ศึกพระสงฆ์ในสยาม สังฆเภทคณะสงฆ์ลังกา ป่าแดง vs ป่ามะม่วง-สวนดอก สู่การสังคายนาพระไตรปิฎก

ภาพพระสงฆ์ในจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร

วิกฤตการณ์ทางสังคมในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางความคิดศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเบี่ยงเบนไปตามกระแสสังคมอยู่เสมอ

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจนทำให้มีผู้กล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคเสื่อมของจริยธรรมและวัฒนธรรมชาวพุทธ ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนมักจะชอบเปรียบเทียบปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันกับอดีตอยู่เสมอ และพบว่าวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางพุทธศาสนามิได้เพิ่งจะเกิดในเมืองไทย แต่ได้เคยมีความขัดแย้งครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้งหลายครา

ความขัดแย้งของพระสงฆ์ครั้งใหญ่และถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของไทยคือ กรณีสังฆเภทของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 1967-2060 ความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มต้นจากประเด็นทางความคิดแล้วขยายวงกว้างไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคม

ผู้เขียนได้ศึกษาวิเคราะห์เบื้องหน้าเบื้องหลังของความขัดแย้งครั้งนี้ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้เราท่านทั้งหลายลองหันกลับไปมองบทเรียนจากอดีตเพื่อจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในสังคมไทยด้วยสติและปัญญาอย่างแท้จริง

พุทธศาสนากับความสัมพันธ์สามรัฐ

ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ชนชาติไทยเริ่มมีอำนาจในสุวรรณภูมิ รัฐไทยทั้งสามอันได้แก่ สุโขทัย ล้านนา และอยุธยา กลายเป็นศูนย์อำนาจใหม่ของชนชาติไทยแทนที่เมืองพระนครของเขมร ทางทิศตะวันออก และอาณาจักรมอญ-พุกาม ทางทิศตะวันตก ในช่วงเวลานั้นเจ้าครองรัฐทั้งสามต่างพยายามที่จะสร้างศูนย์กลางศาสนาขึ้นในรัฐของตน โดยส่งเสริมให้พระสงฆ์ท้องถิ่นเดินทางออกไปศึกษาพระธรรมวินัยตามหัวเมืองซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เพื่อนำพุทธศาสนาตามแนวทางที่ (คิดว่า) ถูกต้องเข้ามาประดิษฐานในรัฐของตน

จุลศักราช 693 (พ.ศ. 1874) มีพระสงฆ์ชาวรามัญกลุ่มหนึ่งไปบวชเรียนยังสำนักของพระมหากัสสปเถระ ณ ลังกาทวีป หนึ่งในจำนวนนั้นคือ พระมหาอนุมัติ ซึ่งต่อมาท่านได้กลับมาจำพรรษาและเผยแพร่แนวคำสอนตามแบบพุทธศาสนาของลังกาที่เมืองพัน (ตั้งอยู่ใกล้เมืองสะเทิมของมอญ)

พระมหาอนุมัติเป็นผู้มีศีลาจารวัตรอันเคร่งครัดจนได้รับยกย่องจากกษัตริย์มอญให้เป็น พระเถระอุทุมพรบุบผามหาสวามี ชื่อเสียงของท่านแพร่กระจายไปในหมู่พระสงฆ์รุ่นใหม่ตามแว่นแคว้นต่าง ๆ ต่อมา พระอโนมทัสสี และ พระสุมนะ พระสงฆ์ชาวสุโขทัยก็ได้เดินทางไปบวชเรียนยังสำนักนี้ แล้วกลับมาเผยแพร่พุทธศาสนาตามแนวทางของอุทุมพรมหาสวามีในสุโขทัย ตำนานมูลศาสนากล่าวว่าพระสงฆ์ทั้งสององค์เดินทางไปศึกษายังเมืองพันถึง 2 ครั้ง ในครั้งหลังได้นำพระภิกษุไปด้วยกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้อุปสมบทใหม่ในสำนักของอุทุมพรมหาสวามี

เมื่อพระสงฆ์กลุ่มนี้เดินทางกลับถึงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทยก็ทรงสถาปนาวัดป่ามะม่วงให้เป็นสถานที่จำพรรษา พระสงฆ์กลุ่มนี้เรียกว่า “พระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่า” หรือ “ฝ่ายเมืองพัน”

พระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่าได้แบ่งสายจาริกไปเผยแพร่คำสอนในเมืองต่าง ๆ อันได้แก่ ศรีสัชนาลัย สองแคว น่าน ชวา (แถบเมืองหลวงพระบาง) และอยุธยา จนถึง พ.ศ. 1912 พระเจ้ากือนาจึงทรงอาราธนาพระสุมนะขึ้นไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่หริภุญชัยและเชียงใหม่ โดยโปรดฯ ให้สร้างวัดสวนดอกเป็นสถานที่จำพรรษาของพระสุมนะ พระอารามแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางของพระสงฆ์เถรวาทลังกาวงศ์เก่า (ฝ่ายเมืองพัน) ที่เรียกว่า “คณะสวนดอก”

ตำนานมูลศาสนาฉบับวัดสวนดอก เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการจาริกมายังล้านนาของพระสุมนะอย่างละเอียด ส่วนตำนานมูลศาสนาของฝ่ายป่าแดงและชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งรจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ ผู้เป็นพระสงฆ์ฝ่ายป่าแดงหรือฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ ก็กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก ทั้งยังได้ รับการบันทึกอยู่ในจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูนอีกด้วย

คณะสงฆ์ภายใต้การนำของพระอโนมทัสสีและพระสุมนะ ภิกษุชาวสุโขทัย เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนายังสุโขทัยตรงกับปลายรัชสมัยพระมหาธรรมราชาเลอไทย ถึงต้นรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นช่วงที่สุโขทัยกำลังพยายามรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง หลังจากที่ถูกอำนาจของอยุธยาครอบงำอยู่หลายปี

จารึกเขาสุมณกูฏ กล่าวถึงพระเจ้าลิไทยทรงยกกองทัพจากศรีสัชนาลัยมาตีเมืองต่าง ๆ แล้วเสด็จไปครองสองแควในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1902-1912 ปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์กับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อ พ.ศ. 1912 หลังจากนั้นอีก 2 ปี สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ก็เสด็จขึ้นไปเอาเมืองเหนือใน พ.ศ. 1914 ชินกาลมาลีปกรณ์อธิบายการเสด็จขึ้นมาเมืองเหนือของพระเจ้าวัตติเดช (ขุนหลวงพะงั่ว) ว่าเพื่อแย่งชิงพระพุทธสิหิงค์ [2] ขณะที่พระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ กล่าวถึงการยกทัพขึ้นมาตีเมืองเหนือหลายครั้ง [3]

จารึกวัดสรศักดิ์ (พ.ศ. 1916) อธิบายถึงอิทธิพลของกษัตริย์อยุธยาที่ทรงมีต่อสุโขทัย ถึงกับออกญาธรรมราชาเจ้าครองสุโขทัย ต้องขอพระราชทานที่ดินจากพระบรมราชาศรีมหาจักรพรรดิราชเพื่อสร้างวัดแห่งนี้ [4]

ความพยายามของอยุธยาที่จะแผ่อำนาจขึ้นไปครอบครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นผลให้สุโขทัยต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากรัฐใกล้เคียงอันได้แก่ ล้านนา การที่พญาลิไทยทรงส่งพระสุมนะและพระสารีริกธาตุอันเป็นสิ่งจึงหวงแหนของชาวพุทธไปถวายพระเจ้ากือนาแห่งนครเชียงใหม่ น่าจะมีสาเหตุมาจากทรงต้องการแสวงหาพันธมิตรเพื่อช่วยต้านทานอำนาจของอยุธยา เหตุผลดังกล่าวสอดรับกับกรณีที่เจ้ามหาพรหมจากเชียงรายผู้ทรงได้รับการสนับสนุนกำลังทหารจากพระเจ้ากือนาแห่งเชียงใหม่ ทรงยกทัพลงมารบกับขุนหลวงพะงั่วแห่งอยุธยา [5]

การเติบโตของคณะสงฆ์สายพระสุมนะในล้านนาเป็นความพยายามสร้างสัมพันธ์ด้านศาสนาซึ่งแฝงนัยทางการเมือง

กรณีน่าสนใจปรากฏอยู่ในตำนานมูลศาสนา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงพระเจ้ากือนาทรงยกเมืองตากซึ่งขณะนั้นเป็นของล้านนาให้กับทิตใส ญาติชาวสุโขทัยของพระสุมนะ เพื่อแลกกับการประดิษฐานพระสารีริกธาตุไว้ที่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ [6] การส่งสมณทูตของสุโขทัยไปยังน่านและชวา (หลวงพระบาง) ก็แสดงถึงความสัมพันธ์ของรัฐทางเหนือในฐานะพันธมิตรทางทหารที่มีเขตแดนประชิดกัน [7]

จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด และจารึกคําปู่สบถ ได้เอ่ยพระนามของพญาผากองผู้ปู่เจ้าครองนครน่านว่ามีความ สัมพันธ์กับพระมหาธรรมราชาผู้หลาน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ ก็กล่าวว่าท้าวผากองได้ส่งกำลังมาช่วยสุโขทัยต่อสู้กับอยุธยาใน พ.ศ. 1919 [8] ความจำเป็นทางการเมืองจึงน่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเผยแพร่พุทธศาสนาในสุโขทัยและรัฐข้างเคียง ทั้งยังส่งผลให้พระสงฆ์จากสุโขทัยได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทสำคัญในรัฐทางภาคเหนือด้วย

ความพยายามขยายอำนาจของอยุธยาขึ้นมายังสุโขทัยเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 1962 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระอินทราชาหรือพระนครินทราธิราช ซึ่งในพงศาวดารกล่าวว่าเสด็จมาระงับเหตุจลาจลในเมืองเหนือ จากหลักฐานในจารึกวัดเขากบ พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ และพงศาวดารฉบับปลีกของนางอุบลศรี อรรถพันธุ์ [10] กล่าวถึงพระยาเชลียง (เจ้าเมืองสวรรคโลก) พระยารามราช (เจ้าเมืองสุโขทัย) พระยาแสนสอยดาว (เจ้าเมืองกำแพงเพชร) และพระมหาธรรมราชาธิราช (ไสยฦาไทย) ผู้ครองสองแคว ได้ร่วมในพระราชพิธีโกษรกรรม (โสกันต์) พระราเมศวรพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แสดงถึงอำนาจของอยุธยาที่มีต่อหัวเมืองฝ่ายเหนือ

ระหว่างที่สุโขทัยกำลังประสบมรสุมทางการเมืองนี้เอง มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งซึ่งไปบวชเรียนใหม่ในศรีลังกาได้กลับมาเผยแพร่พุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ในภูมิภาคนี้ โดยเริ่มที่อยุธยาก่อน [11] แล้วแพร่หลายไปยังเมืองต่าง ๆ ได้แก่ ละโว้ พระบาง สองแคว กำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลก และเชียงใหม่

การเผยแพร่พุทธศาสนาแนวใหม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่ากับฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ ทั้งยังมีการดึงเอาเจ้าครองนครต่าง ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย โดยได้เกิดการแบ่งฝ่ายระหว่างกลุ่มเจ้าเมืองที่สนับสนุนพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่ากับฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ ความขัดแย้งสืบเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 1981 พระราเมศวรพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ก็เสด็จขึ้นมาครองสองแคว พระราเมศวรต่อมาก็คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้ทรงรวมเมืองเหนือไว้ในพระราชอำนาจได้อย่างแท้จริง

พระสงฆ์สยามในอดีต

ปฐมเหตุแห่งความขัดแย้ง

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งของพระสงฆ์ในรัฐไทยทั้งสาม เริ่มขึ้นเมื่อจุลศักราช 786 (พ.ศ. 1967) ในครั้งนั้นมีพระสงฆ์ชาวเมืองเชียงใหม่ 25 รูป พร้อมด้วยพระสงฆ์แห่งแคว้นกัมโพช 8 รูป และพระสงฆ์ชาวรามัญอีก 6 รูป ได้ร่วมเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนายังลังกาทวีป

ต่อมาพระสงฆ์จำนวนหนึ่งได้เดินทางกลับเข้ามาเผยแพร่แนวความคิดของพุทธศาสนาแบบลังกาที่เรียกว่า “ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่” ตามเมืองต่าง ๆ โดยเริ่มจากอยุธยาเรื่อยไปจนถึงเมืองในรัฐสุโขทัยและล้านนา

การเผยแพร่พระพุทธศาสนาแนวใหม่อยู่ภายใต้การนำของพระเถระ 2 องค์ คือ พระธัมมคัมภีร์ และ พระมหาเมธังกร ซึ่งเดินทางจาริกไปบวชผู้คนตามเมืองรายทางจากเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างขึ้นสู่ตอนบน และไปตั้งเป็นคณะป่าแดงที่สุโขทัยและเชียงใหม่

บันทึกทางศาสนาของทั้งสองฝ่ายให้ข้อมูลการเผยแพร่พุทธศาสนาครั้งนี้แตกต่างกัน ตำนานมูลศาสนา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นหลักฐานของฝ่ายลังกาวงศ์เก่ากล่าวว่า

“เขาเจ้าเอาลัทธิแต่อโยธยามานั้นแล ในกาลนั้น บรมราชได้เป็นพระยาอโยธยานั้น เขาเจ้าทั้งหลาย จักใคร่ทำลายศาสนาอันมหาสุมนะเจ้ามาบวชกุลบุตรทั้งหลาย อันจะใครให้ถือลัทธิเป็นดังเขานั้นแล” [12]

ในตำนานมูลศาสนาซึ่งเป็นของคณะสวนดอก กล่าวถึงการเข้ามาของพระสงฆ์กลุ่มนี้ว่าได้ก่อให้เกิดความแตกแยกของคณะสงฆ์ในเมืองที่ผ่านไป ขณะที่บันทึกของฝ่ายป่าแดงกลับให้ภาพอีกมุมหนึ่งว่าพระสงฆ์เหล่านี้ได้ “นำเอาหลักการแห่งศาสนามาปลูกฝังในประเทศของเรา” [13]

ความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่าและฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ถือเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่สำหรับวงการคณะสงฆ์ เพราะไม่ใช่ความขัดแย้งทางความคิดเท่านั้น แต่ได้ลุกลามไปสู่การปะทะด้วยกำลัง ถึงขั้นพระสงฆ์แบ่งฝ่ายทะเลาะวิวาททุบตีกัน ทั้งยังมีการดึงเอาชนชั้นปกครองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวอาจวิเคราะห์ได้เป็น 4 ประการ คือ ความขัดแย้งจากแนวความคิดและหลักปฏิบัติ ความขัดแย้งจากประเด็นทางการเมือง ความขัดแย้งจากประเด็นทางเศรษฐกิจสังคม และความขัดแย้งจากปัจจัยส่วนบุคคล

ความขัดแย้งจากแนวความคิดและหลักปฏิบัติ

ความขัดแย้งในข้อนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นความขัดแย้งที่เกิดจากแนวความคิดที่แตกต่างกันของ 2 สำนัก ซึ่งมีระยะเวลาของการเข้ามาตั้งสํานักเผยแพร่ต่างกันถึงกว่า 50 ปี คือจากการเผยแพร่ของฝ่ายลังกาวงศ์เก่า เมื่อ พ.ศ. 1912 จนถึง พ.ศ. 1967 เมื่อฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในรัฐไทย ความขัดแย้งทางแนวความคิดนี้คงเป็นผลมาจากพัฒนาการทางความคิดของพุทธศาสนาในลังกา และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธศาสนาในศรีลังกามีสำนักใหญ่ถึง 3 สำนัก ประกอบด้วย มหาวิหาร อภัยคีรีวิหาร และ เชตวันวิหาร ทั้งนี้ยังไม่รวมกลุ่มพระสงฆ์ที่แตกแยกออกไปอีกหลายกลุ่ม พระสงฆ์ที่เข้าไปศึกษายังศรีลังกาแม้จะเป็นคณะเดียวกันก็ยังเกิดความแตกแยกกันเอง จารึกกัลยาณีสีมากล่าวถึงพระสงฆ์ลังกาวงศ์จากสำนัก มหาวิหารที่เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในเมืองมอญ ต่อมาก็เกิดความขัดแย้งกันจนแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ ถึง 5 นิกาย [14]

ความแตกต่างทางความคิดของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์เก่าและใหม่สะท้อนให้เห็นจากข้อกล่าวหาของพระสงฆ์ฝ่ายป่าแดงที่มีต่อฝ่ายสวนดอก โดยยกเอาคำอ้างอิงจากพระวินัยปิฎก เช่น การอ้างพระพวกเก่าสะสมเงินทองเป็นความผิด ความไม่เหมาะสมในการถือไม้เท้าอย่างขอทานออกบิณฑบาต การถือครองที่ดิน หรือวิธีการใช้ภาษาสวดที่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับของลังกา ซึ่งในข้อนี้ พระใหม่มีความแม่นยำในเรื่องพระธรรมวินัยมาก เพราะเพิ่งผ่านการศึกษามาจากลังกาโดยตรง ขณะที่พระเก่ามีการสืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน โอกาสที่จะผิดเพี้ยนจึงมีความเป็นไปได้

แม้พระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่าจะแก้ข้อกล่าวหาได้ในบางเรื่อง แต่ก็อธิบายไม่กระจ่างชัดนัก อย่างเช่นการสวดเสียงเพี้ยนของพระสงฆ์ฝ่ายเก่ากลับอ้างว่าเป็นเพราะสวดปิดปาก [15] หรือการรับทรัพย์สินของคฤหัสถ์ก็กล่าวว่าอาบัติ แต่แค่ปาจิตตีย์ไม่ถึงขั้นปาราชิก [16] ความขัดแย้งทางความคิดและวัตรปฏิบัติทำให้พระสงฆ์สองกลุ่มไม่ยอมร่วมสังฆกรรม ทั้งยังตั้งข้อรังเกียจและถึงกับแยกออกเป็นสองสำนักอย่างเด่นชัด

พระสงฆ์ถือตาลปัตร ภาพพิมพ์ปลายศตวรรษที่ 17 ภาพจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส

ความขัดแย้งจากประเด็นทางการเมือง

วิกฤตทางการเมืองของรัฐต่าง ๆ แฝงอยู่ในบริบทของความขัดแย้งระหว่างคณะสงฆ์ ใน พ.ศ. 1967-2060 เมื่อพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในพระนครศรีอยุธยา

การที่พระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่เลือกเผยแพร่แนวคำสอนในอยุธยาก่อนที่อื่น ถูกอธิบายไว้ในชินกาลมาลี ปกรณ์ว่าพระสงฆ์กลุ่มนี้ได้ประกอบอุปสมบทกรรมให้กับ “พระมหาเถระสีลวิสุทธิ” ผู้เป็นพระอาจารย์ในพระเทวีของบรมกษัตริย์อโยชชาธิบดี [17] หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) พระสงฆ์ฝ่ายนี้อาจได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์อยุธยา และได้ใช้เวลาอยู่ที่อยุธยาถึง 5 พรรษา [18]

การเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ใหม่ในอยุธยาก่อนรัฐอื่น น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่พระสงฆ์กลุ่มนี้ เห็นว่าอยุธยาเป็นอาณาจักรใหญ่ มีความเข้มแข็ง ทั้งยังมีอิทธิพลมากในเวลานั้น หากพุทธศาสนานิกายนี้ตั้งมั่นคงในอยุธยาได้แล้ว ก็น่าจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอจะสู้อิทธิพลของพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่าในสุโขทัยและล้านนาได้ แม้ชินกาลมาลีปกรณ์และมูลศาสนาฝ่ายป่าแดง ซึ่งเป็นเอกสารของฝ่ายพระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่จะกล่าวว่าพระสงฆ์กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนในอยุธยา และเมืองในขอบเขตแห่งอำนาจของอยุธยา แต่ตำนานมูลศาสนา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ และฉบับวัดสวนดอกกลับกล่าวว่าพระสงฆ์กลุ่มนี้ไม่ได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์อยุธยา ทั้งยังถูกขับไล่ออกจากพระนคร เพราะไปทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่พระสงฆ์ ต่อมายังถูกปฏิเสธไม่ให้เผยแพร่ศาสนาในละโว้ และพระบาง (นครสวรรค์) โดยอ้างว่าเป็นเมืองในอำนาจของอยุธยา [19]

เมื่อคณะสงฆ์กลุ่มนี้เดินทางมาถึงเมืองต่าง ๆ ของล้านนา ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่พระสงฆ์และเจ้าครองนคร เจ้าเมืองหลายแห่งไม่อนุญาตให้พระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่จัดอุปสมบทในเมืองของตน เนื่องจากมีข้อวัตรต่างจากพระสงฆ์กลุ่มเดิม จึงมีการจัดผูกเรือกลางแม่น้ำเพื่อใช้โต้ตอบปัญหาระหว่างสงฆ์สอง ฝ่าย [20] และเมื่อพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของฝ่ายใดแพ้ก็มักเกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งถึงขนาดใช้กำลังในหมู่พระสงฆ์หนุ่ม ๆ

มูลศาสนา ฉบับวัดสวนดอก เชียงใหม่ กล่าวอย่างละเอียดว่าสองแควและสุโขทัยยอมรับพระสงฆ์กลุ่มใหม่ แต่กำแพงเพชรและเชลียงไม่ยอมให้บวช ต่อมาเจ้าสองแควก็เปลี่ยนพระทัยไม่สนับสนุนพระใหม่ [21] พระสงฆ์กลุ่มนี้ขึ้นไปเผยแพร่พุทธศาสนายังเชียงใหม่ และไม่ได้รับความสนับสนุนจากพระเจ้าสามฝั่งแกน ทั้งยังถูกขับไล่ให้ไปตั้งคณะป่าแดงที่เชียงราย พะเยา และเชียงตุง ความไม่พอใจของพระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่ที่มีต่อพระเจ้าสามฝั่งแกนสะท้อนอยู่ในบันทึกของฝ่ายป่าแดงคือ ชินกาลมาลีปกรณ์ ดังนี้

“เจ้าดิสกุมาร (พระเจ้าสามฝั่งแกน) มีศรัทธาในศาสนาน้อยนัก ทรงเลื่อมใสแต่สิ่งภายนอกศาสนา ไม่คบหาสัตตบุรุษ บวงสรวงแต่ภูตผีปีศาจ สวน ต้นไม้ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขา และป่า พระองค์เซ่นไหว้บวงสรวงด้วยโคกระบือ เป็นต้น ประชาชนอาศัยอยู่ในพระราชอาณาจักรของพระองค์ มีชื่อเสียงว่าเป็นยักขทาส” [22]

การขึ้นครองราชย์ของเจ้าพิลก พระราชโอรสของพระเจ้าสามฝั่งแกน ซึ่งต่อมาทรงพระนามว่า พระเจ้าติโลกราช ไม่ได้เกิดตามภาวะแห่งการสืบราชบัลลังก์โดยปกติ แต่เป็นความพยายามก่อการของพระองค์ภายใต้การสนับสนุนของขุนนาง [23] และการสนับสนุนของพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ [24]

การสนับสนุนให้เจ้าพิลกครองราชย์ทำให้สถานะของพระสงฆ์กลุ่มนี้ในล้านนาเปลี่ยนจากการหลบหนีไปอยู่ชนบทในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน กลับมามีบทบาทภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราช พระองค์เสด็จออกผนวชในสำนักป่าแดงเมื่อ พ.ศ. 1991 ต่อมาก็ทรงสร้างวัดมหาโพธารามถวายให้พระสงฆ์กลุ่มนี้จำพรรษา และยังทรงจัดสังคายนาพระไตรปิฎกเพื่อสร้างระเบียบให้กับพระสงฆ์ในราชอาณาจักร

การเสด็จออกผนวชระหว่างครองราชย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาก็เป็นกรณีที่เกี่ยวพันกับนโยบายศาสนาปนการเมืองที่เคยใช้มาแล้วในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย และโดยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงใช้สถานะความเป็นภิกษุขอบิณฑบาตเมืองเชลียงจากพระเจ้าติโลกราช แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จ [25] จารึกพระพุทธบาทจำลองที่วัดจุฬามณีกล่าวว่าศักราช 827 (พ.ศ. 2008) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงผนวช ณ วัดจุฬามณี เมืองสองแคว พร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง [26]

การเสด็จออกผนวชของมหากษัตริย์ผู้ทรงพระราชอำนาจแห่ง 2 อาณาจักรคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา อาจแสดงถึงความพยายามใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองของล้านนาและอยุธยาเพื่อควบคุมสุโขทัย

ความขัดแย้งจากประเด็นทางเศรษฐกิจสังคม

ความขัดแย้งจากประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะไม่ได้มีกล่าวถึงโดยตรงในเอกสาร และดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับสถาบันสงฆ์ลังกาวงศ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจทั่วไปว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรเคร่งครัด ใช้ชีวิตสันโดษ บำเพ็ญภาวนาตามแบบพระป่า ดังที่มีคำกล่าวถึงวิถีชีวิตของพระสงฆ์กลุ่มนี้ว่า

“กฉันทุกวันดังกั้นแล มักจำศีลภาวนาอยู่ กลางป่ากลางดงหลงอดฉันใบพง… นลูกหมากรากไม้ มีวัตรปฏิบัติดูเยืองสิงหล ทุกอัน มักถเมิรเทศแสวงหาปริชญาธุ (ดงค์)” [27]

แต่เมื่อพระสงฆ์กลุ่มนี้ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับทางโลกมากขึ้น วิถีทางการประกอบสมณกิจก็เปลี่ยนไป ในบันทึกทางศาสนาอ้างถึงสาเหตุประการหนึ่งที่พระสงฆ์ลังกาวงศ์ใหม่ใช้กล่าวหาพระสงฆ์ลังกาวงศ์เก่าว่าไม่เป็นพระ เพราะมีการถือครองที่ดินและทรัพย์สิน มูลศาสนา ฉบับป่าแดงกล่าวว่า “ชีหมู่ใดมีวัถตุไร่นาพร้าวตาล ชีหมู่นั้นบ่ใช่ชีแล้วอั้น” [28]

จารึกวัดสรศักดิ์ (พ.ศ. 1960) ให้รายละเอียดการกัลปนาถวายที่ดิน ข้าพระ และทรัพย์สินเป็นจำนวนมากสำหรับวัด ข้อความหนึ่งที่น่าสนใจคือ การกำหนดให้สามเณรได้ผลประโยชน์เป็นข้าว 5 สัด ส่วนพระสงฆ์ได้รับผลประโยชน์เป็นข้าวสิบสัด [29] (1 สัด เท่ากับ 25 ทะนาน มีอัตราเท่ากับ 20 ลิตร) ยิ่งเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ระดับพระมหาเถระก็อาจขอพระราชทานที่ดิน ทรัพย์สิน และกำลังคน (ข้าพระ) จากพระมหากษัตริย์ไว้กับพระอารามได้มาก พระสงฆ์จึงเป็นสถาบันที่มีความสำคัญในระบบการผลิตขนาดใหญ่ (ที่ดิน และแรงงาน) ที่ผูกพันชนชั้นปกครองและข้าไทไว้ได้ทั้งในเชิงความคิด (ทางศาสนา) และโดยการยอมรับจากฝ่ายปกครอง จากระบบที่เรียกว่า “กัลปนา” [30]

แม้ปัจจัยทางเศรษฐกิจจะอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของกษัตริย์ แต่อิทธิพลและบทบาทของพระสงฆ์ลังกาวงศ์เก่าก็ช่วยให้สถานะทางเศรษฐกิจสังคมของพระสงฆ์สูงขึ้น จึงมีผู้คนเข้ามาบวชในสำนักลังกาวงศ์เก่าจำนวนมาก จนถึงกับพระมหากษัตริย์บางพระองค์ต้องทรงจัดให้มีการสอบพระสงฆ์เพื่อสึกออกมาบ้าง หรือให้มีการบวชพระสงฆ์กันใหม่หลายครั้งหลายคราว [31]

การสนับสนุนพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ที่ไม่มีแนวความคิดถือครองทรัพย์สินและที่ดิน โดยให้เป็นประธานในการสังคายนาพระไตรปิฎก หรืออาจกล่าวว่าคือการสังคีติพระวินัยอันเป็นข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ล้านนา อาจเกี่ยวข้องกับความพยายามของพระเจ้าติโลกราชเพื่อทรงลดบทบาททางสังคมเศรษฐกิจของพระสงฆ์ลังกาวงศ์เก่า ซึ่งพระราโชบายนี้เคยถูกใช้มาแล้วในรัชสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ซึ่งทรงยึดที่ดินไร่นาที่มีผู้ถวายเป็นพุทธบูชาเสีย แล้วให้โอนมาเป็นสมบัติของมหาวิหารนอกศาสนาซึ่งทรงสร้างไว้ [32]

จิตรกรรมภาพพระภิกษุในคณะสงฆ์ธรรมยุตและคณะสงฆ์มอญกำลังกระทำอุปสมบทบนแพในนทีสีมา (อุทุกกุปเขปปสีมา) ประมาณรัชกาลที่ 3 หอไตรวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

ความขัดแย้งจากปัจจัยส่วนบุคคล

ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาในเบื้องต้น เป็นปัจจัยที่พิจารณาในเชิงภาพกว้าง ๆ ของปรากฏการณ์แห่งความขัดแย้ง แต่ในหัวข้อนี้ได้พิจารณาถึงลักษณะเฉพาะบุคคลที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งในบันทึกทางศาสนามุ่งประเด็นไปที่บทบาทของพระญาณคัมภีร์เถระหรือพระธัมมคัมภีร์ ผู้นำพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ มูล ศาสนา ฉบับวัดเมืองมาลเชียงใหม่กล่าวว่าท่านเป็นลูกศิษย์ของพระมหาธัมมกิตติเจ้าอาวาสวัดนันทาราม ในเชียงใหม่ ต่อมามีปัญหากับครูจึงได้ไปอุปสมบทใหม่ในลังกาทวีป [33]

พระธัมมคัมภีร์ไปอุปสมบทใหม่ในคณะสงฆ์สิงหล แต่ท่านจำพรรษาในลังกาเพียง 4 เดือน ก็ต้องเดินทางกลับเนื่องจากเกิด ทพภิกขภัยในประเทศนั้น ท่านใช้เวลาศึกษาในลังกาเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ ต่างจากพระสุมนะและพระอโนมทัสสี เจ้าคณะลังกาวงศ์เก่าซึ่งบวชเรียนอยู่ในเมืองพันถึง 5 พรรษา เมื่อกลับมายังสุโขทัยได้ 5 พรรษา ยังต้องไปรับนิสสัยมุกต์ที่เมืองพัน [34] เพื่อให้มีสังฆานุมัติที่จะทำอุปสมบทกรรมได้

การที่พระธัมมคัมภีร์จำพรรษาที่ลังกาเพียง 4 เดือน ทำให้ท่านไม่สามารถประกอบอุปสมบทกรรมได้เนื่องจากมีพรรษาไม่พอ จึงต้องอาราธนาพระมหาวิกกมพาหุ และ พระอุตตมปัญญา พระภิกษุสิงหลมาเป็นพระอุปัชฌายะ ท่านจำพรรษาอยู่ในเรือที่อยุธยาต่ออีก 5 พรรษา จึงมีพรรษาครบ และได้เริ่มจาริกเพื่อจัดอุปสมบทผู้คนตามเมืองรายทาง

ระหว่างเดินทางเพื่อประกอบอุปสมบทกรรมพระสงฆ์ตามเมืองต่าง ๆ พระธัมมคัมภีร์ได้รับการต่อต้านจากพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่า และเจ้าเมืองต่าง ๆ มากกว่าพระสงฆ์องค์อื่นอย่างพระมหาเมธังกร ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่สุโขทัย บันทึกฝ่ายสวนดอกกล่าวโจมตีพระธัมมคัมภีร์อย่างรุนแรง บางฉบับถึงกับเรียกท่านว่า “คัมภีร์ตนร้าย” [35]

ทั้งนี้เนื่องมาจากข้อกล่าวหาที่ท่านมีต่อพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่า ซึ่งเป็นกรณีที่รุนแรง จนท่านได้รับการโต้ตอบจากพระสงฆ์ลังกาวงศ์เก่าจำนวนมาก ลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่ประนีประนอม และยืนกรานในแนวความคิดของตน ทำให้บันทึกของฝ่ายป่าแดงยกย่องท่านในฐานะปรมาจารย์ทางพระพุทธศาสนา แต่ในทางตรงกันข้ามท่านกลับถูกกล่าวหาจากพระสงฆ์ฝ่ายสวนดอกว่าเป็นผู้กระทำสังฆเภท

อย่างไรก็ดีคำสอนเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติหลายประการของท่านทำให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่พระสงฆ์ และชนชั้นปกครอง อันเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนนำไปสู่การสังคายนาพระไตรปิฏกในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช

พระธัมมคัมภีร์ได้เผยแพร่แนวความคิดอย่างใหม่ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในระยะแรกจนทำให้ต้องลี้ภัยไปอยู่เมืองพะเยาและเชียงราย ต่อมาเมื่อพระเจ้าติโลกราชครองราชย์แล้วได้อาราธนาท่านมาเป็นพระอุปัชฌาจารย์จำพรรษาที่เชียงใหม่ พระธัมมคัมภีร์มีชีวิตอยู่สืบมาอีกหลายปี ท่านมรณภาพที่เมืองเชียงราย ในรัชสมัยพญายอดเชียงราย [36]

ผลของกรณีสังฆเภท

ความขัดแย้งของพระสงฆ์ในครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ประการแรกคือ เกิดการแตกแยกของพระสงฆ์ออกเป็น 2 คณะใหญ่ได้แก่ ฝ่ายลังกาวงศ์เก่า และฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ ฝ่ายลังกาวงศ์เก่าตั้งเป็นคณะป่ามะม่วงในสุโขทัย และคณะสวนดอกในเชียงใหม่ ฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่ตั้งเป็นคณะป่าแดงในสุโขทัยและเชียงใหม่

ความแตกแยกก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิด โดยมีการดึงเอาเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ เข้าไปเป็นส่วนร่วม ผู้นำสงฆ์ของแต่ละกลุ่มดำเนินความพยายามเผยแพร่แนวความคิดในหมู่ชนชั้นปกครองเพื่อสนับสนุนกลุ่มของตน อันเป็นผลให้ความขัดแย้งขยายวงออกไป

ประการที่สอง ความแตกแยกของพระสงฆ์ทำให้มีความพยายามที่จะรวบรวมคณะสงฆ์ให้เข้ามาอยู่ในระเบียบแบบแผนเดียวกันเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันสงฆ์ ผลของความขัดแย้งของคณะสงฆ์คงมีส่วนทำให้พระเจ้าติโลกราชทรงจัดสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อ จ.ศ. 879 (พ.ศ. 2060) [37] เพื่อแก้ไขระเบียบพระวินัยให้สงฆ์ถือปฏิบัติเป็นกรอบเดียวกัน

จารึกแผ่นหินหน้ามณฑปพระพุทธบาทวัดจุฬามณี กล่าวถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอยุธยาได้โปรดฯ ให้ข้าราชบริพารถึง 2,348 คน บวชตามเสด็จในพระสงฆ์ 4 คณะ เมื่อ จ.ศ. 827 (พ.ศ. 2008) [38] แสดงว่าคณะสงฆ์ในสมัยของพระองค์มีการแบ่งแยกออกเป็น 4 กลุ่ม การที่ทรงรวมคณะสงฆ์ 4 กลุ่มให้ มาบวชในพระราชพิธีนี้คงเป็นความพยายามของพระองค์ที่จะรวมคณะสงฆ์มิให้เกิดความแตกแยกเช่นที่เคยเป็นมา

ประการที่สาม ความขัดแย้งทำให้พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายพยายามสร้างศรัทธาในหมู่เจ้าครองนครและประชาชน พระสงฆ์ล้านนาทั้งฝ่ายลังกาวงศ์เก่าและใหม่ได้สร้างงานประพันธ์ทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โดยเฉพาะวรรณกรรมทางศาสนาได้ถูกรจนาขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวภายใต้สำนักคิดทั้งฝ่ายสวนดอก และฝ่ายป่าแดง

แม้ความขัดแย้งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายของพระสงฆ์ และอาจเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับปัญหาทางการเมือง แต่ก็ช่วยให้พระสงฆ์แต่ละฝ่ายหันมาให้ความสนใจในการศึกษาหลักธรรมมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากผลงานการแปล และการนิพนธ์ตำราทางพุทธศาสนาออกมาเป็นจำนวนมาก

กรณีสังฆเภทของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์เมื่อ พ.ศ. 1967-2060 มิได้มีสาเหตุมาจากความแตกต่างทางความคิด และวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์เก่าและใหม่เท่านั้น แต่ได้แฝงนัยทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจไว้ด้วย

ผลของความขัดแย้งแม้จะก่อให้เกิดการแตกแยกในหมู่พระสงฆ์ ผู้คนพลเมือง และชนชั้นปกครอง แต่ก็ช่วยให้เกิดพัฒนาการทางความคิดและการปฏิรูปพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่งของวงการพระพุทธศาสนา อันมีพระสงฆ์เป็นตัวจักรผลักดันให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ

ความเข้าใจบริบทที่แท้จริงของความขัดแย้งครั้งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ในอีกมิติหนึ่ง ทั้งยังจะเป็นบทเรียนสำหรับทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาในสังคมปัจจุบันด้วย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ศึกพระสงฆ์ในสยามประเทศ : สังฆเภทของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์” เขียนโดย จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2564