พระราชโอรส “พระเจ้าท้ายสระ” ชวดบัลลังก์ เหตุ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” มีกุนซือดี

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าท้ายสระ ขุนหลวงท้ายสระ พระมหากษัตริย์ กรุงศรีอยุธยา รับบทโดย เกรท วรินทร ละคร พรหมลิขิต โปรดเสวย ปลาตะเพียน
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระในละครเรื่อง "พรหมลิขิต" ออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี (ภาพจาก ช่อง 3)

เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เป็นหนึ่งในขุนนางที่มีบทบาทสําคัญในการกรุยทางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) กษัตริย์องค์ที่ 31 แห่งราชอาณาจักรอยุธยา โดยช่วยชิงราชสมบัติจากพระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

ปวัตร์ นวะมะรัตน เขียนบทความเกี่ยวกับขุนนางคนดังกล่าว ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2554 ไว้ว่า เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าเสือ เกิดมีเหตุขัดเคืองพระราชหฤทัยกับ เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรส ซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งเป็น กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า จึงตรัสมอบราชสมบัติให้กับ เจ้าฟ้าพร พระราชโอรสอีกองค์หนึ่ง แต่พอสมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าฟ้าพรกลับถวายราชสมบัติคืนให้กรมพระราชวังบวรฯ ตามเดิม

ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ กระทําพิธีราชาภิเษกเป็น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ แล้ว จึงโปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้าพรเป็นที่กรมพระราชวังบวรฯ วังหน้า (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศในเวลาต่อมา)

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีพระราชโอรสรวม 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้านเรนทร์ หรือกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร เมื่อเจ้าฟ้าทั้งสามเจริญพระชันษาขึ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงแสดงพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอได้รับราชสมบัติต่อจากพระองค์

พระราชประสงค์ดังกล่าว ย่อมไม่เป็นที่พอพระทัยของกรมพระราชวังบวรฯ อันเป็นปฐมเหตุแห่งการหวาดระแวงและคุมเชิงกันขึ้นระหว่าง “วังหลวง” กับ “วังหน้า” และเป็นสาเหตุให้เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ต้องปลีกพระองค์ออกผนวช ทั้งนี้ เพราะทรงเห็นว่า พระราชบิดาได้รับราชสมบัติเพราะกรมพระราชวังบวรฯ ถวาย เมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว ก็สมควรคืนราชสมบัตินั้นให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ ตามเดิม

แต่แล้ว สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ก็ตรัสมอบราชสมบัติพระราชทานแก่ เจ้าฟ้าอภัย ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ไม่ทรงยินยอม จะทรงยินยอมก็ต่อเมื่อยกราชสมบัติให้กับกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ (เจ้าฟ้านเรนทร์) ซึ่งขณะนั้นยังทรงผนวชอยู่

ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัยเมื่อพระราชบิดายกราชสมบัติให้แล้ว ก็เตรียมพร้อมเปิดศึกกับกรมพระราชวังบวรฯ ในทันที โดยกะเกณฑ์กําลังพลจากวังหลวงยกไปตั้งค่ายตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของคลองประตูข้าวเปลือก ลงไปจนถึงคลองประตูจีนทางตอนใต้ของเกาะเมืองศรีอยุธยา ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ ก็เคลื่อนกําลังจากวังหน้ามาตั้งค่ายอยู่ตามแนวคลองประตูข้าวเปลือกฟากตะวันออกทั้ง 2 ฝ่าย มีการยิงปะทะกันประปราย แต่ก็ยังเป็นไปในลักษณะคุมเชิงกันอยู่

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ตรงกันว่า

“ฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย พระราชบิดาให้อนุญาตแล้วจึงรับราชสมบัติปรารถนาจะทําสงครามกันกับด้วยพระมหาอุปราช จึงสั่งข้าราชการวังหลวงลัดแจงผู้คนกะเกณฑ์กระทําการตั้งค่ายคูดูตรวจตาค่ายรายเรียงลงไปตามคลอง แต่ประตูข้าวเปลือกจนถึงประตูจีน จึงให้ขุนศรีคงยศไปตั้งค่ายริมสะพานช้างคลองประตูข้าวเปลือกฟากข้างตะวันตกให้รักษาค่ายอยู่ที่นั่น ในกาลนั้น พระมหาอุปราชได้ทราบเหตุทั้งปวงนั้น ให้ข้าราชการตั้งค่ายฟากตะวันออกให้รักษาค่ายในที่นั้น” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2546, น. 107.)

ทันทีที่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระเสด็จสวรรคต วังหลวงกับวังหน้าก็เปิดฉากทําสงครามเต็มรูปแบบ แม้ว่าวังหน้าจะมีกําลังน้อยกว่า แต่ในช่วงแรกก็สามารถรุกไล่เข้าตีจนทหารจากวังหลวงแตกร่นไม่เป็นขบวน แต่การถอยร่นของวังหลวงกลับกลายเป็นการถอยไปตั้งหลัก เพราะเมื่อเป็นฝ่ายรวบรวมกําลังพลได้ก็บุกเข้าตีตอบโต้ จนวังหน้าค่อยๆ แตกพ่ายไปทีละค่ายสองค่าย

สถานการณ์ของวังหน้าเริ่มเลวร้ายลง ถึงขนาดกรมพระราชวังบวรฯ มีพระราชบัณฑูรให้ตระเตรียมจะเสด็จหนีออกจากพระนคร

แต่ในช่วงวิกฤตการณ์ที่จวนเจียนจะแพ้อยู่แล้วนั้น ขุนชํานาญบริรักษ์ ก็ปรากฏตัวขึ้นในประวัติศาสตร์แห่งการตะลุย รับอาสาขอนํากําลังทหารออกรบเป็นครั้งสุดท้าย โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันว่า หากตัวตายในที่รบแล้วจึงค่อยเสด็จหนี วีรกรรมของขุนชํานาญฯ ในครั้งนั้น ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาอย่างละเอียด ดังจะขอยกมาไว้ในที่นี้ว่า

“ครั้งนั้นพระธนบุรีมาอาสาเจ้าฟ้าอภัย ยกพลทหาร 500 ข้ามคลองสะพานช้างเข้าตีค่ายวังหน้าแตกได้ 2 ค่าย 3 ค่าย รบพุ่งกันเป็นสามารถ พระมหาอุปราชรู้เหตุนั้น ตกพระทัยปรารภจะหนีไป จึงปรึกษาด้วยข้าราชการว่า ทหารเราฝีมืออ่อนกว่าเขารักษาค่ายไม่ได้ เห็นจะรับเขามีอยู่ เราจะคิดประการใด

ขุนชํานาญจึงกราบทูลพระกรุณาว่า พระองค์อย่ากลัวอย่าเพ่อหนีก่อน ข้าพระพุทธเจ้าจะขออาสาถวายชีวิต จะขอตายก่อนพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายบังคมลาออกไปรบกับข้าศึก บัดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดให้ม้าเร็วตามออกไปคอยดูข้าพระพุทธเจ้ารบกับข้าศึก ถ้าเห็นข้าพระพุทธเจ้าตายในที่รบแล้ว ให้ม้าใช้กลับมาจงเร็ว กราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระองค์ทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้านี้ตายแล้วจึงหนี ถ้าข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ตายอย่าเพ่อหนีก่อน

ว่าแล้วกวายบังคมลา มาจัดพลทหาร 300 เศษ ออกไปถึงทัพพระธนบุรี ก็ขับไล่พลทหารเข้าจู่โจมตีหักหาญต่อต้านชิงชัยทะลวงไล่ลุยประหารทะยานฟันแทงต่อแย้งต่อยุทธ โห่ถึงอุตม์เอาชัย ชุมชํานาญทหารใหญ่บุกรุกไล่ไม่ท้อถอย ระวังคอยป้องกัน รุกไล่ตีรันฟันฟาด ทหารพระธนบุรีแตกหนีดาษกันไป พระธนบุรีหาหนีไม่ขึ้นม้าผูกเครื่องใหม่ ใจหาญรับต้านทาน

ขุนชํานาญทหารใหญ่บุกรุกไล่เข้าฟาดฟันพระธนบุรีๆ แทงด้วยหอกผัดผันรบสู้กันเป็นสามารถ ขุนชํานาญถือดาบฟาดสองมือมั่นจู่โจมโถมเข้าจ้วงฟัน ถูกพระธนบุรีนั้นคอขาดบนหลังม้าตายในที่รบ ขุนชํานาญคนขยันตัดศีรษะมาถวาย ฝ่ายทหารทั้งหลายไล่ติดตามเข่นฆ่าพลโยธาวังหลวงไปจับได้บ้าง ตายก็เป็นอันมากในที่รบนั้น

สมเด็จพระมหาอุปราชทอดพระเนตรเห็นศีรษะพระธนบุรี มีพระทัยยินดียิ่งนัก ตรัสสั่งให้จัดพลทหารขึ้นเป็นอันมาก จะให้ไปตีพระราชวังหลวง ฝ่ายพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ คือเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าบรเมศร เห็นพลทหารปราชัยเป็นหลายครั้งก็สะดุ้งตกพระทัยกลัว ให้เอาพระราชทรัพย์ต่างๆ เป็นอันมาก ลงเรือพระที่นั่งลําเดียวกันหนีไปในราตรีกาลโดยทางป่าโมก…” (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, 2546 น. 108.)

หลังจากประกอบวีรกรรมเผด็จศึกวังหลวงจนแตก พลัดกระจัดกระจายไปคนละทิศละทางแล้ว ภารกิจต่อไปของขุนชํานาญฯ ก็คือ การติดตามไล่ล่า เจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร ซึ่งหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในป่าแถบตําบลบ้านเอกราช จนในที่สุดก็สามารถตามไปจับกุมทั้ง 2 พระองค์มาถวายกรมพระราชวังบวรฯ และเมื่อสอบสวนเอาความได้แล้ว ก็โปรดให้นําเจ้าฟ้าทั้งสองไปสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี

ว่ากันว่า สงครามกลางเมืองครั้งนั้น ข้าราชการวังหลวงถูกคิดบัญชีย้อนหลังไปเป็นจํานวนมาก โทษสถานที่ได้รับก็หนักเบาต่างกัน มีตั้งแต่การประหารชีวิตหมู่ที่ตะแลงแกง การสั่งเก็บ ไปจนถึงการถูกเกณฑ์เป็นแรงงานต่อเรือสําเภา การขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของกรมพระราชวังบวรฯ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างดุเดือดเลือดพล่านครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองเมื่อครั้ง สมเด็จพระนารายณ์ ทํารัฐประหารยึดอํานาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เมื่อ พ.ศ. 2199

กรมพระราชวังบวรฯ ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) ส่วนข้าราชการวังหน้าที่ประกอบวีรกรรมในครั้งนั้นก็ล้วนแต่ได้แจ้งเกิด ได้รับโปรดเกล้าฯ อวยตําแหน่งให้สูงขึ้นเป็นลําดับ

โดยเฉพาะ ขุนชํานาญฯ ทหารเอกพระบัณฑูรผู้อาสาทําศึกชี้ขาด ประกาศสิทธิเหนือราชบัลลังก์อยุธยาให้กับกรมพระราชวังบวรฯ ได้รับพระมหากรุณาเป็นพิเศษให้เป็นที่ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ว่าที่โกษาธิบดี ถือศักดินา 10000 ไร่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ตุลาคม 2566