นิทาน “นายจิตร นายใจ” วรรณกรรมเสียดสี 3 พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 5

อุปสมบท รัชกาลที่ 5 นิทาน นายจิตร นายใจ วรรณกรรมเสียดสีสังคม พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ สมัย รัชกาลที่ 5
การอุปสมบทรัชกาลที่ 5 (ประทับซ้ายสุด)

วรรณกรรมเสียดสีสังคม มีมาทุกยุคทุกสมัย ในบางเรื่องผู้ประพันธ์จะใช้วิธีกล่าวเสียดสีบุคคลโดยตรง ไม่มีการอ้อมค้อมหรือใช้ตัวละครสมมุติ นั่นคือ นิทาน นายจิตร นายใจ วรรณกรรมเสียดสีสังคม ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผลงานของ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท

นิทาน นายจิตร นายใจ กล่าวเสียดสีสังคมในสมัยนั้นหลายประเด็น แต่ประเด็นวงการสงฆ์ เป็นเรื่องที่ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยมีระบุพระนามหรือนามผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน และเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่มีการใช้ตัวละครสมมุติ ผู้ที่ถูกวิจารณ์ก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) หรือท่านวัดโสมนัศ และพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือท่านสาศนโสภณ

มูลเหตุของเรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่ “นายจิตร” กับ “นายใจ” ตัวละครหลักของนิทานเรื่องนี้สนทนากันอยู่นั้น มีพระภิกษุรูปหนึ่งสวมถุงเท้าเหลือง พายเรือผ่านไป นายจิตรกับนายใจจึงเริ่มวิพากษ์วงการพระสงฆ์ไว้ดังนี้

“…เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ท่านทรงผนวชท่านไม่ได้ยอมดังนี้เลย, แต่ผิดอะไรจากข้อบังคับสิกขาบทสักหนิดสักน่อยก็ห้ามไม่ให้ลงอุโบสถสังฆกรรม, นี้กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านเปนใหญ่อยู่ในหมู่สงฆ์, ท่านก็ไม่คิดบัญญัติให้เปนแบบแผนลงให้เปนแน่, เปนแต่ชอบทอดพระเนตรดาวเดือนตวันไปอย่างเดียว,

ส่วนท่านวัดโสมนัศ รู้หลักแขงแรงในทางธรรม, แต่ไม่รู้จักสั่งสอนปลอบโยนให้คนเข้าใจให้ดี, เปนแต่ถึงเข้าก็จะให้นั่งพระกรรมถาน, สอนการก็เกินกว่าคนพึ่งจะเรียนรู้, เหมือนยังไม่เคยอ่าน ก ข, มาถึงก็ให้อ่านเกยทีเดียวใครจะไปรู้ ครั้นสงไสยถามไถ่ซักไซ้บ้างก็โกรธว่าล้อ,

ส่วนท่านสาสนโสภณ รู้หนังสือแปลแต่ไม่คิด…หนังสือสั่งสอนอธิบายให้คนเข้าใจ เปนแต่รู้ไว้คนเดียวเท่านั้น, คิด ๆ ดูก็หน้าเศร้าใจในสาศนา เปนวิชาอันดีแต่ไม่มีผู้ชี้ให้ถูก, เปนแต่สอนให้ฟังเทศน์มหาชาติจึ่งจะได้บุญ, เอาเข้าของไปให้พระกินจึ่งจะได้บุญ, ทีความถืออย่างไรเปนการดีนั้น, ไม่เหนมีใครจะคิดถือเลย, เทศน์มหาชาตินั้นเสียเงินเป็นอันมาก, เหมือนเอาพระมาร้องลคอนเล่น, ถ้าพระองค์ไหนเทศน์ทำนองดี ๆ, ว่ามัทรีฤาชูชกก็ชอบกัน, ติดกัณฑ์เทศน์มากขึ้นดั่งนี้ ๆ แล, ที่ทำให้สาศนาเสื่อมซุดลงทุกที…”

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ทรงเชี่ยวชาญในวิชาอักษรศาสตร์ ภาษาบาลี ภาษาขอมโบราณ

สำหรับสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) หรือท่านวัดโสมนัศ เป็นเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร เป็นผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมและเคร่งครัดในพระธรรมวินับ ส่วนพระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) หรือท่านสาศนโสภณ อยู่ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้รับการยกย่องว่าเชี่ยวชาญในหนังสือ ต่อมาภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2436

ด้วยความที่ นิทาน นายจิตร นายใจ ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ตรงไปตรงมา และระบุพระนามหรือนามผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ทำให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายรัชกาลที่ 5 ขอให้ทรงชำระความ

จนกระทั่งมีการตั้งกรรมการสอบสวน เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ก็รับสารภาพว่าเป็นผู้ประพันธ์ ขอลุกะโทษ ผลที่สุดคือ “…ชี้แจงปฤกษาโทษแล้วให้พระยาภาษกรวงษสาบาลชำระตัวเสีย คาดโทษเอาเปนผิดไว้ชั้นหนึ่ง ลางทีเห็นจะเข็ดหลาบได้จะใช้ต่อไป…”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิยะดา เหล่าสุนทร. (พฤศจิกายน 2556). นิทานเรื่อง นายจิตร นายใจ : นิทานเสียดสีสภาพสังคม และบ้านเมืองในรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่  35 : ฉบับที่ 1.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2564