ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ซูชิ (Sushi) เป็นอาหารยอดนิยมสัญชาติญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะร้านซูชิแบบ “จานเวียน” หรือที่เรียกติดปากกันว่า “ซูชิสายพาน” (Turnover Sushi) ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งในญี่ปุ่นและนานาประเทศเช่นกัน
ซูชิสายพาน ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยนาย โยชิอากิ ชิราอิชิ (Yoshiaki Shiraishi) อดีตทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ไอเดียดังกล่าวหลังจากไปเห็นขวดเบียร์ไหลผ่านบนสายพานในโรงเบียร์
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างที่ทั้งประเทศญี่ปุ่นกำลังหมกมุ่นอยู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพและเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โยชิอากิ ชิราอิชิ ร่วมมือกับช่างเครื่องกลกลุ่มเล็ก ๆ สร้างเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงการค้าปลาดิบและข้าว จากนั้น ร้านซูชิสายพานของเขาก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1958 ที่โอซาก้า
โยชิอากิ ชิราอิชิ เกิดที่เอฮิเมะ บนเกาะชิโกกุ เขาเป็นคนที่กระตือรือร้นและมีความอยากรู้อยากเห็นมาก หลังจากญี่ปุ่นยึดครองจีน เขามีโอกาสทำงานในร้านเทมปุระ ที่แมนจูกัว (แมนจูเรีย ใต้การปกครองของญี่ปุ่น) ก่อนจะถูกเกณฑ์ไปประจำการบริเวณชายแดนจีน-รัสเซีย หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เขากลับเอฮิเมะในสภาพเกือบจะสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องหาเงินจากการขายสินค้าในตลาดมืด ก่อนย้ายมาที่โอซาก้าในปี 1947 เพื่อเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ ที่นั่น
ไอเดียการเสิร์ฟซูชิผ่านสายพานของ โยชิอากิ ชิราอิชิ เกิดขึ้นหลังจากเขามีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเบียร์ของ Asahi ช่วงกลางศตวรรษที่ 1950 เขาร่างแบบคร่าว ๆ แล้วนำไปให้ช่างตามโรงงานพิจารณาแบบ ก่อนจะถูกปฏิเสธหลายอยู่หลายครั้ง แต่ในที่สุดก็มีโรงงานช่างเล็ก ๆ ที่มีพนักงานเพียง 20 คนโรงงานหนึ่งยินดีจะลองผลิตแบบให้เขา
อันที่จริงแนวคิดของ โยชิอากิ ชิราอิชิ ในการทำซูชิสายพานค่อนข้างล้ำหน้าไปไกลมาก เพราะมันแลกมาด้วยการผลิตซูชิคราวละมาก ๆ ซึ่งสำหรับอาหารที่เชฟทุกคนต้องรังสรรค์ด้วยความพิถีพิถันและปราณีตอย่างซูชินั้น การผลิตครั้งละจำนวนมาก ๆ ถือเป็นเรื่องใหม่ และ “แหวก” วัฒนธรรมการกินแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น หรือ “ขนบ” การกินซูชิเป็นอย่างมาก
ร้านซูชิจานเวียนของ โยชิอากิ ชิราอิชิ จึงถูกสบประมาทจากปรมาจารย์ด้านซูชิหัวเก่าหลายคน และต้องใช้เวลามากกว่าทศวรรษเพื่อปรับแต่ง ปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ ของนวัตกรรมและศิลปะแห่งอาหารชิ้นใหม่นี้ของพวกเขา
จานซูชิจานแล้วจานเล่าที่เวียนผ่านที่นั่งของลูกค้าแบบเรียบง่าย โดยปล่อยให้พวกเขาเลือกหยิบรับประทานเอง คือจุดเด่นของซูชิสายพาน เป็นการเปลี่ยนอาหารที่หรูหราอย่างซูชิให้เป็นอาหารราคาไม่แพง เป็นเหมือนอาหารจานด่วนที่ดีต่อสุขภาพ ที่สำคัญคือเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาหารชั้นสูงที่เต็มไปด้วยพิธีรีตองประหนึ่งการสร้างงานศิลปะของเชฟไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ทำให้ โยชิอากิ ชิราอิชิ ต้องหาวิธีช่วยพ่อครัวและเหล่าบริกร ด้วยการเพิ่มจำนวนลูกค้า รวมถึงลดราคาซูชิ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย
โทยู ทามามูระ นักเขียนด้านอาหารและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Kaiten zushi กล่าวว่า “ชิราอิชิมีคุณูปการอย่างยิ่งใหญ่ต่อวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ญี่ปุ่นสามารถภาคภูมิใจได้…โลกของซูชิเคยถูกปิดตาย เขาช่วยเปลี่ยนความคิดของผู้คนได้จริงๆ และเขายังเพิ่มความสนุกให้กับการกินที่เข้ากับความคิดของคนยุคใหม่อีกด้วย”
นับได้ว่า โยชิอากิ ชิราอิชิ สามารถปฏิวัติวงการซูชิญี่ปุ่นที่ผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับขนบธรรมเนียมประเพณี สิ่งนี้เกิดขึ้นจากพื้นฐานว่า ตัวเขาเองก็ไม่ได้มาจากสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านซูชิแต่อย่างใด
ในขณะที่พวกหัวเก่าส่ายหัวให้สิ่งประดิษฐ์ใหม่ของ โยชิอากิ ชิราอิชิ ทั้งตราหน้าว่าเป็นการลอกเลียน (อย่างหยาบ) และทำให้ลูกค้าเสียประสบการณ์อันล้ำค่าระหว่างการดื่มด่ำกับการรับประทานซูชิ ถึงอย่างนั้นก็ดูเหมือนผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะชื่นชอบนวัตกรรมใหม่นี้ของ โยชิอากิ ชิราอิชิ ซึ่งกาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
นอกจากนวัตกรรมซูชิจานเวียน โยชิอากิ ชิราอิชิ ยังชื่นชอบการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เขาได้จดสิทธิบัตรแนวคิดต่าง ๆ มากมาย รวมถึงห้องน้ำแบบพกพาที่มีมานานก่อนความนิยมในการตั้งแคมป์จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่เครื่องทำซูชิหุ่นยนต์ แม้ว่าเขาจะไม่เคยทำการตลาดอย่างจริงจังก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม :
- ร่องรอย “สุกี้ยากี้” ถึง “ชาบู-ชาบู” ญี่ปุ่นเปิดรับตะวันตก สู่การปฏิวัติแนวคิดเรื่องการกิน
- จาก “เบนโตะ” ของญี่ปุ่น ถึง “ปิ่นโต” ของไทยอาหารกับการเดินทาง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Mark Magnier. Los Angeles Times (September 2, 2001) : “Yoshiaki Shiraishi; Founded Conveyor Belt Sushi Industry”. <https://www.latimes.com/archives/la-xpm-2001-sep-02-me-41354-story.html>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2566