นักประวัติศาสตร์ชี้ “สุนทรภู่” อาจเคยเดินทางไกลไป “ลังกา”

เราไม่มีหลักฐาน (Proof) เลยว่า สุนทรภู่ เคยไปลังกา แต่เรามีพยานแวดล้อม (Circumstantial Evidence) ที่ชวนให้สงสัยว่าท่านอาจจะเคยเดินทางไปลังกา และถ้าไปจริงก็น่าจะออกไปพร้อมคณะสมณทูตที่รัชกาลที่ 2 ทรงส่ง ไปในปี 2358 – 2359

หากท่านไม่ได้ไปเอง, สุนทรภู่จะต้องเคยคบหาคณะสมณทูตนี้สนทนากับท่านอย่างสนิทสนมและอ่านรายงานของท่านทุกชิ้น ซึ่งบางชิ้นอาจจะสาบสูญไม่เหลือให้เห็นในปัจจุบัน

Advertisement

หลักฐานพยานเท่าที่ผมรวบรวมได้มีอยู่สามกองใหญ่ คือ 1. ชีวประวัติสุนทรภู่ 2. รายงานของสมณทูตครั้งรัชกาลที่ 2 และ 3. หลักฐานระหว่างบรรทัดในพระอภัยมณี

1. หลักฐานจากชีวประวัติสุนทรภู่

1.1 สุนทรภู่เป็นเชื้อพราหมณ์เมืองเพชรบุรี

1.2 ท่านเกิดและโตขึ้นเป็นชาววังหลัง

1.3 ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2329 ดังนั้นใน พ.ศ. 2358 – 2359 ท่านคงอายุเกือบ 30 ปี คือยังอยู่ในวัย ฉกรรจ์แต่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ได้แล้ว

1.4 กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงอธิบายว่า ในรัชกาลที่ 2 เกิดกรณีกบฏและสุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นจึงหลบไปชั่วระยะหนึ่ง ว่ากันว่าไปกบดานอยู่ในถ้ำเมืองเพชรบุรีก็เป็นไปได้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในราวคราวเดียวกัน รัชกาลที่ 2 ทรงมีรับสั่งให้แต่งสมณทูตออกไปลังกา เราทราบว่าตลอดพระชนมชีพพระองค์โปรดมหากวีคนนี้เป็นอย่างยิ่ง หากรัชกาลที่ 2 ทรงพระเมตตาอยากให้สุนทรภู่พ้นอันตรายคดีนี้ (ซึ่งอาจจะถึงชีวิต) วิธีช่วยง่ายที่สุดคือให้สุนทรภู่ล่องหนหายไปชั่วระยะหนึ่ง เช่น ให้ลงเรือพร้อมสมณทูตไปลังกาโดยนิรนาม เราไม่มีหลักฐาน แต่เป็นไปได้ไหม?

อนุสาวรีย์ สุนทรภู่
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ณ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้พิสูจน์อะไรทั้งสิ้นแต่แสดงว่า ในปี 2358 – 2359 ที่รัชกาลที่ 2 ทรงให้สมณทูตออกไปลังกานั้น สุนทรภู่อยู่ในที่เหมาะสม มีอายุเหมาะสมและมีฐานะทางสังคมเหมาะสมที่จะเป็นทูตไปด้วยกัน อย่าลืมว่าในสมัยก่อนคนเชื้อพราหมณ์ไม่ได้เป็นเฉพาะพราหมณ์พระราชพิธี หากยังครองตําแหน่งราชการสําคัญ ๆ อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตําแหน่งทางการทูตที่ติดต่อกับโลกฮินดู-พุทธ เช่นในอินเดียและลังกา

2. หลักฐานในรายงานสมณทูต

2.1 ในปี 2358 – 2359 มีข่าวถึงพระกรรณว่าอังกฤษได้ยึดเกาะลังกาทั้งหมดและถอดถอนกษัตริย์ลังกา รัชกาลที่ 2 มีรับสั่งทันทีให้คณะสมณทูตออกไปบูชาเจติยสถานและ (หากอ่านระหว่างบรรทัด) ให้สอดแนมดูว่าอังกฤษมีนโยบายอย่างไรต่อรัฐพุทธศาสนา

2.2 รัชกาลที่ 2 ทรงให้วังหลัง (กรมหมื่นศักดิพลเสพ) เป็นแม่งานจัดบุคลากร การเดินทาง และเสบียง ให้กับคณะสมณทูตที่จะออกไปลังกาปี 2358 – 2359

2.3 คณะสมณทูตนี้ประกอบด้วยพระภิกษุสามเณร 9 รูป, ฆราวาส 36 คน ไม่มีชื่อสุนทรภู่เลย

2.4 คณะสมณทูตเดินเรือลงไปถึงนครศรีธรรมราช จําพรรษาที่นั่นแล้วนั่งช้างข้ามไปยังปากน้ำตรัง ท่านขึ้นเรือค้าช้างที่เกาะลิบงแล้วออกเดินทางไปทิศเหนือผ่านเกาะกลางและหมู่เกาะริมชายฝั่งทะเลอันดามัน แล้วเบนไปทางตะวันตกข้ามอ่าวเบงกอลผ่านหมู่เกาะนาควารี (Nicobars) จนรอดถึงท่าเรือในอินเดียใต้ ท่าเรือนี้เอกสารไทยเรียกว่า “มะหมุดบันคัด” ตามปากพ่อค้ามุสลิม Muhamad Bandar โปรตุเกสเรียกว่า Porto Novo (ท่าใหม่) และทมิฬเรียกว่า “ปะรังกิเปฎไฏ” (ตลาดฝรั่ง) ขายช้างแล้วคณะสมณทูตเดินบกลงไปถึงถนนพระราม ถ่อเรือข้ามฟากไปถึงเกาะลังกาแล้วก็เดินบกผ่านกรุงอนุราธปุระ (เมืองร้าง) ไปถึงกรุงแคนดี ราชธานีปัจจุบัน

2.5 น่าเสียดายที่รายงานสมณทูตไม่ระบุรายละเอียดทางขากลับ แต่ท่านกลับเข้ามากรุงเทพฯ ในปี 2361 ในบรรดาพระสงฆ์และฆราวาสที่ได้รับการเลื่อนตําแหน่งบรรดาศักดิ์ ไม่มีใครชื่อ “สุนทรภู่”

แน่นอน หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าสุนทรภู่ออกไปลังกาด้วยกัน อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้กันดีว่าในยุคนั้นราชทินนามและบรรดาศักดิ์เปลี่ยนได้เสมอ ดังนั้น สุนทรภู่อาจจะไปภายใต้นามอื่น เช่น ขุนทรงวิชัย หรือหมื่นไกร ผู้คุมดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ที่น่าคิดประการหนึ่งคือแม่งานแต่งคณะสมณทูตนี้คือ วังหลัง ซึ่งสุนทรภู่เคยเป็นข้าหลวง

อีกประการหนึ่งคือรายทางของสมณทูตครั้งนี้ไปพ้องกับภูมิศาสตร์ในหนังสือ “พระอภัยมณี” ตั้งแต่ฝั่งทะเลตะวันตก ของอุษาคเนย์, หมู่เกาะในทะเลอันดามัน, หมู่เกาะนาควารีใน อ่าวเบงกอล, ชายฝั่งอินเดียตะวันออกจนถึงลังกาในที่สุด

แผนที่ ไตรภูมิ ล่องเรือ ทะเล แผ่นดิน ไป ลังกาทวีป
แผนที่ไตรภูมิ แสดงการจาริกไปลังกาทวีป ทั้งพระสงฆ์ และฝูงศรัทธาจากสยาม ต้องอาศัยเรือสำเภากำปั่นของพ่อค้าต่างชาติ แผนที่ในส่วนนี้ แสดงให้เห็นว่าชาวสยามยุคนั้นมีประสบการณ์จริงจากการเดินทางไปลังกา (ภาพจากสมุดภาพไตรภุฒิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2 กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2542)

3. หลักฐานในพระอภัยมณี

3.1 สําหรับตําแหน่งทางภูมิศาสตร์ในอ่าวเบงกอล ของเมืองและเกาะต่าง ๆ ในพระอภัยมณี ท่านผู้อ่านควรดูสุนทรภู่เกิดวังหลังผู้ดีบางกอก 1 ของสุจิตต์ วงษ์เทศ ผมได้แต่ขอเน้นเพียงเรื่องเดียว นั่นคือเมื่อใกล้จะจบ พระอภัยมณี ท่านมหากวีอธิบายการเลิกทัพเรือกัน ดังนี้

พวกจีนแล่นแผนที่ตะวันออก

ออกเส้นนอกแหลมเรียวเลี้ยวเฉลียง

ไปถึงตั้งกังจิ๋วจุนติ้วเซียง

เข้าลัดเลี้ยงอ้ายมุ่ยแล่นฉุยมา

“แหลมเรียว” นั้นคือหมู่เกาะ Riao Islands สุดปลายแหลมมลายู ถ้าเรือ “เจ๊กจีนญวน” เหล่านี้กําลังร่วมรบกันในอ่าวไทยแล้วเลิกทัพกลับบ้าน เรื่องอะไรจะต้อง “เลี้ยวเฉลียง”? มีแต่เรือเจ็กจีนญวนที่แล่นในอ่าวเบงกอลเท่านั้น ที่จะกลับบ้านผ่านช่องแคบใต้สิงคโปร์ หรือท่านผู้อ่านว่าสุนทรภู่สอบตกวิชาภูมิศาสตร์ ไม่รู้ทิศตะวันออกทิศตะวันตก?

3.2 ผมขอชวนท่านผู้อ่านอ่านพระอภัยมณีสามท่อนนี้

ทิวทัศน์

ดูกว้างขวางว้างโว้งละโล่งลิ่ว

เห็นริ้วริ้วเรี่ยรายทั้งซ้ายขวา

ล้วนละเมาะเกาะใหญ่แต่ไกลตา

อุปมาเหมือนหนึ่งแหนแลลิบลิบ

พายุ

พายุหวนป่วนคลื่นเสียงคลื่นครึก

ลั่นพิลึกโกลามาข้างหลัง

ยังดึกดื่นคลื่นลั่นสนั่นดัง

เพียงจะพังแผ่นผาสุธาธาร

แสงพรายทะเล (Phosphorescence)

เวลาค่ำน้ำเค็มก็พร่างพร่าง

แจ่มกระจ่างแวววับระยับฉาย

เสมอเม็ดเพชรรัตน์โมราราย

แจ่มกระจายพรายพร่างกลางชลา

ท่านผู้อ่านว่าไง? สุนทรภู่ฟังเขาเล่ามาแล้วจินตนาการ? หรือท่านประสบเองด้วยหูด้วยตาถึงสร้างภาพได้แม่นยําเหมือนชีวิตจริง, ให้ผู้อ่านสะดุดใจได้กลิ่นอายน้ำเค็ม, รู้สึกถูกลมกระชาก และเห็นสิ่งมหัศจรรย์รอบด้านทั้งกลางวันและกลางคืน?

ใครว่าท่านจินตนาการผมไม่ว่า เพราะเป็นไปได้ทั้งนั้น และไม่มีหลักฐานคัดค้าน แต่ผมเชื่อว่าท่านสุนทรภู่คงประสบด้วยตนเองถึงพาใจคนอ่านได้ถึงเพียงนี้

ความส่งท้าย

อย่าเพิ่งเผาพริกเผาเกลือก่อนครับ ผมยอมรับว่าพระอภัยมณีเป็นนิทาน ไม่ใช่ตํานานประวัติศาสตร์หรือภูมิศาสตร์สุนทรภู่ไม่จําเป็นต้องออกไปลังกาพร้อมสมณทูตครั้งรัชกาลที่ 2 แต่น่าเชื่อว่าท่านต้องเคยออกทะเลหลวงครั้งหนึ่งครั้งใดแน่ที่ผมว่าท่านไปพร้อมสมณทูตนั้น, เป็นเพียงเพื่อความสะดวก เพราะหลักฐานบางอย่างชวนให้เชื่อว่าเป็นไปได้

ท่านผู้อ่านมีหลักฐานหรือความคิดเห็นสนับสนุนผมบ้างไหม หรือมีความคิดเห็นคัดค้านหรือหลักฐานลบล้าง ผมพร้อมจะฟังด้วยความยินดีเสมอ

นักคิดเสรีสมัยใหม่ย่อมฟังเสียงและถูกเถียงกันได้ โดยไม่โกรธหรือน้อยอกน้อยใจ มีแต่นักคิดหลงคัมภีร์ (Fundamentalists) เท่านั้นที่ถือว่าตัวเป็นเจ้าของความจริงจึงทนการถกเถียงไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2561