ทำไมเจ้าจอมพระสนมในรัชกาลที่ 5 มีสกุล “บุนนาค” มากกว่าสกุลอื่น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เผยสาเหตุ ทำไม เจ้าจอม-พระสนม ใน รัชกาลที่ 5 มีสกุล “บุนนาค” มากกว่าสกุลอื่น?

ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา ชนชั้นนำทางสังคมส่วนใหญ่เป็นเพศชาย และพวกเขามักเป็นกลุ่มคนที่กำหนดโครงสร้างทางสังคมอันรวมไปถึงสถาบันครอบครัว มีกฎหมายที่ระบุนิยามและกำหนดความชอบธรรมสำหรับกรณีมี “เมีย” หลายราย แต่เมื่อมาถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เหตุผลสำหรับการมีเมียมากกว่าหนึ่งคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

Advertisement

ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในสถาบันครอบครัวในสมัยโบราณ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นักวิชาการประวัติศาสตร์ศึกษาข้อมูลกันมานานแล้ว รศ. ดร. ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาเรื่องระบบผัวเดียวหลายเมียในสังคมไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2528 แล้ว

หากย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสุโขทัย ฝ่ายชายเป็นผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงอยู่ในบ้าน สังคมสมัยสุโขทัยไม่ได้ห้ามชายมีภรรยาหลายคน แต่ใช้ระบบศีลธรรมเป็นตัวควบคุม ผู้ที่มีภรรยาหลายรายจะถูกตำหนิจากสังคม ขณะที่ผู้หญิงซึ่งมีสามีแล้วกลับไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับชายอื่น ชายหญิงที่ล่วงละเมิดจะต้องตกนรก โดยที่ไตรภูมิพระร่วงก็บรรยายสภาพนรกไว้อย่างน่ากลัว

เมื่อมาถึงสมัยอยุธยา โครงสร้างความสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวยังไม่แตกต่างมากนัก แต่เริ่มมีกฎหมายรองรับอย่างชอบธรรม กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 1904 หรือ “พระไอยการลักษณะผัวเมีย” เปิดโอกาสให้ฝ่ายชายมีภรรยามากกว่า 1 คน และยังจำแนกประเภทเมียไว้ 3 แบบด้วย กฎหมายนี้ยังใช้มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อมีกฎหมายมาสอดรับกับค่านิยมมีภรรยาได้หลายคน ยิ่งทำให้ค่านิยมนี้คงอยู่โดยเพศชายมักคิดว่า การมีเมียหลายคนแสดงให้เห็นถึงฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะทางการเมือง และตอกย้ำความเป็นสังคมชั้นสูง ค่านิยมลักษณะนี้ปรากฎอยู่ในชนชั้นเจ้านายสมัยอยุธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ค่านิยมนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ความคิดเห็นของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช มองว่า มาจากความต้องการส่งเสริมอำนาจทางการเมือง โดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อาศัยธิดามาเป็น “เจ้าจอม” การมีเจ้าจอมเป็นทั้งเครื่องประดับบารมี และเครื่องการันตีความจงรักภักดี ลดแนวโน้มความคิดกบฏอีกด้วย

รศ. ดร. ดารารัตน์ อธิบายว่า เหตุผลเรื่องนี้ปรากฏเด่นชัดเฉพาะในสมัย รัชกาลที่ 5 นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์มองว่า การมีสตรีมากหลายคนไม่ได้เป็นแค่ความพอพระทัยส่วนพระองค์ แต่ยังมีความจำเป็นทางการเมืองด้วย สืบเนื่องมาจากสภาพการเมืองในสมัยต้นรัชกาล ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกจำกัด

พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ทรงบรรยายเปรียบเทียบการได้รับราชสมบัติเมื่ออายุ 15 ปี เสมือนตะเกียงริบหรี่ใกล้ดับลง และในพระราชหัตถเลขาตอบหนังสือข้าราชการ เมื่อ พ.ศ. 2438 ก็ทรงย้ำอีกว่า ฝ่ายเสนาบดีมีอำนาจมากขึ้น

สภาพการเมืองสมัยนั้นมีสภาพแบ่งขั้วผู้นำเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งมีอำนาจมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และกลุ่ม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รศ. ดร. ดารารัตน์ ชี้ให้เห็นว่า บิดาของสมเด็จเจ้าพระยาฯ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเสนาบดีพระคลัง และกลาโหม สมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ผู้เป็นอา เป็นผู้สำเร็จราชการในกรุงเทพฯ กับว่าการพระคลังสินค้า สะท้อนบารมีของสกุลบุนนาคที่สืบเนื่องมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 5 อันมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้นำ ซึ่ง รศ. ดร. ดารารัตน์ มองว่า

“ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการที่จะสู่ขอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) หลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ให้กับรัชกาลที่ 5 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งนอกเหนือจากการรักใคร่ของหนุ่ม-สาวแล้ว ยังคงเพื่อผลทางการเมืองด้วยเช่นกัน”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการคือ เจ้าจอม พระสนม ในรัชกาลที่ 5 มีธิดาสกุล “บุนนาค” มากกว่าสกุลอื่น เช่น ธิดาของ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ) กับ ท่านผู้หญิงอ่วม นั้น เป็นเจ้าจอมพระสนมเอกถึง 5 ท่าน ได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน, เจ้าจอมเอี่ยม, เจ้าจอมเอิบ, เจ้าจอบอาบ และเจ้าจอมเอื้อน นอกจากนี้ ยังมีธิดาที่เกิดจากภริยาอื่นเป็นเจ้าจอมอีก 2 ท่าน คือ เจ้าจอมแก้ว และเจ้าจอมแส

ตัวอย่างข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของธิดาในสกุลบุนนาคเท่านั้น นักวิชาการล้วนวิเคราะห์ว่า เหตุผลทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชนชั้นเจ้านายมี “ภรรยา” มากกว่า 1 ราย

ระบบผัวเดียวหลายเมียนี้เริ่มเสื่อมลง และเข้าสู่ยุคผัวเดียวเมียเดียวเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลทางความคิดของชนชั้นนำ การต่อสู้ทางความคิดเชิงนโยบายและทางกฎหมายปรากฏให้เห็นมายาวนานจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวที่ประกาศใช้ ให้ชายอาจมีภรรยาได้หลายคน และมาแก้ไขว่าให้ชายมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “ระบบผัวเดียว หลายเมียในสังคมไทย”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2528)

เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.,ประชุมปาฐกถาและคำอภิปรายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2509, น. 119


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2562