“ความแผ่นดินตาก” สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คิดก่อกบฏ?

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ในบทความ “อวสานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)” เขียนโดย วิภัส เลิศรัตนรังษี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม พ.ศ. 2564 ได้ฉายให้เห็นอำนาจของ “สมเด็จเจ้าพระยาฯ” ขุนนางผู้ทรงอำนาจมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายชีวิต ที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังมีอำนาจอยู่ค่อนข้างมาก

เรื่องที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ คิดก่อกบฏนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างระหว่างรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จเจ้าพระยาฯ เรื่องการสร้างกองทัพสมัยใหม่ ทั้งรัชกาลที่ 5 และสมเด็จเจ้าพระยาฯ เห็นพ้องต้องกันเรื่องสร้างกองทัพสมัยใหม่ แต่แนวคิดของสมเด็จเจ้าพระยาฯ คือ กองทัพไพร่ติดอาวุธ เป็นการเกณฑ์ไพร่มาฝึกซ้อมอย่างเดิมทุกประการ

ขณะที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีแนวคิดว่าหากทำแบบเดิมจะทำให้ไม่สามารถฝึกฝนทหารได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ไพร่เองก็สามารถจ่ายส่วยแทนเกณฑ์ได้ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้วิธีการเปิดรับสมัครไพร่ไปเข้าสังกัดกรมทหารหน้า ซึ่งเป็นกรมทหารส่วนพระองค์ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่

ไพร่เหล่านี้เป็นไพร่ในแถบเพชรบุรี-ราชบุรี ซึ่งเป็นเขต “ฐานอำนาจ” ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ และขุนนางตระกูลบุนนาค สืบเนื่องจากไพร่ถูกพระยาเพชรบุรี ซึ่งเป็นน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เบียดเบียน จึงหนีมาสมัครทหารที่กรุงเทพฯ สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงกราบบังคมทูลขอไพร่เหล่านี้กลับคืนทันที แต่รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิเสธ เพราะหากทรงยินยอมให้กลับมาอยู่อย่างเดิมอีกก็เหมือนว่าทรงไม่เห็นความทุกข์ของไพร่

สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีจดหมายไปถึง “เจ้าคุณทหาร” คือ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายของท่าน โดยต่อว่าเจ้าคุณทหารที่ปล่อยให้กองทัพส่วนพระองค์มาเปิดรับสมัครทหารในเมืองขึ้นกรมพระกลาโหม (เจ้าคุณทหารเป็นสมุหพระกลาโหม) พร้อมกับสาธยายให้เจ้าคุณทหารทราบว่าไพร่เหล่านี้ได้รับพระราชทานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ให้ทำมาหากินบริเวณนี้ มีมูลนายปกครองดูแลสืบเนื่องมาโดยตลอด

สมเด็จเจ้าพระยาฯ พยายามประนีประนอมกับรัชกาลที่ 5 โดยเสนอจะชำระความที่พระยาเพชรบุรีก่อขึ้น และอ้างว่าหากปล่อยให้ไพร่ไปสมัครทหารที่กรุงเทพฯ เมืองเพชรบุรี-ราชบุรีก็จะทรุดโทรมเสื่อมลงไม่ต่างกับเมืองร้าง แต่รัชกาลที่ 5 ทรงยืนกรานที่จะไม่คืนไพร่กลับไป

ความขัดแย้งพุ่งสูงขึ้นจนปรากฏข่าวลือในกรุงเทพฯ ว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯ ชักชวนให้เจ้าคุณทหารก่อการกบฏ จนทำให้เกิดความตึงเครียดอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดที่กงสุลอังกฤษคิดจะเรียกเรือปืนเข้ามาประจำในกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

ต้นตอของข่าวลือนี้มาจาก “ความแผ่นดินตาก” ที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ เขียนถึงเจ้าคุณทหาร ซึ่งสันนิษฐานว่า เนื้อหาในนั้นอาจจะรุนแรงมาก จนทำให้เจ้าคุณทหารต้องมีจดหมายเตือนสติสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเหนว่าแรงนัก ไม่ควรพูด ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราขทานเสียเถิด”

วิภัส เลิศรัตนรังษี อธิบายว่า เพราะความรุนแรงในเนื้อหานั้น ทำให้เจ้าคุณทหารไม่อาจนำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ให้ทรงทราบได้ จึงไม่มีการคัดลอกเป็นสำเนาเก็บไว้ให้ค้นคว้าในปัจจุบัน

นอกจากนี้ วิภัส เลิศรัตนรังษี กล่าวว่า “แต่ถ้าสันนิษฐานจากคำว่า ‘ความแผ่นดินตาก’ ที่เจ้าคุณทหารอ้างถึง ก็น่าจะเกี่ยวกับเหตุการณ์จลาจลช่วงปลายแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี การยกประเด็นนี้ขึ้นมากล่าวในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานย่อมจะถูกทำให้เข้าใจได้ว่ากำลังชักชวนให้บุตรชายก่อกบฏ”

เจ้าคุณทหารเขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ โดยสรุปคือ ต้องการให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ระลึกว่าวงศ์ตระกูลได้เป็นใหญ่เป็นโตมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงชุบเลี้ยงมา และโดยส่วนตัวของเจ้าคุณทหารเองนั้น ก็มีความปรารถนาทางการเมืองอย่างที่สุด คือ เป็นกันชนระหว่างรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จเจ้าพระยาฯ เท่าที่จะทำได้

เป็นที่แน่ชัดว่าเจ้าคุณทหารได้เลือกเข้าข้างรัชกาลที่ 5 และเพื่อสลายความตึงเครียดดังกล่าว รัชกาลที่ 5 มีรับสั่งให้ตั้งกองสักเลขเพื่อชดเชยเพื่อชดเชยทางบัญชีให้กับเมืองเพชรบุรี-ราชบุรีที่ไพร่หนีไปสมัครเป็นทหาร โดยมอบหมายให้หลานชายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นแม่กอง เรื่องนี้จึงเป็นอันยุติ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2564