กองโบราณคดีใต้น้ำ “ขุดซากเรืออินเดียโบราณ 2,000 ปี” ที่ปากคลองกล้วย จังหวัดระนอง

ขุดเรือโบราณหลักฐานเชื่อมเส้นทางสายไหมและจุดเปลี่ยนทางวัฒนธรรม 2,000 ปี

ร.อ.บุญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่าน FB: Boonyarit Chaisuwan ถึงการดำเนินงานขุดซากเรือโบราณบริเวณชายหาดบ้านบางกล้วย อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ว่า

กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร กำลังดำเนินการขุดซากเรือโบราณบริเวณชายหาดบ้านบางกล้วย หมู่ 4 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง โดยซากเรือลำนี้พบตั้งแต่ปลายสิงหาคม 2559 โดยชาวบ้านออกหาปลาพบโดยบังเอิญ เนื่องจากขณะนั้นคลื่นได้พัดพาตะกอนทรายออกจากฝั่งซากเรือจึงโผล่ขึ้นมาชาวบ้านจึงได้แจ้งให้ทางอำเภอทราบ จากนั้นคณะของสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต (ปัจจุบันได้รวมพื้นที่ใหม่ขึ้นกับสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช) และกองโบราณคดีใต้น้ำได้เข้าไปตรวจสอบ พบว่าซากเรือยาวประมาณ 19 เมตร กว้าง 4.50 เมตร ไม้ที่ใช้ทำเรือมีความหนา 10-15 เซนติเมตร ได้มีชาวบ้านได้เข้ามาขุดเพื่อหาสิ่งของมีค่าต่างๆ มีการระบุจากชาวบ้านว่าได้พบลูกปัด ภาชนะดินเผา เศษทอง และเหรียญโรมันด้วย

กองโบราณคดีใต้น้ำได้เข้ามาดำเนินการทางโบราณคดีในครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2562 พบว่าซากเรือเสียหายไปจากเดิมมาก เหลือให้เห็นร่องรอยเพียงประมาณ 7 เมตร จึงได้วางแผนดำเนินการขุดตรวจหาชิ้นส่วนเรือเพิ่มเติมจากซากที่เหลืออยู่ทำให้พบชิ้นส่วนเรือกระจายตัวออกไปหลายชิ้น ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการขุดนำขึ้นมาเพื่อนำกลับมาอนุรักษ์ที่กองโบราณคดีใต้น้ำที่จังหวัดจันทบุรีต่อไป เรือลำนี้ใช้เทคนิคการต่อไม้แบบ Motise and Tenon Joint คือ การเจาะส่วนหนาของไม้กระดานเรือให้เป็นช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Mortise) โดยให้ตำแหน่งช่องที่เจาะของไม้กระดาน 2 แผ่นมีตำแหน่งตรงกัน สำหรับสอดเดือยแผ่นไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Tenon) เข้าไปแทนที่แล้วใช้ลูกประสักไม้กลมตอกยึดระหว่างแผ่นไม้กระดานเรือกับเดือยแผ่นไม้ให้ไม้แต่ละแผ่นเชื่อมติดกัน กองโบราณคดีใต้น้ำได้นำชิ้นส่วนไม้ไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์แล้วด้วยวิธี AMS (Acceleration Mass Spectrometry Radoicarbon Dating) 2 ตัวอย่าง ได้ค่าอายุ 2,120 และ 2,140 ปี นับเป็นเรือที่เก่าที่สุดลำหนึ่งในเอเชีย

จุดที่พบเรือลำนี้อยู่บริเวณปากคลองกล้วย โดยคลองกล้วยเป็นคลองที่เชื่อมต่อไปยังกลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง โดยกลุ่มโบราณคดีแห่งนี้พบจี้หรือหัวแหวนแกะเป็นรูปบุคคลแบบโรมัน (Roman Intaglio) เช่น เฮอร์คิวลีส เป็นต้น พบภาชนะแก้วโมเสคโรมัน พบตราประทับที่มีตัวอักษรพราหมี พบเครื่องประดับและตราประทับที่มีสัญลักษณ์ในศาสนาพุทธหลายประเภท มีการนำเข้าหินกึ่งอัญมณีหลายชนิดเพื่อผลิตลูกปัดหิน และมีหลักฐานมากพอที่จะระบุได้ว่าเป็นแหล่งผลิตลูกปัดแก้วและหินที่สำคัญอีกด้วย

การดำเนินงานทางวิชาการในครั้งนี้นอกจากจะพบชิ้นส่วนเรือกระจายตัวออกไปแล้ว ยังได้สำรวจพบภาชนะดินเผานำเข้าจากอินเดียบริเวณไม่ห่างจากตัวเรือมากนักที่สำคัญอย่างมาก 2 ชนิด ได้แก่ รูเล็ทเต็ดแวร์ (Rouletted ware) ภาชนะดินเผาชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีลายกดประทับที่เชื่อว่าเกิดจากการกลิ้งวงล้อฟันเฟื่องกดลงบนผิวภาชนะที่ส่วนก้นด้านในทำให้เกิดลายกดประทับอย่างเป็นระเบียบ รูปทรงของภาชนะชนิดนี้ส่วนก้นจะแบนเรียบปากโค้งเข้าผิวขัดมันสีดำทั้งด้านนอกและด้านใน และน็อบแวร์ (Knobbed ware) ภาชนะดินเผาชนิดนี้จะที่มีปุ่มแหลมยื่นขึ้นมาจากส่วนก้นด้านในผิวขัดมันสีดำทั้งด้านนอกและด้านในเชื่อว่าถูกใช้ในพิธีกรรม

รูเล็ทเต็ดแวร์ (Rouletted ware)
น็อบแวร์ (Knobbed ware)

จากหลักฐานแวดล้อมต่างๆ เชื่อว่าเรือลำนี้เป็นเรือที่มาจากอินเดียถึงแม้อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์แต่ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการเดินทางติดต่อแลกเปลี่ยนทางการค้าตามเส้นทางสายไหมทางทะเลได้เป็นอย่างดี และยังเป็นตัวแทนในการอธิบายถึงการเคลื่อนตัวทางวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามายังประเทศไทยได้อย่างชัดเจนอีกด้วย การเข้ามาของคนอินเดียในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการรับเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตลูกปัดแก้วและหิน มีการใช้อักษรพราหมีที่เป็นรากเหง้าของตัวอักษรไทย ที่สำคัญคือการพบหลักฐานที่เป็นสัญลักษณ์ในศาสนาพุทธก่อนมีการสร้างพระพุทธรูปเป็นรูปเคารพหลายชนิดที่สำคัญคือ ตรีรัตนะ

ลูกปัดตรีรัตนะ ทำจากหินคาร์เนเลียน จากแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
ภาพสลักนางยักษิณีที่สถูปภารหุต เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่าคนนับถือศาสนาพุทธจะห้อยลูกปัดตรีรัตนะเหมือนกันที่พบจากแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง

สิ่งต่างๆ ที่พบเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญในการอธิบายถึงแรงกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่เกิดขึ้นในภาคใต้จากสมัยก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์อย่างก้าวกระโดด และยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ก่อนการเกิดรัฐหรือสังคมเมืองที่มีกษัตริย์ปกครองในประเทศไทยเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้วอีกด้วย


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ กองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร