กำเนิด กกต. เพื่อการเลือกตั้งของประเทศไทยที่สุจริต ยุติธรรม

คณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. จัดการเลือกตั้ง ประชาชน เลือกตั้งล่วงหน้า
ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

ปัจจุบันการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย มี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย แต่ถ้าย้อนไปในอดีต นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในระยะแรกๆ กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งมาโดยตลอด

แต่บางครั้งการเลือกตั้งก็มีผู้คนกังขาเรื่องความ “สุจริต” เช่น การเลือกตั้งปี 2500

Advertisement

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับ “การตรวจสอบการเลือกตั้ง” ขึ้น รวมทั้งกระแสต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง ตลอดจนการใช้อิทธิพลเบี่ยงเบนผลการเลือกตั้ง ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (ดำรงตำแหน่ง 14 มี.ค. 2518-12 ม.ค. 2519) จึงเกิดองค์กรตรวจสอบการดำเนินการเลือกตั้งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรัฐบาลได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการควบคุมการเลือกตั้ง” มีหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและสุจริต ขณะที่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ก็ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง” เพื่อสังเกตการณ์ความเรียบร้อยของการเลือกตั้ง มีอาสาสมัครในครั้งนั้น จำนวน 5,500 คน

ปี 2529 ปรากฏองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2529 มีการจัดตั้ง “กลุ่มอาสาประชามติ” มี พล.อ. สายหยุด เกิดผล เป็นประธาน จัดอาสาสมัครเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนั้น และในการเลือกตั้งต่อมาอีกหลายครั้ง อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง “องค์กรกลาง” ในเวลาต่อมา

13 กันยายน 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้ง “องค์กรกลาง” ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งรัฐบาลและเอกชน มี นายเกษม สุวรรณกุล เป็นประธาน ทำหน้าที่สอดส่องดูแลการเลือกตั้ง และได้มีการดำเนินการในการเลือกตั้งครั้งต่อมา

ปี 2538 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พุทธศักราช 2538 มาตรา 115 วรรคสอง บัญญัติให้มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริต ยุติธรรม เรียกว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” จึงได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา แต่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน ทำให้ร่างพระราชบัญญัติในคราวนั้นเป็นอันตกไป

11 ตุลาคม 2540 รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” ซึ่งในหมวด 6 ส่วนที่ 4 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ได้บัญญัติให้มี “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต. ตั้งขึ้นมาอีกครั้ง มีฐานะเป็นองค์กรอิสระ มีคณะกรรมการ 5 คน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรกคัดเลือกจากวุฒิสภา และได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 ประกอบด้วย นายธีรศักดิ์ กรรณสูต ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้งอีก 4 คน คือ นายสวัสดิ์ โชติพานิช, นายยุวรัตน์ กมลเวชช, นายวิสุทธิ์ โพธิเม่น, นายโคทม อารียา

อำนาจหน้าที่หลักๆ ของ กกต. มีด้วยกัน 3 ประการ ครอบคลุมทั้ง ด้านบริหาร คือ ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ ด้านตุลาการ คือ การสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ รวมทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครและสมาชิกสภา ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สุดท้ายคือ ด้านนิติบัญญัติ คือ การออกกฎระเบียบ คำสั่งข้อกำหนด ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน

ทว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ก็ถูกจับตาในเรื่องความสุจริตยุติธรรม ดังจะเห็นได้จากหลายกรณีที่ผ่านมา เช่น กรณี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธาน กกต., นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กับ นายวีระชัย แนวบุญเนียร อดีต กกต. ที่ศาลฎีกาตัดสินให้จำคุกใน 4 คดีใหญ่ (ขอไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้)

หรือกรณีที่ กกต. วินิจฉัยให้ใบส้มแก่นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส. เชียงใหม่ กรณีใส่ซองบูชาเทียนเพื่อทำบุญวันเกิด แต่ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดี ไม่ใช่เป็นการซื้อเสียง หรือทุจริตเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2562

การทำงานของ สำนักงานคณะกรรมการการเลืิอกตั้ง หรือ กกต. จึงได้รับการจับตามองจากประชาชนว่าสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งว่าเป็นไปเพื่อให้การเลือกตั้งมีความสุจริต โปร่งใส และยุติธรรม ได้อย่างเต็มที่เพียงใด 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอ่างทอง สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2565

เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2565

“สุรพล อดีตส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 น้ำตาคลอ ศาลให้กกต.ชดใช้-เยียวยากว่า 70 ล้าน หลังแจกใบส้ม” ใน, มติชนออนไลน์ วันที่ 20 เมษายน 2565

“เปิดข้อมูล 4 คดีใหญ่ ฟ้อง ‘พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ’ อดีตประธานกกต.” ในมติชนออนไลน์ วันที่ 4 มิถุนายน 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2565