“ข้าว” กับบทบาทต่อการเติบโตและล่มสลายของรัฐอยุธยา

ภาพ ยูเดีย หรือ กรุงศรีอยุธยา ภาพกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา อยุธยา
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

“ข้าว” (rice) เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในเขตร้อน (Tropical) และเขตอบอุ่น (temperate) มีคุณสมบัติอันโดดเด่นเพราะสามารถอยู่ได้แม้ในระดับน้ำที่สูงกว่า 4 เมตร หรือไม่มีน้ำขังเลยก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของที่ราบภาคกลางของไทยซึ่งมีน้ำท่วมหน้าฝน ข้าวยังผูกพันกับวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนานถึงขั้นมีเทวีข้าวพันธุ์ธัญญาหาร คือ “พระแม่โพสพ”

มีหลายข้อสังเกตจากการศึกษาพบว่าแท้จริงพืชชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย ปัจจัยนานาประการที่ทำให้ดินแดนภาคกลางปลูกข้าวได้ดีเป็นตัวขับเร่งทำให้เกิดการเติบโตของชุมชนเมืองก่อนขยายตัวกลายเป็นรัฐ

หนึ่งในราชอาณาจักรที่ใช้พลังทางเศรษฐกิจจากการกสิกรรมลักษณะนี้มาส่งเสริมอำนาจก็คือ อาณาจักรอยุธยา นั่นเอง

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภูมิศาสตร์สำคัญสร้างการเติบโตของรัฐอยุธยา

อาณาจักรอยุธยา ซึ่งสถาปนาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำเลี้ยงประชากรที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ การทำกสิกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าวจึงแพร่หลายในชุมชนโบราณตั้งแต่ยุคก่อนก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสถาปนากรุงฯ อยุธยาที่เดิมพัฒนามาจากชุมชนการค้าและการกสิกรรมอยู่แล้ว จึงมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญร่วมกับของป่า ประมงน้ำจืด รวมทั้งพืชไร่พืชสวน เป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของชุมชน ประชากร และเศรษฐกิจการค้า กลายเป็นศูนย์กลางที่ทรงพลังอำนาจในแถบนี้

อาณาจักรอยุธยา
ภาพโคลงภาพ “สร้างกรุงศรีอยุธยา” เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “พระราชพงศาวดาร เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

การปลูกข้าวในประเทศไทยก่อนสมัยอยุธยาเป็นการทำ “ข้าวไร่” ก่อนพัฒนาสู่ “นาดำ” และ “นาหว่าน” โดยเฉพาะการทำนาที่ประหยัดพื้นที่กว่าทำข้าวไร่ 6-7 เท่า ทำให้ชุมชนสามารถรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นได้ ชุมชนขนาดใหญ่พัฒนาเป็นเมือง การทำนาข้าวในสุโขมัยและล้านนาทำให้เกิดการจับจองที่ดินทำกิน เมืองขยายตัว รัฐเริ่มออกกฎหมายเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ มีการผลิตเครื่องมือเกษตร และพัฒนาระบบชลประทาน

พื้นที่ตั้งแต่บริเวณที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจรดอ่าวไทย หรือที่เรียกว่าที่ราบเจ้าพระยาตอนล่าง มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 2 เมตร ความลาดเท 1-2 องศา ทำให้น้ำฝนไหลลงตามแม่น้ำต่าง ๆ จะไหลช้ามาก ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนจึงมักมีน้ำท่วมขัง น้ำจากแม่น้ำก็ล้นฝั่งท่วมเข้าแผ่นดิน นำพาอินทรีย์สารจากที่สูงมาเป็นอาหารแก่นาข้าว เพิ่มความสมบูรณ์ให้หน้าดิน ทั้งป่าอันหนาทึบสมัยอยุธยายังช่วยให้ฝนตกชุกชุมและชะลอไม่ให้ไหลเร็วเกินไป น้ำท่วมเฉพาะที่นา ที่อยู่อาศัยหากไม่ใช้แพลอยน้ำก็จะตั้งอยู่บนคันดินซึ่งใช้ปลูกผักผลไม้

ข้าวในสมัยอยุธยากลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญยิ่งของรัฐบาล เพราะตั้งแต่ยุคเมืองอโยธยา (ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองในปัจจุบัน) แถบนี้พัฒนาจากชุมชนการค้า-การเกษตรอยู่แล้ว อยุธยาในสถานะราชอาณาจักรที่มีศูนย์กลางตั้งอยู่บนพื้นที่ทำนาอันอุดมสมบูรณ์และกว้างขวางสามารถเสริมสร้างกำลังทางเศรษฐกิจจากการทำนาข้าว ไม่เพียงแต่เลี้ยงดูประชากร

แต่ยังเพื่อกักตุนเป็นเสบียงอาหารแก่กองทัพในการรุกราณอาณาจักรข้างเคียง และการค้าทางทะเลกับชาติเอเชียโดยเฉพาะจีน ก่อนชาติตะวันตกจะเริ่มมีบทบาทในการค้ากับอยุธยามากขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์สุพรรณภูมิ การมีพื้นที่ทำนามากทำให้รัฐเก็บอากรค่านาได้เยอะมากขึ้นไปด้วย ด้วยระบบราชการแบบจตุสดมภ์ รัฐมีผู้รับผิดชอบเป็นเสนาบดีกรมนาผู้จัดการด้านเกษตรและเก็บอากรค่านา

สิ่งสะท้อนความสำคัญของประโยชน์จากนาข้าวคือ เสนาบดีกรมนา มีตราประจำตำแหน่งถึง 9 ดวง แสดงถึงอำนาจหน้าที่มีมากพอสมควร ส่วนราชทินนามเต็มคือ “ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดีอภัยพิธี ปรากรมภาหุ” มีศักดินา 10,000 (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 : 2515 : 231)

ข้าว นาข้าว รวงข้าว ทุ่งนา
(ภาพจาก www.technologychaoban.com)

อีกข้อสังเกตความสำคัญของนาข้าวในอยุธยาคือ การเอานามาเป็นหน่วยวัดศักดิ์ของขุนนางและฐานันดรของผู้คน หรือที่เรียกว่า “ศักดินา” ซึ่งจะปรากฏรูปแบบสังคมนี้ชัดเจนในยุคสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในพระไอยการทาษ ยังมีตราพระราชกำหนดไม่ให้ขายทาสไปไถ่ทาสคืนในฤดูทำนา เพราะจะขาดแรงงานทำนา คนอยุธยาจึงให้ความสำคัญกับข้าวเสมอมาตั้งแต่ก่อนสถาปนาอาณาจักร ปรากฎในกฎหมายโคสาราษฎร์ว่า “งัว ควายไปกินข้าวกล้าของผู้อื่นถึง 3 วัน เจ้าของวัวควายนิ่งเสีย ไม่แจ้งให้เจ้าของข้าวรู้ ต้องเอาเหล้าสองไห ไก่สองตัว มาสังเวยข้าวนั้น” (ถิ่น รัติกนก 2530: 34)

ข้าว ตัวชี้วัดการรบ

ประวัติศาสตร์อยุธยายุคต้นที่คาบเกี่ยวกับปลายสุโขทัยนั้น ส่วนหนึ่งที่ทำให้กำลังที่เหนือกว่าของอยุธยาผนวกสุโขทัยได้ มาจากพื้นที่ปลูกข้าวสุโขทัยไม่มากเท่าอยุธยา สุโขทัยพ่ายสงครามครั้งแล้วครั้งเล่าถึง 7 ครั้ง ในเวลา 17 ปี เพราะความบริบูรณ์ด้านเสบียงอาหารไม่อาจเทียบเท่ากองทัพอยุธยาที่แม้มาในฐานะผู้รุกราน และก่อนที่อยุธยาจะเริ่มรบกับพม่าในศึกเชียงไกร-เชียงกราน กษัตริย์อยุธยามักทำสงครามกับหัวเมืองล้านนาเพื่อขยายอำนาจขึ้นเหนือ ซึ่งมีศึกมากถึง 14 ครั้ง เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พ.ศ. 1929 ถึง พ.ศ. 2088 สมัยพระไชยราชาธิราช รวม 126 ปี และฝ่ายรุกรานเป็นอยุธยาทั้งสิ้น จะเห็นว่าหากอยุธยาไม่มีเสบียงพร้อม ย่อมไม่สามารถก่อสงครามได้ถี่ขนาดนี้

ความสำคัญของข้าวต่อการทหารมีผลต่อการป้องกันตัวของอยุธยาอย่างยิ่ง ใน พ.ศ. 2086 สมเด็จพระเจ้ากรุงหงสาวดี (บุเรงนอง) ยกพลเป็นทัพขนาดใหญ่ถึง 300,000 คน มาล้อมอยุธยา แต่เพราะขัดสนเสบียงจึงตัดสินใจถอนกำลังขึ้นเหนือไปปะทะทัพหนุนของอยุธยาที่เป็นทัพหัวเมืองเหนือแตกพ่ายไปและแย่งชิงเสบียงมา

แต่ทัพอยุธยาที่ตามมาไล่ตีซ้ำกลับพ่ายแพ้ไปอีก ศึกนี้ทำให้พระเจ้ากรุงหงสาฯ จับกุมพระราเมศวรและพระมหินทราธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ ต่อมา พ.ศ.2128 กษัตริย์พม่าแก้ไขจุดอ่อนสั่งทัพเชียงใหม่เคลื่อนลงมาจากทางเหนือ และทัพพระมหาอุปราชแห่งหงสาวดีคุมกำลังเข้ามาทำนาที่เมืองกำแพงเพชร เพื่อเตรียมทำศึกยืดเยื้อกับอยุธยา พระนเรศวรเห็นว่าอยุธยาจะเสียเปรียบหากพม่าล้อมอยุธยาทั้งมีเสบียงพร้อม จึงยกกำลังออกไปตีทัพทั้งสองเพื่อไม่ให้สะสมกำลังได้

บทบาทของข้าวยังส่งผลต่อการล่มสลายของอยุธยา ซึ่งแม้ไม่ใช่ปัจจัยหลักแต่เป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุสำคัญ นั่นคือ ในการปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาของพม่า เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ทัพคองบองแห่งพม่าล้อมอยุธยาอยู่นานถึง 14 เดือน ฝ่ายไทยซึ่งไม่คิดว่าพม่าจะมีกำลังทรัพยากรเลี้ยงดูกองทัพได้นานขนาดนี้ เกิดภาวะขาดแคลน กำลังฝ่ายอยุธยาเสียหายไปมากเป็นเหตุให้เสียกรุงอีกครั้ง

ถึงตรงนี้ความสำคัญของข้าวและเสบียงอาหารต่อการล่มสลายของอยุธยาสอดคล้องกับงานเขียน “พลังภูมิศาสตร์คองบอง กับการล่มสลายของอยุธยา” ของ ผศ. ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช ที่เชื่อมโยงเอาพลังทางภูมิศาสตร์ของดินแดนลุ่มแม่น้ำอิรวดี เปรียบเทียบกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมชี้ว่าพม่ามีความได้เปรียบอยู่พอสมควร

พื้นที่ แผนที่ เพาะปลูก ข้าว อยุธยา พม่า
แผนที่แสดงหน่วยภูมิศาสตร์เปรียบเทียบระหว่างรัฐพม่ากับรัฐอยุธยา (ภาพดัดแปลงจากแผนที่ในหนังสือ A History of Myanmar Since Ancient Times: Traditions and Transformations, 2012) จากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2562

อาจารย์ดุลยภาคระบุว่า จุดหัวใจของรัฐคองบอง หรือแม้แต่รัฐตองอูยุคต้น (โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าบุเรงนอง) มีข้อเท็จจริงว่าพม่านั้นมีต้นทุนทางภูมิศาสตร์กสิกรรมในระดับสูง กระตุ้นให้กองทัพพม่าช่วยผลิตกำลังพลและเสบียงอาหาร จนทะยานออกมาทำศึกนอกบ้านได้หลายครั้งแบบเต็มอัตราศึก ปากแม่น้ำอิรวดีและบางส่วนของปากแม่น้ำสะโตงเต็มเปี่ยมไปด้วยหัวเมืองและพื้นที่การเกษตรซึ่งมากกว่าแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ความได้เปรียบนี้ส่งเสริมแสนยานุภาพแก่กองทัพพม่าให้เหนืออยุธยาเป็นที่แน่นอน ขณะที่อยุธยามีความลงตัวทางภูมิศาสตร์ซึ่งถูกจำกัดไว้ที่ตัวพระนครฯ ทำให้ผู้นำอยุธยาลำพองในความเลอเลิศในศูนย์กลางดังกล่าว แต่การพัฒนากสิกรรม นาข้าว และระบบชลประทาน ถูกจัดการในขนาดพื้นที่ซึ่งด้อยกว่าพม่า จึงเห็นว่าความบริบูรณ์ของอยุธยาแม้จะส่งเสริมการรุกรานรัฐข้างเคียงเป็นประเทศราชได้บ้าง แต่กับพม่าซึ่งมีพลังทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ อยุธยากลายเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

อย่างไรก็ตามในยุคที่รัฐอยุธยาปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์และเริ่มขยายอำนาจไปทั่วในภูมิภาค เราไม่อาจตัดความสำคัญของ “ข้าว” ซึ่งเป็นที่มาของอำนาจทางการเมืองของอยุธยา และด้วยการให้ความสำคัญกับข้าวและความสมบูรณ์ในการเพราะปลูกนี้ อยุธยาจึงดำรงความยิ่งใหญ่ในฐานะศูนย์กลางการปกครองได้นานถึง 417 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง

กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2515.

ถิ่น รัติกนก (ผู้แปล). กฎหมายโคสาราษฎร์. เชียงใหม่ : วิทยาลัยครูเชียงใหม่. ม.ป.ป.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2548). ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

ดุลยภาค ปรีชารัชช. (2562, เมษายน) “พลังภูมิศาสตร์คองบอง กับการล่มสลายของอยุธยา”, ศิลปวัฒนธรรม.ปีที่ 40 (ฉบับที่ 6) : 78 – 79.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2562