีบุญภาคอีสานในสมัยรัตนโกสินทร์ การตั้งตัวเป็น “ผู้มีบุญ” ของบุญกว้างย่อมต้องได้รับการสนับสนุนจากชาวลาว ซึ่งมีเชื้อชาติเดียวกันและใช้วัฒนธรรมร่วมกัน หากความในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศเชื่อถือได้ก็ไม่ใช่ของแปลกที่ชาวนครราชสีมาต่างให้ความร่วมมือกับพวกกบฏเป็นอันดีในการพิทักษ์รักษานครได้ถึง 3 ปี ซึ่งหากพวกกบฏไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวลาวด้วยกันแล้ว ก็ยากที่จะอาศัยกำลังเพียง 28 คนในการเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมาและต้านศึกอยุธยาได้เป็นเวลาช้านาน

ประเด็นที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม คือกบฏบุญกว้างนั้นจัดเป็นกบฏไพร่ได้หรือไม่?

เมื่อพิจารณาในรายละเอียด ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการถูกกดขี่ขูดรีดจากผู้ปกครองแค่ดูจะเป็นปัญหาในทางการเมืองระหว่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม โดยมีปัจจัยทางศาสนาเข้ามาเป็นตัวร่วมสําคัญ

หากกบฏไพร่หรือกบฏชาวนาตามความเข้าใจทั่วไปเป็น “ปรากฏการณ์ที่กลุ่มชาวมาต่อสู้กับชมชั้นปกครองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเจ้าของผลผลิต” [6] หรือเป็น “การกบฏของไพร่สมัยอยุธยา” [7] กบฏบุญกว้างก็ไม่ควรจัดเข้าในลักษณะของกบฏไพร่ เพราะกบฏครั้งนี้มีพื้นฐานความเป็นมาที่สลับซับซ้อนกว่านั้น

ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่ากบฏบุญกว้างจัดเข้าเป็นประเภทหนึ่งของ messianic Movements ซึ่งเป็นลักษณะทางสังคมประการหนึ่ง ซึ่งมักปรากฏในชุมชนที่ล้าหลัง และมีความเชื่อที่ฝังแน่นในเรื่องผู้นําท้องถิ่น (Local elite) หรือผู้มีบุญที่จะนําสังคมไปสู่ยุคแห่งความมั่งคั่ง (golden age) [8] ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้มักปรากฏออกมาในรูปของการประสมประสานระหว่างความเชื่อของท้องถิ่นซึ่งเป็น Litle Tradition กับพุทธศาสนาซึ่งเป็น Great Tradition [9] (เฉพาะกรณีของกบฏบางกบฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) [10]

ที่สําคัญคือ ความเชื่อในเรื่อง golden age นั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาที่ได้รับการยอมรับนับถือสืบเนื่องกันมาช้านานก่อนจะเกิดการกบฏขึ้น ครั้นเมื่อสังคมถูกแทรกแซงโดยวัฒนธรรมหรืออิทธิพลจากภายนอกจนเป็นเหตุให้การดําเนินชีวิตของสมาชิกในสังคมไม่อาจเป็นไปได้ตามครรลองที่เคยเป็น จนสังคมเริ่มจมลงสู่ห้วงเวลาแห่งความวิบัติ (harsh times) ความเชื่อในเรื่อง golden age ก็จะถูกปลุกขึ้นโดยผู้นําระดับท้องถิ่น (local elite) ที่พยายามจะเล่นบทบาทของผู้ที่จะนําสังคมไปสู่ยุค golden age ดังที่มีปรากฏในคําสอนทางศาสนา

ดังนั้นในส่วนหนึ่ง Messianic Movements จึงเป็นลักษณะหนึ่งของ Religious Movements โดยจะมีเรื่องของพิธีกรรม (ritual) เข้ามาเป็นองค์ประกอบสําคัญ ขณะเดียวกันอิทธิพลจากภายนอกเช่นภาวะการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ก็เป็นองค์ประกอบที่สําคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้เกิด Messianic Movements ขึ้น

กบฏบุญกว้างนั้นจัดเป็นลักษณะหนึ่งของ Messianic Movements ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีความเชื่อฝังแน่นอยู่ในเรื่องของผู้มีบุญอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมักจะปรากฏตัวขึ้นได้ในหลายลักษณะ เช่นการอ้างตัวเป็นขุนเจืองกลับชาติมาเกิด พระยาธรรมิกราช และอื่น ๆ

ในกรณีของบุญกว้าง ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่าบุญกว้างอ้างตนเป็น Legendary Hero ตนใดเพราะเอกสารของส่วนกลางระบุแต่เพียงว่า บุญกว้างได้อ้างตนเป็นผู้มีบุญเท่านั้น การปรากฏตัวของบุญกว้างเป็นผลสืบเนื่องมาจากศูนย์อํานาจและผู้นําที่เข้มแข็งและมีบารมีคือพระยายมราชสังข์ ถูกขจัดลงโดยอิทธิพลทางการเมืองของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ภาวะสงครามอันยืดเยื้อตามมาด้วยการเปลี่ยนตัวผู้ปกครองซึ่งเป็นบุคคลที่อ่อนแอไร้บารมี ส่งผลให้ภาวะความเป็นอยู่ของชาวลาวผิดไปจากเดิมจนเป็นเหตุให้บุญกว้าง “ฉวยโอกาสประกาศตนเป็นผู้มีบุญเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมา ความจํากัดตัวของเอกสารทำให้ไม่อาจทราบถึง golden age ที่บุญกว้างกำหนดขึ้น แต่คาดว่าควรจะเป็นยุคพระศรีอาริย์

บุญกว้างในฐานะผู้มีบุญย่อมได้รับการสนับสนุนจากชาวลาวอย่างกว้างขวาง มิฉะนั้นอาศัยพวกเพียง 28 คน ย่อมยากจะเข้ายึดครองเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ได้

หลักฐานสะท้อนให้เห็นว่า บุญกว้างประสบความสำเร็จไม่น้อยในการรวบรวมชาวบาวทำการกบฏแข็งข้อต่อส่วนกลางจนเป็นเหตุให้พระเพทราชาต้องส่งกองทัพใหญ่พร้อมด้วยกำลังทหารและอาวุธที่ทันสมัยไปปราบกบฏครั้งนี้

สรุป จากการศึกษากบฏญาณพิเชียร กบฏธรรมเถียร และกบฏบุญกว้างซึ่งเป็นกบฏที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาสามารถหาข้อยุติได้ว่ากบฏทั้งสามครั้งไม่สมควรจัดรวมเรียกเป็น “กบฏไพร่” เพราะกบฏแต่ละครั้งมีลักษณะเฉพาะของตนที่แตกต่างไปจากกบฏครั้งอื่นๆ …

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

[1] ชาญวิทย์ เกษตรสิริ, “กบฏไพร่สมัยอยุธยา” หน้า 69

[2] พระราชพงศาวดารกรุงสยาม หน้า 523-527

[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (พระนคร : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2523) หน้า 17

[4] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระนพรัตน์ (พระนคร : บรรณาคาร 2525) หน้า 513, 514

[5] หลักฐานในพงศาวดารแสดงให้เห็นว่า เจ้าเมืองนครราชสีมาคนใหม่อ่อนแอเช่นเมื่อ แผชิญหน้ากับบุญกว้างก็ถูกฝ่ายกบฏกําหราบ ขน “สะดุ้งตกใจกล้วยิ่งนัก และขับช้างหัน หวงแผ่นหนีเข้าประตูเมือง” (พระราชพงศาวคารกรุงสยาม… หน้า 523) หรืออาศัยเฉพาะกําลังตนเองและข้าราชการเมืองนครฯก็ไม่เพียงพอแก่การต่อต้านกบฏจําต้องขอความช่วยเหลือจากเมืองหลวง ลักษณะนี้แสดงว่าเจ้าเมืองคนใหม่ไร้บารมี และฐานกําลังที่มั่นคงกับพระยายมราชสังข์มาก

[6] วารุณี โอสถารมย์ และอัญชลี สุสายัณห์, “กบฏไพร่สมัยพระเพทราชา,” หน้า 52,

[7] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ “กบฏไพร่สมัย อยุธยา…”, หน้า 53

[8] Barber, ‘Acculturation and Messianac Movements, Reader in Comparative Religion (New York, Evanston, and London: Harper & Row, 1965) p. 506

[9] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นกรณีกบฏอ้ายสาเกียตโง้ง ซึ่งหัวหน้ากบฏอ้างตนเป็นขุนเจืองซึ่งเป็น Hero ในตํานานของชนชาติลาว แต่ตัวอ้ายสาเองก็ใช้พุทธศาสนาประกอบกับไสยศาสตร์เป็นแกนนําทําให้ชาวบ้านเลื่อมใส ศรัทธา

[10] Great Tradition นั้นไม่จําเป็นจะต้องเป็นพุทธศาสนาเสมอไป แต่ในกรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย พุทธศาสนาถือเป็นศาสนาหลักจึงกล่าวว่าในประเด็นที่ต้องการศึกษานี้ Great Tradition ที่นํามากล่าวถึงก็คือพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาอื่น


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘กบฏไพร่’ สมัยอยุธยา” เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2526


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2562