ผู้เขียน | ฮิมวัง |
---|---|
เผยแพร่ |
“เจ้าจอมพิศว์” อีกหนึ่งเจ้าจอมใน “รัชกาลที่ 5” ที่น้อยคนจะรู้จัก นอกจากท่านจะเป็นผู้ถวายงานรับใช้ในพระราชสำนักฝ่ายในแล้ว ท่านยังเป็นคนที่ขึ้นชื่อเรื่ิองรักสัตว์มากคนหนึ่ง โดยเฉพาะ “สุนัข” และเป็นบุคคลแรก ๆ ของไทยที่สั่งซื้อสัตว์พันธุ์แปลกใหม่เข้ามาเลี้ยง
“คุณพิศว์” เป็นธิดาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (สกุลเดิมชูโต) เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2413 เมื่อครั้งอายุ 13 ปี ได้ติดตามบิดาที่เข้าไปรับราชการในพระราชสำนักเสมอ ทำให้ท่านได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดรัชกาลที่ 5 และคุ้นเคยกับข้าราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน
เมื่อคราวงานพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้คุณพิศว์ทำหน้าที่เป็นนางเชิญมยุรฉัตร เข้ากระบวนแห่ในงานพระราชพิธีนั้น และทรงมีพระราชกระแสขอต่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ท่านจึงได้ให้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนนำคุณพิศว์เข้าเฝ้าถวายตัวรับราชการฝ่ายในนับแต่นั้น
เจ้าจอมพิศว์ อาศัยอยู่ที่ตำหนัก เจ้าจอมมารดาแพ (เจ้าคุณพระประยูรวงศ์) ซึ่งนับเป็นญาติในตระกูลบุนนาคที่ได้เข้ามาถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 5 เช่นกัน
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงเล่าถึงเจ้าจอมพิศว์ว่า ท่านเป็นคนไม่ถือตัว แม้จะถูกคนรุ่นลูกรุ่นหลานหยอกล้อแซวเล่นบ้าง ท่านกลับชื่นชอบ เพราะท่านเป็นคนชอบสนุกขบขัน เช่นเมื่อพวกหลาน ๆ ล้อเลียนคิ้วของท่านว่าเขียนไม่เท่ากัน ระดับเปลี่ยนขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลา เจ้าจอมพิศว์ก็ไม่โกรธ ท่านเป็นคนใจดี รักใครรักจริง
เจ้าจอมพิศว์ ผู้รักสุนัขเป็นชีวิตจิตใจ
เจ้าจอมพิศว์เป็นคนรักสุนัขมาก หากได้พบสุนัขของผู้อื่นก็มักขอมาเลี้ยงไว้เอง
ครั้งหนึ่ง พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล นึกสนุกว่าในบ้านของพระองค์มีสุนัขพันธุ์ผสมสองตัว แต่เป็นที่รำคาญใจ จึงแกล้งหลอกเจ้าจอมพิศว์ว่า สุนัขสองตัวนี้เป็นพันธุ์ใหม่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พระองค์ก็บรรยายสรรพคุณต่าง ๆ จนเจ้าจอมพิศว์อยากได้ขึ้นมา พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลก็ทรงทำท่าหวง ไม่ยอมยกให้โดยง่าย นั่นยิ่งทำให้เจ้าจอมพิศว์อยากได้มาเลี้ยงมากขึ้นไปอีก จนสุดท้ายพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลก็ยกสุนัขทั้งสองตัวให้ ซึ่งผลประโยชน์ตกเป็นของพระองค์ เพราะ “ในที่สุดข้าพเจ้าก็กำจัดความรำคาญได้สมประสงค์”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ทรงเล่าถึงเจ้าจอมพิศว์ว่า “ผมยังจำได้ว่า นอกจากท่านจะเป็นคนรักเด็กแล้ว ท่านยังเป็นคนรักสัตว์อย่างจับจิตจับใจ สิ่งที่ท่านชอบที่สุดได้แก่ สุนัข ท่านเลี้ยงสารพัดชนิดตั้งแต่หมาไทยไปจนถึงหมาเทศราคาแพง ๆ บางครั้งผมก็ขอท่านไปเลี้ยง บางครั้งท่านก็เอาของผมไป…
นอกจากสัตว์สี่เท้าดังกล่าวแล้ว คุณทวดยังชอบเลี้ยงนก ท่านมีนกแปลก ๆ โดยเฉพาะนกแก้ว นกขุนทอง ผมจำได้ว่าวันหนึ่งที่ให้มาเรียกผมไปหา และท่านอวดให้ดูนกตัวใหม่ของท่าน มันเป็นนกแก้วพันธุ์ ‘มากัว’ ซึ่งเป็นนกมาจากอเมริกาใต้ ขนสีสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เท่าที่ผมจำได้ดูเหมือนจะเป็นนก ‘มากัว’ ตัวแรกที่มีในประเทศไทย เพราะท่านสั่งมาเป็นพิเศษ ท่านตื่นเต้นและรักมันมาก”
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เขียนถึงสุนัขของเจ้าจอมพิศว์ จากคำบอกเล่าของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ที่ครั้งหนึ่งทรงคุ้นเคยกันดีเมื่ออยู่ในพระบรมมหาราชวังว่า เมื่อสุนัขของรัชกาลที่ 5 คลอดลูกมาหลายตัว พระองค์จึงพระราชทานนามสุนัขตัวหนึ่งชื่อ “เนล” (Nail) แก่เจ้าจอมพิศว์ ซึ่งท่านเลี้ยงสุนัขตัวนี้ด้วยความเก่งกาจ “…สอนให้ไปซื้อขนมก็ได้ ด้วยส่งอัฐให้คาบไปนั่งจ้องขนมที่ตัวจะซื้ออยู่ตรงหน้า จนผู้ขายเข้าใจและหยิบให้จึงจะคายอัฐนั้นให้ผู้ขาย แล้วคาบห่อขนมกลับมา”
หม่อมเจ้ารัชนีพัฒน์ รัชนี ทรงอธิบายว่า เจ้าจอมพิศว์รักสัตว์มาก อาจเป็นเพราะท่านไม่มีบุตรธิดาก็เป็นได้ ท่านรักสุนัขมาก เมื่อทราบว่าสุนัขในบ้านของหม่อมเจ้ารัชนีพัฒน์ท้องเมื่อใด เจ้าจอมพิศว์จะขอจับจองลูกสุนัขเอาไว้ก่อน บางครั้งท่านก็มาช่วยทำคลอดเองก็มี และจะต้องเลือกเอาลูกสุนัขไปเลี้ยงก่อนใคร ๆ
เมื่อเจ้าจอมพิศว์มาประทับอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง ท่านก็เลี้ยงสัตว์จำนวนมากหลากประเภท สุนัขของเจ้าจอมพิศว์มีหลายพันธุ์ เช่น แด็กซันด์ (ดัชชุน) เยอรมันเชพเพิร์ดหรืออัลเซเชียน บูลมาสทิฟฟ์ บ็อกเซอร์ เกรตเดน และพันธุ์อื่น ๆ อีกหลายพันธุ์ ท่านมักตั้งชื่อสุนัขของท่านอย่างเลอเลิศ เช่น พันธุ์ดาว งามตา ไม่ตาย เป็นต้น ส่วนนกก็มีหลายพันธุ์ เช่น นกแก้ว นกกระตั้ว นกขุนทอง นกยูง นกกระเรียน นกหงษ์หยก นอกจากนี้ยังมีลิง ค่าง ชะนี และปลาสวยงาม
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
เจ้าจอมพิศว์มีความเชี่ยวชาญเรื่องอาหารและเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 อยู่ไม่น้อย ดังที่พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลเล่าว่า เจ้าจอมพิศว์ขึ้นชื่อเรื่องต้มหมูแฮมได้อย่างเอร็ดอร่อยมาก แม้มีกรรมวิธีที่ยุ่งยาก เนื่องจากในสมัยก่อนหมูแฮมนำเข้าจากต่างประเทศจะมีรสชาติเค็มมาก หากนำมาต้มก็ลดความเค็มได้ไม่มาก หากจะแช่หรือต้มให้ความเค็มลดลง เนื้อจะเปื่อยหรือรสชาติจืดชืด
แต่เจ้าจอมพิศว์สามารถทำหมูแฮมได้เค็มอย่างที่ต้องการ ทั้งเนื้อยังอร่อยและหอมชวนรับประทาน ซึ่งกรรมวิธีของท่านไม่มีสูตรตายตัว ท่านเล่าว่าได้กรรมวิธีการทำหมูแฮมมาจากรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้ท่าน “เรื่องต้มหมูแฮมจึงเป็นสิ่งที่ทวดพิศว์ภูมิใจมากที่สุด”
เนื่องจากเจ้าจอมพิศว์ได้รับความรู้ความสามารถด้านอาหารจากท่านผู้หญิงเปลี่ยน ผู้เป็นมารดา ซึ่งเป็นผู้เขียน “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ทำให้เจ้าจอมพิศว์ได้เรียนรู้การทำน้ำพริกหลากหลายแบบ ท่านจึงขึ้นชื่อในการดัดแปลงทำน้ำพริกหลายรสชาติ ทั้งยังมีฝีมือการแกะสลักผักและผลไม้อย่างวิจิตร
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ เล่าว่า เจ้าจอมพิศว์ เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากรัชกาลที่ 5 ให้มีหน้าที่เชิญพระแสงข้างที่ตามเสด็จฯ ในเขตพระราชฐานชั้นใน อันเป็นธรรมเนียมโบราณราชประเพณี
นอกจากนี้ เจ้าจอมพิศว์ถือเป็น “เจ้าจอมอยู่งาน” (เจ้าจอมที่ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา) ที่ได้รับพระราชทานพระเกียรติยศเหนือเจ้าจอมคนอื่น ๆ เพราะท่านได้รับพระราชทาน “หีบหมากทองคำลงยา” อันเป็นเกียรติยศสำหรับเจ้าจอมมารดา รวมทั้งยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 และเข็มพระบรมรูปอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ทองคำฝังเพชร จึงนับได้ว่าท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 อย่างสูงยิ่ง
เจ้าจอมพิศว์ถวายงานสนองเบื้องพระยุคคลบาทรัชกาลที่ 5 จวบจนสิ้นรัชกาล ท่านยังคงอยู่ในพระบรมมหาราชวังต่อไป แต่เมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ผู้เป็นบิดาเริ่มชราภาพลง รัชกาลที่ 6 ทรงพระเมตตาเห็นว่าไม่มีผู้ใดจะช่วยดูแลปรนนิบัติ เพราะบุตรธิดาคนอื่นมีครอบครัวของตัวเองกันหมดแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมพิศว์กลับไปอยู่บ้านเพื่อดูแลบิดา แต่มิได้ลาออกจากการเป็นข้าราชสำนักฝ่ายใน
เจ้าจอมพิศว์ ถึงแก่อนิจกรรมที่จังหวัดนครราชสีมาด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2508 สิริอายุ 95 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- “สุนัข” นำโชคตามตำราพรหมชาติ
- รัชกาลที่ 5 กับ “อีเบส” ทำไม “อีเบส” เป็นสุนัขทรงเลี้ยงที่พระองค์ต้องระวัง
- บรรพบุรุษจุ๊มเหม่ง! ย้อนรอย 155 ปี ต้นกำเนิดสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์
อ้างอิง :
ภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค), เจ้าพระยา. (2514). คำกลอนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมพิศว์ (พิศว์ บุนนาค) ในรัชกาลที่ 5 ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์.
เล็ก พงษ์สมัครไทย. (กรกฎาคม, 2545). เจ้าจอมพิศว์ (บุนนาค) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 23 (ฉบับที่ 9) : หน้า 54-57.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2562