ที่มา | 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 |
---|---|
ผู้เขียน | พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และ ดร.แอลเลน อาร. มิลเลตต์ เขียน |
เผยแพร่ |
ทุ่นระเบิดที่เรียกว่า “เต็ลเลอร์” (Teller) เป็นทุ่นระเบิดมาตรฐานของเยอรมนีสำหรับต่อสู้รถถังระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มันมีรูปทรงกลมแบบจาน (Teller ในภาษาเยอรมันหมายถึงจาน) ข้างในบรรจุระเบิดทีเอ็นทีน้ำหนัก 5.5 กิโลกรัม และจะระเบิดด้วยฟิวส์ชนิดใช้แรงกด และปกติแล้วจะมันถูกตั้งให้ระเบิดเมื่อมียานพาหนะหนัก 90 กิโลกรัม หรือมากกว่านี้วิ่งผ่าน ทุ่นระเบิดดังกล่าวถูกวางเอาไว้สำหรับสร้างความเสียหายต่อรถถังและทำลายยานพาหนะเบา ดังนั้น หากมันระเบิดเพียงเพราะมีคนเดินผ่านจึงเท่ากับเสียเปล่า
เนื่องจากมีทุ่นระเบิดชนิดเบาเพื่อใช้สำหรับการนั้นอยู่แล้ว ซึ่งปกติจะวางไว้ข้างๆ ทุ่นระเบิดทำลายรถถังในเขตทุ่นระเบิดแบบผสมผสาน ทั้งนี้ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามกำจัด หรือเคลียร์ระเบิดได้ยากขึ้น เต็ลเลอร์ยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์ต่อต้านการยก โดยมันจะจุดระเบิดทันทีหากมีใครพยายามเคลื่อนย้ายมัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รู้กันดีและต้องใช้เวลามากขึ้นในการเคลียร์เขตทุ่นระเบิด
ฤดูใบไม้ร่วงปี 1943 จอมพลแอร์วิน รอมเมล แห่งเยอรมนีกำลังบัญชาการทหารกลุ่มบีซึ่งรับผิดชอบการป้องกันด้านเหนือของฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์จากเมืองนองต์ส ประเทศฝรั่งเศส ไปถึงอ่าวเซยเดอร์ซี ประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมถึงชายฝั่งที่ฝ่ายสัมพันธมิตรน่าจะบุกมากที่สุด รอมเมลใช้ทุ่นระเบิดอย่างกว้างขวางในแอฟริกา และได้ออกคำสั่งว่าควรมีการใช้ทุ่นระเบิดจำนวนมากในพื้นที่รับผิดชอบของเขา
เมื่อถึงเดือนตุลาคม 1943 มีการวางทุ่นระเบิดประมาณ 2 ล้านลูกและเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 ล้านลูก ตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม 1944 ไม่เพียงวางทุ่นระเบิดบนชายหาดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรน่าจะบุกเท่านั้น รอมเมลยังมีคำสั่งให้วางสิ่งกีดขวางตามบริเวณน้ำตื้นที่มีกระแสน้ำลงมาก เสาไม้และเสาคอนกรีตถูกเคลื่อนย้ายเข้ามายังชายหาดที่เป็นทรายหรือโคลนและวางหักมุมให้หันหน้าออกสู่ทะเล
เสาคอนกรีตรูปจัตุรมุขสูง 1.8 เมตร (6 ฟุต) และหนักเกือบ 1 ตัน ถูกนำมาวางบนชายหาดด้วย พร้อมกันนี้ยังเพิ่มอุปกรณ์ที่เรียกว่า “เฮดจ์ช็อก” (hedgehog) ซึ่งเป็นคานโลหะหักมุมยาว 2.1 เมตร (7 ฟุต) ที่นำมาประกอบตรึงเข้าไว้ด้วยกันเพื่อทำให้มันมีปลายแหลมชี้ไปทุกทิศทาง เมื่อยานพาหนะมากระทบพวกมันจะแทง หรือไม่ก็พลิกตัวเพื่อให้ปลายแหลมด้านอื่นเสียบทะลุเหยื่อจากด้านล่าง และระหว่างสิ่งกีดขวางบนชายหาดเหล่านี้ หรือลึกเข้าไปในทะเลจะมีเสาที่ตั้งบนขาตั้ง 2 ขา ถูกนำมาวางในรูปแบบที่หากยานพาหนะศัตรูพยายามจะหลีกเลี่ยงเสากับดักที่หันหน้าออกในบริเวณกระแสน้ำสูง ยานพาหนะจะถูกแทงโดยสิ่งกีดขวางใต้น้ำเหล่านี้
เครื่องป้องกันหรือสิ่งกีดขวางตามชายหาดเหล่านี้ของเยอรมนีส่วนใหญ่แล้วจะติดตั้งทุ่นระเบิดเต็ลเลอร์เอาไว้ด้วย หากมีทุ่นระเบิดไม่เพียงพอ รอมเมลก็จะใช้กระสุนปืนใหญ่ที่ยึดมาจากฝรั่งเศสแทน จุดประสงค์ของการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทั้งที่ติดหรือไม่ติดทุ่นระเบิดหรือวัตถุ ระเบิดก็เพื่อกรีดหรือฉีกส่วนล่างของยานพาหนะที่ใช้ในการยกพลขึ้นบกที่กำลังวิ่งเข้าใกล้ชายหาดให้จมน้ำก่อนที่มันจะแตะพื้นชายหาด รวมทั้งเพื่อทำให้ทหารหรือยานพาหนะของฝ่ายตรงข้ามปั่นป่วนกระเจิดกระเจิง
นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1944 เป็นต้นมาเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรค้นพบว่ามีการวางสิ่งกีดขวางใต้น้ำ จึงจัดทีมเล็กๆ จากหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการผสมด้านการนำร่อง (COPP) ออกลาดตระเวนตามชายหาดที่เลือกเอาไว้ในเวลากลางคืนเพื่อประเมินปัญหา ส่วนในช่วงกลางวัน เครื่องบินสอดแนมจะบินในระดับต่ำเพื่อถ่ายภาพทางอากาศอย่างอ้อมๆ
จากข้อมูลที่ได้รับกลับมา ฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจว่าพวกเขาจะไม่ขึ้นบกในยามน้ำขึ้นสูงซึ่งเป็นสิ่งที่รอมเมลคาดหมายไว้ชัดเจน แต่จะขึ้นบกตอนน้ำลงเพื่อให้ทหารช่างโจมตีสามารถเคลียร์เส้นทางที่มีสิ่งกีดขวางก่อนที่ยานพาหนะสำหรับการยกพลขึ้นบกจะเข้ามา การเคลียร์เส้นทางทำได้โดยการทำลายสิ่งกีดขวางทิ้งหรือลากออกไปไว้ด้านข้างของแนวยานพาหนะซึ่งจะได้ผลต่อเมื่อพวกมันอยู่เหนือกระแสน้ำหรือในน้ำที่ต่ำกว่าระดับ 60 ซม. (2 ฟุต) ทีมงานจากกองทัพเรือและทหารช่างอังกฤษถูกจัดตั้งขึ้นและฝึกฝนเพื่อภารกิจนี้ ทั้งนี้ เมื่อกระแสน้ำลงจะช่วยให้คนคัดท้ายเรือหรือยานพาหนะ สำหรับการขึ้นบกมองเห็นและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้ง่ายกว่า
โชคดีที่รอมเมลไม่มีเวลาหรือเครื่องมือที่จะขยายแนวสิ่งกีดขวางเข้าไปในบริเวณกระแสน้ำตื้นอีกครึ่งหนึ่งอย่างที่เขาตั้งใจไว้ นอกจากนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านยานหุ้มเกราะอย่างโฮบาร์ตหรือ “ฟันนี่” พร้อมให้ใช้งาน ซึ่งโฮบาร์ตได้รับมอบหมายมาเป็นพิเศษ เพื่อให้จัดการกับปัญหาสิ่งกีดขวางของรอมเมล
การยกพลขึ้นบกในช่วงกระแสน้ำลงจะทำให้ทหารต้องวิ่งไกลขึ้นเพื่อไปยังชายหาดทันทีที่พวกเขาลงจากยานพาหนะซึ่งเสี่ยงที่จะถูกฝ่ายศัตรูยิงด้วยอาวุธเล็กปืนครกและปืนใหญ่ แต่นี้ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าอย่างแน่นอนเมื่อเทียบกับการต้องจมน้ำ หรือถูกฆ่าตั้งแต่อยู่ในน้ำ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากช่องทางที่ผ่านแนวสิ่งกีดขวางไม่ได้รับการเคลียร์
หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก พลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และ ดร.แอลเลน อาร. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 11 กุมภาพันธ์ 2565