เปิดเส้นทางชีวิต “กรมหมื่นเทพพิพิธ” เจ้านายนักการเมืองสไตล์ ไม่ชนะ ไม่ตาย ไม่เลิก!

จิตรกรรมพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ตอนช้างทรงพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่ง จิตรกรรมฝีพระหัตถ์กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมปละประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนักเล่ม 2)

รัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองที่สุดสมัยหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายในการช่วงชิงอำนาจมากที่สุดสมัยหนึ่ง และที่สำคัญราชบัลลังก์นี้เหมือนถูกสาป พระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทุกพระองค์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชบัลลังก์นี้ ล้วนแต่มีตอนจบที่ไม่สง่างามทั้งสิ้น

ภายใต้เงาทางการเมืองที่วุ่นวายนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธ “ลูกพระสนม” ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดช่วงเวลาปลายกรุงศรีอยุธยา ตลอดชีวิตต้องหนี ออกผนวช ถูกจับ ถูกเนรเทศ แต่ก็ยังคงเคลื่อนไหวทุกครั้งที่โอกาสเปิดช่องให้ และต่อสู้จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

Advertisement

พระองค์ไม่ใช่นักรบที่กล้าหาญเก่งฉกาจ ออกจะขลาดกลัวเสียด้วยซ้ำ ทรงหนีเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง ที่พลาดท่าเสียที เนื่องจากเป็นพระราชโอรสที่เกิดจากพระสนม แทบจะหมดโอกาสจากราชบัลลังก์ แต่สุดท้ายก็ยังได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ระยะสั้น ๆ ก่อนจะถูกพระเจ้าตากสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

หลังพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิวัติสำเร็จ ได้ราชสมบัติมาก็ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ เจ้านายพระองค์นี้ก็ได้รับสถาปนาเช่นกัน “ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็น กรมหมื่นเทพพิพิธ” [1]

ผลัดแผ่นดิน

ปลายแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย ซึ่งเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 2 รองจากเจ้าฟ้านเรนทร ซึ่งเวลานั้นทรงผนวชอยู่ และไม่มีทีท่าว่าประสงค์ในราชบัลลังก์ แต่พระอนุชาธิราช ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล “พระมหาอุปราช” ไม่ยอมให้ราชสมบัตินี้ตกแก่เจ้าฟ้าอภัย จะทรงยอมก็ต่อเมื่อราชบัลลังก์ต้องเป็นของเจ้าฟ้านเรนทรเท่านั้น

ทั้ง 2 ฝ่ายเตรียมกำลังเผชิญหน้ากัน ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระยังไม่สวรรคต จนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคต สงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ระหว่างวังหลวงกับวังหน้า “หลานกับอา” ก็เปิดฉากขึ้น

รบกันอยู่หลายวัน กองทัพวังหน้าทำท่าจะพ่ายแพ้ พระมหาอุปราชเตรียมตัวจะหนี แต่แล้วก็มีมือดีปรากฏตัวขึ้น อาสาออกรบ “ขุนชำนาญ” ถึงกับให้คำมั่นว่า “จะขอตายก่อนพระองค์” และถ้า “ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ตายอย่าเพ่อหนีก่อน” ไม่น่าเชื่อว่าด้วยฝีมือของขุนชำนาญและทหารส่วนหนึ่ง ทำให้สงครามพลิกผัน กองทัพวังหลวงถึงกับถูกตีแตก

เจ้าฟ้าอภัย ผู้ที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระมีพระราชประสงค์จะให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ และเจ้าฟ้าปรเมศวร์ถูกประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ เจ้าฟ้าอภัยขึ้นสู่ราชบัลลังก์เพียงไม่กี่วัน จนพระราชพงศาวดารไม่ได้บันทึกให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชขึ้นสู่ราชบัลลังก์ รู้จักกันในพระนาม พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ. 2275-2301)

รัชสมัยก่อนหน้านี้ เสนาบดีขุนนางมีอำนาจมาก ทำให้ราชบัลลังก์ไม่มีความมั่นคง พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรง “ตั้งกรม” ให้พระราชโอรสมีอำนาจ โดยเฉพาะในการควบคุมกำลังไพร่พลมากขึ้น มีผลประโยชน์ในทางราชการมากขึ้น เพื่อลดทอนอำนาจของขุนนางลง

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปราบดาภิเษกแล้ว ก็ทรง “ตั้งกรม” เจ้านายดังนี้ พระพันวัสสาใหญ่ พระมเหสีเอก เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต พระพันวัสสาน้อย เป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรฯ เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) เจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระองค์เจ้าแขก เป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์เจ้ามังคุด เป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร พระองค์เจ้ารถ เป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ พระองค์เจ้าปาน เป็นกรมหมื่นเสพภักดี และให้เจ้าฟ้านเรนทร (พระราชโอรส พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศต้องการให้ครองราชสมบัติในตอนแรก) เป็นเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ เป็นต้น

……..

การเมือง 2 ขั้ว

หลังจากเจ้าฟ้ากุ้งได้รับสถาปนาเป็น “วังหน้า” ก็ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจตามพระราชบัญชาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ “งานใหญ่” คือทรงเป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปวัดมงคลบพิตร ซ่อมแซมพระที่นั่งวิหารสมเด็จ เป็นต้น แล้วก็เกิดเหตุไม่สมควรขึ้นจนได้ “ไม่ได้เสด็จเข้าเฝ้าถึงสามปี” ด้วยทรงพระประชวรพระโรคสำหรับบุรุษ

แต่หลังจากมีพระอาการดีขึ้นในปี 2298 ก็ทรง “แผลงฤทธิ์” ด้วยการมีพระบัณฑูรให้ตำรวจนำตัวเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร ปลัดเวร ของ “เจ้าสามกรม” คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี มาลงพระราชอาญาโบยหลังคนละ 15 ทีบ้าง 20 ที่บ้าง โทษฐานที่ “เจ้าสามกรม” แต่งตั้งข้าในกรมสูงถึงชั้น “ขุน” เกินตำแหน่งที่ทรงกรม คือทรงเป็นแต่เพียง “กรมหมื่น” ข้าในกรมก็มียศสูงได้แต่ตำแหน่ง “หมื่น” เท่านั้น จะสูงกว่า “หมื่น” เป็น ขุน เป็น พระ ไม่ได้ ถือว่าผิดพระราชอาญา

แม้การตัดสินลงพระราชอาญาครั้งนี้จะชอบธรรม เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง แต่การ “ตีลูกน้องประชดนาย” นั้น ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับ “เจ้าสามกรม” อย่างมาก น่าแปลกที่กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็น “ลูกพระสนม” เหมือนกับ “เจ้าสามกรม” แต่กลับไม่อยู่ในกลุ่ม “เจ้าสามกรม” นี้ ทรงไปอยู่กับกลุ่ม “สามเจ้าฟ้า” คือ เจ้าฟ้ากุ้ง เจ้าฟ้าเอกทัศ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถูก

เมื่อข้าในกรมถูกลงโทษเช่นนี้ “เจ้าสามกรม” ย่อมทราบความหมายดี ดังนั้น จึงซุ่มซ่อน ย้ายที่อยู่ที่นอนทุกวัน เพราะอาจจะมีราชภัยลึกลับมาถึงตัวเมื่อไหร่ก็ได้ ในที่สุด กรมหมื่นสุนทรเทพก็ชิงเล่นงานก่อน ด้วยการกราบบังคมทูลฟ้องว่า เจ้าฟ้ากุ้ง “เสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง”

แม้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะพระราชทานยกโทษประหารให้เจ้าฟ้ากุ้ง ตามที่ทรงให้สัจจะไว้ “ไม่เป็นกบฏแล้วไม่ฆ่า” คงไว้แต่โทษโบย นาบพระบาท และถอดเป็นไพร่ แต่ก็ทรงทนการโบยไม่ไหวสิ้นพระชนม์ไปพร้อม ๆ กับ เจ้าฟ้าสังวาลย์ ส่วนเจ้าฟ้านิ่มถูกโบย ถอดเป็นไพร่ และขังไว้จนตาย

ในเหตุการณ์นี้ กรมหมื่นเทพพิพิธปรากฏบทบาทเป็นแต่เพียงผู้นำความของเจ้าฟ้ากุ้งขึ้นกราบบังคมทูลว่า “จะทรงขอรับพระราชอาญา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรด” อย่างไรก็ดี แม้บทบาทของกรมหมื่นเทพพิพิธจะยังไม่ชัดนัก แต่หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ บทบาททางการเมืองในราชสำนักของกรมหมื่นเทพพิพิธก็เริ่มชัดขึ้นทุกที

ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจากกฎมณเฑียรบาล โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์

กรมหมื่นเทพพิพิธ เสนอ วังหน้า

เมื่อสิ้นเจ้าฟ้ากุ้ง ตำแหน่งวังหน้าก็ว่างอยู่ถึง 2 ปี ซึ่งเวลานั้นหากนับเอาพระราชโอรสองค์สำคัญในลำดับถัดมาจากเจ้าฟ้ากุ้งก็จะเป็นพระราชโอรสในพระพันวัสสาน้อย กรมหลวงพิพิธมนตรี ซึ่งมี 2 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ถัดมาคือ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต ส่วนเจ้านายอีกฟากหนึ่งคือกลุ่ม “เจ้าสามกรม” รวมทั้งกรมหมื่นเทพพิพิธ อยู่ในลำดับรองลงไป

แต่แล้วกรมหมื่นเทพพิพิธก็ชิง “เคลื่อนไหวก่อน” โดยร่วมมือกับเสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ กราบบังคมทูลขอให้พระราชทาน เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ขึ้นเป็นวังหน้า ซึ่งเท่ากับเสนอให้ “ข้าม” เจ้าฟ้าเอกทัศไป แต่การมีขุนนางระดับ สมุหนายก สมุหกลาโหม และพระยาพระคลัง ร่วมสนับสนุนด้วยแล้ว ย่อมมีน้ำหนักยิ่งไปกว่าลำดับการสืบราชสมบัติตามปกติ

ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีพระราชดำริเห็นชอบ แม้ว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจะทรงเป็น “น้อง” ก็ตาม ทั้งนี้เพราะ “กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงถานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต กอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเศวตฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไปได้” [2]

แม้ว่าเบื้องต้นเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจะทรงบอกปัด เพราะว่า “พี่ชาย” ยังอยู่ แต่เมื่อมีพระราชวินิจฉัยดังนี้แล้ว ก็ทรงรับ ส่วน “พี่ชาย” เจ้าฟ้าเอกทัศ ก็มิอาจขัดพระราชประสงค์จึงลาผนวชออกไป ไม่ให้กีดขวางการแผ่นดิน

กรมหมื่นเทพพิพิธเวลานี้ก็เท่ากับ “เปิดหน้าเล่น” อยู่ข้างเจ้าฟ้าดอกมะเดื่ออย่างชัดเจน ขณะที่เสนาบดีสำคัญก็อยู่ในฟากนี้เช่นกัน ยังเหลืออยู่แต่ “เจ้าสามกรม” เท่านั้น ที่ยังนิ่งอยู่ แต่นิ่งอยู่ได้ไม่นาน เมื่อเวลาผลัดแผ่นดินมาถึง

ปฏิวัติเงียบ

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวรหนัก ก็ตรัสมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ซึ่งเวลานั้นได้ลาผนวชออกมาประทับอยู่ที่ตำหนักสวนกระต่ายแล้ว จนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต ความอลหม่านก็บังเกิดขึ้น

กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ก็เชิญเอาพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ และพระแสงง้าวข้างพระที่ ส่งให้ชาวที่เชิญตามเสด็จเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย ข้างฝ่าย “เจ้าสามกรม” ก็เริ่มเคลื่อนไหว แสดงการไม่ยอมรับแผ่นดินใหม่อย่างชัดเจน พากันเสด็จเข้าไปในวังบ้าง แล้วเชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฐานที่มั่นของ “เจ้าสามกรม”

เหตุการณ์กำลังชุลมุน กรมหมื่นเทพพิพิธจึงสั่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ไปบัญชาการปิดประตูวัง ต่อมาเจ้าฟ้าอุทุมพร ก็ทรงสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธเชิญพระแสงในโรงต้นทั้งหมดไปไว้ที่ตำหนักสวนกระต่าย ที่ประทับของเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ แล้วเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ก็ทรงเรียกเสนาบดี ขุนนาง เจ้านาย มาประชุมด่วนที่ตำหนักสวนกระต่าย แต่ “เจ้าสามกรม” ไม่เสด็จมาเฝ้าในการนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “ไม่เอา” เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ และมีการสะสมกำลังพล น่าจะเตรียมการ “ปฏิวัติ” อยู่ที่ตำหนักศาลาลวดเป็นแน่

ขุนอนุรักษ์ภูธร ข้าราชการในกรมหมื่นสุนทรเทพ (น่าจะเป็นขุนนางคนหนึ่งที่ได้ตำแหน่ง “เกิน” เจ้าทรงกรมและถูกโบยโดยคำสั่งของเจ้าฟ้ากุ้ง) นำคน 200 คน มาสมทบกับคนของกรมหมื่นจิตรสุนทร ขุนพิพิธภักดี ข้าราชการในกรมหมื่นจิตรสุนทร พาคนไปปล้นคลังแสง ได้ปืนและอาวุธมาสะสมไว้มาก

ฝ่ายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ คงจะทราบเหตุปฏิวัติแน่ชัดแล้ว จึงขออาราธนาพระสงฆ์ที่มาในงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ให้ไปเจรจาเกลี้ยกล่อม “เจ้าสามกรม” ให้ยุติเสีย พระราชาคณะทั้ง 5 รูป ก็ไปเจรจาจน “เจ้าสามกรม” ยินยอมที่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ แต่ก็ยังคงซ่องสุมผู้คนและอาวุธอยู่ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจึงนำความปรึกษากับเจ้าฟ้าเอกทัศ หาทางจัดการกับปัญหานี้

เจ้าฟ้าเอกทัศจึงเชิญ “เจ้าสามกรม” มาเฝ้าเป็นที่ปรึกษาราชการ ก่อนจะสั่งให้ทำการจับกุมไว้ทั้ง 3 พระองค์ แล้วนำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แม้ว่าจะเป็นการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามโบราณราชประเพณีอย่างถูกต้อง แต่ลึก ๆ แล้ว ดูเหมือนจะมีการ “ชำระบัญชีเก่า” ไปในคราวเดียวกัน เพราะ “เจ้าสามกรม” นี้ คือผู้ที่ทำให้เจ้าฟ้ากุ้งต้องโทษจนสิ้นพระชนม์ ทำให้ “สามเจ้าฟ้า” ต้องสูญเสียผู้นำไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับพระบัญชาให้กำกับการลงพระราชอาญาครั้งนี้ คือพระองค์เจ้าอาทิตย์ พระโอรสของเจ้าฟ้ากุ้ง โดยมีรับสั่งเป็นพิเศษว่า “เขาทำแก่บิดาเจ้าฉันใด จงกระทำตอบแทนฉันนั้น”

เมื่อหมด “เจ้าสามกรม” การเมืองในราชสำนักก็น่าจะจบลงด้วยดี เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติตามโบราณราชประเพณี รู้จักกันในพระนาม “พระเจ้าอุทุมพร”

กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งอยู่ฝ่ายพระเจ้าอุทุมพร ก็น่าจะ “ขึ้น” ในทางราชการอย่างยิ่ง เพราะทรง “เปิดหน้าเล่น” แสดงตัวเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าอุทุมพรมาตั้งแต่ต้น แต่แล้วกรมหมื่นเทพพิพิธก็มีอัน “ตก” อีก เพราะเกิดการผลัดแผ่นดินในเวลาอันสั้น

ซากฐานพระตำหนักสวนกระต่าย

ปฏิวัติพลาด ถูกเนรเทศ

การผลัดแผ่นดินสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยา จากพระเจ้าอุทุมพร เป็นพระเจ้าเอกทัศ มีคำอธิบายง่าย ๆ ว่า “น้อง” ไม่ต้องการในราชสมบัติ เมื่อสนองพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศตามสมควรแล้ว ก็มอบคืนให้กับ “พี่ชาย”

“เรานี้เป็นอนุชา อันว่าราชสมบัตินี้ควรแต่พระเชษฐาธิราช ที่จะครอบครองสมบัติแทนที่พระบิดาสืบไป” [3] พระราชพงศาวดารฉบับต่าง ๆ ก็กล่าวไว้ทำนองเดียวกันนี้ แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น

“ฝ่ายพระเชษฐาธิราชกรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น พระทัยปรารถนาราชสมบัติ มิได้เสด็จไปอยู่ที่อื่น เสด็จขึ้นอยู่บนพระที่นั่งสุริยามรินทร์ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยร่วมพระอุทรเดียวกัน จึงทรงพระราชดำริจะยอมถวายราชสมบัติ” [4]

ส่วนพระเจ้าอุทุมพรก็จำต้องเสด็จออกผนวชอีกครั้ง จนรู้จักกันในพระนามว่า “ขุนหลวงหาวัด” และเจ้าฟ้าเอกทัศก็เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เรียกพระนามตามที่ประทับ หรือรู้จักอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าเอกทัศ หลังจากมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่กี่วัน กรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งทรงอยู่ข้างพระเจ้าอุทุมพร ก็ร้อนตัวเกรงจะไม่ปลอดภัย จึงออกผนวชพึ่งผ้าเหลืองให้รอดตัวไว้ก่อน

“กรมหมื่นเทพพิพิธคิดถึงพระองค์ว่าเป็นเจ้าผู้ใหญ่ เกรงพระเจ้าแผ่นดินจะมีความรังเกียจพระทัยไม่เลี้ยง ก็จะมีชีพิตันตรายเหมือนเหมือนเจ้าสามกรม จึงเข้าไปกราบทูลบังคมลาออกผนวช ครั้งทรงพระอนุญาตแล้ว ก็ไปทรงผนวชอยู่ ณ วัดกระโจม” [5]

ในการผลัดแผ่นดินครั้งนี้ พระเจ้าเอกทัศได้ตั้งข้าราชการใกล้ชิดซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น โดยทรงตั้งนายปิ่น “พี่ชายพระสนม” เป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก และตั้งนายฉิม น้องชายนายปิ่น เป็นหมื่นศรีสรรักษ์

ทั้ง 2 คนนี้คงจะออกอาการ “กร่าง” จนสร้างความอึดอัดให้กับเสนาบดีผู้ใหญ่ ผู้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเสนอเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อให้เป็นวังหน้านั่นเอง มีเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายเพงจัน นายจุ้ย เป็นต้น ความอึดอัดนี้ทำให้กลุ่มขุนนางนี้พาดพิงไปถึงพระราชดำริสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเลยทีเดียว

“พระเจ้าแผ่นดินชุบเลี้ยงพระยาราชมนตรี จมื่นศรีสรรักษ์ มีจิตกำเริบกระทำการหยาบช้าต่าง ๆ ไม่ช้าบ้านเมืองก็จะเกิดจลาจลเป็นแท้ อนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ตรัสมอบราชสมบัติแก่พระพุทธเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวช จะได้มอบราชสมบัติให้แก่พระองค์นี้หามิได้ ตรัสทำนายไว้ว่าถ้าจะให้พระองค์นี้ครองสมบัติ บ้านเมืองก็จะพิบัติฉิบหาย ควรจะกำจัดพระองค์นี้เสียจากเศวตฉัตร จะไปเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงผนวชนั้นให้ลาผนวชออกมาเสวยราชสมบัติดังเก่า” [6]

กลุ่มขุนนางนี้มิได้ขยับเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง แต่ได้นำความขึ้นปรึกษากรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งทรงผนวชอยู่เช่นเดียวกัน แล้วก็ทรงเห็นชอบด้วย และไม่ได้แสดงว่า จะทรง “รับไว้เอง” จึงนำความนี้ขึ้นปรึกษาและทาบทามพระเจ้าอุทุมพร เมื่อทรงทราบวัตถุประสงค์แล้ว ก็ตรัสเป็น “ปริศนา ทำให้ผู้ก่อการทั้งหลายตีความเอาว่า “ทรงเอาด้วย”

“รูปเป็นสมณะจะคิดอ่านการแผ่นดินด้วยนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงเห็นควรประการใดก็ตามจะคิดกันเถิด กรมหมื่นเทพพิพิธกับขุนนางทั้งสี่ก็เข้าใจว่าทรงยอมแล้ว ก็ทูลลากลับมา” [7]

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป้าหมายเพื่อโค่นพระเจ้าเอกทัศออกจากราชบัลลังก์ และหากพระเจ้าอุทุมพรทรง “หาวัด” อีก โอกาสขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของกรมหมื่นเทพพิพิธก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นเดียวกัน จะเป็นเพราะพระเจ้าอุทุมพรทรงอ่านสิ่งใดออก หรือทรงไม่ไว้ใจแต่แรกก็ตาม การทูลเชิญครั้งนี้จึงถูก “ซ้อนแผน” ทรงนำเรื่องนี้ขึ้นกราบทูลพระเจ้าเอกทัศ ด้วยทรงคิดว่า กรมหมื่นเทพพิพิธอาจฉวยโอกาสล้มทั้งกระดาน แล้วขึ้นสู่ราชบัลลังก์เสียเอง

“คนเหล่านี้คิดกบฏจะทำการใหญ่ ถ้าเขาทำการสำเร็จจับพระเชษฐาได้แล้ว เขาจะจับเราเสียด้วย จะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นครองสมบัติ เราสองพี่น้องก็จะพากันตาย” [8]

พระเจ้าเอกทัศจึงมีพระราชโองการให้จับกุม “กบฏ” ทุกคน ได้ตัวขุนนางผู้ใหญ่เกือบหมด มีเพียงหมื่นทิพเสนากับนายเพงจันหนีไปได้ ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธและคนในปกครอง พากันหนีไปที่วัดพนัญเชิง ข้าในกรมช่วยกันตั้งค่ายล้อมไว้ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าเข้าไปจับกุม

พระเจ้าเอกทัศจึงส่งคนไปเจรจา โดยจะทรงเว้นโทษให้ แต่ต้องส่งตัวเจ้ากรม ปลัดกรม มาให้การทางการเสียก่อน กรมหมื่นเทพพิพิธก็ทรงรับปากจะส่งคนไปให้ แต่แล้วเจ้ากรมไหวตัวทันหนีไปเสียก่อน ส่วนปลัดกรม ชิงผูกคอตายไปก่อน แต่เพื่อความแน่นอน กรมหมื่นเทพพิพิธก็ทรงตัดสินใจ “หนี” ด้วยเช่นกัน แต่หนีไม่รอด ถูกจับตัวได้ในป่าแถบพระแท่นดงรัง และถูกเนรเทศไปเกาะลังกา “ปีเถาะ จ.ศ. 1121 เนรเทศเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธออกจากกรุง” [9]

ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพวาดทิวทัศน์บริเวณ วัดพนัญเชิง อยุธยา จากรูปถ่าย วาดโดย M.Therond

ก่อการกบฏในศรีลังกา

…ครั้นเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จมาถึงเกาะลังกา โดยไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุ พระเจ้ากรุงลังกา พระเจ้ากิตติศิริราช สิงห์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2290-2323) ก็ให้การต้อนรับกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอย่างดี

แต่ดวงปฏิวัติก็โคจรมาบรรจบอีกจนได้ เนื่องจากเวลานั้นศรีลังกาก็มีการเคลื่อนไหวของผู้ต่อต้านพระเจ้ากรุงลังกาอยู่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะพระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ทรงเป็นชาวทมิฬ และเคยนับถือฮินดูมาก่อนจะเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนา ในขณะที่ชนพื้นเมืองศรีลังกาเป็นชาวสิงหล และนับถือพุทธศาสนา วัตรปฏิบัติของพระเจ้ากรุงลังกาจึงยังคงติดธรรมเนียมเดิมมาบ้าง เช่น ทรงเจิมพระนลาฏแบบชาวฮินดู แม้คณะสงฆ์จะทูลเตือนหลายครั้งก็ไม่เป็นผล

ข้าราชการและราษฎรจำนวนหนึ่งไม่พอใจทั้งที่ทรงเป็นชาวทมิฬ และวัตรปฏิบัติที่ไม่ต้องกับพระพุทธศาสนา จึงวางแผนที่จะปลงพระชนม์พระเจ้ากรุงลังกา โดยขุดหลุมซ่อนอาวุธแล้วเอาผ้าคลุมไว้ เตรียมพร้อมไว้ที่วัดบุปผาราม (วัดที่คณะสงฆ์สยามจำพรรษา) รอโอกาสเหมาะจะได้ลงมือ

ก็บังเอิญว่ากรมหมื่นเทพพิพิธ เมื่อไปอยู่เกาะลังกาได้ไม่นานนั้น เป็นที่ชื่นชอบของขุนนางและราษฎรมาก เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และที่สำคัญทรงเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิด ขุนนางที่จะก่อการหวังจะถวายราชสมบัติกรุงลังกาให้กับกรมหมื่นเทพพิพิธเลยทีเดียว แต่ดูเหมือนว่ากรมหมื่นเทพพิพิธจะ “ดวง” ยังไม่ถึง “ราชบัลลังก์” ทำให้แผนการปฏิวัติ “แตก” อีกครั้ง

“พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์เสด็จไปวัดบุปผาราม พร้อมด้วยนายทหารรักษาพระองค์ ก่อนประทับนั่งทรงใช้ไม้เท้าเขียผ้าออก ได้ทอดพระเนตรเป็นหลุมตามที่พระฮุลังคะมุเวทูลไว้ ทำให้พระองค์ทรงมั่นพระทัยว่า มีคณะผู้ไม่หวังดีต่อพระองค์ รับสั่งทหารให้จับคณะผู้ก่อการกบฏทั้งหมดทันที และนำไปประหารชีวิตที่อัมปิเย” [10]

กรมหมื่นเทพพิพิธยังโชคดีเหมือนทุกครั้ง แม้จะเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติแต่ก็ไม่เคยมีภัยถึงชีวิต คราวนี้ทรงถูกส่งตัวกลับสยาม (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าทรงหนีมากับเรือสินค้าแขก แล้วขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด) จากนั้นกรมการเมืองก็แจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จกลับเข้ามาในสยาม จึงมีพระราชโองการให้รับตัวมากักไว้ที่เมืองตะนาวศรี

แม้จะต้องหนีอยู่หลายครั้งหลายครา แต่กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็ยังไม่หยุดที่จะ “เคลื่อนไหว” เพียงเท่านี้

ก่อการกู้กรุงศรีอยุธยา

“ดวง” กรมหมื่นเทพพิพิธจะเป็นดวงประเภทใดไม่ทราบได้ ทำให้มีเหตุต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา หลังจากทรงหนีเหตุการณ์กบฏที่เกาะลังกามาอยู่ที่เมืองตะนาวศรี ก็เผอิญให้กองทัพพม่าโดยมังมหานรธา ยกทัพใหญ่ตามพระราชบัญชาของพระเจ้ามังระ ในสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 กองทัพมังมหานรธาก็บุกเข้าปราบเมืองชายแดนสยาม ตั้งแต่ ทวาย มะริด รวมไปถึงตะนาวศรีที่กรมหมื่นเทพพิพิธประทับอยู่

กรมหมื่นเทพพิพิธจึงต้องหนีเตลิดเข้ามาถึงเมืองเพชรบุรี ทางการจึงรายงานขึ้นไปที่กรุงศรีอยุธยา จึงมีรับสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่ถึงเมืองจันทบุรี แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะย่ำแย่เพียงใดพระเจ้าเอกทัศก็ไม่ไว้ใจให้กรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ใกล้ตัว เพื่อประโยชน์ในทางสงคราม คงเป็นเพราะยังไม่ทรงไว้พระทัยอยู่นั่นเอง

แต่ข่าวลือเรื่องกรมหมื่นเทพพิพิธพยายามจะจัดตั้งกองกำลัง “กู้กรุง” ลือสะพัดเข้าไปถึงในพระนคร “คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนคร ออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิง ซึ่งเป็นพระหน่อ ในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็หนีออกไปหาเจ้า” [11]

เมื่อรวบรวมผู้คนได้ ทั้งจากพระนคร และนักรบท้องถิ่น มีชาวปราจีน นครนายก ฉะเชิงเทรา เมืองชล บางละมุง จำนวนมาก ที่สมัครใจเข้าร่วมขบวนการ “กู้กรุง” ได้หลายพันคน กรมหมื่นเทพพิพิธจึงให้ตั้งกองกำลังที่ปากน้ำโยทกา เมืองนครนายก

การรวบรวมผู้คนภายนอกพระนครเพื่อกลับไป “กู้กรุง” นี้ กรมหมื่นเทพพิพิธทำก่อนพระเจ้าตากถึง 6 เดือน และก็เป็นอีกครั้งที่กรมหมื่นเทพพิพิธกระทำการไม่สำเร็จ เกิดอาการ “แผนรั่ว” อีกครั้ง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกเมื่อคราวจะก่อการคืนราชบัลลังก์ให้พระเจ้าอุทุมพร ครั้งที่ 2 เป็นเหตุการณ์ขณะอยู่ที่เกาะลังกา ครั้งนี้แผนรั่วไปถึงกองทัพพม่า ทำให้พม่ายกกองทัพมาตีค่ายปากน้ำโยทกาแตกกระเจิง โดยที่ยังไม่ทันจะยกกองทัพนี้ไป “กู้กรุง” เสียด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี หลักฐานจากเอกสารต่างประเทศ บันทึกเรื่องนี้ไว้ต่างกัน คือกองทัพที่ยกมาปราบกองกำลังของกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนี้ ไม่ใช่กองทัพพม่า แต่เป็นกองทัพของพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง อาจจะยังไม่ไว้ใจหรือกลัวกรมหมื่นเทพพิพิธจะ “ปฏิวัติ” ยึดอำนาจเสียเอง เพราะมีกำลังหัวเมืองอยู่ไม่น้อย ในขณะที่กรุงศรีอยุธยาก็กำลังอ่อนแรงด้วยศึกพม่า

“เจ้าชายแห่งสยามผู้ซึ่งถูกเนรเทศไปอยู่ลังกา รู้สึกเศร้าพระทัยเป็นอย่างยิ่งในชะตากรรมของบ้านเมืองของพระองค์ พระองค์ทรงลืมความจริงที่ว่าพระองค์ทรงเป็นนักโทษ พระองค์ทรงมีอำนาจเพียงพอที่จะยกกองทัพมาช่วยเหลือบุคคลซึ่งเคยขับไล่พระองค์แต่หนหลัง ราชสำนักสยามหยิ่งเกินไปที่จะรับความช่วยเหลือจากผู้ที่ถูกเนรเทศนี้ ได้ปฏิเสธข้อเสนอของเจ้าชายด้วยการดูถูก และแทนที่จะคิดว่าพระองค์เป็นผู้ที่ป้องกันประเทศ เขากลับส่งกองทหารไปโจมตีจนต้องถอยทัพกลับไป” [12]

ไม่ว่าจะเป็นกองทัพพม่า หรือกองทัพกรุงศรีอยุธยาก็ตาม ที่เป็นฝ่ายโจมตีกองกำลังของกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่ผลก็เหมือนกันคือทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้อง “หนี” อีกครั้ง

ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

หลังจากค่ายที่ปากน้ำโยทกาแตก กรมหมื่นเทพพิพิธก็หนีเข้าเมืองนครราชสีมา แม้จะมาอย่างอ่อนน้อม ด้วยการมอบของกำนัล หมวกฝรั่ง เสื้อจีน ผ้าเกี้ยว ให้พระยานครราชสีมา แต่ก็ทรงถูกหมายตาไว้ เพราะพระยานครราชสีมาคิดจะจับตัวส่งกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธก็คิดจะหนีอีก แต่พระโอรส หม่อมเจ้าประยงค์ ทูลห้ามไว้ แต่ให้ “สู้” ด้วยการวางแผนฆ่าเจ้าเมืองนครราชสีมา แล้วก็ทำได้สำเร็จ แต่หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาหนีรอดมาได้

ไม่นานหลวงแพ่งก็ “เอาคืน” และตีเมืองนครราชสีมาคืนได้สำเร็จ จับเอาพระโอรสที่เป็นชายและขุนนางฆ่าเสียทั้งหมด เหลือแต่พระโอรสและพระธิดาที่อายุยังน้อยไว้เท่านั้น นอกจากนี้ลูกน้องของหลวงแพ่ง ยังได้จับเอาหม่อมเจ้าอุบล พระธิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธไปเป็นภรรยา ลูกน้องหลวงแพ่งอีกคนก็เอาหม่อมห้ามของกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นภรรยาเช่นกัน

แรกทีเดียวหลวงแพ่งจะฆ่ากรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายขอชีวิตไว้ ด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เหลือรอดอยู่ไม่กี่คนในขณะนั้น “จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินต่อไป เรียกว่า เจ้าพิมาย” [13]

โบสถ์ “เจ้าพิมาย” กรมหมื่นเทพพิพิธ เมืองพิมาย สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมืองนครราชสีมาจึงมีหลวงแพ่งปกครอง ส่วนเมืองพิมายที่อยู่ไม่ไกลกัน มีเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธปกครอง นี่อาจเป็นเกียรติยศสูงสุดของกรมหมื่นเทพพิพิธ แม้จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหัวเมืองเล็ก ๆ ก็ตาม แต่การจะปล่อยหลวงแพ่งเจ้าเมืองนครราชสีมา อริเก่าไว้เป็นหอกข้างแคร่ ก็ไม่สมควร พระพิมายเดิมหรือบัดนี้เจ้าพิมายแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แห่งเมืองพิมาย จึงได้คบคิดกันว่า ไม่ควรจะปล่อยหลวงแพ่งไว้

จนวันหนึ่งหลวงแพ่งได้เชิญ “พระพิมาย” เพื่อนเก่า มางานบุญที่บ้าน แต่ “พระพิมาย” ได้ถือโอกาสขณะนั่งดูละครอยู่กับหลวงแพ่ง พระพิมายก็ลงมือฆ่าหลวงแพ่งที่บ้านนั้นเอง เป็นอันว่าเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็ได้เมืองนครราชสีมาเพิ่มเข้ามาอีก มีเขตปกครองจนถึงเวียงจันทน์ ด้านใต้จรดกรุงกัมพูชา

แต่ว่าเวลานั้นเกิด “เจ้าแผ่นดิน” ขึ้นหลายกลุ่ม เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาสูญสลายไปแล้ว ทำให้ผู้นำท้องถิ่นตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร เวลานั้นมีเจ้าพิมาย เจ้าพระพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก)

เจ้าพิมาย “เป็นเจ้าแผ่นดิน” อยู่ได้ไม่นานอีกเช่นกัน เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีประกาศที่จะรวบรวมหัวเมืองทั้งหลายให้กลับมาอยู่ในปกครองเช่นเดียวกับเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงถึงเวลาที่กรมหมื่นเทพพิพิธต้องเผชิญหน้ากับ “ศึกใหญ่” ของจริง คือกองทัพพระเจ้าตาก

เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวศึกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพขึ้นมาตี จึงให้จัดแต่งนายทัพ นายกอง ออกไปรับศึกกรุงธนบุรีที่นอกเมืองนครราชสีมาเป็น 2 ทัพใหญ่ ผลปรากฏว่า กองทัพเจ้าพิมายถูกตีแตกพ่ายไปทั้งหมด เจ้าพิมายถึงคราวต้อง “หนี” อีกครั้ง โดยทรงตั้งใจจะมุ่งหน้าสู่กรุงเวียงจันทน์ แต่ก็ถูกจับได้ระหว่างทาง และนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี

“จึงให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามาหน้าพระที่นั่ง และกรมหมื่นเทพพิพิธถือตัวอยู่มิได้ถวายบังคม จึงดำรัสว่าตัวเจ้าหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ใดก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั้น ครั้นจะเลี้ยงเข้าไว้ก็จะหาคนที่หลงเชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียด้วยอีก เจ้าอย่าอยู่เลย จงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย แล้วดำรัสสั่งให้เอาตัวกรมหมื่นเทพพิพิธไปประหารชีวิตเสีย” [14]

เป็นอันปิดบัญชีชีวิตนักการเมือง นักปฏิวัติตัวจริง ในประวัติศาสตร์อยุธยา

อันที่จริงมีอยู่หลายครั้ง หลายจังหวะ ที่กรมหมื่นเทพพิพิธจะทรงถืออุเบกขา ไม่ยุ่งเสียก็ได้ ทำให้ไม่ต้องเสี่ยงกับราชภัย แต่จะด้วยทรงมีจิตใจฝักใฝ่ในทางการเมือง หรือทรงมีความทะเยอทะยานอยู่ไม่เสื่อม จึงทำให้ต้องมีจุดจบอย่างที่คาดเดาได้ไม่ยาก

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ ตัวละครสำคัญในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับพระราชบัลลังก์และพระราชอำนาจในทางใดทางหนึ่ง ล้วนแล้วแต่ “ไม่ตายดี”

เริ่มจาก เจ้าฟ้ากุ้ง “วังหน้า” คนแรกในแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ถูกประหารด้วยข้อหาคบชู้กับฝ่ายใน “เจ้าสามกรม” กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพภักดี ถูกประหารด้วยข้อหากบฏ พระเจ้าเอกทัศทรงอดอาหารจนสวรรคตหลังจากหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวกรุงแตก พระเจ้าอุทุมพรสิ้นพระชนม์ในแดนศัตรูในฐานะเชลยสงคราม และกรมหมื่นเทพพิพิธถูกประหารชีวิตโดยพระเจ้าตาก ด้วยข้อหาเป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวาย

ปรากฏการณ์นี้ สอดคล้องกับคำของกรมหมื่นเสพภักดี เมื่อก่อนจะถูกประหารชีวิตพอดี “ธรรมดาเกิดมาในมหาประยูรเศวตฉัตรดังนี้ ใครจะได้ตายดีอีกสักกี่คน”

 


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 215.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 241.

[3] คำให้การหลวงประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง, (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยฯ, 2534), น. 60.

[4] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 246.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 247.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 248.

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

[8] เรื่องเดียวกัน, น. 249.

[9] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 8 จดหมายเหตุโหร, พระนคร : คุรุสภา, 2507), น, 115.

[10] พระมหาสมเสียม แสนขัติ, สยามวงศ์ในลังกา, (ลำพูน : ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุพรหมยานเถร (ครูบาพรหมา พรหมจกโก), 2531), น. 86, อ้างถึงเอกสารจอนร์ แมนนิวสคิป พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโคลัมโบ และ สาสนตีรณวัณณนา ของ ซี โอ โคดะกุมพุเร

[11] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, น. 286.

[12] ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2522), น. 190.

[13] เรื่องเดียวกัน, น. 320.

[14] เรื่องเดียวกัน, น. 330.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เปิดชีวิต กรมหมื่นเทพพิพิธ นักการเมือง นักปฏิวัติ ตัวจริง ไม่ชนะ ไม่ตาย ไม่เลิก!” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2564