บวชนาค ต้องทำขวัญนาค : ประเพณีของ “นาค” อุษาคเนย์ ที่ไม่มีในอินเดีย-ลังกา

การศึกษาจากวัด พระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้

นาค เป็นคำใช้เรียกคนผู้ชายที่จะขออุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุ แต่ไม่เคยพบหลักฐานว่าถ้าคนผู้หญิงขออุปสมบทเป็นภิกษุณีจะมีคำเรียกว่าอะไร? จะเรียกนาคีไหม?

ประเพณีไทยแต่โบราณนานมาแล้วไม่เรียกพิธีอุปสมบทว่าบวชคนให้เป็นพระ แต่เรียกบวชนาค (ให้เป็นพระ)

Advertisement

ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าไม่มีเรื่องบวชนาค (ให้เป็นพระ) ฉะนั้นพิธีบวชนาค จึงไม่มีในชมพูทวีป (คืออินเดียโบราณ) แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นพม่า (มอญ) เขมร ลาว และไทย

ปัจจุบันที่ลังกามีบวชนาค แต่เขาอธิบายไม่ได้ว่าคืออะไร? มาจากไหน? ชี้ให้เห็นว่าพิธีบวชนาคในลังการับไปจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวพระอุบาลี (จากวัดธรรมาราม อยุธยา) รับนิมนต์ไปประดิษฐาน “สยามวงศ์” ที่ลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕

แต่ครั้นไต่ถามความจริงจากผู้คนในอุษาคเนย์แท้ๆ ก็อธิบายไม่ได้ว่าพิธีบวชนาคคืออะไร? มาจากไหน? แล้วพากันโยนกลับไปที่อินเดีย ตามความเคยชินที่ว่า “คิดอะไรไม่ออกบอกว่ามาจากอินเดียไว้ก่อน” ทั้งๆ ที่ในอินเดียไม่เคยมีบวชนาค

ถ้าอย่างนั้น เรามาช่วยกันขุดคุ้ยแล้วค้นคว้าหาร่องรอยทีละน้อยทีละเล็กไปก่อน

ขบวนแห่เพื่อนำนาคไปอุปสมบทที่วัด (จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เขียนสมัยรัชกาลที่ ๕)

นาค-เป็นอะไร? มาจากไหน?

นาค (Naga) อยู่ในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป มีรากเดิมมาจากคำว่านอค (Nog) แปลว่าเปลือย, แก้ผ้า แล้วภาษาอังกฤษรับมาใช้ว่า Naked

เป็นอันรู้แล้วว่านาคไม่ใช่คำไทย-ลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร แต่ทั้งตระกูลไทย-ลาว กับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่างู เพราะงูเป็นสัตว์เปลือยไม่มีขนปกปิด แล้วสร้างจินตนาการเพิ่มเติมต่อมาว่าหัวหน้างูทั้งหลายคือพญานาค มีถิ่นที่อยู่ใต้ดิน เรียกบาดาล

เมื่อ นาค มาจาก นอค หมายถึงเปลือยหรือแก้ผ้า ต่อมาจึงเป็นคำของพวกมีวัฒนธรรมสูงกว่าที่รู้จักทอผ้านุ่งห่มแล้ว ใช้เรียกพวกมีวัฒนธรรมต่ำกว่า คือยังไม่รู้จักทอผ้านุ่งห่ม ยังเป็นคนเปลือย หรือคนแก้ผ้า อย่างดีก็เอาใบไม้มามัดผูกเป็นเครื่องนุ่งห่ม ดังนิทานกำเนิดรัฐพนันในอุษาคเนย์ที่ตระกูลพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) มาทางทะเล แล้วปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิง เอกสารจีนเรียกนางลิวเย่ แปลว่านางใบมะพร้าวคือไม่นุ่งผ้า แต่เอาใบมะพร้าวมาห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น

นางลิวเย่ ก็คือนางนาค หมายถึงนางเปลือย นางแก้ผ้า ตามทัศนะของคนภายนอก คือพวกพราหมณ์จากชมพูทวีป

จนที่สุดเรียกคนพื้นเมืองหมดทั้งหญิงและชายอย่างดูถูกและเหยียดหยามว่านาคทั้งนั้นไม่มีละเว้น มีตำนานและนิทานพื้นเมืองพูดถึงบ่อยๆ เช่น อุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ระบุว่าคนพื้นเมืองบริเวณสองฝั่งโขงที่ยังไม่รู้จักศาสนาจากชมพูทวีปล้วนเป็นนาค

นอกจากมีร่องรอยอยู่ในตำนานและนิทานพื้นเมืองแล้ว คำว่านาค ที่หมายถึงคนพื้นเมือง คนป่า คนดอย คนดง ยังเหลืออยู่กับชนเผ่ากลุ่มหนึ่งในอินเดียทุกวันนี้เรียกตัวเอง (ด้วยคำของคนอื่น) ว่าเผ่านาค มีดินแดนของเองเรียกรัฐนาค (Nagaland) คำอธิบายของจิตร ภูมิศักดิ์ มีอยู่ในหนังสือความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว, และขอมฯ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๙) ดังต่อไปนี้

พวกนาคเป็นชนชาติส่วนน้อยทางตะวันออกสุดของอินเดียติดพรมแดนพะม่า อยู่ ณ บริเวณเทือกเขานาค (Naga Hills). เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอัสสัม. แต่พวกนาคได้ร่วมกันต่อสู้มานานปีจนใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีการยินยอมจากรัฐบาลกลางแห่งสหภาพอินเดียให้จัดตั้งเป็นรัฐนาค (Nagaland) ขึ้น.

ชนเผ่านาคเป็นชนชาติในตระกูลภาษาธิเบต-พะม่า. เป็นชนชาติที่ล้าหลังตลอดมาในอดีต และลือชื่อในประเพณีล่าหัวมนุษย์เช่นเดียวกับพวก ‘วาฮ้าย’ (ละว้าร้าย) ในภาคเหนือของพะม่า. แต่นั่นก็เป็นเรื่องอดีต. ขณะนี้ชนในรัฐนาคเจริญก้าวหน้าไปมากแล้ว.

ชาวอารยันยุคโบราณ, สมัยที่ยังไม่เกิดรัฐประชาชาติ, เหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นมิลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาตินี้ก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัมซึ่งเขียน (naga) แต่ออกเสียงอ่านเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย, แก้ผ้า. บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา. แต่อย่างไรก็ดี มีนักศึกษาบางคนค้นพบว่า คำว่า นอก (nok) นั้นมีใช้อยู่ในภาษาของชาวนาคตะวันออกบางเผ่า แปลว่า “คน” (ในความหมายว่า people ไม่ใช่ human being) (Peal, อ้างถึงใน Hutton, The Angami Nagas, London 1921, p. 5, ft.) และยังมีผู้อื่นอีกที่ได้ค้นพบว่าคำที่เขาเรียกตนเองว่า นาค (นอค) นั้นแปลว่า คนแข็งแรง. ชนเผ่านาคนั้นเป็นชาตินักสู้ไม่กลัวเสือ และยกย่องความแข็งแรงของร่างกายเป็นอย่างยิ่ง. ทรรศนะในความงามของเขาขึ้นอยู่กับร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีกล้ามเนื้อและมีความสามารถในการทำงาน. หญิงของชนเผ่านาคออกทำงานเพาะปลูกตามไร่ลาดเขาเคียงคู่กับชาย, บนหลังของเธอมีตะกร้าไม้สานเป็นรูปกลมยาวเหมือน “ก๋วย” (กรวย) ของไตลื้อสิบสองปันนา, บรรทุกของหนักๆ. ในการชมหญิงงาม ชาวหนุ่มนาคจะกล่าวชมว่า ‘เธอมีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ สวยเหลือเกิน” แทนที่จะชมว่า “ดวงตาของเธอเหมือนประกายดาวบนท้องฟ้า’ หรืออะไรทำนองนั้น (Dillon Ripley, Roaming India”s Naga Hills, The National Geographical Magazine, Feb. 1955) ทรรศนะความงามของชนเผ่านาคเป็นความงามที่ผูกพันอยู่กับชีวิตและการทำงาน เป็นความงามที่เผชิญหน้ากับความจริงของชีวิต ตรงข้ามกับทรรศนะความงามของพวกสังคมกรุงที่มองความงามจากทรรศนะทางกามเป็นแกน ซึ่งมองดูแต่ว่าใครจะอ้อนแอ้น แขนเรียว เอวเล็ก สโพกผาย อกใหญ่ อวบอัด ฯลฯ. 

ตามความเห็นของข้าพเจ้า ถ้ามองดูปัญหาจากพื้นฐานทางสังคมแล้ว ความหมายของชื่อนาค (นอค) ที่แปลว่า “คน” น่าจะเป็นความหมายดั้งเดิมที่สุด. เพราะเขาถูกดูถูกเหยียดหยามมานานนับพันปีว่าเป็นคนป่า เป็นลิงค่าง ฯลฯ นั่นเอง เขาจึงได้เรียกตนเองว่า “คน” (นาค) เพื่อยืนยันตอบโต้ผู้ที่ดูถูกเขา. ปฏิกิริยาตอบโต้เช่นนี้ได้พบอีกในเผ่าอื่น เช่นพวก “คาโร” (Garo) ซึ่งอยู่ทางอัสสัมตะวันตกและเบงกอลเหนือแถบเทือกเขา Garo Hills, เป็นชนตระกูลเดียวกับนาคเหมือนกัน ชนเผ่านี้เรียกชื่อตัวเองว่า มันดี ซึ่งแปลว่า คน เช่นเดียวกับนาค. ชื่อที่เขาประกาศตนเองว่าเป็นคน (มันดี) นี้เป็นชื่อเรียกมานานนมเนแล้ว เพราะมีปรากฏในโยคินีตันตระเรียกเทือกเขาคาโรที่ชนพวกนี้อาศัยอยู่ว่า ภูเขามันดะ (มนฺท ไศล)

ปฏิกิริยาตอบโต้ที่พยายามประกาศตัวเองว่า เราเป็นคนไม่ใช่สัตว์; เราเป็นคนสังคม (people), ไม่ใช่คนป่าคนดอย; ดังกล่าวนี้, มีปรากฏขึ้นหลายแห่งหลายชนชาติแม้ในเมืองไทยเรา ดังจะได้เห็นต่อไปข้างหน้า.

แต่อย่างไรก็ดี แม้ชาวนาคจะประกาศว่าเขาเป็น คน (นาค) ชื่อที่เขาประกาศออกมา-นาค-ในที่สุดก็ตกไปอยู่ในภาษาอัสสัมแปลว่า เปลือย, และภาษาฮินดูสตานีว่า นัค แปลว่า คนป่าชาวเขา”.

คนพื้นเมือง คือ นาค นับถือศาสนาผี

นาค ไม่ใช่คำในภาษาพื้นเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์ แต่เป็นคำต่างประเทศ เป็นภาษาตระกูลอินโด-ยุโรปหมายถึงคนเปลือย คนป่า คนดอย คนดง เป็นพวกล้าหลัง คำนี้ติดมากับพวกพราหมณ์จากอินเดียโบราณใช้เรียกคนพื้นเมืองทั้งหมดของอุษาคเนย์ที่ล้าหลังทางเทคโนโลยี (กว่าอินเดีย)

ก่อนการติดต่อกับอินเดียโบราณ บรรดาคนพื้นเมืองในอุษาคเนย์ยังมีไม่มาก และตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนหมู่บ้านกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทั้งบนที่สูงในหุบเขา และในทุ่งราบตามลำน้ำและแอ่งน้ำที่เป็นห้วย หนอง บึง

คนพื้นเมืองพวกนี้ยังไม่รู้จักศาสนาพุทธ-พราหมณ์ (ฮินดู) แต่ก็มีศาสนาของตัวเองเป็นศาสนาพื้นเมือง เรียกรวมๆ ว่าศาสนาผี เพราะนับถือผีพื้นเมืองของแต่ละเผ่า และอำนาจเหนือธรรมชาติ

ผีพื้นเมืองมีหลายระดับ เริ่มแต่ระดับเล็กๆ คือ ผีเรือน แล้วขยายเป็นผีของหมู่บ้าน เรียก ผีบ้าน จนถึงผีของเผ่าพันธุ์ เช่น ผีฟ้า หรือผีแถน แล้วภายหลังเรียกรวมๆ ว่า ผีฟ้าพญาแถน แต่บางเผ่าพันธุ์นับถือผีเจือง ที่รู้จักแพร่หลายในเอกสารสมัยหลังว่า ท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง ของพวกลัวะกับพวกข่า

วัตถุชิ้นสำคัญที่คนพื้นเมืองสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาผีเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว คือ กลองทองแดง หรือฆ้องทองแดง ที่รู้จักทั่วไปในชื่อมโหระทึก มีรูปสัตว์สัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์หลายอย่าง เช่น นก ตะกวด แต่ที่สำคัญคือ กบ เพราะยกย่องเป็นสัตว์ให้น้ำ ทำให้ปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

นอกจากนั้นยังนับถืองูกับตะเข้ ที่เป็นสัตว์เลี้อยคลานอยู่กับน้ำ ยกย่องเป็นพวกบันดาลให้เกิดน้ำท่า และเป็นผู้มีฤทธิ์ขุดคุ้ยควักแผ่นดินเป็นแม่น้ำลำคลองหนองบึงต่างๆ เป็นเหตุให้ทำไร่ทำนา ทำมาหากินได้อิ่มหนำทั้งปี

ผีพวกนี้ติดต่อสื่อสารกับคนได้ โดยผ่านหมอผีที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเรียกกันว่าคนทรง หรือร่างทรง ดังนั้นผู้หญิงจึงเป็นหัวหน้า หรือเจ้าของพิธีกรรมเกี่ยวกับผีของเผ่าพันธุ์ ย่อมได้รับยกย่องให้เป็นใหญ่เสมือนหัวหน้าเผ่าพันธุ์นั่นเอง ทุกคนในเผ่าพันธุ์หรือในหมู่บ้านและในท้องถิ่นเดียวกันย่อมอยู่ภายใต้อำนาจทางพิธีกรรมของหมอผีที่เป็นผู้หญิง ซึ่งภายหลังมีคำเรียกผู้หญิงว่าเม หรือแม่ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ หรือหัวหน้า ต่อมาใช้เรียกสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งว่าแม่ เช่น แม่น้ำ คือสายน้ำที่ยิ่งใหญ่ แต่บางท้องถิ่นเรียกน้ำแม่ เช่นทางล้านนาเรียกน้ำแม่ปิง เป็นต้น

ระบบความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนาผี และถือเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวัน คือ ความเชื่อเรื่องขวัญ

คนไทยกลุ่มต่างๆ ที่มีหลักแหล่งอยู่ทั้งในและนอกดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ล้วนมีความเชื่อเหมือนกันมาช้านานแล้วว่า คนเรามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ ๒ ส่วนคือ ส่วนที่เป็นตัวกับส่วนที่ไม่เป็นตัวตน

ส่วนที่เป็นตัวตน ได้แก่ร่างกาย และ ส่วนที่ไม่เป็นตัวตน ได้แก่ “ขวัญ” (เอกสารเก่าเขียนว่า “ขวัน”) ซึ่งมีเพียงส่วนเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทั่วทุกแห่งหรือทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่เกิดมา เช่น ขวัญหัว ขวัญตา ขวัญมือ ขวัญแขน ขวัญขา ฯลฯ และมีความสำคัญมากเท่าๆ กับส่วนที่เป็นตัวตนหรือร่างกาย

ทั้งยังมีความเชื่อร่วมกันอีกว่า ถ้าขวัญอยู่คู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุขสบาย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไป เจ้าของขวัญจะไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตาย

เมื่อใดก็ตามที่เจ้าของขวัญเจ็บป่วยมาก แสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว ผู้ใหญ่ในครอบครัวจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญให้กลับเข้าสู่ตัวเพื่อความเป็นสิริมงคลและความอยู่ดีมีสุขของเจ้าของขวัญ

ขวัญต่างจากวิญญาณ เพราะคนไทยแต่ก่อนเชื่อว่า แม้เจ้าของขวัญจะตายไปแล้วก็ตาม แต่ขวัญยังมีอยู่ได้ และเมื่อคนตายได้ ๗ วัน ขวัญของผู้ตายจะพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน (ครั้นได้รับคติทางพระพุทธศาสนาแล้วความเชื่อก็ปรับเปลี่ยนไปว่าขวัญจะมีอยู่กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เมื่อคนตายไปแล้วก็ไม่มีขวัญ แต่จะมีวิญญาณแทน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนา)

สัตว์และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและการทำมาหากินของคนล้วนมีขวัญทั้งนั้น เช่น ขวัญวัว ขวัญควาย ขวัญเรือน ขวัญข้าว ขวัญเกวียน ขวัญยุ้ง ฯลฯ

คนไทยมีพิธีกรรมเกี่ยวกับขวัญ เรียกว่าทำขวัญหรือสู่ขวัญ หรือเรียกขวัญในทุกช่วงสำคัญของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายก่อนตาย เพื่อให้ผู้รับทำขวัญพ้นจากความวิตกกังวลหวาดกลัวหรือตกใจต่อเหตุการณ์เคราะห์หามยามร้ายและต่อการเปลี่ยนแปลงสู่สภาพแวดล้อมใหม่ หรือเท่ากับสร้างความมั่นใจและมั่นคงอันเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับขวัญ

เหตุที่ต้องทำขวัญ มีทั้งเหตุดีและเหตุไม่ดี

เหตุดี เช่น ได้แต่งงาน ได้ลูก ได้ลาภ ได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ รวมทั้งได้บวช ได้ข้าวปลาอาหาร ได้ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ

เหตุไม่ดี เช่น ลูกตายเสีย ผัวหรือเมียตายจาก ฝันร้าย รวมทั้งเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ

ทำขวัญหรือสู่ขวัญหรือเรียกขวัญเป็นพิธีกรรมที่แสดงความผูกพันและความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติระหว่างบุคคลกับครอบครัว และบุคคลกับชุมชนในสังคมเกษตรกรรม ฉะนั้นพิธีทำขวัญจึงเริ่มจัดให้มีขึ้นอย่างง่ายๆ โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเท่านั้น

“พุทธ” ปะทะ “ผี” แล้วปราบนาค

ราว 2,000 ปีมาแล้ว ชาวชมพูทวีปที่เป็นพราหมณ์พ่อค้า เป็นนักเผชิญโชค ฯลฯ เดินทางเข้ามาติดต่อกับคนพื้นเมืองในอุษาคเนย์แล้วเริ่มค้าขายกับชาวสุวรรณภูมิ

ตำนานพงศาวดารลังกาบันทึกว่า ต่อมามีพระสงฆ์ ๒ รูป เดินทางมาที่ดินแดนสุวรรณภูมิ แลัวประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก

ด้วยเหตุที่คนพื้นเมืองยังล้าหลัง ทำให้พระกับพราหมณ์ชมพูทวีปเรียกคนพื้นเมืองของสุวรรณภูมิว่า นาค ล้วนเป็นพวกนับถือศาสนาผีมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ การเผยแผ่ศาสนาครั้งแรกๆ จึงไม่ราบรื่น มีการปะทะและขัดแย้งกันทางระบบความเชื่ออยู่นานกว่าจะเป็นที่ยอมรับนับถือทั่วไป

แรกทีเดียว พระสงฆ์จากชมพูทวีปในราชสำนักพระเจ้าอโศก ยังไม่ได้สอนพุทธศาสนาต่อคนพื้นเมืองทั่วไป แต่สอนเฉพาะกลุ่มหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) ก่อน เมื่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์ยอมรับนับถือแล้วถึงแผ่ขยายไปสู่คนทั่วไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างพุทธกับผี

ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างพุทธกับผีมีอยู่ในตำนานและนิทาน หนังสือสำคัญที่บันทึกเรื่องนี้ไว้ คือ อุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงดินแดนอีสาน ก็พบกับบรรดานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ควบคุมพื้นที่อยู่ บรรดานาคไม่ยอมอ่อนน้อมนมัสการแถมยังกระทำอาการอวดอภินิหารข่มขู่ ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบบรรดานาค จนที่สุดนาคทั้งหลายก็ยอมเข้าหาพระศาสดา มีศรัทธาต่อพุทธศาสนา แล้วทูลขอรอยพระพุทธบาทไว้สักการบูชา

นิทานอย่างนี้มีทั่วไปหมดทั้งภูมิภาค ตั้งแต่พม่า มอญ ไทย ลาว เขมร จนถึงเวียดนาม

แต่เรื่องความขัดแย้งสมัยแรกๆ คงไม่ง่ายอย่างนิทานปราบนาค เพราะยังมีนิทานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีบวชนาค แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในหนังสือความเป็นมาของคำสยามฯ (๒๕๑๙) ดังนี้

“ในการบวชเป็นภิกษุของพุทธศาสนา, มีการห้ามมิให้พวกนาคบวช. เล่ากันว่า นาค นั้นคือพญางูใหญ่ หรือ พญานาค, และว่าพญานาคเคยปลอมตัวเข้ามาบวชด้วย. แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับให้ลาสิกขา, พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้าแม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะบวชนั้นมีชื่อเรียกว่า นาค, ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเรียกว่า ทำขวัญนาค, ขานนาค, บวชนาค มาในทุกวันนี้. จากการนี้จึงได้มีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่จะมาบวชนั้น มิใช่พญานาคหากเป็นคนแน่นอน, ในการบวชจึงมีระเบียบว่าพระคู่สวดสององค์จะต้องพาผู้บวชออกไปสอบสวนนอกประตูพระอุโบสถ ในคำสอบสวนนั้นมีคำถามหนึ่งถามว่า ‘มนุสฺโส สิ?’ (เจ้าเป็นคนหรือเปล่า).

เรื่องปรัมปราที่ว่าพญานาคปลอมมาบวชนั้นตัดทิ้งไปได้.

ทำไม, พระคู่สวดแต่โบราณนั้นดูไม่ออกเจียวหรือ ว่าคนที่มาขอบวชและยืนอยู่ตรงหน้าตนนั้นเป็นคนหรือเปล่า? และยังไม่ยอมเชื่ออีกหรือว่าผู้มาขอบวชนั้นพูดจาภาษาบาลีกันได้รู้เรื่องขนาดนี้แล้วยังอาจจะไม่ใช่คน? 

ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าพระคู่สวดไม่รู้ หรือดูไม่ออกว่าสิ่งที่ยืนอยู่เบื้องหน้าตนนั้นเป็นตัวแมงกะแท้หรือเป็นคน, หากความเป็นจริงอยู่ที่ว่า สังคมอินเดียยุคนั้นมีการเหยียดหยามคนบางเผ่าที่ระดับสังคมล้าหลังให้เป็นผี เป็นลิงค่างบ่างชนี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์, ไม่ยอมรับว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์. ในยุคพุทธกาลนั้น สังคมอินเดียทั่วไปจะต้องไม่ยอมรับชนเผ่านาคาหรือนาคว่าเป็นคน, คงถือเป็นลิงค่างหรือแมงกะแท้ป่าเถื่อน, แม้จะพูดภาษากันรู้เรื่องก็ยังหายอมรับว่าเป็นคนไม่, ฉะนั้นจึงไม่ยอมรับให้เข้าบวชในพุทธศาสนา.

ในสมัยพุทธกาล พุทธศาสนาเผยแพร่อยู่ในบริเวณภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย, นับแต่เนปาลลงไป. ในยุคนั้นชนเผ่านาคคงจะยังไม่ถูกขับไล่จนไปตันอยู่ที่ทิวเขานาคติดพรมแดนพะม่าทั้งหมด คงจะมีกระจายอยู่ในแถบตะวันออกของอินเดียทั่วไป วงการของพุทธศาสนาจึงรู้จักดีและกีดกันพวกนี้ออกนอกความเป็นคน. อันที่จริงพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นสกุลศากยะแห่งนครรัฐกระเป๋ากบิลพัศดุ์ในเขตเนปาลนั้น ก็มิใช่ชาวอารยัน, หากเป็นชนเผ่ามองโกล, พวกศากยะที่ยังมีอยู่บัดนี้ก็ยังมีใบหน้าและรูปร่างไม่ทิ้งเค้ามองโกลมากนัก, แต่พวกสกุลศากยะคงจะถือตัวว่าเป็นผู้เจริญอย่างเดียวกับอารยัน จึงได้เหยียดหยามพวกนาคลงเป็นอมนุษย์. ประเพณีอันนี้ของสังคมในขณะนั้น จึงได้มีอิทธิพลเข้ามาในพุทธศาสนาด้วย. ในข้อนี้ถ้าหากจะมองพุทธศาสนาแบบงมงาย คือถือว่าไม่มีอิทธิพลของสังคมในยุคนั้นวางปูเป็นพื้นฐานอยู่เลย ก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้. แต่ถ้ามองพุทธศาสนาเป็นปรัชญาของยุคที่อินเดียกำลังก้าวหน้ามาสู่ยุคศักดินา เป็นปรัชญาที่เกิดขึ้นคัดค้านปรัชญาของศาสนาพราหมณ์อันเป็นหัวใจของชนชั้นปกครองอารยันแห่งยุคสังคมทาส, พุทธปรัชญาเกิดขึ้นคัดค้านปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ แต่คัดค้านบนพื้นฐานของสังคมในยุคนั้นและก้าวไปไกลที่สุดเท่าที่สภาพสังคมยุคนั้นจะอำนวยให้ไปได้, ส่วนหนึ่งก้าวล้ำยุคไปข้างหน้า และก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงรับรองความสำนึกขั้นพื้นฐานของสังคมยุคนั้นอยู่, ถ้ามองอย่างนี้จึงจะเข้าใจได้ว่า ทำไมวงการพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับว่านาคคือคน. และทำไมจึงต้องถามก่อนบวชเสมอว่า เจ้าเป็นคนหรือเปล่า? (มนุสฺโส สิ).

สาเหตุอยู่ที่ว่า ในความสำนึกพื้นฐานของสังคมอินเดียยุคนั้นไม่ยอมรับเอา homo species ว่าเป็น คน-มนุสโส ทั้งหมดนั้นเอง! และก็เพราะเหตุนี้ จึงได้มีชนบางเผ่าแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ขึ้นโดยประกาศชื่อเผ่าพันธุ์ทางชีววิทยาของตนออกมาว่า นี่เว้ย ‘คน’! และบางเผ่าก็ประกาศลักษณะที่มีการจัดตั้งทางสังคมของตนออกมาด้วยว่า นี่เว้ย คนเมือง!

“พุทธ” กับ “ผี” ประนีประนอมเป็น “บวชนาค”

นิทานปรัมปราเรื่องพญานาคที่เป็นงู เป็นสัตว์เลื้อยคลาน ปลอมมาบวชเป็นพระภิกษุ เป็นเรื่องที่ผูกขึ้นมาภายหลังเมื่อคำว่า นาค เลื่อนความหมายกลายเป็นงูใหญ่ไปแล้ว จะเอามาเป็นสาระสำคัญไม่ได้

ที่ยังเป็นสาระคือ นาค แปลว่าคนพื้นเมือง แต่การที่ยังเรียกพิธีบวชคนพื้นเมืองเป็นพระภิกษุว่า บวชนาค ย่อมสะท้อนให้เห็นลักษณะประนีประนอมทางพิธีกรรม คือพุทธยอมให้ผี เพราะคนพื้นเมืองไม่ยอมเลิกนับถือผีไปเป็นพุทธอย่างชมพูทวีป

พิธีบวชนาคยุคแรกเริ่มเดิมทีมีร่องรอยเหลืออยู่ในพม่า คือนาคยังไม่ปลงผมโกนหัว เอานาคขึ้นม้าไปแห่เสียก่อน ต่อเมื่อจะเข้าโบสถ์ขออุปสมบทจึงค่อยโกนหัว ซึ่งต่างจากคนไทยทุกวันนี้ที่ให้นาคโกนหัวก่อนแล้วค่อยแห่นาค สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์เล่าไว้ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ 2545) ดังต่อไปนี้

“วิธีบรรพชาอุปสมบทพม่ากับไทยเหมือนกันโดยมาก เพราะฉะนั้นจะพรรณนาในหนังสือนี้แต่ที่ผิดกัน

1. พม่ายังแห่นาคเหมือนไทยเราแห่กันแต่ก่อน ลักษณะการแห่บวชนาคนั้น ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่าเจตนาจะให้เป็นทำนองเดียวกับแสดงตำนาน Pageant เรื่อง ‘มหาภิเนษกรมณ์’ จึงให้เจ้านาคขี่ม้าเหมือนอย่างพระพุทธองค์เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์เสด็จออกจากเมืองกบิลพัสดุ์ไปทรงผนวช สมมติพวกญาติโยมที่ห้อมแห่ไปเป็นเทวดาที่ห้อมล้อมพระโพธิสัตว์ และหาพวกจำอวดนำกระบวนสมมติว่าเป็นพระยามารที่คอยขัดขวาง

แต่ประหลาดอยู่ในเมืองเราแห่เช่นนั้นแต่บวชนาคราษฎร ถ้าเป็นนาคหลวงเช่นเจ้านายทรงผนวช ไม่แห่หรือแห่ก็แห่เป็นกระบวนพยุหยาตรา นาคเจ้านายทรงยานมาศและเสลี่ยง เคยได้ยินว่าบางทีทรงคอช้างก็มี แต่ที่จะทรงม้าเหมือนอย่างนาคราษฎรหามีไม่ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง นาคหลวงแห่แต่เพื่อให้คนอนุโมทนา ไม่ทำเป็นแสดงตำนาน

พิเคราะห์ชวนให้สงสัยว่าแห่นาคราษฎรไทยจะได้แบบมาจากพม่าดอกกระมัง เค้าเงื่อนมีอยู่ที่แห่บวชนาคของราษฎรดูจะต้องมีพวกตีกลองยาวอย่างพม่าที่เราเรียกกันว่า “เถิดเทิง” นำกระบวนเป็นนิจ และเมื่อแห่ไปถึงวัด พวกกลองยาวเล่นจำอวดกั้นกางอย่างเป็นพระยามารห้ามเอารางวัลเสียก่อน แล้วจึงให้เจ้านาคเข้าโบสถ์ เป็นประเพณีมาอย่างนี้

2. วิธีบรรพชา ทำเป็นงาน 2 วันเหมือนกันทั้งไทยและพม่า แต่ลักษณาการที่ทำผิดกันชอบกล

ประเพณีไทยวันแรกเวลาบ่ายให้เจ้านาคปลงผมแล้วแต่งตัวเต็มประดาอย่างคฤหัสถ์นั่งที่หน้าบายศรี มีผู้ใหญ่สวดบูชาพระรัตนตรัยและให้โอวาทสั่งสอนเจ้านาคให้เลื่อมใสในการบรรพชาแล้วเวียนเทียนทำขวัญ ครั้นวันหลังเวลาเพลแล้วแห่เจ้านาคไปวัดและบรรพชาที่ในโบถส์ ถ้าจะบวชเป็นพระภิกษุ บรรพชาแล้วก็ทำพิธีอุปสมบทติดกันไปทีเดียว

ประเพณีพม่าวันแรกแห่เจ้านาคแต่ตอนเช้า เจ้านาคแต่งเต็มประดาแต่ยังเกล้าผมอย่างคฤหัสถ์ แห่แล้วพาไปยังโรงพิธีอันมักทำที่บ้าน (เช่นปรากฏว่าทำพิธีเจ้านายทรงผนวชที่ในมหาปราสาทดังกล่าวมาแล้ว) นิมนต์พระสงฆ์ (ราว 5 รูป) มานั่งเป็นประธาน เจ้านาคเข้าไปขอบรรพชาในตอนนี้ พระสังฆนายกไต่ถามข้อความที่จำเป็นแก่การบวช เช่นว่าบิดามารดาอนุญาตแล้วหรือ มีบริขารพร้อมแล้วหรือเป็นต้น เมื่อไม่มีข้อขัดข้องแล้ว พระสังฆนายกจึงแสดงคุณพระรัตนตรัยและบอกสิกขาบทกับทั้งวัตรปฏิบัติที่สามเณรจะต้องประพฤติให้เจ้านาครู้ แล้วอนุญาตให้บรรพชาตามประสงค์ เป็นเสร็จพิธีตอนเช้าเพียงนี้

พิธีอีกส่วนหนึ่งจะทำในตอนบ่ายวันนั้นเอง หรือทำในวันหลังต่อมาก็ได้ คือให้เจ้านาคปลงผมอาบน้ำชำระกายและเปลื้องเครื่องอาภรณ์ทั้งสิ้น นำผ้าไตรและเครื่องบริขารเข้าไปยังพระอุปัชฌาย์ (พิธีตอนนี้พิเคราะห์ดูเห็นจะทำที่กุฏิสงฆ์ในสังฆาวาส) เจ้านาคส่งไตรถวายอุปัชฌาย์ (เห็นจะสวด “สพฺพทุกฺขนิสฺสรณฯ” ตอนนี้) พระอุปัชฌาย์เอากาสาวพัสตร์ (ของไทยเราใช้อังสะ) คลุมให้ เจ้านาคออกไปครองผ้าแล้วกลับเข้าไปขอศีล รับศีลแล้วก็เป็นเสร็จพิธี

การที่พวกพม่าบวช บวชแต่บรรพชาเป็นสามเณรเป็นพื้น ต่อบางคนจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยปกติถ้าใครใคร่จะเป็นพระภิกษุ บวชเป็นสามเณรแล้วก็เล่าเรียนอยู่เลยไปจนอายุครบอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่จะบรรพชาและอุปสมบทในคราวเดียวกันเหมือนกับผู้ที่ให้รูปฉายแก่ฉันนั้น นานๆ จึงจะมีสักครั้งหนึ่ง”

เหตุที่นาคยังไม่ต้องโกนหัว เพราะนาคคือคนเรานี่แหละ ไม่ได้มีฐานะพิเศษเป็นอย่างอื่น เข้าใจว่าคนไทย-ลาวแต่ก่อนก็เป็นอย่างพม่า เพราะเคยเห็นพวกเขมรเป็นนาค ต้องใส่หัวเป็นรูปพญานาคด้วยซ้ำไป แสดงว่ายังไม่ต้องโกนหัว อย่างนี้คือสิ่งที่เป็นจริงตามประเพณีเดิมแท้มาแต่แรกทีเดียว

ทำขวัญนาคให้ลูกของแม่-นางนาค

ประเพณีบวชสมัยก่อนใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน คือวันแรกทำขวัญ วันที่สองบวช วันที่สามฉลองพระ

แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไป บางรายทำขวัญตอนสายแล้วบวชตอนบ่ายวันเดียวกัน แต่บางรายไม่ทำขวัญ เมื่อโกนหัวก็แห่เข้าโบถส์บวชเลยก็ได้

ตามประเพณีเก่า วันแรกทำขวัญนาคตอนกลางคืน เพราะว่าพรุ่งนี้คือวันบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา นับเป็นวันสำคัญ คำทำขวัญนาคบอกว่า “…พ่อนาคเอ่ย วันพรุ่งนี้แล้วพ่อจะบรรพชาสิ้นมัวหมอง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ห่มครองเป็นภิกษุสงฆ์ นับเข้าเป็นญาติโดยตรงกับพระศาสนา อันหมู่มารร้ายนานาจงแพ้พ่าย…”

ฉะนั้น วันนี้ต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ทำขวัญ ฯลฯ เพื่อให้ผู้จะบวชในวันพรุ่งนี้รำลึกถึง

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและควรแก่การรำลึกถึงก็คือความเป็นมนุษย์ คำทำขวัญบอกว่า “…พ่อนาคเอ่ย อันการที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์นี้นับว่ายาก โดยอเนกจำนวนส่วนมากมักไปต่ำ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอดีตอกุศลกรรมนำส่ง ให้ลงไปสู่ภูมิต่ำในอบายเหลือจะนับ นี่เป็นเพราะผลแห่งกุศลจึงได้กลับเกิดมาเป็นคน”

แต่ที่สำคัญอย่างยิ่งคือเป็นคนมีบุญ ได้พบพระพุทธศาสนา นับว่าพ่อนาคมีบุญมากจึงจะได้บวช ดังคำทำขวัญพรรณนาว่า “การที่จะได้พบพระพุทธศาสน์ก็ยิ่งล้นยากแสนยาก แม้ครั้งพุทธกาลก็มีอยู่มากเดียรถีย์ จึงนับว่าพ่อนาคนี้พ่อมีบุญ ได้เป็นหน่อเนื้อเชื้อพุทธางกูรอริยวงศ์ พ่อจึงมิได้ไปใหลหลงให้เนิ่นนาน”

“คนมีบุญ” ที่จะได้บวชต้องเป็นผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง แต่พื้นฐานทางสังคมของภูมิภาคอุษาคเนย์ให้ความสำคัญผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจำเป็นต้องปรับประเพณีมิให้ขัดแย้งกัน นั่นก็คือยกย่อง “คนมีบุญ” นั้นแท้ที่จริงมีปฏิสนธิแล้วถือกำเนิดมาจากผู้หญิงผู้เป็นแม่นั่นเอง

ถ้าพิจารณาอีกทางหนึ่ง ประเพณีทำขวัญนาคก็คือพิธีให้ความสำคัญแก่ผู้เป็นแม่ เพราะวันพรุ่งนี้เมื่อนาคเข้าโบสถ์แล้วแม่จะหมดหน้าที่ ความสำคัญจะโอนไปอยู่ที่พ่อซึ่งเป็นผู้ชาย

พิธีทำขวัญที่ให้ความสำคัญผู้เป็นแม่ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ มีคำทำขวัญพรรณนาเป็นลำดับดังนี้

เรื่องปฏิสนธิ

…พ่อนาคเอ่ย

เมื่อพ่อนาคจะมาปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา

วิญญาณพ่อจะเวียนมาอยู่ตามทิศ

ครั้นเมื่อแม่เอนกายสนิทลงหลับไหล

ปฏิสนธิวิญญาณจึงเข้าสู่ได้ทางจมูก

ถ้าเป็นหญิงก็เข้าถูกทางเบื้องซ้าย

หากแต่ว่าพ่อนี้เป็นชายทางเบื้องขวา

ปฏิสนธินี้จึงบันดาลให้มารดานิมิตฝัน

ถ้าหากได้แก้วอันแพรวพรรณก็เป็นชาย

หากได้แหวนเครื่องอาภรณ์ท่อนสไบกลายเป็นหญิง

…ว่าครุวนาดังน้ำล้างเนื้อ

ก่อตั้งขึ้นนับเป็นเยื่อหน้าผากก่อน

ต่อจากนั้นจึงค่อยแตกตอนเบญจสาขา

มีรูปร่างครบอาการมาสามสิบสอง

นั่งผินหลังให้ทางหน้าท้องของมารดา

ประดุจวานรที่หวาดผวากลัวฝน

เข้าหลบลี้หนีซ่อนตนในโพรงพฤกษา

ตามคำโบราณท่านกล่าวมาเป็นดังนี้

บัดนี้ ข้าพเจ้าจะขอกล่าวอีกทีถึงปัจจุบัน

เพื่อให้รู้ทั่วกันประดับไว้

แพทย์พิสูจน์ว่าสตรีนั้นมีไข่ได้โปรดฟัง

ไข่นั้นตั้งอยู่ที่รังที่ปีกมดลูก

มีเอ็นยึดดังผูกไว้สองข้าง

ตัวมดลูกนั้นมีรูปร่างคล้ายค้างคาว

ปลายที่สุดคือปากมดลูกนั้นเล่าจรดช่องคลอด

ปีกทั้งสองข้างคือที่ก่อหวอดตั้งรังไข่

ยามเมื่อสตรีเจริญวัยสู่ความสาว

ครั้นเมื่อประจำเดือนมานั้นเล่าเกิดรังไข่

ไข่จะสุกทุกคราวไปยี่สิบแปดวัน

พอสุกแล้วก็เลื่อนหลั่นลงมากลางมดลูก

รออยู่ที่จะผสมให้เกิดลูกกับเชื้อชาย

เมื่อไม่ได้ผสมก็ฝ่อไหลไปกับประจำเดือน

เป็นที่สุดหยุดเคลื่อนตั้งต้นใหม่

อันเชื้อของฝ่ายชายแพทย์มุ่งมอง 

เมื่อนำมาส่องด้วยกล้องจึงเห็นครบ

ว่ามีรูปร่างเหมือนลูกกบมีหางยาว

เมื่อจะผสมก็ว่ายเข้าทางมดลูก

พบเมล็ดไข่ที่สุกก็กัดหาง

แล้วจึงแฝงตัวฝังในเมล็ดไข่

จึงเกิดแววขึ้นข้างในแต่โดยพลัน

แล้วค่อยเจริญเติบโตขึ้นทุกคืนวันกลายเป็นหัว

ต่อมาก็เกิดลำตัวหุ้มภายใน

เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ถึงเวลาแพ้ท้อง จนกระทั่งคลอด หมอขวัญจะพรรณนาเป็นขั้นเป็นตอน มีตัวอย่างตอนคลอดดังนี้

พอมีลมกัมมัชวาตมาพัดพาเป็นยามปลอด

พ่อร้อยชั่งพ่อก็คลอดเคลื่อนออกมา

เป็นเพศชายร่างโสภางามยิ่งนัก

แม่นี้ให้แสนนึกรักดังดวงใจ

เอาลงอ่างอาบน้ำใสแล้วขัดสี

ขมิ้นดินสอพองขยี้ชโลมถู

แล้วก็นำพ่อลงใส่อู่เปลที่นอน

ยามเมื่อเจ้าร้องไห้อ้อนทำโยเย

แม่ก็แกว่งไกวเปลแล้วเห่กล่อม

หากเมื่อยามพ่องามละม่อมเจ้าผวา

แม่ก็กอดเจ้าเข้าไว้แนบอุราอกสัมผัส

ในเมื่อเจ้านี้เป็นหวัดได้รัดรุม

แม่ก็จะหายาเอาสุมให้ผ่อนคลาย

จนพ่อเติบโตเจริญวัยถึงเพียงนี้

จากนั้นก็เชิญขวัญ เบิกบายศรี แล้วทำพิธีเวียนเทียนด้วยการขับร้องและบรรเลงเพลงนางนาค

พิธีทำขวัญแต่ก่อนร่อนชะไรไม่ซับซ้อน เป็นพิธีพื้นๆ ง่ายๆ ในหมู่บ้านที่มีแต่ฝูงเครือญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น

ครั้นนานวันเข้าก็ถูกปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้ซับซ้อนขึ้น โดยรับคติทางศาสนาที่รู้จักกันครั้งนั้นเข้ามาประสมประสาน เช่น พิธีพราหมณ์ ฉะนั้นจึงมีบายศรีเป็นชั้นๆ สูงขึ้นไป แล้วมีแว่นเวียนเทียนเป็นเครื่องประกอบ

บายศรี เป็นคำเขมรปนสันสกฤต หมายถึงข้าวขวัญ จัดไว้ในกระทงใบตอง ภายหลังจึงหมายรวมถึงกระทงใส่เครื่องสังเวยในพิธีทำขวัญ

การจัดบายศรีเป็นอย่างพราหมณ์ที่รับเข้ามาในพิธีพุทธ แล้วรวมกับพิธีผีที่เป็นระบบความเชื่อท้องถิ่น เหตุนี้ในพิธีทำขวัญนาคจึงให้ความสำคัญแก่บายศรีและเวียนเทียน

เมื่อจะเวียนเทียน นอกจากหมอขวัญผู้เป็นประธานพิธีแล้ว บรรดาญาติมิตรและเพื่อนบ้านจะต้องเข้าร่วมในสถานพิธีทำขวัญด้วย

ครั้นได้ฤกษ์หรือเวลาที่นัดหมาย หมอขวัญจะเริ่มพิธีคือจุดเทียนที่แว่น แล้วส่งให้ผู้เข้าร่วมพิธีที่นั่งล้อมวงอยู่และส่งต่อๆ กันไปให้แว่นเทียนเวียนรอบผู้รับทำขวัญเป็นทักษิณาวรรตจนครบ ๓-๕-๗ หรือ ๙ รอบ ตามแต่จะนิยม มีกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนของสุนทรภู่ ตอนกำเนิดพลายงาม บรรยายพิธีทำขวัญเวียนเทียนตอนหนึ่งว่า

แล้วจุดเวียนเทียนวงส่งให้บ่าว

มันโห่กราวเกรียวลั่นสนั่นไหว

คอยรับเทียนเวียนส่งเป็นวงไป

แล้วดับไฟโบกควันให้ทันที

เมื่อเริ่มพิธีเวียนเทียนนี่แหละ ดนตรีก็เริ่มบรรเลงและขับร้องทำเพลงนางนาค แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่าเพลงเรื่องทำขวัญ เพราะมีการปรับปรุงลำดับเพลงให้มีหลายๆ เพลงบรรเลงต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะเสร็จพิธี จะได้ไม่เบื่อ

ตามปกติขนบของวงดนตรีไทยโดยเฉพาะวงปี่พาทย์ ไม่ว่าจะบรรเลงเพลงเรื่องหรือเพลงชุดใดๆ ที่เกี่ยวกับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ จะต้องบรรเลงเพลงสาธุการเป็นเพลงแรก เพราะเป็นเพลงสัญลักษณ์ของการน้อมนมัสการพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือเป็นสิริมงคล จากนั้นจึงบรรเลงเพลงอื่นๆ เรียงลำดับไปตามแบบแผนที่กำหนดมาแต่โบราณ

มีแต่เพลงชุดทำขวัญนี้เท่านั้นไม่เริ่มด้วยเพลงสาธุการ แต่เริ่มด้วยเพลงนางนาคเป็นเพลงแรก เพื่อให้หมายถึงการแสดงความอ่อนน้อม และวิงวอนร้องขอความมั่นคงและมั่งคั่งหรือความอุดมสมบูรณ์จาก “นาค” หรือ “เจ้าแม่” ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินและแผ่นน้ำให้แก่ผู้รับทำขวัญ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2560