ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ลังกากุมาร |
เผยแพร่ |
กบฏสมณทูตไทย : กรมหมื่นเทพพิพิธ พระสงฆ์อยุธยาร่วมมือชาวสิงหล โค่นล้มกษัตริย์ลังกา?
ภาพแห่งความสำเร็จกอปรด้วยเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญของชาวลังกาทุกหมู่เหล่า ที่เชื่อว่าการประดิษฐานพระพุทธศาสนาบนผืนเกาะลังกาสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยดีงาม อีกทั้งเพราะมีหนังสือมากหลายทั้งของไทยและลังกาประเทศบันทึกยืนยันเป็นหลักฐาน แลสังเกตได้ว่าผู้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นศิษย์ของพระสังฆราชสรณังกรแทบทั้งสิ้น จึงต้องยกย่องสรรเสริญถึงเกียรติคุณของอาจารย์แห่งตน โดยเชื่อกันว่าพระสังฆราชสรณังกรนั้นเป็นอภิชาตบุตรผู้มาบังเกิดเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในยามมืดมนอนธการโดยแท้
แต่มีหลักฐานอีกส่วนหนึ่ง กล่าวคือ หนังสือสาสนาวตีระนะวระนะนาวะและหนังสือหาริสปัตตุราชาวลิยะ ซึ่งแต่งขึ้นภายหลังเหตุการณ์กำเนิดสยามวงศ์ประมาณ 1 ศตวรรษ และจดหมายเหตุของชาวฮอลันดา อีกทั้งเอกสารของนักบันทึกประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสนามว่า เดอ ลา เนโรเด ผู้ทำหน้าที่จดบันทึกเหตุการณ์สมัยพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะพากันแย้งว่า การประดิษฐานพระพุทธศาสนาของสมณทูตไทยครานั้น ไม่ได้เป็นไปด้วยความราบรื่นดีนัก เพราะมีคณะสมณทูตไทยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางเข้ามาสมทบทีหลัง ได้ร่วมมือกับคณะสงฆ์ลังกาก่อกบฏล้มล้างราชวงศ์นายักกร์ ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อสายทมิฬทางอินเดียตอนใต้ โดยมีนัยยะทางการเมืองมากกว่าเรื่องสัมพันธไมตรีทางศาสนา
ผู้เป็นหัวหน้าคณะสมณทูตไทยชุดนี้เป็นเชื้อพระวงศ์แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา
คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเป็นจริงเชื่อถือได้มากเพียงใด เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ทั้งไทยและลังกาประเทศไม่กล่าวถึงเรื่องการก่อกบฏครั้งนั้นเลย ข้อมูลที่ระบุถึงกรณีก่อกบฏล้มล้างราชวงศ์นายักกร์ปรากฏเฉพาะในเอกสารซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นศตวรรษ อาจมีความเข้าใจผิดหรือเพิ่มเติมเนื้อหาเข้ามาทีหลัง เพื่อต้องการชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬ หรือต้องการชี้บอกว่า แท้จริงแล้วคณะสงฆ์ก็ไม่เห็นดีเห็นงามกับการปกครองของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงคนนอก
การศึกษาประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียดย่อม สามารถตอบคำถามได้ว่า แท้จริงแล้วเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ กรณีเกิดขึ้นจริงมีสาเหตุมาจากอะไร เพราะการเมืองหรือเรื่องคณะสงฆ์ เพื่อให้ได้เนื้อหากระจ่างชัดเจน จึงเห็นสมควรกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของสยามประเทศเสียก่อน แล้วจึงย้อนมาอธิบายความเป็นไปทางการเมืองของลังกาประเทศทีหลัง
เมื่อได้ข้อมูลทั้งสองฝ่ายแล้วนำมาวิเคราะห์หาเหตุผล ย่อมสามารถหาข้อสรุปได้ว่าแท้จริงแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากอะไร เป็นอุบัติการณ์ทางการเมือง หรือเป็นเรื่องศาสนาแทรกแซงอาณาจักร
สยามผลัดแผ่นดิน
พ.ศ. 2275 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าพรผู้เป็นพระอนุชาจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติเหนือบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา มีพระนามเรียกขานกันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กล่าวกันว่าพระองค์ต้องทำสงครามรบพุ่งแย่งชิงราชสมบัติกับพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระเชษฐาเป็นเวลาเกือบขวบปีจึงสามารถขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จ สงครามกลางเมืองครั้งนั้นสร้างความเสียหายบอบช้ำให้แก่บ้านเมืองเหลือคณานับ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนแอและล่มสลายในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นพระองค์ทรงสถาปนาพระอัครชายาเดิมทั้งสองพระองค์ กล่าวคือ พระองค์เจ้าขาวขึ้นเป็นพระอัครมเหสีขวาทรงกรมหลวงอภัยนุชิต เรียกกันว่า พระพันวสาใหญ่ และพระองค์เจ้าพลับเป็นอัครมเหสีซ้ายทรงกรมหลวงพิพิธมนตรี เรียกกันว่าพระพันวสาน้อย ทั้งสองพระองค์เป็นพี่น้องร่วมชนกชนนีเดียวกัน กล่าวคือเป็นธิดาของ นายจบ คชประสิทธิ์ ทรงบาศก์ขวากรมช้าง หรือนายทรงบาศก์ ข้าราชสำนักในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มีความสำคัญในการร่วมคิดและผลักดันให้พระเพทราชาขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการสถาปนาอวยยศขึ้นเป็นกรมพระราชวังหลัง แต่ต่อมา สมเด็จพระเพทราชาทรงระแวงจึงหาเหตุให้ประหารชีวิตเสีย
ส่วนบรรดาพระราชโอรสนั้น พระองค์ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของกรมหลวงอภัยนุชิตขึ้นเป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าเอกทัศน์เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี และเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นกรมขุนพรพินิต ทั้งสองพระองค์เป็นพระราชโอรสของกรมหลวงพิพิธมนตรี และทรงสถาปนาพระโอรสอันเกิดแต่พระสนมอีกหลายพระองค์ กล่าวคือพระองค์เจ้าชายแขกเป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์เจ้าชายมังคุดเป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร พระองค์เจ้าชายรถเป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ และพระองค์เจ้าชายปานเป็นกรมหมื่นเสพย์ภักดี
พระราชพงศาวดารและจดหมายเหตุต่างบันทึกหลักฐานไว้ตรงกันว่า รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองไพบูลย์สูงสุดยุคหนึ่ง ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม พระศาสนา การกวีวรรณกรรม การละครและการบันเทิงระเริงเล่นต่างเฟื่องฟู ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ต่างอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
สำหรับด้านพระพุทธศาสนานั้น ถือกันว่ายุคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักแพร่หลายของนานาอารยประเทศ จนเป็นเหตุให้ลังกาประเทศเข้ามาขอพระสงฆ์ไทยไปประดิษฐานพระศาสนา พระองค์มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสให้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งภายในกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยาและบรรดาหัวเมืองรอบนอก ดังเช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดป่าโมก วัดหันตรา วัดภูเขาทอง และวัดพระราม แลโปรดให้ซ่อมเศียรพระประธานวัดมงคลบพิตรที่ชำรุดทรุดโทรมเสียใหม่ นอกจากนั้นทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นพิเศษ สังเกตได้จากผู้ที่ถวายตัวเข้ารับราชการจำต้องผ่านการบวชเรียนแล้วเท่านั้น
ส่วนการเมืองภายในกลับคุกรุ่นรุนแรงด้วยเกิดความบาดหมางกันเองระหว่างบรรดาพระราชโอรส เพราะต่างประสงค์มุ่งหวังตำแหน่งรัชทายาท ต่างฝ่ายต่างแสวงหาช่องเพื่อทำลายแลล้มล้างกันและกัน จนเวลาต่อมาเจ้าสามกรม กล่าวคือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี ได้โอกาส จึงกล่าวหาว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์กรมพระราชวังบวรสถานมงคลลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลพระสนมเอกของพระราชบิดา พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ลูกขุนและเสนาบดีชำระคดีความ จนทั้งสองพระองค์ทรงรับเป็นสัตย์ตลอดข้อกล่าวหา จึงทรงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์…
เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความร้าวฉานระหว่างพระราชโอรสมากขึ้น
พ.ศ. 2300 กรมหมื่นเทพพิพิธและเหล่าขุนนางกราบทูลให้แต่งตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชแทนกรมขุนเสนาพิทักษ์ที่ว่างเว้นมา 11 ปี คราวนั้นโปรดให้ตั้งกรมขุนพรพินิต พระราชโอรสองค์เล็กในกรมหลวงพิพิธมนตรีพระอัครมเหสีซ้ายขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยทรงเห็นว่าเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถผูกน้ำใจเหล่าขุนนางทั้งหลายทั้งปวงได้ ส่วนกรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเชษฐาผู้โฉดเขลาเบาปัญญานั้น รับสั่งให้ออกไปบวชเสียที่วัดลมุดปากจั่น ทั้งนี้เพื่อมิให้ขัดขวางต่อการบริหารบ้านเมืองของพระอนุชา
1 ปีต่อมา เมื่อคราพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศใกล้สวรรคต พระองค์ทรงเห็นว่าบรรดาพระราชโอรสมิได้ทรงสมัครสมานสามัคคีกัน จึงโปรดให้พระเจ้าลูกเธออันเกิดแต่พระสนมทั้ง 4 พระองค์ กล่าวคือ กรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี เข้าไปเฝ้าถึงข้างที่พระบรรทม โปรดให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง 4 พระองค์กระทำสัตย์สาบานถวายต่อหน้าพระที่นั่งว่า จะทรงสามัคคีปรองดองกันกับกรมขุนพรพินิต ผู้รั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยความเกรงกลัวต่อพระราชอาญา พระเจ้าลูกเธอทั้ง 4 พระองค์จึงจำพระทัยกระทำสัตย์ถวายคำปฏิญาณ
แต่ครั้นเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระเจ้าลูกเธอเหล่านั้นมิได้กระทำตามคำสัตย์ปฏิญาณที่ทรงให้ไว้ ยังคงถือทิฐิมานะแสดงตัวเป็นอริกันอยู่ พอพระมหาอุปราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ไม่นาน กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพย์ภักดี ซึ่งเป็นอริกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่อยู่แต่เดิมแล้ว จึงตระเตรียมผู้คนในสังกัดเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์ แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จจึงถูกจับและสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
กรมขุนพรพินิตขึ้นเสวยราชสมบัติมีพระนามเรียกกันว่าสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แต่ยังไม่ทันข้ามเดือน กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผู้เป็นพระเชษฐาที่ออกไปบวชเมื่อคราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้น ได้ลาสิกขาขึ้นมาอยู่บนพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ประทับบนพระแท่นพาดพระแสงดาบไว้บนพระเพลา ทำที่เหมือนเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง พระเจ้าอุทุมพรผู้อนุชาจะทรงทำประการใดแก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็เกรงสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง อีกทั้งพระองค์ทรงรักความสงบไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองเดือดร้อน จึงถวายราชสมบัติแก่พระเชษฐาแล้วลาผนวชสถิตที่วัดประดู่ทรงธรรม กรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงขึ้นครองราชสมบัติมีพระนามเรียกขานกันว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือสมเด็จพระสุริยาศน์อมรินทร์ (พ.ศ. 2301-10)
ด้านกรมหมื่นเทพพิพิธผู้ทรงสนับสนุนพระเจ้าอุทุมพรมาแต่เดิม และเป็นอริกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรีมาแต่ก่อน เมื่อทรงเห็นว่าพระเจ้าอุทุมพรถวายราชสมบัติแก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีผู้เป็นพระเชษฐาแล้วเกรงราชภัยจะถึงตนจึงออกผนวชเสียที่วัดกระโจม ต่อมาได้คบคิดกับเจ้าพระยาอภัยราชาเสนาบดีผู้ใหญ่และขุนนางอีกหลายท่าน หาช่องช่วงชิงราชสมบัติจากพระเจ้าเอกทัศน์มาถวายกรมขุนพรพินิตดังเดิม เมื่อกรมขุนพรพินิตทราบความนัยดังกล่าวจึงนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าเอกทัศน์พระเชษฐาธิราชให้ทรงทราบ เหล่ากบฏทั้งสิ้นจึงถูกจับเฆี่ยนตีและจองจำ ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นเหล่าขุนนางกราบทูลขอชีวิตไว้เพราะเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ผู้ใหญ่และไม่มีความผิดชัดเจน อีกทั้งยังทรงเพศสมณะอยู่ จึงสั่งให้จองจำและเนรเทศไปอยู่ที่เกาะลังกาเสีย
กรมหมื่นเทพพิพิธพระองค์นี้เองคือผู้เข้าร่วมกับกลุ่มขุนนางลังกาก่อกบฏล้มราชวงศ์นายักกร์
กรมหมื่นเทพพิพิธคือใคร
ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวการก่อกบฏบนแผ่นดินลังกา เห็นสมควรศึกษาพระประวัติและลักษณะนิสัยของกรมหมื่นเทพพิพิธให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน เพื่อเป็นการไขปัญหาว่าการที่พระองค์เห็นดีเห็นงามสมรู้ร่วมคิดก่อกบฏพระเจ้าแผ่นดินลังกาครานั้นมีจุดประสงค์ใดกันแน่ เพราะความอยากใหญ่ของพระองค์เอง หรือเหตุการณ์ภายในอาณาจักรลังกาบีบบังคับ
กล่าวตามประวัติศาสตร์ พระองค์เป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศอันเกิดแต่พระสนมเอก มีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าชายแขก ทรงกรมเมื่อพระบิดาเสวยราชสมบัติแล้ว มีพระชันษายุกาลเหนือกว่าบรรดาพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทุกพระองค์ คราเมื่อกรมขุนเสนาพิทักษ์รั้งตำแหน่งพระมหาอุปราชนั้น พระองค์เป็นผู้หนึ่งที่ทรงให้การสนับสนุน พระองค์มีพระอนุชาองค์หนึ่งพระนามว่ากรมหมื่นเสพย์ภักดี แต่ปรากฏว่าไม่ฝักฝ่ายพระเชษฐาหันไปเข้ากับพระโอรสอีก 2 พระองค์ เรียกกันต่อมาว่าเจ้าสามกรม
หลังจากตำแหน่งองค์รัชทายาทว่างเว้นลง เพราะกรมขุนเสนาพิทักษ์สิ้นพระชนม์เมื่อครั้งเกิดคดีความเรื่องชู้สาวคราวนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธพิจารณาเห็นว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชมีความสำคัญยิ่งรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่มีการแต่งตั้งปล่อยให้ว่างไว้จะเป็นภัยในภายภาคหน้า จึงนำเหล่าขุนนางน้อยใหญ่กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้ทรงแต่งตั้งกรมขุนพรพินิตเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล การกระทำของพระองค์คราวนั้น เป็นเหตุให้กรมขุนอนุรักษ์มนตรีผู้มีสิทธิ์ในตำแหน่งองค์รัชทายาทไม่พอพระทัย เก็บความอาฆาตไว้ภายใน จนต่อมาภายหลังพยายามหาเหตุปลงพระชนม์พระองค์เสียหลายครั้ง
ตรงนี้จะเห็นได้ว่ากรมหมื่นเทพพิพิธเป็นผู้ใหญ่และมีสายพระเนตรยาวไกล เพราะสถานการณ์ขณะนั้นบ่งชี้ว่าบรรดาพระโอรสต่างทำทุกวิถีทางเพื่อช่วงชิงตำแหน่งรัชทายาท ยิ่งปล่อยไว้นานเท่าใดยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดแข่งขันกันสูงขึ้น และเหตุที่พระองค์กราบทูลพระราชบิดาให้เลือกกรมขุนพรพินิตเป็นพระมหาอุปราชนั้น ก็เห็นว่าสมเหตุสมผลด้วยว่ากรมขุนพรพินิตผู้อนุชามีปรีชาฉลาดสามารถมากกว่าพระเชษฐาผู้โง่เขลา แม้เหล่าขุนนางทั้งปวงก็เห็นพร้อมยอมตามด้วย ส่วนเจ้าสามกรมนั้นถึงแม้จะมีสิทธิ์ในตำแหน่งพระมหาอุปราชก็จริง แต่ด้วยติดที่เป็นเพียงพระโอรสอันเกิดจากพระสนม ย่อมเป็นที่ยอมรับน้อยกว่ากรมขุนพรพินิตผู้เกิดแต่พระอัครมเหสี การกระทำของพระองค์คราวนั้นจึงเห็นได้ว่า เป็นผู้หนักในเหตุผลมากกว่าโลเลเสียหลัก
หลังจากบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาตกเป็นของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธเกรงราชภัยจึงหนีไปบวชที่วัดกระโจม ต่อมาขุนนางผู้ใหญ่หลายท่าน ดังเช่น เจ้าพระยาอภัยราชา และพระยาเพชรบุรี เป็นต้น เห็นความอ่อนแอในการบริหารบ้านเมืองของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ถ้าปล่อยไว้ไม่แก้ไขเกรงว่าจะเป็นภัย นำประเทศชาติไปสู่ความฉิบหาย จึงเข้าไปปรึกษากับกรมหมื่นเทพพิพิธเพื่อทำการช่วงชิงราชบัลลังก์ แล้วมอบถวายสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังเดิม พระองค์ทรงเห็นด้วยกับการเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน แต่ต้องกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรผู้เป็นบรรพชิตให้ทรงทราบเสียก่อน จึงพาขุนนางทั้งหลายไปกราบทูลพระองค์ดังคำปรึกษาแต่ต้น ครั้นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทราบดังนั้นก็ทรงปริวิตกว่าหากกรมหมื่นเทพพิพิธและขุนนางผู้ใหญ่ทั้งหลายสามารถกำจัดพระเจ้าเอกทัศน์ได้แล้วไซร้ วันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องกำจัดพระองค์ได้เหมือนกัน จึงแอบนำความขึ้นไปกราบทูลแก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ผู้เชษฐา เป็นเหตุให้ขุนนางน้อยใหญ่ผู้คิดการเป็นกบฏถูกจับเฆี่ยนตีและจองจำ ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศไปยังลังกาทวีป
เหตุที่กรมหมื่นเทพพิพิธร่วมกันคิดกับขุนนางจะชิงราชบัลลังก์มาถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนั้น ก็เห็นว่าท่านหนักในเหตุผลแลเห็นแก่บ้านเมืองมากกว่าโลภจริตส่วนพระองค์ ด้วยทรงเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นั้นอ่อนแอโลเลต่อการบริหารบ้านเมืองจริง เพียงชั่วไม่ทันข้ามปีก็เกิดปัญหาจนบรรดาขุนนางน้อยใหญ่ต่างเบื่อหน่ายถอดใจ ส่วนกรณีพระเจ้าอุทุมพรเกรงว่าเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธชิงราชสมบัติได้แล้วจะเป็นภัยต่อพระองค์เองนั้นก็เห็นว่ามีเหตุผล ด้วยว่าขณะนั้นผู้สมควรเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มีเพียงแต่ 3 พระองค์เท่านั้น เนื่องจากเจ้าสามกรมได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว และการที่ขุนนางผู้ใหญ่เข้าไปปรึกษาเป็นการส่วนตัวก็ชี้ให้เห็นว่าฝักฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธมากกว่าพระองค์ ย่อมเกิดความระแวงเป็นสามัญวิสัย
จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นว่า กรมหมื่นเทพพิพิธตั้งอยู่ในฐานะพระโอรสผู้ใหญ่เห็นแก่บ้านเมืองเป็นหลัก เมื่อเห็นว่าสิ่งใดไม่ดีงามเป็นผลร้ายแก่ประเทศชาติบ้านเมือง พระองค์ก็ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือแก้ไข ยิ่งเหตุการณ์ตอนใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาด้วยแล้ว (หลังจากถูกเนรเทศจากลังกามาอยู่เมืองมะริด) ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าพระองค์มีความรักชาติมากเพียงไร อุตสาหะรวบรวมผู้คนจากหัวเมืองตะวันออกต่อสู้กับพม่า แม้ถูกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์สั่งให้จองจำด้วยเกรงว่าจะเป็นใหญ่ในภายหน้าก็ตาม จึงไม่มีเหตุผลว่าพระองค์เป็นคน โลเลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าบ้านเมือง หรือต้องการเป็นใหญ่ด้วยการทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม
แผนล้มล้างราชวงศ์นายักกร์
ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ภายในอาณาจักรแคนดีแห่งลังกาประเทศ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งบอกไว้ว่า ภายหลังการประดิษฐานสยามวงศ์ได้ไม่นาน ได้มีคนกลุ่มหนึ่งซ่องสุมวางแผนก่อการกบฏต่อพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ ซึ่งประกอบด้วยขุนนางผู้ใหญ่หลายท่าน ได้แก่ อัครเสนาบดีคนที่ 2 นามว่าสมนักโกฑิ เจ้าหน้าที่วิเสทนามว่าโมลดันฑะ เจ้าเมืองนามว่าแมะติหันโปละ และเจ้าเมืองนามว่ากฑุเวละ ส่วนพระเถระผู้ใหญ่ประกอบด้วย พระสังฆราชสรณังกร และพระติบโบฏุวาเว พุทธรักขิตเถระ ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิดพระสังฆราชสรณังกร อีกทั้งเป็นเจ้าอาวาสครองวัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี
สาเหตุที่พวกกบฏต้องการล้มล้างราชบัลลังก์นั้น นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเป็นเพราะพระราชจริยาวัตรของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะและท่าทีต่อพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุว่าการที่พระองค์ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนานั้น เป็นการเสแสร้งแกล้งทำเพื่อเอาใจพระสงฆ์และประชาชน แท้จริงแล้วพระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่ลัทธิฮินดูไศวนิกายมากกว่าพุทธศาสนา สังเกตได้จากประเพณีทุกอย่างที่ประพฤติปฏิบัติภายในราชสำนักล้วนแต่เป็นไปตามคติคำสอนของฮินดูทั้งสิ้น เมื่อพระองค์ทรงหมกมุ่นฝักใฝ่ในลัทธิฮินดูไศวนิกายเช่นนี้แล้ว น่าจะกลายเป็นซ้ำรอยเดิมของพระเจ้าราชสิงหะที่ 1 กษัตริย์แห่งอาณาจักรสีตาวกะ ผู้เห็นว่าลัทธิไศวนิกายประเสริฐกว่าพุทธศาสนาแล้วหันมาทำลายล้างพระพุทธศาสนาจนทรุดโทรมเสื่อมสูญ กรณีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง แม้สถาบันคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นใหม่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะเจริญมั่นคงสืบไปเพียงใด
เวลานี้การได้กษัตริย์ชาวสิงหลมาปกครองชาวสิงหลกันเอง ย่อมมั่นใจได้มากกว่าชาวทมิฬคนนอก
แต่ถ้าวิเคราะห์ตามหลักฐานแล้ว การกล่าวอ้างดังกล่าวถือว่าไม่สมเหตุสมผล เป็นเพียงความคิดของคนบางกลุ่มเท่านั้น ความจริงแล้วแม้พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะจะนับถือไศวนิกายก็จริง แต่คุณูปการที่พระองค์ทรงเสียสละทุ่มเทแก่พระพุทธศาสนานั้นมากมายมหาศาลยิ่งนัก เกินกว่าจะบรรยายเป็นตัวอักษร แม้ผลงานเหล่านั้นยังสามารถปรากฏพบเห็นได้ในปัจจุบัน
แท้จริงแล้วการก่อกบฏล้มล้างราชวงศ์นายักกร์เกิดขึ้นเพราะอัครเสนาบดีคนที่ 2 นามว่าสมนักโกฑิ การก่อกบฏดังกล่าวเป็นเพียงเหตุผลส่วนตัวมากกว่าการเมือง เพื่อต่อภาพการกบฏให้เห็นชัดเจน จึงเห็นสมควรกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของผู้นำกบฏเสียก่อน เรื่องราวดังกล่าวจะเป็นกุญแจไขไปสู่ความจริงว่า เหตุใดจึงเกิดการกบฏล้มล้างพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ และนำไปสู่การเปิดเผยว่าเหตุใดแผนการกบฏดังกล่าวจึงไม่สำเร็จ จนนำพาไปสู่ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อผู้เข้าร่วมขบวนการ
อันว่าอัครเสนาบดีท่านนี้เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากขุนนางญาติผู้ใหญ่นามว่าเลอุเก ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่มีอิทธิพลสูงคนหนึ่งสมัยพระเจ้าศรีวิชยราชสิงหะ อันว่าเลอุเกผู้นี้เป็นผู้คงแก่เรียนเคยติดคุกสมัยพระเจ้านเรนทรสิงหะในข้อหากบฏ ขณะอยู่ในคุกเคยเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีแก่สามเณรสรณังกร ต่อมาได้รับอภัยโทษเข้ารับราชการจนเติบโต กินตำแหน่งเจ้าเมืองสำคัญใกล้เมืองแคนดี ท่านผู้นี้เองเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสนับสนุนให้สมนักโกฑิผู้หลานได้รั้งตำแหน่งสูงสุด กล่าวคืออัครเสนาบดีคนที่ 2 (ตำแหน่งอัครเสนาบดีหมายถึงขุนนางผู้ใหญ่รองจากกษัตริย์มีเพียง 2 ท่าน)
ต่อเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินใหม่อีกทั้งสิ้นบุญขุนนางใหญ่เลอุเกแล้ว อำนาจวาสนาของสมนักโกฑิเริ่มถดถอยเสื่อมลง สังเกตได้จากพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะทรงแต่งตั้งให้ครองเพียงหัวเมืองชั้นนอกนามว่าสะบะระคามุวะเท่านั้น ส่วนตำแหน่งที่รั้งอยู่ก็เป็นเพียงนามธรรม อำนาจสิทธิ์ขาดโปรดให้โอนไปอยู่ภายใต้การดูแลของอัครเสนาบดีคนที่ 1 ทั้งสิ้น แม้ต่อมาท่านพยายามดิ้นรนหาพรรคพวกเพื่อกดดันกษัตริย์ขออำนาจเพื่อครองตำแหน่งเดิม แต่กลับกลายเป็นว่าสร้างศัตรูโดยมิได้ตั้งใจ ทั้งเหล่าขุนนางภายนอก พระภิกษุสงฆ์ และข้าราชสำนักฝ่ายใน
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นเหตุให้ท่านวางแผนก่อกบฏล้มล้างราชวงศ์นายักกร์
เบื้องต้นท่านได้หว่านล้อมสมัครพรรคพวกเพื่อเข้าร่วมขบวนการ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่วิเสทนามว่าโมล ดันฑะ เจ้าเมืองนามว่าแมะติหันโปละ และเจ้าเมืองนามว่ากฑุเวละ นอกจากนั้นยังมีพระเถระผู้ใหญ่ กล่าวคือ พระสังฆราชสรณังกร และพระติบโบฏุวาเว พุทธรักขิตเถระ ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิดพรสังฆราชสรณังกร
เป็นที่น่าสังเกตว่าอัครเสนาบดีสมนักโกฑินั้น เป็นญาติใกล้ชิดของพระติบโบฏุวาเว พุทธรักขิตเถระ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะชักชวนพระเถระเข้าร่วมขบวนการดังกล่าว แต่ปัญหาชวนสงสัยคือเหตุใดพระสังฆราชสรณังกรจึงเข้าร่วมกับพวกกบฏ หรืออาจเป็นไปได้ว่าพระติบโบฏุวาเว พุทธรักขิตเถระ ชักชวนท่านเข้าร่วมด้วย
แต่หากศึกษาย้อนหลังจะเห็นว่า พระสังฆราชสรณังกรได้รับอิทธิพลความคิดจากขุนนางเลอุเกผู้เป็นอาจารย์ไม่น้อย เลอุเกผู้นี้เคยเป็นกบฏต่อพระเจ้านเรนทรสิงหะถูกลงโทษจำคุกอยู่หลายปี แม้สมัยพระเจ้าศรีวิชยราชสิงหะจะได้รับอภัยโทษปล่อยตัว ก็รวบรวมสมัครพรรคพวกต่อต้านกษัตริย์ทมิฬ แต่พระเจ้าศรีวิชยราชสิงหะทรงพิจารณาเห็นว่าท่านเป็นผู้ทรงความรู้จึงโปรดให้เป็นเจ้าเมือง ความคิดต่อต้านจึงกลายเป็นมิตร
จากหลักฐานเบื้องต้นสรุปได้ว่าการก่อกบฏดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว สังเกตได้จากผู้เข้าร่วมก่อการมีเพียงจำนวนน้อยนับตัวได้
เบื้องต้นนั้นผู้ร่วมคิดการเห็นชอบมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าชายเชื้อสายแห่งราชวงศ์สิงหลนามว่าปัฏฏิเยบัณฑาระ ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้านเรนทรสิงหะ กรณีจับพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะปลงพระชนม์เสียแล้ว แต่เจ้าชายพระองค์นั้นกลับปฏิเสธ เหล่าผู้คิดการจึงตกลงกันว่าเห็นสมควรเชิญหน่อเนื้อกษัตริย์จากสยามประเทศเข้ามาเป็นพระเจ้าแผ่นดินลังกา
พ.ศ. 2301 เมื่อคราวคณะสมณทูตไทยชุดที่ 2 เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชสรณังกรจึงเพ็ดทูลแนะนำพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะว่าคัมภีร์สำคัญของสยามประเทศยังมีอีกมาก หากได้มาย่อมเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาคณะสงฆ์ไม่น้อย จึงได้เขียนลิขิตฝากคณะราชทูตไปทูลถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่เนื้อความในจดหมายกลับเป็นความลับโดยทูลขอกษัตริย์แห่งสยามประเทศให้ส่งเชื้อสายราชวงศ์ไทยมาเสวยราชย์ ณ อาณาจักรแคนดี แม้พระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะเองไม่ทรงทราบความนัย เข้าใจแต่เพียงว่าเป็นสมณลิขิต ขอคัมภีร์สำคัญจากสยามประเทศเท่านั้น
หลักฐานทางฝ่ายไทยไม่แจ้งว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้รับจดหมายฉบับนั้นหรือไม่ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดกรณีกรมหมื่นเทพพิพิธคิดการเป็นกบฏกับขุนนางผู้ใหญ่หลายท่าน พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาจึงส่งกรมหมื่นเทพพิพิธผู้อยู่ในเพศบรรพชิตมาลังกา พร้อมกับราชทูตลังกาที่ตามมาส่งคณะสมณทูตไทยชุดที่ 2 (พ.ศ. 2302) หลักฐานฝ่ายลังการะบุว่ากรมหมื่นเทพพิพิธมิได้มาพระองค์เดียวแต่มีพระภิกษุติดตามมาด้วยอีกหลายรูป และเข้าพักที่วัดมัลวัตตะ เมืองแคนดี เป็นที่รู้จักกันในนามคณะสมณทูตสยามชุดที่ 3
กรมหมื่นเทพพิพิธเดินทางมาครั้งนี้จึงมาด้วยความจำใจมิใช่ยินยอม
จากนั้นพวกคิดการกบฏเริ่มวางแผนกำจัดพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ โดยเตรียมจัดพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดมัลวัตตะ ได้ขุดหลุมลึกแล้วปักด้วยเหล็กหลาวไว้ภายใต้ จากนั้นปูผ้าวางอาสนะสำหรับกษัตริย์ไว้เบื้องบน หวังกันว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเข้าไปนั่งบนอาสนะแล้วฟังพระธรรมเทศนา ไม่นานก็คงตกลงสู่หลุมแห่งมฤตยู
แต่แผนยังไม่สัมฤทธิผลก็ปรากฏว่ามีผู้ทราบข่าวนำความไปกราบบังคมทูลพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ
สำหรับผู้แจ้งข่าวแก่กษัตริย์ทมิฬนั้นหลักฐานกล่าวไว้ไม่ลงรอยกัน ส่วนหนึ่งกล่าวว่าพระวัดมัลวัตตะนั่นเองเป็นผู้นำความไปกราบบังคมทูลพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะ โดยปลอมตัวใส่ชุดฆราวาสเข้าเฝ้า เพื่อมิให้เป็นที่ผิดสังเกต แต่หลักฐานส่วนหนึ่งกล่าวว่าเป็นมุสลิมนามว่า คลโกฑะ ผู้เป็นเจ้าเมืองสำคัญใกล้เมืองแคนดี ความน่าจะเป็นก็คือพระภิกษุรูปดังกล่าวนำความไปแจ้งแก่เจ้าเมืองเสียก่อนแล้วเข้าเฝ้าเพ็ดทูลความจริงพร้อมกัน
เมื่อวันนัดหมายมาถึงพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะเสด็จไปยังวัดมัลวัตตะพร้อมด้วยเหล่าราชองครักษ์ โดยทำทีเหมือนไม่รู้แผนร้ายมาก่อน แม้พระสงฆ์จะเชิญให้ประทับบนอาสนะที่จัดไว้ให้ แต่พระองค์ก็ทรงปฏิเสธ และทรงยืนฟังพระธรรมเทศนาจนจบ จากนั้นรับสั่งให้เหล่าองครักษ์รื้อถอนเหล็กหลาวและจัดเก็บสถานที่ให้เรียบร้อยแล้วเสด็จกลับพระราชวังโดยไม่มีทีท่าว่าทรงพระพิโรธโกรธเคืองแต่ประการใด
เพียงชั่วลับตาพวกกบฏก็ถูกจับกุมและประหารชีวิตในเวลาต่อมา ยกเว้นพระสังฆราชสรณังกรและพระติบโบฏุวาเว พุทธรักขิตเถระ ซึ่งเหล่าอำมาตย์ทูลแนะนำว่าทั้งสองรูปเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวสิงหลส่วนมาก ถ้าประหารชีวิตแล้วไซร้เกรงจะเป็นภัยลุกลามยากต่อการควบคุม พระองค์จึงรับสั่งให้ถอดสมณศักดิ์พัดยศทั้งสิ้น แล้วให้นำพระสังฆราชสรณังกรไปคุมขังที่เกเฮแลลละ ส่วนพระติบโบฏุวาเว พุทธรักขิตเถระ ให้คุมขังไว้ที่บินแตนนะ แต่ต่อมา พ.ศ. 2311 โปรดให้ปล่อยตัวแล้วมอบถวายตำแหน่งและสมณศักดิ์เช่นเดิม ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธและพระสงฆ์ไทยนั้น รับสั่งให้คุมไปขึ้นเรือฮอลันดาที่ท่าตรินโคมาลี แล้วนำไปส่งจนถึงกรุงศรีอยุธยา
ปัญหาก็คือกรมหมื่นเทพพิพิธเห็นดีเห็นงามเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏหรือไม่ หลักฐานทางลังกาบอกเพียงว่ากลุ่มผู้คิดการอัญเชิญพระองค์เข้ามาลังกาเพื่อเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรแคนดี กรณีช่วงชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะได้แล้ว แต่หลักฐานฝ่ายไทยแย้งว่าพระองค์เดินทางมาด้วยความจำยอมตามภาวะทางการเมืองที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อุบายทั้งปวงเกิดขึ้นจากการวางแผนของฝ่ายลังกาทั้งสิ้น อาจเป็นไปได้ว่า พระองค์ตกอยู่ในภาวะหวานอมขมกลืน ด้วยกลับสยามประเทศก็มีภัย อยู่ลังกาก็เป็นเพียงผู้อาศัย จะมีอำนาจต่อรองอันใดก็ไม่ได้ สิ่งใดที่พวกก่อกบฏคิดกันแล้ว ก็คงเออออห่อหมกตามเขาไป อีกประการหนึ่งพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะทรงลดโทษประหารชีวิตคณะสมณทูตไทย ชุดที่ 3 เพียงแค่เนรเทศออกนอกเกาะลังกา ก็น่าจะมีนัยยะบอกว่ากรมหมื่นเทพพิพิธไม่สำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อกบฏครั้งนี้เท่าไรนัก
รอยเปื้อนทางประวัติศาสตร์
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดด่างพร้อยต่อพระประวัติของพระสังฆราชสรณังกร ผู้เป็นสังฆบิดรแห่งลังกาประเทศ แม้ไม่มีหลักฐานชิ้นใดชิ้บอกสาเหตุที่ท่านเข้าร่วมกับพวกกบฏ แต่ความผิดพลาดครั้งนั้นกลายเป็นความหมางเมินระหว่างคณะสงฆ์ด้วยกันเองและพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาถึงแม้ท่านจะได้รับการปล่อยตัวและคืนตำแหน่งและสมณศักดิ์ดังเดิม แต่ความหวาดระแวงระหว่างท่านกับพระเจ้าแผ่นดินลังกาก็ยากเกินกว่าที่จะเยียวยาให้คบหาสนิทใจเหมือนดังเดิม สังเกตได้จากเมื่อคราวท่านสิ้นพระชนม์แทนที่จะได้รับเกียรติถวายพระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวงอาดาหนมลุวะ ดังเช่น พระอุบาลีมหาเถระ ในฐานะผู้สร้างคุณูปการใหญ่หลวงต่อแผ่นดินลังกา แต่พิธีศพของท่านกลับได้รับการฌาปนกิจเพียงวัดเล็ก ๆ ใกล้บ้านเกิดของท่านเท่านั้นเอง
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรแคนดีกับสยามประเทศก็ถึงคราวอวสานเช่นเดียวกัน สังเกตได้จากตั้งแต่สมัยพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะเป็นต้นมาจนถึงกรุงธนบุรี ทางศรีลังกาได้เว้นการติดต่อกับประเทศไทยโดยเด็ดขาด เพิ่งมาปรากฏเห็นอีกครั้งสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง อาจเป็นไปได้ว่าการเว้นช่วงดังกล่าวเป็นเพราะเหตุการณ์ภายในของศรีลังกาเองส่วนหนึ่ง เพราะหลักฐานบอกไว้ว่าหลังจากสมัยพระเจ้ากีรติศรีราชสิงหะไม่นาน อาณาจักรแคนดีตกอยู่ในภาวะวุ่นวายระส่ำระสาย เกิดศึกภายในระหว่างขุนนางผู้ใหญ่กับพระเจ้าแผ่นดิน อีกทั้งศึกภายนอกอังกฤษก็คอยโอกาสเข้ายึดครองอาณาจักรแคนดี เพียงชั่วไม่นานความอ่อนแอผุกร่อนของสถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ทมิฬนายักกร์ และความไม่ทันต่อความชาญฉลาดของนักล่าอาณานิคมตะวันตกคืออังกฤษ เป็นเหตุชักจูงให้ขุนนางกลุ่มหนึ่งเป็นใจเปิดประตูเมืองให้อังกฤษเข้ายึดครองอาณาจักรแคนดี
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอาณาจักรแคนดีและผืนเกาะลังกาทั้งปวงก็ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ จนถึงวันประกาศอิสรภาพ
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดเส้นทางชีวิต “กรมหมื่นเทพพิพิธ” เจ้านายนักการเมืองสไตล์ ไม่ชนะ ไม่ตาย ไม่เลิก!
- การ “บวช” หนีภัย “การเมือง” สมัยกรุงศรีอยุธยา
- ศึกพระสงฆ์ในสยาม สังฆเภทคณะสงฆ์ลังกา ป่าแดง vs ป่ามะม่วง-สวนดอก สู่การสังคายนาพระไตรปิฎก
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “กบฏสมณทูตไทย : รอยเปื้อนทางประวัติศาสตร์ไทย-ลังกา” เขียนโดย ลังกากุมาร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2565