ร.5 เสด็จไปนมัสการพระทันตธาตุที่ลังกาแล้วทรง “แผลงฤทธิ์” เพราะ “กริ้ว” !!

พระเขี้ยวแก้ว
ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาพระเขี้ยวแก้ว ยังคงแวะเวียนมานมัสการที่วัดมลิกาวะ เมืองแคนดี้ อยู่มิได้ขาด ความแออัดภายในห้องประดิษฐานและเหตุอื่นมาประกอบกัน ทำให้พระพุทธเจ้าหลวงของไทยทรงกริ้วและทรงแผลงฤทธิ์ให้เห็น

รัชกาลที่ 5 เสด็จไปนมัสการพระทันตธาตุ ที่ลังกาแล้วทรง “แผลงฤทธิ์” เพราะ “กริ้ว” !!

“–อันที่จริงฉันก็ได้คิดเสียก่อนที่จะกริ้วแล้ว ขออย่าให้แม่เล็กตกใจว่าฉันแผลงฤทธิ์—“

วาทะข้างต้นเป็นข้อความตอนหนึ่งในลายพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชทานแก่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440

Advertisement

ข้อความนี้บอกให้รู้ว่า มีเหตุการณ์ที่ทำให้กริ้วอย่างที่ทรงเรียกว่า “แผลงฤทธิ์” แต่การแสดงความกริ้วของพระองค์นั้นทรงมีทั้งเหตุและพระสติในการแสดงออก สาเหตุที่กริ้ว เกิดจากการเสด็จไปนมัสการพระทันตธาตุ ที่วัดมลิกาวะ เมืองแคนดี้ เกาะลังกา

พระยาศรีหเทพ (เส็ง) บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. 116 ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนนมัสการพระทันตธาตุเสร็จแล้ว มีพระราชประสงค์จะทรงจับพระทันตธาตุ แลทรงยืมหนังสือจานในทองคำ 2 ผูกมาตรวจ นายปาลาบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโดยไม่สู้เต็มใจ อ้างเหตุผลว่าไม่เคยมีใครได้จับต้องพระทันตธาตุ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริห์เห็นว่า การที่พูดขัดขวางอย่างนั้นเป็นการลบหลู่พระบรมเดชานุภาพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนหนังสืออ่านถวายพระพร และสิ่งของที่ทูลเกล้าฯ ถวายในวัดนั้นไปไม่ทรงรับไว้ แลให้นำสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งได้นำไปถวายเป็นเครื่องนมัสการพระทันตธาตุนั้นกลับคืนมาสิ้น–” 

ข้อความนี้เป็นเรื่องราวที่ปรากฏในจดหมายเหตุ จึงมิได้แสดงถึงพระราชดำริ อันเป็นเหตุผลที่อยู่ในพระราชหฤทัย ดังที่ได้ปรากฏในลายพระราชหัตถเลขา ที่ทรงมีเป็นการส่วนพระองค์ถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงเล่าถึงข้อสังเกตของพระองค์ที่ทรงมีต่อศาสนสถานแห่งนี้ ทำให้ไม่ทรงแน่พระทัยในการปฏิบัติพระองค์

รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ประการแรก ทรงเคยได้ยินข่าวมาก่อนหน้านี้แล้วว่า มีพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์มานมัสการและแสดงความเชื่อถืออย่างมาก ทำให้เป็นที่ดูถูกและขบขันของชาวเมือง ดังที่ทรงบรรยายว่า “–พระเจ้าแผ่นดินมอญถูกลังกามันเมกเสียยับ ยังเป็นที่หัวเราะกันอยู่ทุกวันนี้–“ และทรงบรรยายในพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสว่า “–ว่าตามความจริง เจดีย์ฐานอันนี้ไม่เป็นเครื่องที่ก่อเกิดความยินดี เลื่อมใส เพราะเห็นเป็นการล่อลวงติดอยู่ในนั้น–“

ด้วยเหตุที่ทรงมีพระราชดำริเช่นนี้ในพระทัยอยู่ก่อนแล้ว เมื่อต้องทรงมาประสบเหตุเฉพาะพระพักตร์อีกหลายประการ อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความถูกต้องของพระราชดำริ เช่น การรับรองซึ่งเต็มไปด้วยความไม่มีระเบียบแบบแผน จนเกิดความโกลาหล

จากความที่ทรงไม่รู้สึกเลื่อมใสอยู่แล้ว เมื่อทรงประสบเหตุที่ว่าคนดูแลพระทันตธาตุไม่ยอมให้ทรงจับพระทันตธาตุ จึงทรงเห็นเป็นเหตุที่สมควรที่จะต้องแสดงความกริ้วให้ปรากฏ

และอีกเหตุผลหนึ่งคือ “–แลในการที่จะให้เงินให้น้อยก็ไม่ได้ ให้มากก็งุ่มง่าม ถึงจะไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ อายพวกฝรั่งมันหัวเราะเยาะ–“ และในลายพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเล่าว่า “–เพราะเห็นเป็นการล่อลวงติดอยู่ในนั้น ถ้าหากเราจะเข้าเรี่ยรายเล็กน้อยก็จะไม่สมควรแก่ที่เขาเป็นที่นับถือกัน ถ้าจะออกมากก็ให้นึกละอายใจ ว่าจะเป็นผู้หลงใหลไปตาม แลดูก็จะไม่เป็นประโยชน์อันใด แลไม่เป็นเกียรติยศอันใดทั้งฝ่ายศาสนาและฝ่ายพระราชอาณาจักร—“

ความโกรธของคนส่วนใหญ่มักเป็นพิษเป็นภัย นำมาซึ่งความเสียหาย แต่ความโกรธของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นความโกรธที่ผ่านการไตร่ตรองจากข้อมูลที่ทรงศึกษามาก่อน และข้อสังเกตที่ทรงได้รับจากเหตุการณ์เฉพาะพระพักตร์ ทำให้ความโกรธของพระองค์กลับมีคุณแก่เกียรติยศของบ้านเมือง ทั้งนี้เพราะทรงมีทั้งเหตุผลและพระสติปัญญาในการโกรธ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จไปนมัสการพระทันตธาตุ ที่ลังกาแล้วทรง ‘แผลงฤทธิ์’ เพราะทรง ‘กริ้ว’” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2560