“พระผู้ใหญ่” ที่ผู้นำประเทศ-นักการเมืองดัง นับถือศรัทธา มีรูปไหนบ้าง?

พระสงฆ์ ชาวบ้าน เทศนา
ภาพประกอบเนื้อหา - พระสงฆ์สยามในอดีต

พระสงฆ์ไทย มักเป็นกลางทางการเมือง ทว่าก็ไม่ได้ตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง เพราะพระสงฆ์มีการแนะนำ, ห้ามปราม, สนับสนุน ฯลฯ กันอยู่เสมอ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระสงฆ์ ที่มีชื่อเสียง จึงมีผู้นำของบ้านเมืองไปนมัสการ หรือบางเวลาพระท่านก็แวะมาเยี่ยมเยียนญาติโยม

สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระพนรัต วัดป่าแก้ว นำคณะสงฆ์เข้าไปถวายพระพรแสดงความยินดีที่พระองค์ทรงชนะศึกกลับมา ก่อนจะขอบิณฑบาตชีวิตทหารที่กำลังจะรับสั่งลงอาญา เนื่องจากตามเสด็จไปในกระบวนยุทธหัตถีไม่ทัน ว่า

การที่ทรงมีชัยชนะเหนือศัตรูครั้งนี้ เปรียบดั่งคราวที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เองที่ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ โดยไม่มีผู้ใดอยู่ด้วย แม้แต่พระปัญจวัคคีย์ก็หลบหนีไปก่อน ปล่อยให้ทรงผจญกับพญามารอยู่แต่พระองค์เดียว ถ้าตอนนั้นมีผู้ห้อมล้อมช่วยเหลือ พระบารมีก็จะไม่ไพศาลถึงปานนี้ ข้อนี้เปรียบได้กับมหาบพิตรที่ทรงมีชัยชนะพม่าได้ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงฟังแล้วก็มีพระทัยโสมนัส คลายความพิโรธ

ส่วนในยุคปัจจุบัน “นายกรัฐมนตรี” หลายคน ก็มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือโดยส่วนตัว หรือบางครั้งบางคราวพระผู้ใหญ่, พระดังในบ้านในเมือง นายกรัฐมนตรีก็ไปกราบนมัสการเอง

สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ากันว่า ท่านสนิทสนมกับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา มาตั้งแต่สมเด็จยังเป็นพระชั้นผู้น้อย ความสนิทสนมเกิดจากสมเด็จช่วยขยายความนโยบายของรัฐบาลให้ชาวบ้านฟัง ด้วยภาษา ท่าทีของพระ ญาติโยมฟังจบก็ยกมือจบเหนือหัวว่า “สาธุ” นโยบายรัฐบาลมีคนยกมือว่าสาธุนี้ใช้ได้แล้ว

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคารพนับถือ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่ยังเป็นเจ้าคุณชั้นผู้น้อย แต่พระท่านสอนอะไร แนะนำอะไรกันบ้างเป็นเรื่องรู้กันภายใน คนอื่นไม่อาจทราบได้

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช รู้จักกับพระสงฆ์หลายรูป แต่ดูสนิทกับพระวัดบวรนิเวศราชวรวิหารที่สุด ด้วยเคยอุปสมบทอยู่ที่นั่น โดยเฉพาะสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ นั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เขียนเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นี้ไว้หลายเรื่อง

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นศิษย์สวนโมกข์มาตั้งแต่เป็นผู้พิพากษาหนุ่มๆ สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ท่านได้รับอิทธิพลความคิดมาจากพุทธทาสมาก จนเมื่อท่านมีอำนาจขึ้นในวงตุลาการ ก็ได้นำผู้พิพากษาตุลาการเข้าวัด โดยเฉพาะสายสวนโมกข์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กับสำนักสวนโมกข์เป็นปกติ

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผูกพันกับวัดสระเกศ โดยเฉพาะกับ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระราชาคณะชั้นพระธรรมวโรดมครองวัดสระเกศ ชื่อ “ธานินทร์” ว่ากันว่าท่านก็ตั้งให้ เพราะสมเด็จท่านทรงเป็นโหร มีคนเล่าว่าเคยทำนายไว้ด้วยซ้ำว่า วันหนึ่งเด็กชายผู้นี้จะไปโลดจนถึงขั้นมีตำแหน่งสำคัญ

นายชวน หลีกภัย เป็นศิษย์วัดอมรินทราราม บางกอกน้อย แม้ไม่เคยบวชแต่ก็เคยมาพำนักอยู่สมัยเรียนธรรมศาสตร์ เป็นเด็กวัดมา คุ้นกับภาษาพระ ภาษาวัด คุ้นกับธรรมเนียมชาววัด วิษณุ เครืองาม เคยตั้งข้อสังเกตว่า “ท่าน [ชวน หลีกภัย] อยู่กับพระมานาน สมัยเป็นนายกฯ เคยไปบรรยายธรรมะถวายพระที่พุทธมณฑล มีการถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์ ตอนเย็นมีเหตุต้องไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [รัชกาลที่ 9] ที่วังไกลกังวล หัวหิน พอทอดพระเนตรเห็นท่านนายกฯ ก็รับสั่งว่าเพิ่งดูนายกฯ ไปแสดงธรรมให้พระฟังอยู่เมื่อสักครู่นี่เอง”

นายทักษิณ ชินวัตร สมัยมาเล่นการเมืองใหม่ๆ มีความเครียดมาก เพื่อนคนหนึ่งชื่อพลโท ปรีชา วรรณรัตน์ แนะนำให้ท่านอ่านหนังสือธรรมะ นอกจากนั้นยังได้เคยไปสนทนาธรรมกับพระหลายรูป โดยเฉพาะพระอิสรมุนีนั้น นายทักษิณเคยเลื่อมใสมาก แต่ภายหลังเกิดปัญหา มีผู้กล่าวหาท่านอิสระมุนีว่ามีการกระทำละเมิดพระธรรมวินัยจนต้องละทิ้งสำนักไป นายกฯ เคยเปรยว่าเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่เสียใจที่พอนึกว่ามาถูกทางแล้วก็ยังเจอปัญหา

พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ก็รู้จักพระมาก แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าไปมาหาสู่สนิทสนมกับพระวัดใดเป็นพิเศษ เคยเห็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) วัดราชบพิธ และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สุวฑฺฒนมหาเถร) วัดบวรฯ ที่มีเมตตาตั้งแต่ พล.อ. ชวลิต เป็นนายทหารเข้าไปช่วยอุดหนุนกิจการคณะสงฆ์หลายเรื่อง

ที่ลืมไม่ได้คือ หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ นครราชสีมา ที่ครั้งหนึ่ง นักการเมืองชื่อดังหลายต่อหลายคนเคยไปขอพรท่านให้ชนะเลือกตั้ง, ให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฯลฯ รวมถึงนักการเมืองบางคนที่หลวงพ่อเคยให้พรเอง

ที่กล่าวมาก็แค่เมตตาบารมีของพระสงฆ์ที่หนุนเนื่องการเมืองอยู่ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก วิษณุ เครืองาม. หลังม่านการเมือง, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2566