ทำไมรัชกาลที่ 4 รับสั่งตำหนิทูตสกุลบุนนาค? ได้เป็นทูตเพราะบุตรภรรยา?

รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้ง ขุนนาง “สกุลบุนนาค” หลายคนเป็นอัครราชทูตพิเศษ ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เช่น พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ไปอังกฤษในปี 2400, พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ไปฝรั่งเศสในปี 2504, พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ไปฝรั่งเศส ในปี 2410 ฯลฯ แต่ก็ทรงตำหนิ “ทูต” ที่พระองค์แต่งตั้งด้วยเช่นกัน

เนื่องจากปลายช่วงปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค, ปี 2334-2400) ถึงแก่พิราลัย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในราชสำนักและใน “สกุลบุนนาค” ด้วยกันเอง จนทำให้ “ทูต” ที่ รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้ง กลับละเลยที่จะถวายรายงานการปฏิบัติแก่พระองค์ แต่กลับรายงานตรงไปยังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

ดังตอนหนึ่งใน “อึ้ง…หลักฐานใหม่ ฝรั่งยกเต้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขึ้นท่านผู้นำโลกแถวหน้า” ที่ ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

“พระราชสาส์นจากรัชกาลที่ 4 ทรงมีไปถึงพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ที่ปารีส พ.ศ. 2404 บรรจุความน้อยเนื้อต่ำพระทัย ตั้งแต่ท่านทั้งปวงไปจากกรุงเทพฯ แล้วมีหนังสือฝากมาถึงข้าพเจ้า แลถึงในพระบวรราชวัง แลถึงเวรกรมท่าแลท่านเสนาบดี แต่ที่ต่างๆ ที่ได้ถึงนั้นตั้งแต่สิงคโปร์ไปจนฉบับที่เขียนฝากมาแต่เมืองปารีส เมื่อแรกไปถึงยังไม่ได้เข้าเฝ้านั้น แลหนังสือฉบับนั้นได้มาถึงข้าพเจ้าได้รับเมื่อต้นเดือน 8/8 อุตราสารทข้างขึ้นเป็นที่สุด ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าไม่ได้รับหนังสือของท่านทั้งปวงเลย

เป็นแต่ได้อ่านแต่หนังสือพิมพ์บ้าง ฉบับที่เล่าความด้วยเรื่องรับทูตแลเข้าเฝ้าอย่างนั้น แลได้ฟังแต่พวกกงสุล ฝรั่งเศสที่กรุงบ้าง บาทหลวงบ้าง บอกข่าวต่างๆ จนถึงว่าไม่ได้ไปถึงลอนดอน ไปแต่เจ้าหมื่นไวยวรนารถ เสียเงินของตัวไปเที่ยวเล่นเอง ไม่ได้เฝ้า ภายหลังก็ได้ทราบว่า ท่านทั้งปวงเขียนหนังสือฝากมายังบุตรภรรยาญาติของตัวอยู่เนืองๆ จะใคร่ทราบข่าวต่างๆ ของท่าน ข้าพเจ้าต้องเที่ยวสืบถามเอาที่บ้านคุณศรีสุริยวงษ

หนังสือของท่านไม่มีถึงข้าพเจ้าสามเดือนเศษแล้ว ตั้งแต่เดือน 9 มาจนถึงขึ้นเดือน 12 นี้ การที่ข้าพเจ้าไม่ได้หนังสือฝากนี้จะเป็นเหตุไฉน ข้าพเจ้าคิดดูก็เห็นว่า ซึ่งท่านทั้งปวงจะละเลยไม่เขียนบอกข้าพเจ้านั้นก็ใช่ที่ถาม เพราะแต่ก่อนเมื่อยังไม่ถึงเมืองปารีสนั้นสิเขียนได้ยาวๆ การไม่สลักสําคัญนักก็เขียนเพ้อเจ้อต่างๆ มาได้ ก็เมื่อแรกถึงก็รีบเขียนบอกมาได้ตั้งแต่นั้นมาจะไม่ได้เขียนฝากเลยนั้นก็เห็นผิดที่นัก

ชะรอยจะไปไว้ใจผิดฝากแก่ใครที่เขาลักหนังสือไว้เสียหมด ไม่ฝากดอกกระมัง ส่วนหนังสือถึงครอบครัวบุตรภรรยาสิฝากมาได้เนื่องๆ ได้ยินว่าหนังสือจําพวกนั้นฝากมาส่งที่ห้างพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองสิงคโปร์ หาได้ส่งที่พระพิเทศพานิช เช่นหนังสือที่เคยส่งมาไม่ เหตุนี้เป็นเหตุอย่างไรใครในกรุงนี้ เขียนหนังสือฝากยุยงออกไปว่ากระไรฤา ฤาได้ข่าวคน ไปพูดไปบอกผิดๆ อย่างไร

ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะฝากแก่ ขุนนางฝรั่งเศส แต่ขุนนางฝรั่งเศสจะเดินทางผิดจากที่เคย ไปกระมัง ฤาคนผู้รับจะมาพาผิดไปอย่างไร ก็ไม่รู้ ข้าพเจ้า คอยมาก็นานแล้ว ครั้งนี้ต่อว่ามากคะเนเห็นว่าจะแคล้ว เสียไม่พบ จึงต้องเขียนหนังสือเป็นสองฉบับ บอกไว้รับที่ สิงคโปร์ฉบับหนึ่ง ถ้ารู้แล้วผิดว่าได้เขียนหนังสือส่งมาถึง ข้าพเจ้าภายหลัง แต่ฉบับที่เขียน ฝากมาเมื่อแรกถึงเมืองปารีสนั้นมีแล้ว จงรู้เถิดว่าไม่ได้ถึงข้าพเจ้าสักฉบับหนึ่งเลย

พระนิเทศพานิชเขาก็บอกมาว่าเขาคอยทุกคราวเรือกลไฟเดินข่าวที่เรียกว่าเรือเมล์ แต่ไม่ได้หนังสือของท่านทั้งปวงเลย พราฉะนั้นจงสืบว่าหนังสือนั้นไปตกอยู่ที่ไหน ฤาความคิดของท่านเกิดขึ้นใหม่ว่า ต่อเมื่อกลับกรุงเทพฯ แล้ว จึงบอกเล่าเอยด้วยปากทีเดียว จะเขียนฝากก็ไม่มีเวลาจะเขียน

ถ้าคิดอย่างนั้นเมื่อฝากถึงครอบครัวบุตรภรรยาทําไมจึงมีเวลาเขียน ท่านทั้งปวงได้เป็นทูตไปครั้งนี้ได้ไปเพราะบุตรภรรยาฤา ข้าพเจ้าเห็นจะมีเหตุเป็นข้อขัดฤาสําคัญผิดเป็นแน่ จึงไม่มีหนังสือฝากมาถึงข้าพเจ้าเลยสามเดือนเศสมาแล้ว’”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ไกรฤกษ์ นานา. “อึ้ง…หลักฐานใหม่ ฝรั่งยกเต้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขึ้นท่านผู้นำโลกแถวหน้า” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2564