“ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี” ข้าวดีประโยชน์แยะ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่โบราณชาวสกลนคร

ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ทุ่งนา นาข้าว จังหวัด สกลนคร หรือ สกลทวาปี
ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี (ภาพจาก เพจ มหัศจรรย์สกลนคร / ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ กรมการข้าว)

ทำความรู้จัก “ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี” ข้าวท้องถิ่นรสชาติดี ผลผลิตจากภูมิปัญญาของคน สกลนคร

จังหวัดสกลนครในอดีตเรียก เมืองหนองหารหลวง ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ พร้อมทั้งเปลี่ยนนามเมืองใหม่ว่า “สกลทวาปี” ใน พ.ศ. 2370 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่ง พ.ศ. 2381 จึงแต่งตั้งเจ้าราชวงศ์ (ดํา) สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองนครพนมมาเป็นเจ้าเมือง และเปลี่ยนนามเมืองอีกครั้งเป็นเมืองสกลนคร พอ พ.ศ. 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศสยามอีกครั้ง เมืองสกลนครจึงเปลี่ยนนามมาเป็นจังหวัดสกลนคร

ประชากรในพื้นที่ สกลนคร เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากหัวเมืองเก่าทางฝั่งซ้ายของลําน้ำโขง โดยเฉพาะชนเผ่าภูไท

ตำนานเมื่อ 200 ปีมาแล้ว เล่าว่า “ท้าวผาอิน” ได้อพยพผู้คนมาอยู่บ้านนาบ่อ หมู่บ้านหนึ่งในอําเภอวาริชภูมิ ท่านมีทายาทมากมาย ประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงวัวเลี้ยงควายทําไร่ไถนา ปรากฏว่าข้าวไม่พอกิน เหลือเวลาอีกราวหนึ่งเดือนก่อนจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เลยเก็บข้าวที่ใกล้จะสุกที่เริ่มออกเหลืองอ่อน ๆ มาผ่านกรรมวิธีตามภูมิปัญญาท้องถิ่น นึ่งด้วยเตาที่ขุดดินทําเป็นร่องหรือราง ภาษาอีสานเรียกว่า “ฮาง” อยู่กับพื้น ทําเป็นปากปล่องสําหรับให้เปลวไฟโหมขึ้นและใช้ตั้งหม้อนึ่ง เรียกว่า “เตาฮาง”

ดังนั้น ชื่อ “ข้าวฮาง” จึงเป็นชื่อเรียกตามลักษณะนามของเตาที่ใช้นึ่งข้าว

ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี คือข้าวกล้องที่ได้จากการแปรรูปข้าวเปลือกเหนียว พันธุ์ กข.6 หรือ ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ในระยะเป็นน้ำนมที่ยังไม่แก่จัด สามารถปลูกได้ในพื้นที่อําเภอวาริชภูมิ อําเภอพังโคน และอําเภออากาศอํานวย จังหวัดสกลนคร โดยนํามาผ่านกรรมวิธีเฉพาะตามประเพณีการทํา “ข้าวฮาง” ที่สืบต่อกันมาในพื้นที่จังหวัดสกลนคร

ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปีสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรรมชาวจังหวัดสกลนคร สกลนครมีลักษณะเป็นแอ่งก้นกระทะตอนบนของภาคอีสาน ผืนดินเป็นคลื่นลอนน้อย ๆ บริเวณตอนกลางค่อนไปทางเหนือมีเทือกเขาภูพาน มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่สําหรับการเกษตรคือ หนองหาน และลําน้ำสงคราม ลําน้ำพุง ลําน้ำยาม ลําน้ำห้วยปลาหาง ลําน้ำอูน ลําน้ำก่ำ

สกลนคร จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดี โดยเฉพาะที่อําเภอวาริชภูมิ อําเภอพังโคน และอําเภออากาศอํานวย นอกจากจะเป็นแหล่งปลูกข้าวคุณภาพดีแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิต “ข้าวฮาง” โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยโบราณ จนเป็นตํานานเล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี จมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดคือส่วนที่มีคุณค่ามาก เพราะมีโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่สูงมาก ข้าวฮางหอมฯ ยังมีสารกาบาช่วยรักษาสมดุลของสมอง ลดความวิตกกังวล หลับสบาย ป้องกันโรคความจำเสื่อม ชะลอความชรา ลดความดันเลือด กระตุ้นการขับถ่าย ป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ มีแกมมาออริซานอล วิตามินอี สารฟีโนลิก ไลซีน และโปรตีนช่วยในการย่อยเปปไทด์

ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปียังมีไฟเบอร์สูงกว่าข้าวขาวถึง 15-20 เท่า ช่วยให้อิ่มท้องไม่หิวง่าย ช่วยลดให้ความอ้วน ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ขับถ่ายสะดวก ที่สำคัญคือช่วยดูดซับสารพิษแล้วขับออกจากร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เรียบเรียงข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ กรมการข้าว. เรื่อง “ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี”. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2566


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8กันยายน 2566