“เหรา” ในพิธีแย่งศพ(มอญ) และนัยของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในตำนาน “พระทองนางนาค” เขมร

นาค
นาค ปลายสะพานนาคราช สมัยนครวัด

“เหรา” ในพิธีแย่งศพ(มอญ) และนัยของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในตำนาน “พระทองนางนาค” เขมร

ความเชื่อเกี่ยวกับ “นาค” อยู่คู่กับสังคมแถบอุษาคเนย์มายาวนาน ปรากฏในเรื่องเล่า ความเชื่อ มาจนถึงเชิงพิธีกรรมและศิลปกรรมที่ปรากฏในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ตำนาน ‘พระทองนางนาค’ ในพิธีบวชนาคเขมร”

กรณีในกัมพูชา “นาค” ปรากฏในพิธีบวชนาคด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ องค์ บรรจุน คอลัมนิสต์ผู้ศึกษาวัฒนธรรมมอญและอีกหลายประเทศ เขียนถึงความเชื่อและประเพณีนี้ในบทความ “สืบตำนาน ‘พระทองนางนาค’ ในพิธีบวชนาคเขมร” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2558 เนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าถึงความเชื่อที่นำมาสู่วัฒนธรรมและประเพณีที่ปฏิบัติในสังคม ใจความส่วนหนึ่งมีว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“…ผู้คนในแถบอุษาคเนย์เมื่อสมัยบรรพกาลมักอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติในการดำรงชีวิตเป็นหลัก ความไม่เข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ ประกอบการสังเกตพฤติกรรมและคุณลักษณะของสัตว์ที่อาจให้คุณให้โทษ ทำให้มนุษย์มองสัตว์ลักษณะครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นสัตว์ดุร้าย แฝงอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ ถิ่นอาศัยใต้น้ำของสัตว์เหล่านั้นจึงถูกจินตนาการเพิ่มเป็น ‘เมืองใต้บาดาล’ กระทั่งอุปโลกน์ขึ้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วผูกเป็นความเชื่อในรูปของตำนาน เรื่องเล่า และนิทาน ที่ต่างมีพื้นฐานมาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกจระเข้ ตะกวด งู นาค พญานาค มกร มังกร เหรา เช่นเดียวกับคำว่า ‘เงือก’ ที่ชาวจีนใช้เรียก ‘จระเข้’ ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีสถานะเป็นเจ้าดิน เจ้าน้ำ ซึ่งสิงสถิตอยู่ยังนาคพิภพเมืองบาดาลใต้ดินอันเป็นแหล่งกำเนิดน้ำและผู้คุ้มครองแม่น้ำลำคลอง

เมื่ออารยธรรมอินเดียโดยเฉพาะศาสนาพุทธและพราหมณ์แพร่หลายเข้ามา ลัทธิความเชื่อการบูชาสัตว์น้ำและครึ่งบกครึ่งน้ำลึกลับทรงอำนาจจำพวก งู จระเข้ นาค สัตว์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้คนในอุษาคเนย์ไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี ก็ได้ประสมกลมกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิศาสนาที่เข้ามาใหม่จวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นาค หรือนากา (Naga) เป็นชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ชาวนาค (Naga) เป็นชนกลุ่มน้อย อาศัยอยู่บนเทือกเขานาค (Naga Hills) เรียกว่าเมืองนาค (Nagaland) อยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ติดกับชายแดนพม่า เมืองนาคนี้แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอัสสัม ภายหลังมีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง รัฐบาลอินเดียจึงได้จัดตั้งเป็นรัฐนาค (Nagaland) เมื่อปี พ.ศ. 2507

จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 อธิบายความหมายของคำว่า “นาค” ไว้ดังนี้ คือ

‘ชาวอารยันยุคโบราณ สมัยที่ยังไม่เกิดเป็นรัฐประชาชาตินั้น มีการเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นพวกลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาติก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน naga แต่อ่านออกเสียงเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา’

ขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในนาคในประวัติศาสตร์อุษาอาคเนย์ ตีพิมพ์โดยมติชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 สรุปความว่า สังคมอินเดียเมื่อสมัยพุทธกาลมีการเหยียดหยามคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอารยธรรมด้อยกว่าตน เหยียดลงให้เป็นผี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ ไม่อาจเทียบชั้นกับพวกตนที่เป็นมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับชนเผ่านาคหรือนาคาว่าเป็นมนุษย์ แม้จะพูดคุยภาษามนุษย์ด้วยกันรู้เรื่อง โดยมองพวกเขาเป็นเพียงสัตว์อย่างลิงค่างบ่างชะนีป่าเถื่อน จึงไม่ยอมรับให้ชนเผ่านาคหรือนาคาเข้าอุปสมบทในพุทธศาสนา

เชื่อกันว่า “นาค” เป็นคำในภาษาอินเดียซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มน้อยของตนที่ถูกมองว่ามีอารยธรรมต่ำต้อยกว่าในเชิงดูถูก ในขณะที่บางท่านเชื่อว่า คำว่า “นาค” นี้ ชาวอินเดียหมายถึงผู้คนในแถบอุษาคเนย์ทั้งหลายด้วย เป็นลักษณะของพวกคนเถื่อนไม่นุ่งผ้าไร้อารยธรรม

การไม่ยอมรับชนเผ่านาคหรือนาคาหรือแม้แต่ชนชาวอุษาคเนย์ของอินเดีย โดยมองว่าเป็น “นาค” เหมือนๆ กัน คือชาติป่าเถื่อนไม่นุ่งผ้าไร้อารยธรรม ได้สืบทอดทัศนคตินี้ต่อมายังผู้คนในอุษาคเนย์โดยการกดทับให้ชนพื้นเมืองมีสถานะเป็น “นาค” แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ภายหลังเกิดการยอมรับให้ชนพื้นเมืองที่มีอารยธรรมต่ำต้อยสามารถบวชเรียนได้ จะเป็นด้วยความต้องการเพิ่มสาวกหรือพุทธศาสนิกชนเพื่อเพิ่มพลังคานอำนาจกับลัทธิศาสนาอื่นที่คืบคลานเข้ามาบ่อนเซาะกลืนกินศาสนาพุทธก็ตาม จึงได้มีการประนีประนอม สร้างตำนานให้ชนพื้นเมืองมีบรรพชนฝ่ายหญิงเป็น “นางนาค” แล้วบวชแปลงชนพื้นเมือง จากอนารยชนไปสู่ผู้มีอารยะ โดยการอุปสมบท “นาค” ให้เป็นพุทธ ดังจะพบพิธีกรรมนี้ในกลุ่มชนชาวอุษาคเนย์ทั่วไป…”

ประเพณีแย่งศพ (วอญย์แฝะ)

อีกหนึ่งประเพณีที่ปรากฏเรื่อง “เหรา” คือ “ประเพณีแย่งศพ” อันเป็นประเพณีเกี่ยวกับศพของมอญ ซึ่งเป็นประเพณีที่แฝงกุศโลบายในแง่ความรักอาลัยเอาไว้ ประเพณีนี้มีความเป็นมาเบื้องหลังดังที่ องค์ บรรจุน เขียนไว้ในบทความ “ประเพณีแย่งศพ (วอญย์แฝะ)” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2559 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบก.ออนไลน์)

“…ประเพณีแย่งศพของมอญนั้น เชื่อกันว่ามีที่มาจากธรรมเนียมของกษัตริย์มอญ ที่เริ่มขึ้นในรัชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์แห่งกรุงหงสาวดี (ครองราชย์ พ.ศ. 2013-35) ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 รับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะฯ แปลออกมาเป็นวรรณคดีไทยเรื่องราชาธิราช กล่าวถึงเหตุการณ์ภายหลังจากพระนางตะละเจ้าท้าว (พม่าเรียก “เช็งสอบู” ขณะที่มอญเรียก “มิจาวปุ” ( ) กษัตรีย์มอญเสด็จสวรรคต พระเจ้าธรรมเจดีย์ พระโอรสบุญธรรม ได้คิดอุบายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ โดยแฝงไว้ในพิธี “แย่งศพ” ก่อนพระราชทานเพลิงศพพระราชมารดาบุญธรรม ดังความในวรรณคดีเรื่องราชาธิราช ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ดังนี้

‘อยู่มาตะละนางพระยาท้าวเสด็จทิวงคต พระชนมายุได้เจ็ดสิบเอ็ดปี อยู่ในราชสมบัติได้ห้าสิบเอ็ดปี ลุศักราช 896 ปี พระเจ้าหงสาวดีจึงสั่งให้ทำพระเมรุมาศ โดยขนาดสูงใหญ่ในท่ามกลางเมือง ให้ตกแต่งด้วยสรรพเครื่องประดับทั้งปวงเป็นอันงามอย่างยิ่ง แล้วตรัสปรึกษาเสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงว่าสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงของเรานี้มีพระคุณเป็นอันมาก ทรงอุปถัมภ์บำรุงเรามาจนได้เป็นเจ้าแผ่นดิน เราคิดจะสนองพระเดชพระคุณให้ถึงขนาด ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด

เสนาพฤฒามาตย์ทั้งปวงได้ฟังพระราชโองการตรัสปรึกษาดังนั้นก็กราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งปวงเป็นทาสปัญญา การทั้งนี้สุดแต่พระองค์จะทรงพระดำริเถิด ข้าพเจ้าทั้งปวงจะทำตามรับสั่งทุกประการ พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสว่า เราจะทำไว้ให้เป็นอย่างในการปลงศพ จะได้มีผลานิสงส์ยิ่งขึ้นไป จึงสั่งให้ทำเป็นรูปเหรา มีล้อหน้าแลท้ายสรรพไปด้วยไม้มะเดื่อแลไม้ทองกวาว แล้วจึงทำเป็นรัตนบัลลังก์บุษบกตั้งบนหลังเหรา ให้แต่งการประดับจงงดงาม เร่งให้สำเร็จในเดือนหน้าจงได้ เสนาบดีทั้งปวงรับสั่งแล้วก็ออกมาให้แจกหมาย เกณฑ์กันเร่งกระทำทุกพนักงาน เดือนหนึ่งก็สำเร็จดังพระราชบัญชาทุกประการ ทั้งพระเมรุมาศซึ่งทำมาก่อนนั้นก็แล้วลงด้วย พระเจ้าหงสาวดีได้ทราบว่าการทั้งปวงเสร็จแล้ว จึ่งให้หมายบอกกำหนดงานในเดือนเก้า ขึ้นเก้าค่ำ จะเชิญพระศพไปยังพระเมรุมาศ…

ครั้นถึงเดือนเก้าขึ้นเก้าค่ำ เสนาพฤฒามาตย์ ราชกระวีมนตรีมุขทั้งปวง อีกเมืองเอกโทตรีจัตวาก็มาพร้อมกัน พระเจ้าหงสาวดีจึ่งให้ตั้งขบวนแห่ อัญเชิญพระศพสมเด็จตะละนางพระยาท้าวลงสู่บุษบกบัลลังก์เหนือหลังเหรา แล้วตรัสสั่งเสนาบดีให้แยกกันเป็นสองพวก จะได้แย่งชิงพระศพเป็นผลานิสงส์ เสนาบดีทั้งปวงก็แบ่งกันออกเป็นสองแผนกโดยพระราชบัญชา พระเจ้าหงสาวดีจึ่งเสด็จดำเนินด้วยพระบาท ทรงจับเชือกแล้วตั้งพระสัตยาธิษฐานว่า ข้าพเจ้ามีความกตัญญูรู้พระคุณสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง จึ่งคิดทำการให้ลือปรากฏไปทุกพระนคร ขอคุณพระรัตนตรัยจงเป็นที่พึ่ง ถ้าบุญข้าพเจ้าจะวัฒนาการสืบไปแล้ว ขอให้ชิงพระศพสมเด็จพระราชมารดาจงได้มาดังใจคิดเถิด ครั้นตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว จึงตรัสสั่งให้จับเชือกชักพร้อมกัน…

ขณะนั้นเป็นการโกลาหลสนุกยิ่งนัก เสนาบดีแลไพร่พลทั้งปวงก็เข้าแย่งชักเชือกเป็นอลหม่าน พระศพนั้นก็บันดาลได้มาข้างพระเจ้าหงสาวดี เสียงชนทั้งปวงโห่ร้องพิลึกลั่นทั้งนคร พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระโสมนัสนัก จึ่งให้ชักแห่พระศพไปพร้อมด้วยเครื่องสูงไสว ทั้งกรรชิง กลิ้งกลด อภิรุม ชุมสาย พรายพรรณ พัดโบก และจามรทานตะวันอันพรรณราย สล้างสลอนด้วยธงเทียวทั้งหลาย เขียวเหลืองขาวแดงดารดาษ เสียงสนั่นพิณพาทย์เครื่องประโคมฆ้องกลองกึกก้องโกลาหล สะพรึบพร้อมด้วยหมู่พลอันจัดเข้าในขบวนแห่แหนดูอเนกเนืองแน่นประหนึ่งจะนับมิได้

การแห่พระศพครั้งนี้ครึกครื้นเป็นมโหฬารดิเรก เปรียบประดุจการแห่อย่างเอกของนางอัปสรกัญญาทั้งเจ็ดองค์ ซึ่งแห่พระเศียรท้าวกบิลพรหมผู้เป็นปิตุรงค์ กับด้วยทวยเทพยเจ้าทั้งปวงอันเวียนเลียบเหลี่ยมไศลหลวงประทักษิณษิเนรุราช ครั้นถึงพระเมรุมาศจึงให้เชิญพระศพขึ้นตั้งยังมหาบุษบกเบญจาสุวรรณ ให้มีงานมหรสพสมโภชเจ็ดวันเจ็ดคืน จุดดอกไม้เพลิงถวายพระศพ มีพระธรรมเทศนาและพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญอันดับ สวดสดับปกรณ์ ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ และโปรยทานกัลปพฤกษ์แก่ยาจกวนิพกเป็นอันมาก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปถึงบิดามารดา

ครั้นครบเจ็ดวันจึ่งถวายพระเพลิง พร้อมด้วยเสนาบดี พระวงศานุวงศ์ผู้น้อยผู้ใหญ่ฝ่ายในฝ่ายหน้า อีกทั้งพระสงฆ์ฐานานุกรมเป็นอันมาก แล้วให้แจงพระรูปเก็บพระอัฐิใส่ในพระโกศทองประดับพลอยเนาวรัตน์ อัญเชิญเข้าบรรจุไว้ในพระมุเตา แล้วให้มีงานสมโภชอีกสามวันตามราชประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน

ครั้นการเสร็จแล้ว พระเจ้าหงสาวดีจึ่งตรัสแก่เสนาบดีทั้งปวงว่า เราทำการครั้งนี้เป็นผลานิสงส์สนุกยิ่งนัก แต่นี้ไปใครจะทำการศพบิดามารดาผู้มีคุณ ก็ให้ชิงศพเหมือนเราซึ่งทำไว้เป็นอย่างฉะนี้ จึ่งได้เป็นประเพณีฝ่ายรามัญสืบกันมาจนบัดนี้’

ด้วยเหตุนั้นประเพณีแย่งศพจึงสืบทอดมาจนปัจจุบัน ด้วยมีปฐมเหตุมาจากกุศโลบายของพระเจ้าธรรมเจดีย์ปิฎกธรที่ต้องการแสดงให้ไพร่ฟ้าประชาชนประจักษ์ในบุญญาภินิหารของพระองค์ และเห็นพ้องว่าวิญญาณของบุรพกษัตริย์ตลอดจนเทพดาฟ้าดินแซ่ซ้องสนับสนุนให้พระองค์ ผู้ซึ่งเป็นเพียงโอรสบุญธรรม ซ้ำยังกำเนิดในชาติภูมิสามัญชน ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระมารดาบุญธรรมในฐานะพระเจ้าแผ่นดินรามัญประเทศ

กลวิธีตามอุบายของพระเจ้าธรรมเจดีย์ในครั้งนั้น พระองค์แบ่งทหารออกเป็น 2 ฝ่าย โดยพระองค์เข้าไปอยู่ในฝ่ายหนึ่ง แล้วจับเชือกที่ผูกไว้กับราชรถเหรา (นาค) ตั้งสัตยาธิษฐาน หากพระองค์คิดดีคิดชอบจงรักภักดีกตัญญูรู้คุณในพระนางตะละเจ้าท้าวแล้วไซร้ ให้รถเหราเคลื่อนมาทางพระองค์ ครั้นออกแรงดึง ผลก็เป็นไปอย่างที่คาดหวังได้ (คงเดาได้ไม่ยากว่า ทหารที่อยู่อีกฟากจะกระทำการอย่างไรให้เป็นที่พอพระทัย) และแล้วพระศพก็ไหลมาข้างพระองค์ แสดงให้อาณาประชาราษฎร์เห็นว่า พระนางตะละเจ้าท้าวรับรู้ และอยู่ข้างพระองค์ แน่นอนว่าผู้คนส่วนใหญ่ในแผ่นดินก็ยอมรับในพระเจ้าธรรมเจดีย์มหาปิฎกธร พระมหากษัตริย์แห่งรามัญประเทศมากยิ่งขึ้นด้วยอุบายครั้งนั้น…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2563