กู๊ดเยียร์ นักประดิษฐ์ที่ไม่ยอมแพ้ ผู้พัฒนายางคุณภาพ

ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ นักประดิษฐ์ ผู้พัฒนาคุณภาพยางธรรมชาติ

บทความนี้คัดย่อจาก “สิ่งประดิษฐ์ของคนหัวรั้น…ของธรรมดาที่เปลี่ยนโลก (ตอนที่2)” (ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับกันยายน 2553) ซึ่ง วารยา รวบรวมประวัตินักประดิษฐ์ผู้มุ่งมั่นยืนหยัด ในการสร้างผลงานเป็นประโยชน์กับเพื่อนมนุษย์

ในที่นี้คัดย่อมาเฉพาะประวัติของ ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ นักประดิษฐ์ที่พัฒนายางธรรมชาติมีความยืดหยุ่นและแข็งตัว ทำให้มีการนำ “ยาง” มาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ (Charles Goodyear) นักประดิษฐ์ที่ชื่อกลายเป็นสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ทำจากยางที่เราใช้ในชีวิตประจําวัน ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบรรดาสินค้าที่ใช้ชื่อเขาแม้สักแดงเดียว

กู๊ดเยียร์เป็นนักประดิษฐ์ประเภทหัวรั้น และหลงใหลฝักใฝ่อยู่กับงานที่ทำ ก่อนจะมาทดลองเรื่องยางนั้น เขาทำธุรกิจมาแล้วหลายประเภท ทั้งผลิตกระดุม อุปกรณ์การเกษตร เปิดร้านครุภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งกิจการเหล่านี้ลุ่มๆ ดอนๆ หลายครั้งก็เจ๊งไม่เป็นท่า ทำให้กู๊ดเยียร์มีหนี้สินมากมาย และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เขายังเคยถูกจับเข้าคุกเพราะค้างชำระหนี้อีกด้วย

หลังจากที่มีการนำเข้ายางจากบราซิลในปี 1823 นักธุรกิจอเมริกันพากันฝันถึงกำไรมหาศาลจากวัสดุใหม่มีการลงทุนในธุรกิจยางนับล้านดอลลาร์ ทั้งรองเท้า เสื้อกันฝน ฯลฯ ทว่าปัญหาก็คืออุณหภูมิที่แตกต่างกันมากในบางรัฐ ทำให้เกิดผลเสียต่อสินค้าที่ทำมาจากยาง โดยเมื่อเจออากาศเย็นจัดยางจะแข็งและกรอบ แต่เมื่อเจอความร้อนในฤดูร้อนก็จะเหนียวหนึบและส่งกลิ่นเหม็นฉุน ท้ายที่สุดโรงงานต่างๆ ก็ต้องพากันปิดตัวลง ผลิตภัณฑ์ทำจากยางที่ไร้ประโยชน์ถูกนำมาจุดไฟเผาทิ้งกองแล้วกองเล่า

โชคชะตาของกู๊ดเยียร์พลิกผันในฤดูร้อนปี 1834 เมื่อเขาเดินทางไปทำธุระที่นิวยอร์ก กู๊ดเยียร์เดินผ่านหน้าร้านขายอุปกรณ์ชูชีพ และเห็นห่วงชูชีพไม่ได้คุณภาพวางโชว์อยู่หน้าร้าน เขาซื้อติดมือกลับมาและลองหาวิธีปรับปรุงคุณภาพสินค้า จากนั้นำตัวอย่างงานที่แก้ไข ไปเสนอบริษัทผู้ผลิตยางแห่งแรกของอเมริกา แม้ผู้จัดการบริษัทชอบใจงานของเขา แต่บริษัทนั้นกำลังไปไม่รอด เนื่องจากสินค้ายางทั้งหลายถูกตีกลับ คนใช้สินค้าเบื่อหน่ายที่ยางแข็งเป็นก้อนในฤดูหนาว และเหลวเป็นกาวในฤดูร้อน แทนที่มองกองสินค้ายางที่ถูกส่งคืนมา แล้วจะเห็นเหมือนคนอื่นว่าสิ้นสุดยุคสินค้ายางแล้ว กู๊ดเยียร์กลับรู้สึกว่าน่าตื่นเต้นและท้าทายยิ่ง หากเขาปรับปรุงคุณภาพของสินค้าเหล่านั้นได้

กู๊ดเยียร์ทดลองแก้ปัญหายางครั้งแรกในกระท่อม โดยใช้ครัวเป็นห้องทดลอง ทั้งที่ไม่มีความรู้ทางเคมีมากนัก การทดลองยางในตอนแรกๆ ทำให้ครอบครัวเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น นอกจากนี้การทดลองยางและอยู่กับน้ำยาเคมีต่างๆ ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีนักธุรกิจบางคนให้ความสนใจการทดลองของกู๊ดเยียร์ แต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ 1836 และการล้มพังของอุตสาหกรรมยางก่อนหน้านี้ทำให้พวกเขายังขยาดอยู่ กู๊ดเยียร์และครอบครัวอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว หากมีเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ หลุดเข้ามาในมือบ้าง กู๊ดเยียร์ก็จะรีบเอาไปทุ่มในการทดลองทันที

ในที่สุด กู๊ดเยียร์ก็ค้นพบโดยบังเอิญว่า ยางที่ผสมกำมะถันแล้วเมื่อไปสัมผัสกับเตาร้อนจัดแทนที่จะละลายกลับไหม้ดำเท่านั้น ทำให้เขาตระหนักว่า กุญแจสำคัญคือ การหยุดกระบวนการไหม้ดำในจุดที่เหมาะสม ทว่าการค้นพบนี้ก็ยังไม่ทำให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการหดตัวและแข็งตัวของยางได้ทั้งหมด กู๊ดเยียร์ยังขลุกอยู่กับการทดลองต่อไปอีก 5 ปี ทั้งยังป่วยกระเสาะกระแสะ เขาขายของทุกอย่างเท่าที่สามารถขายได้ ทั้งนาฬิกา เครื่องเรือน ถ้วยชาม แม้กระทั่งหนังสือเรียนของลูกๆ เพื่อเอาเงินมาใช้ในการทดลอง ภาพเด็กๆ 5-6 คน สวมเสื้อผ้าขาดวิ่น ร่างกายผอมโซเดินขุดหามันฝรั่งในทุ่ง จึงกลายเป็นภาพที่ชาวบ้านแถวนั้นเห็นจนชินตา

ในปี 1841 กู๊ดเยียร์ให้ตัวอย่างยางที่เขาพัฒนาขึ้นกับพนักงานบริษัทยางแห่งหนึ่งในอังกฤษ ซึ่ง โทมัส แฮนด์ค็อค (Thomas  Handcock) หุ้นส่วนในบริษัทแห่งนั้นได้เห็นตัวอย่างงาน และนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาคุณภาพยางแฮนด์ค็อคยื่นขอสิทธิบัตรในอังกฤษตัดหน้ากู๊ดเยียร์ ในปี 1843

หลังจากนั้น 9 ปี กู๊ดเยียร์จึงได้รับสิทธิบัตรยางยืดหยุ่นและแข็งตัว (Vulcanize rubber-ยางผสมกำมะถัน แล้วผึ่งด้วยไอน้ำภายใต้ความดันที่พอเหมาะ นานประมาณ 2-4 ชั่วโมง จะทำให้ได้เนื้อยางที่มีคุณภาพดีที่สุด และมีสีดำ ซึ่งทนทานกว่ายางธรรมชาติ และภายหลังนำมาผลิตยางรถยนต์ด้วย) ทว่าก็ต้องกู้หนี้ยืมสินจำนวนมากเพื่อวิ่งเต้นกับศาล

ในปี 1953 กู๊ดเยียร์เขียนหนังสือหนากว่า 600 หน้า เพื่อแสดงแนวคิดกี่ยวกับการนำยางไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจิตนาการอันกว้างไกล (และเป็นไปได้จริง) ของเขา อาทิ ใบเรือยาง นาฬิกาที่มีตัวเรือนเป็นยาง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่มีที่จับเป็นยาง กรอบรูป ลูกฟุตบอล ยางรัดของ เตียงน้ำ หมวกเป่าลมสำหรับคนเล่นสเก๊ตน้ำแข็ง นวมเป่าลมสำหรับนักมวย เครื่องดนตรียาง ธนบัตรยางล้างน้ำ ล้อยางสำหรับรถเข็น “อุปกรณ์เดินทางช่วยชีวิต” ที่สามารถนำกระเป๋าเดินทางใบใหญ่และกล่องใส่หมวกมาต่อกันเป็นแพยางได้ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้กู๊ดเยียร์พอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างจากค่าสิทธิบัตร และได้รับการสรรเสริญว่าเป็นนักประดิษฐ์แห่งยุค แต่เขาก็ยังมีหนี้สินล้นพ้นและเดินเข้าๆ ออกคุกเช่นเคย ในปี 1860 กู๊ดเยียร์ย้ายออกไปอยู่วอชิงตัน ดี.ซี. และเสียชีวิตอย่างสงบ ทิ้งทรัพย์สินไว้ให้ทายาทไม่ถึง 19,000 เหรียญ

หลังจากสิทธิบัตรหมดอายุลงในปี 1865 ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ จูเนียร์ บุตรชายของเขาขายชื่อ “กู๊ดเยียร์” ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย หลายปีต่อจากนั้นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยางหลายแห่งก็นำชื่อ “กู๊ดเยียร์” ไปใช้ เช่น ยางรถยนต์กู๊ดเยียร์ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ แต่อย่างใด

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2565