
เผยแพร่ |
---|
รัฐโบราณในดินแดนประเทศไทย อย่างล้านนา, สุโขทัย และอยุธยา ต่างเรียก “กำลังคน” ของตนเองว่า “ไพร่” เช่นเดียวกับ อักขราภิธานศรับท์ ที่ให้ความหมายคำนี้ไว้ว่า “ไพร่, คือคนราษฎรที่เปนชาวเมือง, มิใช่ขุนนาง, เปนแต่พลเรือน” รัฐไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์มีวิธีการควบคุมไพร่อย่างเป็นระบบ โดยอาศัยพื้นฐานการควบคุมกำลังคยตามระบบศักดินาและกรมกองในการบังคับบัญชา
ระบบไพร่ เป็นการควบคุมจัดสรรแรงงานเพื่อรับใช้มูลนาย เช่น กฎหมายสมัยอยุธยากำหนดให้ชายฉกรรจ์รับราชการปีละ 6 เดือน คือ รับราชการ 1 เดือน ได้พัก 1 เดือน เรียกว่า “เข้าเดือนออกเดือน” ระหว่างเข้าเดือนนั้น ไพร่จะต้องเตรียมเสบียง, เครื่องมือในการทำงานมาเอง และต้องนำของกำนัลมาให้มูลนายด้วย กรณีของผู้หญิงก็ต้องเป็นไพร่เหมือนกัน กฎหมายตราสามดวงกำหนดให้ไพร่ผู้หญิงเป็นลูกหมู่ขึ้นสังกัดตามพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 9 ปี ซึ่งมีทั้งการทำงานตามทักษะ และบ้างก็ใช้แรงงานเช่นเดียวกับผู้ชาย
ในส่วนของมูลนายนั้น ก็มีบางส่วนอาศัยช่องทางกฎหมายเก็บไพร่ไว้ใช้ส่วนตัว รวมถึงใช้ไพร่อย่างทารุณที่เกิดขึ้นเสมอๆ แม้จะมีกฎหมายให้ความคุ้มครองไพร่ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะการเรียกร้องความยุติธรรมของไพร่มีขั้นตอนที่มากมาย และให้สิทธิแก่มูลนายไว้สูงกว่า นอกจากนี้การที่ไพร่ต้องสังกัดมูลนาย ทำให้ไม่มีสิทธิโยกย้ายที่ทำกิน โอกาสทางเศรษฐกิจของไพร่จึงถูกจำกัด งานที่ทำก็หนีไม่พ้นการทำเกษตรกรรม, หัตถกรรมในครัวเรือน หรือการรับจ้างเล็กๆน้อยๆ นอกจากนี้หากปีใดที่มีปัญหาจากภัยธรรมชาติ เช่น ฝนมากหรือน้อยกว่าปกติ รายได้ก็อาจไม่เพียงพอ จนบางครั้งไพร่อาจต้องขายตัวเป็นทาสก็มี
ความกดดันที่มีต่อระบบแรงงานทำให้ไพร่หลีกหนีสถาพที่เป็นอยู่ของตนด้วยวิธีต่างๆ เช่น การบวช, ลอบย้ายสังกัดกรมกรอง รวมถึงการเลือกเป็น “ไพร่หนีนาย” และบางครั้งก็มีกลายเป็น “กบฏไพร่” ที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้ง ดังตัวอย่างต่อไป
กบฏญาณพิเชียร เมื่อปี 2124 ในสมัยพระมหาธรรมราชา หัวหน้ากบฏเป็นผู้มีวิชาจากการศึกษาบวชเรียน สามารถระดมพลได้ 3,000 คนจากพื้นที่อยุธยาและลพบุรี มีที่ตั้งอยู่บ้านยี่ล้น (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ จ. อ่างทอง)
กบฏธรรมเถียร เมื่อปี 2237 ในรัชกาลของพระเพทราชา ธรรมเถียรเป็นพระศึกใหม่และข้าเก่าของเจ้าฟ้าอภัยทศ ที่แอบอ้างเป็นพระองค์ จนรวบรวมผู้คนได้ประมาณ 2,000 คน จากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ไปจนถึงสระบุรี, ลพบุรี, นครนายก เป็นกบฏที่สร้างความปั่นป่วนให้อยุธยาอย่างมาก ด้วยยกมาประชิดพระนครถึงตำบลบ่อโพงใกล้เพนียดคล้องช้าง
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “กบฏธรรมเถียร” กบฏไพร่ครั้งแรกในสมัยพระเพทราชา
กบฏบุญกว้าง ปี 2241 ใสมัยพระเพทราชา บุญกว้างอาศัยความเชื่อไสยศาสตร์ เรียกศรัทธาจากผู้คนจนยึดเมืองนครราชสีมาได้ มีไพร่พลกว่า 4,000 คน ช้างศึก, ม้าศึกมากว่า 100 ตัว สำหรับยกมาตีอยุธยา
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไม “กบฏบุญกว้าง” ที่เล่าลือว่ามีคุณไสย ยึดนครราชสีมาได้โดยใช้พรรคพวกแค่ 28 คน
กบฏไพร่สมัยอยุธยาที่กล่าวไปนั้นล้วนเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนอำนาจทางการเมือง หากในสมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ ที่มาของกบฏเป็นการต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อมุ่งแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า เช่น
กบฏเชียงแก้ว ปี 2334 กบฏโดยพวกข่า เกิดขึ้นภายหลังจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขยายอำนาจเข้าไปในภาคอีสาน และมีอิทธิพลเหนือพวกข่า ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยกทัพไปตีนครจำปาศักดิ์ (พ.ศ. 2320) กวาดต้อนเขมรป่าดงประมาณ 30,000 คน และบังคับเจ้าเมืองอัตปือที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมีเชื้อสายข่าเกลี้ยกล่อมพวกข่ามาเป็นพลมือง ให้มีหน้าที่ส่งส่วยผ่านเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ ฯลฯ
กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง ปี 2362 เป็นความเดือดร้อนของไพร่ข่า เนื่องจากทางกรุงเทพฯ ต้องการส่วยทองคำเพิ่มจากปีละ 3 ชั่งเป็นปีละ 6 ชั่ง อ้ายสาเกียดโง้งตั้งตนเป็นผู้เวิเศษสำแดงวิชา จนสามารถรวมพลได้ 6,000-8,000 คน จากพวกข่าเมืองสาละวัน, คำทอง และอัตปือ เข้าโจมตีเมืองจำปาศักดิ์ ทางกรุงเทพต้องส่งเจ้าพระยานครราชสีมากับเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ไปปราบ
กบฏผู้มีบุญภาคอีสาน ปี 2444-45 ที่เกิดจากการเมืองทั้งภายในและภายรอก เริ่มจาการที่รัฐส่วนกลางเข้ามามีอำนาจในท้องถิ่นอีสาน มีการส่งข้าหลวงไทยไปประจำเมืองพระตะบอง (พ.ศ. 2419), ประจำเมืองจำปาศักดิ์ (พ.ศ. 2425) ซึ่งเป็นการสั่นคลอนอำนาจท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยทางเศรษฐกิจ ในปี 2442 ข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลฯ ประกาศเก็บเงินค่ารัชชูปการเพิ่ม และการทุจริตตจากนโยบายซื้อขายโคกระบือซึ่งข้าราชการในท้องถิ่นกำหนดราคาได้เอง ฯลฯ ทำให้ผู้คนหันไปหาความเชื่อท้องถิ่นเรื่องผู้มีบุญที่จะมาปราบทุกข์เข็ญ
กบฏผู้มีบุญครั้งสำคัญเกิดที่เมืองบุลฯ มีผู้มีบุญคนสำคัญ 3 คน คือ นายมั่น-ลาวฝรั่งเศสจากอำเภอเขมราฐ มีสานุศิษย์ 200 คน, อ้ายบุญจัน-จากเมืองขุขันธ์ มีพรรคพวก 6,000 คน, เล็ก-ที่อยู่ในอำเภอพยัคฆภูมิสัย ที่มีลูกศิษย์หลายจังหวัดในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี กบฏผู้มีบุญเป็นกบฏครั้งที่รุนแรงครั้งหนึ่งที่รัฐต้องปราบปราม
กบฏพระยาราปราบสงคราม หรือ กบฏพญาผาบ พระยาปราบสงคราม-แม่ทัพเมืองเชียงใหม่ กบฏนี้มีจุดเริ่มต้นจากระบบภาษีอากรผูกขาดโดยเฉพาะภาษีหมาก, พูล, มะพร้าว ซึ่งเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บเป็นอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือ ออกเก็บภาษีปีละครั้งแทนระบบเดิมที่เสียภาษีเฉพาะเวลาซื้อขาย ระบบใหม่ทำให้ต้องเสียภาษีแม้จะไม่มีการซื้อขาย ราษฎรหาเงินมาเสียภาษีไม่ทัน ต้องการกลับมาใช้ระบบเดิมแบบล้านนา
หากพวกเจ้าภาษีก็ใช้วิธีการรุนแรงด้วยการจับราษฎรในเขตแขวงของพระยาปราบสงคราม ที่มีไม่สามารถชำระภาษีได้มาจำขื่อมือขื่อเท้า พระยาปราบสงครามกับพวกราษฎรและพวกจึงเข้าช่วยและขับไล่เจ้าภาษีออกจากหมู่บ้าน ต่อมามีการระดมราษฎรได้ประมาณ 2,000 คน จึงเตรียมอาวุธ, เสบียง รวมทั้งเครื่องรางมุ่งสังหารข้าราชการไทและชาวจีน
กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ปี 2445 นำโดยพกาหม่องและพวกที่เข้าปล้นเมืองแพร่ ยึดที่ทำการราชการได้หลายแห่ง รวมทั้งศาลากลางปล้นราชทรัพย์ไปได้ 40,000 บาท ภายหลังได้รับการสนับสนุนจากพวกเงี้ยวชาวเมืองแพร่อีก 300 คน นอกจากปล้นแล้วพวกเงี้ยวยังค้นหาข้าราชการออกมาสังหารหลายคนรวมทั้งพระยาไชยบูรณ์ข้าหลวงเมืองแพร่
คลิกอ่านเพิ่มเติม : การปฏิรูปมณฑลพายัพของสยาม บีบบังคับให้เงี้ยวก่อกบฏ เมื่อ พ.ศ. 2445 ?
กบฏไพร่ในภาคใต้ หรือ กบฏผู้วิเศษ ปี 2452-54 ที่สะท้อนให้เห็นปฏิกิริยาที่คนในท้องถิ่นมีต่อรัฐบาลกลาง และนโยบายการปกครองหัวเมืองของส่วนกลางที่มีต่อผู้มีอำนาจในท้องถิ่นภาคใต้ โดยเฉพาะการออกข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมืองเมื่อวันที่ 222 ธันวาคม 2444 ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงการเมืองภายใน, การคลัง และการต่างประเทศ สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาพระยาแขกเดหัวเมืองถึงกับคบคิดกับกบฏในปี พงษ. 2445 แต่ถูกทางราชการจับกุม
ที่ยกมานี้กก็เป็นเพียงบางส่วนของ “กบฏไพร่” ที่แม้จะมีกำลังน้อยรัฐบาลกลาง แต่กก็รุกขึ้นสู้ตามอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไป
ข้อมูลจาก
นนทพร อยู่มั่งมี. “ ‘ไพร่หนีนาย’ และ ‘กบฏไพร่’ : การต่อต้านอำนารัฐของ ‘ไพร่’ ในประวัติศาสตร์ไทย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2553
เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2564